ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ข่าวการศึกษา     ความรู้ทั่วไป     งานราชการ/รัฐวิสาหกิจ/บริการสังคมเรื่องราวจากสมาชิก  ▶ ข่าว/บทความ ▶ หน้าแรก

คุณธรรมสำหรับครู


เรื่องราวจากสมาชิก เปิดอ่าน : 7,569 ครั้ง
Advertisement

คุณธรรมสำหรับครู

Advertisement

❝ การเป็นครูนั้น ถือว่าเป็นผู้ทำคุณประโยชน์อย่างยอดเยี่ยมแก่ประเทศชาติ เพราะครูคือแม่พิมพ์ของชาติ เป็นแม่แบบที่สำคัญยิ่ง ❞

เรื่อง คุณธรรมสำหรับครู

………………………….

            การเป็นครูนั้น ถือว่าเป็นผู้ทำคุณประโยชน์อย่างยอดเยี่ยมแก่ประเทศชาติ เพราะครูคือแม่พิมพ์ของชาติ เป็นแม่แบบที่สำคัญยิ่ง ดังเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ครู แปลว่า ผู้หนัก หมายถึงหนักทุกสิ่งทุกอย่าง เริ่มต้นจากภาระงานที่จะต้องเตรียมตัวอย่างหนักเพื่อการสอนให้นักเรียนได้เข้าใจ หนักในการเป็นภาระให้นักเรียนได้ปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต หนักในการสอนซ่อม สอนเสริม เพื่อให้นักเรียนที่เรียนไม่ทันเพื่อนได้เรียนทันคนอื่น นักเรียนที่เรียนเก่งให้ได้รับการพัฒนาส่งเสริมให้สูงขึ้น หนักในการควบคุมดูแลความปลอดภัย ความประพฤติให้นักเรียนได้รับความปลอดภัยและมีความประพฤติดี หนักในการทุ่มเทเวลาให้กับการสอน หนักในการเสียสละทรัพย์ส่วนตัวให้กับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน หนักในการจัดทำข้อมูลต่าง ๆ เพื่อส่งหน่วยงานระดับเหนือขึ้นไป หรือหน่วยงานอื่นที่ขอความร่วมมือมา หนักในการจัดทำแผนการสอน หรือแผนการจัดการเรียนรู้ เป็นต้น

            ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูจะต้องมีคุณธรรมอยู่ในจิตใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คุณธรรมสำหรับครูนั้น พระพุทธองค์ตรัสไว้ในพระสูตร มีอยู่ 7 ประการ คือ

            1.ปิโย  เป็นผู้น่ารัก คือครูจะต้องทำตัวเป็นที่น่ารัก น่าเอ็นดู ไม่ทำตัวเป็นขยะของสังคม ทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกศิษย์ ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่สังคม ไม่เป็นที่น่าเกลียดของคนอื่น ในที่นี้ไม่ใช่ว่า ครูจะต้องเป็นคนสวย รูปหล่อ แต่กิริยาอาการต่างหากที่ทำให้ครูเป็นผู้ที่น่ารัก

            2.ครุ  เป็นที่น่าเคารพ  หมายถึงครูนั้นจะต้องเป็นผู้ที่ทำตนให้น่าเคารพบูชาของบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นที่เคารพของลูกศิษย์ การทำตัวเป็นที่เคารพนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง ใครก็ตามที่สามารถทำได้เช่นนี้ก็ถือว่าเป็นครูคนหนึ่งเช่นกัน ท่านจึงกล่าวว่า บิดา มารดา เป็นครูที่ประเสริฐสุดของลูก เป็นครูคนแรก เพราะให้ความน่าเชื่อถือ ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูก และเป็นที่น่าเคารพเชื่อฟัง ส่วนครูที่โรงเรียนเป็นครูคนที่สอง เพราะเป็นผู้ที่น่าเคารพในโรงเรียนหรือสังคมที่สองของเด็กนั่นเอง

