"เซ็กส์ - ยา - ความรุนแรง" เมื่อเพลงเกาหลีถูกตีตราไม่เหมาะสมสำหรับวัยรุ่น
เซ็กส์ - ยา - ความรุนแรง เมื่อเพลงเกาหลีถูกตีตราไม่เหมาะสมสำหรับวัยรุ่น
ในพักหลังมานี้ ศิลปินนักร้องชาวเกาหลีมากหน้าหลายตา รวมถึง G-Dragon, Ivy หรือ 4Minute และอื่นๆ อีกหลายศิลปินต่างเผชิญหน้ากับปัญหาการโดนแบน อันเป็นมาตรการป้องสื่อที่ไม่เหมาะสมต่อเยาวชน ซึ่งมีเพลง และมิวสิควีดีโอหลายชิ้นที่เข้าข่าย ในการนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ, ยาเสพติด และความรุนแรง ซึ่งอาจทำให้แฟนเพลงวัยรุ่น อันเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของนักร้องเหล่านี้ไม่สามารถฟังเพลงของศิลปินที่ตัวเองรักได้เช่นเดิม
ที่กลายเป็นเหยื่อของการแบนเพลงรายล่าสุด และถูกพูดถึงกันในวงกว้างก็คือ สมาชิกแห่งวงฮิปฮอปสุดดัง Bigbang อย่างหนุ่ม G-Dragon ที่เพลงในงานชุด Heartbreaker อัลบั้มเดี่ยวของเขา ถูกหน่วยงานด้านเยาวชนของกระทรวงสาธารณสุขเกาหลีออกมาแบนห้ามเผยแพร่ต่อเด็ก
คำสั่งดังกล่าวออกมาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 พ.ย. หลังจากมีการวิเคราะห์เนื้อเพลงของ G-Dragon ในเพลง She's Gone ก็มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการแล้ว ว่าสื่อไปถึงเรื่องของการใช้ยาเสพติด ขณะยังที่อีกหลายเพลงในอัลบั้มชุดนี้ ที่ใช้คำค่อนข้างหยาบคาย งานชุดดังกล่าวจึงมีเนื้อหาไม่เหมาะสำหรับเยาวชน ซึ่งตามกฎหมายของเกาหลีก็คือ บุคคลอายุต่ำกว่า 19 ปี
จากการประกาศ งานเพลงเหล่านี้ของ G-Dragon สามารถเผยแพร่ทางโทรทัศน์ทั่วไปได้ตั้งแต่เวลา 22.00 น. เป็นต้นไปเท่านั้น ขณะที่อัลบั้มชุด Heartbreaker ของนักร้องหนุ่มผู้นี้ ก็ไม่สามารถขายให้กับผู้มีอายุ 19 ปีได้อีกต่อไป โดยแผ่น CD ทุกแผ่นที่วางจำหน่าย จะต้องติดสติกเกอร์ only 19 กำกับไว้ด้วย ซึ่งถ้าผู้จัดจำหน่ายฝ่าฝืน จะต้องถูกโทษปรับ
อย่างไรก็ตามคำประกาศดังกล่าวนี้ ออกมาหลังจากที่ผลงานชุดนี้ขายไปได้ 200,000 แผ่นแล้ว
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เนื้อเพลงจากศิลปินเกาหลีถูกตีความว่ามีเนื้อหาไม่เหมาะสมกับวัยรุ่น ในกรณีที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ก็คือ ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา เมื่อเพลง Won't Give ของกลุ่มศิลปินเกิร์ลแบนด์ 4minute ถูกสถานีโทรทัศน์ KBS แบนด์ หลังจากมีการตีความว่าเนื้อเพลงดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการบรรยายความรู้สึกของผู้หญิง ต่อเรื่องกิจกรรมทางเพศ
ในครั้งนั้นต้นสังกัดของ 4minute ออกมาแสดงถึงความผิดหวังในการตัดสินใจของสถานีโทรทัศน์ครั้งนี้ว่า “เพลง Won't Give แค่แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกอันบริสุทธิ์ต่อผู้หญิงถึงผู้ชายเท่านั้น” แต่สำหรับสาวๆ วง 4minute ได้ออกมายอมรับว่า แม้จะเสียใจที่เพลงของพวกเธอโดนแบน แต่มันทำให้หลายๆ คนรู้จักเพลงของเธอมากยิ่งขึ้น
เนื้อเพลงอาจจะเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยเวลาตีความ และพิจารณาก่อนจะมีการดำเนินการขั้นต่อไป แต่มิวสิควีดีโอเป็นสื่อที่สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วกว่า และก็มีงานประเภทนี้ไม่น้อยในเกาหลี ที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านี้
นักร้องสาวเซ็กซี่แห่งเกาหลีใต้อย่าง Ivy เป็นอีกคนที่ปล่อยมิวสิควีดีโอซึ่งมีปัญหาในเรื่องเหล่านี้ออกมาหลายครั้ง เช่นเดียวกับเพลงล่าสุด Touch Me ที่ถูกตีตราว่าไม่เหมาะสมกับเด็กอายุต่ำกว่า 19 ปี จากปัญหาเดิมๆ คือเรื่องภาพอันเซ็กซี่ แม้จะลดดีกรีมาจากงานเก่าๆ ของเธอแล้วก็ตาม ซึ่งก็หมายความว่ามันจะไม่สามารถออกอากาศได้ในโทรทัศน์สถานีหลักของเกาหลี
อีกกรณีที่ไม่น่าแปลกใจสำหรับหลายคนเท่าไหร่ก็คือ มิวสิควีดีโอเพลง Can’t you Trust Noona ของกลุ่มศิลปินเกิร์ลแบนด์ Top.AZ ที่ถูกแบนจากสถานีโทรทัศน์ KBS ไปเมื่อกลางเดือนก่อน ในข้อหาศิลปินแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าล่อแหลมเกินเหตุไปหน่อย โดยเฉพาะการแต่งกายในชุดชั้นในของนักร้องสาวทั้งสาม ที่ทางต้นสังกัดบอกว่าไม่ได้มีเจตนาล่อตะเข้สักหน่อย “เครื่องแต่งกายในมิวสิควีดีโอ เป็นการออกแบบตามอย่างเสื้อผ้าของชนชั้นสูงในยุคกลางของฝรั่งเศส ซึ่งไม่ได้มีเจตนาเพื่อสร้างกระแสแต่ประการใด
ส่วนในรายของศิลปินสาวกลุ่ม Brown Eyed Girls กับเพลงมิวสิควีดีโอเพลง Sign ที่ถึงแม้ยังจะไม่โดนแบนในขณะนี้ แต่ก็ถูกวิจารณ์อย่างหนัก ในข้อหาส่งเสริมความรุนแรง ที่มีทั้งภาพการทำร้าย และทรมาน ซึ่งดูเหมือนได้รับอิทธิพลมาจากภาพยนตร์เรื่อง Saw จากอเมริกา
จากกรณีต่างๆ ที่ปรากฏ ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับมาตรการเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นคำครหาในวิจารณญาณอันหัวโบราณของเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ ว่าไม่สามารถสามารถตามทันค่านิยมปัจจุบันได้ทัน ในทางตรงกันข้าม ในหลายๆ กรณี ศิลปินและต้นสังกัดก็ถูกตั้งข้อสงสัยเช่นกัน ว่าส่งงานเหล่านี้ออกมาให้โดนแบน เพื่อตั้งใจเรียกกระแส สร้างความดังรึเปล่า
Ivy - Touch Me (터치 미)
[HQ] Top AZ - Cant You Trust Noona MV