ปรัชญาการศึกษาไทยมีบ้างไหม ? คืออะไร?
ประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมานี้ นักศึกษาคนหนึ่งถามผมว่า ปรัชญาการศึกษาไทยมีไหม เพราะได้ศึกษาเฉพาะปรัชญาทางการศึกษาตะวันตกเป็น ส่วนใหญ่ ไม่ว่าตำราเล่มไหนก็จะกล่าวถึงปรัชญาการศึกษาฝรั่ง เช่น สารัตถนิยม (Essentialism) ปฏิรูปนิยม (Reconstructionism) เป็นต้น ส่วนปรัชญาการศึกษาไทยแทบไม่กล่าวถึงอย่างเป็นกิจลักษณะ อาจมีบ้างเป็นการแถมหรือเสริมเข้ามา โดยอาจเรียกว่า แนวคิดทางการศึกษาของนักการศึกษาไทย ทั้งที่จริงๆ ไม่ว่าปรัชญา หรือ แนวคิดโดยเนื้อแท้ก็ไม่ต่างกัน ปรัชญาก็คือแนวคิดหรือความคิด แนวคิดก็คือปรัชญา นั่นเอง
ต่างกันโดยตัวหนังสือ แต่เนื่องจากนักวิชาการไทยเรียน/ลอกตำรามาจากฝรั่งปรัชญาจึงมีแต่ของ ฝรั่ง และเราก็มักจะเชื่อตามนั้น (ไม่เชื่อก็สอบไม่ได้) นักการศึกษาไทยที่เด่นๆ มีมากมาย ซึ่งได้ให้แนวคิด (ปรัชญา) ทางการศึกษาไว้มากมาย หาดูได้จากตำราการศึกษาต่างๆ แต่อย่าติดรูปแบบของคำว่า ปรัชญา ต้องขยายกรอบความคิดของคำว่า “ปรัชญา” ให้ครอบคลุมขอบเขตเนื้อหากว้างขวางอันสะท้อน ความเชื่อ,ความคิด,วิถีปฏิบัติ ต่างๆ สามารถระบุนามของนักการศึกษาไทยดังกล่าวได้ เช่น ดร.สาโรช บัวศรี,น.พ.ประเวศ วะสี,ดร.โกวิท วรพิพัฒน์,พระธรรมปิฎก(ประยุทธ์ ปยุตโต)เป็นต้น
ประวัติการศึกษาไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมาแสดงว่า การศึกษาไทย มีปรัชญาการศึกษาเป็นของตนเองโดยมีพื้นฐานมาจากพระพุทธศาสนา อาจกล่าวได้ว่าปรัชญาการศึกษาไทย ยึดตามแนวพุทธปรัชญานั่นเองไม่ว่าหลักสูตร,ครู, วิธีการจัดการเรียนการสอนหรือการบริหารล้วนอยู่ภายใต้อิทธิพลของพระพุทธ ศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมัยสุโขทัย อยุธยาหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น ล้วนใช้หลักสูตรที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนาทั้งสิ้น ครูก็คือพระสงฆ์หรือผู้ที่ผ่านการศึกษาอบรมมาจากพระ โรงเรียนก็คือวัดหรือ วัง ซึ่งสนิทแนบแน่นกับวัด
แม้ครอบครัวจะเป็นสถานที่บ่มเพาะบุคคล(โรงเรียน) ครอบครัวไทยก็ไม่ห่างไกลพุทธศาสนา ดังนั้นรวมความว่า โดยประวัติศาสตร์การศึกษาไทยยึดแนวพุทธปรัชญา โดยประการทั้งปวง ดังนั้นคำถามของนักศึกษาข้างต้น น่าจะกระจ่างขึ้นถ้าตอบว่า ปรัชญาการศึกษาไทย ก็คือพุทธปรัชญานั่นเอง แต่เป็นพุทธปรัชญาที่ประยุกต์มาใช้ในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษา ตามความเหมาะสมกับกาละ (กาลเวลา) เทศะ (ประเทศ,ภูมิประเทศ) และบุคคลประชาชน,กลุ่มชนที่มีวิถีชีวิตขนบประเพณีวัฒนธรรมของกลุ่มตน)
แม้กาลเวลาจะผ่านมา พุทธปรัชญาการศึกษา ยังมีอิทธิพลอยู่ในปรัชญาการศึกษาไทย ซึ่งเดินตามแนวปรัชญาการศึกษาตะวันตก (ฝรั่ง) ผู้ต้องการทราบรายละเอียดเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษาไทยในยุคร่วมสมัย น่าจะหาอ่านได้จากหนังสือของพระธรรมปิฎก(ประยุกต์ ปยุตโต) ซึ่งมีอยู่แพร่หลาย แต่ในที่นี้ผมจะนำปรัชญาการศึกษาไทยที่ดร.สาโรช บัวศรี เสนอไว้มากล่าวเพียงบางประเด็นสั้นๆ พอให้เห็นว่าปรัชญาการศึกษาไทยไม่ว่า โดยนักการศึกษาไทยท่านใด มักจะหนีไม่พ้นพุทธปรัชญาไปได้