          3.ภาวนีโย  เป็นผู้ที่น่ายกย่อง  ครูจะต้องทำตัวให้น่ายกย่องชมเชย จะต้องรู้จักการอบรมตนในสิ่งที่ดีงาม สร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่สังคม อย่าได้ทำในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ หรือไม่ได้รับการยกย่อง แต่ก็ใช่ว่าครูจะทำเพื่อหวังผลจะให้คนอื่นยกย่องชมเชย แต่สิ่งที่ครูทำนั้น เป็นสิ่งที่น่ายกย่องชมเชยยากที่คนอื่นจะทำได้ คอยให้การช่วยเหลือลูกศิษย์ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องให้วิชาความรู้ เรื่องของการเรียน เรื่องของการดำเนินชีวิต ให้คำปรึกษาทุกอย่าง

            4.วัตตา  เป็นผู้ที่รูจักพูด  สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ครูจะต้องคำนึงถึงก็คือการพูดจา คำพูดที่ครูใช้จะต้องเป็นคำพูดทีมีเหตุผล ไม่พูดเหลาะแหละ เป็นคำพูดที่น่าเชื่อถือ ให้ความจริงแก่ทุกคน พูดถูกกาลเทศะ พูดในสิ่งที่เกิดประโยชน์ พยายามละการพูดถึงสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ควรพูดเมื่อถึงเวลาพูด อย่าพูดพร่ำโดยหา

 

สาเหตุไม่ได้ พูดง่าย ๆ ก็คือคุณธรรมข้อนี้ เป็นคุณธรรมเกี่ยวกับการพูดจา ให้ระวังคำพูดของตนเอง ควรรู้ในสิ่งที่ควรพูด สิ่งไหนไม่ควรพูด

            5.วจนักขโม  รู้จักอดทนต่อถ้อยคำ  การเป็นครูต้องอดทนต่อการพูดจาถากถาง หรือทนต่อถ้อยคำอันไม่พึงปรารถนา คุณธรรมข้อนี้ เป็นคุณธรรมที่ครูจะต้องพยายามทำให้ได้ เพราะหากครูไม่สามารถอดทนต่อคำกล่าวที่ไม่สบอารมณ์ได้แล้ว สิ่งอื่น ๆ ครูก็ไม่สามารถที่จะทำได้เช่นกันความอดทนอดกลั้นนั้น เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นครู หรืออาชีพอื่น จะต้องมีในตัวเอง

            6.คัมภีรัง  กถัง  กัตตา  เป็นผู้ชี้แจงได้ลึกซึ้ง  การเป็นครูนั้น จะต้องประกอบด้วยความรู้ในแขนงต่าง ๆ สามารถอธิบายหรือชี้แจงได้อย่างถูกต้อง ชัดถ้อยชัดคำ สามารถอธิบายเรื่องยากให้ง่ายได้ ครูจะต้องสามารถอธิบายถึงสิ่งที่ดีงามและเป็นประโยชน์แก่ลูกศิษย์ เรื่องใดที่ลุ่มลึก ครูจะต้องสามารถชี้แจงให้เข้าใจได้ ดังนั้นครูจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้อย่างแจ่มแจ้ง หรือรู้ชัดแจ้งในสาขาวิชาที่ตนเองศึกษาเล่าเรียนมา หรือในวิชาที่สอน หรือสามารถให้คำปรึกษาแก่นักเรียนทุกเรื่อง ทุกแขนงที่นักเรียนมีปัญหา จึงจะได้ชื่อว่าเป็นครูอย่างแท้จริง

          7.โน  จัฏฐาเน  นิโยชเย  เป็นผู้ไม่แนะนำในทางที่ผิด  ครูคือผู้ชี้ทางอันประเสริฐ ครูจึงเปรียบเสมือนเพื่อน พี่ น้อง และผู้ที่เคารพบูชาทั้งหลาย เป็นที่ปรึกษาที่สูงสุด เป็นบุรุษผู้ทรงคุณ เป็นผู้เอื้อเฟื้อและหนุนส่ง ครูจึงจะต้องเป็นผู้แนะนำสิ่งที่ดีงาม ในสิ่งที่เป็นประโยชน์นำความเจริญรุ่งเรืองมาแก่ชีวิตของนักเรียนหรือลูกศิษย์

            คุณธรรม  7  ประการนี้ พระพุทธองค์ ตรัสสอนให้ผู้ที่จะเป็นครูหรือผู้สอนคนอื่น ได้ตระหนักถึงภาระหน้าที่ที่หนักยิ่ง แต่เป็นการบำเพ็ญคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ เพราะการเป็นครู ถือว่า เป็นผู้ให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ ทำคนให้เป็นคน ทำคนชั่วให้เป็นคนดี ทำให้คนมืดบอดให้สว่างไสว ชื่อว่าเป็นการให้ธรรมเป็นทาน เพราะทานในพระพุทธศาสนานั้น ได้กำหนดหลักใหญ่ไว้  2  อย่าง คือ อามิสทาน การให้สิ่งของเป็นทาน และธรรมทาน การให้ธรรมเป็นทาน การสั่งสอนคนอื่น การแนะนำคนอื่นในสิ่งที่เป็นประโยชน์ แนะนำในสิ่งที่ดีงาม ก็ถือว่าเป็นการให้อย่างหนึ่ง คือ เป็นธรรมทาน ซึ่งพระพุทธองค์ทรงสรรเสริญยิ่งนักว่า เป็นการให้อันสูงสุด

            ที่กล่าวมานี้ เป็นคุณธรรมที่คุณครูทุกท่านจะต้องมี และขอฝากสิ่งที่คุณครูควรงดเว้น คือ

          1.ไร้มารยาท  คือผู้จะทำหน้าที่ครูนั้น จะต้องเป็นผู้มีมารยาทอันดีงาม เป็นผู้รู้จักทำนองคลองธรรมเป็นอย่างดี ไม่เป็นคนไร้มารยาท ควรเป็นผู้มีมารยาทงามทั้งที่เข้าสังคมและเฉพาะตัว

          2.ขาดการเตรียมตัว  จะต้องตระหนักให้ดีว่า เราเป็นครู หน้าที่ของครูเบื้องต้นก็คือการเตรียมการสอน การเขียนแผนการสอน การกะเกณฑ์หรือวางแผนไว้ล่วงหน้าว่า จะทำการเรียนการสอนอย่างไร การเรียนของนักเรียนจึงจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย  และมีประสิทธิภาพ

          3.มั่วในหน้าที่  ครูพึงสังวรระวังถึงหน้าที่และบทบาทของตนเองให้ดี อย่าได้แสดงบทบาทหรือหน้าที่ที่ไม่ใช่ของตนเอง พูดง่าย ๆ ก็คือการรู้รักหน้าที่ของตนเอง

4.มีจิตห่างธรรม  สิ่งที่ครูจะต้องมีในจิตใจ ก็คือคุณธรรม หากเราขาดคุณธรรมประจำใจแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ย่อมจะไม่ได้ผล หรือผลเสียต่าง ๆ ก็จะตามมามากมาย การทำหน้าที่ที่ถูกต้องก็คือการปฏิบัติอย่างหนึ่งเช่นกัน หรือการที่เราทำหน้าที่ของเราไม่ขาดก็คือการมีธรรมประจำใจแล้ว

          5.ชอบถลำล่วงวินัย  การที่เราจะเป็นครูได้จะต้องเป็นคนที่มีวินัยในตนเอง รู้จักรักษากติกา หรือกฎระเบียบต่าง ๆ เริ่มต้นจากการตรงต่อเวลา มาปฏิบัติงานตามเวลาที่สถานศึกษากำหนด เข้าสอนตามตารางที่กำหนด ไม่ออกก่อนเวลา ไม่ทอดทิ้งหรือละทิ้งหน้าที่ของตนเอง จะออกจากโรงเรียนก่อนเวลาที่กำหนดต้องขออนุญาตผู้บังคับบัญชา มิใช่คิดจะไปไหนก็ไปตามอำเภอใจ ต้องปฏิบัติตนตามระเบียบของทางราชการ