ดร.สาโรช บัวศรี กล่าวว่า การศึกษา คือ การพัฒนาขันธ์ห้าเพื่อให้อกุศลมูล ลดน้อยลง หรือ หมดไป (ผมอาจจำได้ไม่ครบทุกคำ) เนื่องจากมีคำวัดอยู่มาก จึงขอขยายความดังนี้ “การพัฒนา” เชื่อว่า ทุกคนเข้าใจ ไม่ต้องอธิบาย “ขันธ์ห้า” ได้แก่ ร่างกาย และจิตใจ ขยายความโดยรักษาคำวัดภาษาบาลี) ได้ดังนี้ ขันธ์ 5 – ชีวิต (คน) (1)รูป(ร่างกาย) นาม (จิตใจ) (2) เวทนา (ความรู้สึก) สุข ทุกข์ เฉยๆ (3) สัญญา (ความจำ) (4) สังขารเครื่องปรุงแต่ง หมายถึง สิ่งหรือคุณสมบัติที่มาปรุงแต่ง หรือ ทำให้
จิตใจเป็นไปในทางใดทางหนึ่ง เช่น คิดดี คิดชั่ว,เหมือนสีที่ใช้ย้อมผ้าให้เป็นสีต่างๆ ตามชนิดของสีนั้นๆ) (5) วิญญาณ (การรู้แจ้ง,รู้ชัด เช่น เห็น(ใช้ตา)ภูเขา รู้ว่า(วิญญาณ) เป็นภูเขา เป็นต้น) ที่เรียกว่า “ขันธ์” เพราะขันธ์แปลว่า กอง หรือ กลุ่ม หรือองค์ประกอบต่างๆ (เช่น ผม,ขน,เล็บ...)เข้าด้วยกันเป็นคน ฉะนั้นขันธ์ห้า ดังกล่าวจะเป็นไปอย่างไร (สุขหรือทุกข์) ย่อมขึ้นอยู่กับการศึกษา หรือ การพัฒนา ซึ่งตามปรัชญาที่ ดร.สาโรช บัวศรี เสนอไว้นี้ การศึกษา/พัฒนา ขันธ์ห้า (ชีวิต) มีเป้าหมายอยู่ที่การลด หรือ ทำให้หมดไปซึ่งอกุศลมูล อันได้แก่ ความโลภ (โลภะ) ความโกรธ (โทสะ) และความหลง (โมหะ)
ปรัชญาการศึกษา ของดร.สาโรช บัวศรี ที่ยกมาสั้นๆ ได้กล่าวถึง
1. ความหมายของการศึกษาคืออะไร (คือการพัฒนาขันธ์ห้า-ชีวิต)
2. วัตถุประสงค์ของการศึกษาคืออะไร (คือการลดหรือทำให้หมดไปซึ่งโลภะ,โทสะ,โมหะ)อาจจะขัด หรือ ฝืนความรู้สึกของเราอยู่บ้าง ในแง่ที่ว่า ถ้าศึกษาเพื่อลด/ทำให้หมด,โลภะ โทสะ โมหะ มันจะเป็นไปได้หรือ จะอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขันช่วงชิงโอกาสต่างๆ ผู้แข็งแรง ผู้ชนะ เท่านั้นจะอยู่ในสังคมได้
ที่จริงการมีชีวิตอยู่ด้วยโลภะ โทสะ โมหะ เป็นการมีชีวิตอยู่ด้วยสัญชาตญาณ สัตว์ทุกประเภทมีเหมือนกันหมดโดยไม่ต้องสอนกัน แต่การมีชีวิตโดยลด /ทำให้หมดซึ่งโลภะ โทสะ โมหะนั้น เป็นการมีชีวิตที่ฝืนสัญชาตญาณซึ่งจะมีได้ก็ด้วยการศึกษา หรือ พัฒนาเท่านั้น การศึกษาสำหรับสามัญชน(ปุถุชน) เอาแค่ปรับระดับความพอเหมาะ พอควรของความโลภเป็นต้นนั้น ก็มีคุณค่าเหลือหลายทั้งต่อตนเองและสังคม ไม่ถึงกับต้องทำให้โลภะเป็นต้นนั้นหมดไปเหมือนพระอรหันต์
การปรับความพอเหมาะพอควรของโลภะเป็นต้นนั้น ผลระยะยาวจะเกิดแก่สังคมในแง่ที่จะลดปัญหาสังคมลง ไม่ว่าการลักขโมย ปล้นจี้ ฉ้อโกง หรืออาชญากรรมอื่นๆ ซึ่งเกิดจากแรงขับของอกุศลมูลทั้งสิ้นพูดไปทำไมมีความวุ่นวายต่างๆ ในสังคมไทยปัจจุบันโดยเฉพาะความวุ่นวายทางการเมือง พิจารณาให้ดีแล้ว จะเห็นว่าเพราะอกุศลมูลเหล่านี้นั่นเอง จึงไม่มีความสงบสุข ไม่มีสันติเกิดการแก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่น ประท้วงต่อต้านกันทุกรูปแบบแบ่งกันเป็นฝ่าย ดังที่เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของคนไทยและชาวโลกมาเป็นเวลานาน และยังไม่มีสัญญาณว่าจะยุติเมื่อไร และอย่างไร
ถ้าอิทธิพลของปรัชญาการศึกษาไทยของดร.สาโรช บัวศรีดังกล่าว มีเหนือจิตใจของคนที่สำเร็จการศึกษาไทย เชื่อว่าความวุ่นวายดังกล่าวคงไม่ร้ายแรงขนาดนี้ ถึงเวลาแล้วที่จะทบทวนปรัชญาการศึกษาอีกที ควบคู่ไปกับการปฏิรูปการศึกษา ( ( (