            6.มีใจรวนเร  แม่พิมพ์ของชาติจะต้องเป็นผู้มีใจหนักแน่นแน่นอนในการให้ความรู้ ไม่มีจิตใจรวนเร เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ข้อนี้หมายถึงครูจะต้องเป็นผู้มีเหตุผลในการตัดสินปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือเกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ

            7.ไม่ชวนสร้างสรรค์  คือครูจะต้องเป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักปรับตัวเข้ากับสังคม หรือคนอื่น รู้จักการพัฒนาให้มีความเจริญรุ่งเรือง ทั้งในกระบวนการเรียนการสอน และการพัฒนาโรงเรียน

          8.ขยันแซวศิษย์  สิ่งสุดท้ายขอฝากสำหรับครู คือการทำหน้าที่ครูนั้น ข้อสำคัญคือ อย่าได้ทำตัวเป็นหนุ่มโสดเพื่อหวังอะไรบางอย่างกับลูกศิษย์ที่เป็นผู้หญิง เราจงคิดเสมอว่า เราจะให้ความรู้แก่ลูกศิษย์เสมอกันหมดไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง หรือชาย คือต้องไม่มีอคติ

            อย่างไรก็ตาม ชีวิตคือการต่อสู้ เราจะต้องพยายามประกอบคุณงามความดี ไม่ว่าเราจะอยู่ในอาชีพไหน จะต้องพยายามรักษาความดีเอาไว้ รักศักดิ์ศรีของตนเอง การเป็นครูนั้น ใช่ว่าจะเป็นงานไม่หนัก แต่หากเราทำเป็นประจำอยู่แล้ว ก็จะกลายเป็นความเคยชิน ไม่มีความหนักหนาอะไร การประกอบอาชีพอะไรสักอย่าง หากทำด้วยความรักและศรัทธาในอาชีพของตนแล้ว ผลที่ออกมาย่อมเป็นที่ประทับใจ และน่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ขอฝากให้คณะครูนำเอาคุณธรรมทั้ง 7 ประการที่กล่าวมานี้ไปประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อความสมบูรณ์แห่งหน้าที่ความเป็นครู เมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เราควรลดความเห็นแก่ตัวลงบ้าง ควรเฉลี่ยประโยชน์แก่ส่วนรวมบ้าง ด้วยการคิดให้แก่คนอื่น ควรเป็นผู้ยินดีในการให้ เพราะผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของผู้รับ

            ครูคือผู้ให้ ให้ทั้งความรัก ความอบอุ่น ให้ความรู้ ให้แบบอย่าง ให้คำแนะนำพร่ำสอน ด้วยความเมตตาและห่วงใย ครูพึงสำรวมระวังในการดำเนินชีวิต ควรมีสติ ระลึกอยู่เสมอว่า เราเป็นใคร กำลังทำอะไร ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร ควรมีศีล มีความเพียรพยายามทำหน้าที่ของตนเองให้สมบูรณ์ แสดงบทบาทให้สมกับที่คนอื่นยกย่องว่าเป็นครู สิ่งที่สำคัญในการวางตัวของครูคือความเที่ยงธรรม ไม่มีอคติในการทำการเรียนการสอน คือครูต้องวางตัวเป็นกลาง นอกจากนี้ครูต้องพยายามค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ ไม่หยุดอยู่เฉพาะในตำราเท่านั้น จะต้องให้สมกับที่บอกว่า ครูคือผู้รอบรู้

            นอกจากที่ครูจะประกอบด้วยคุณธรรมทั้ง  7  ประการที่กล่าวมาแล้ว ขอนำคุณธรรมอื่น ๆ มาเพิ่มเติมให้อีกเพื่อเป็นอาภรณ์ประดับกาย วาจา ใจ ให้ชีวิตของครูประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน คือ สอนศิษย์ให้เป็นคนดี คนเก่ง มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และประสบความสำเร็จในอาชีพส่วนตัว ชีวิตครอบครัว  มีความสุขและเป็นที่ยอมรับของสังคม

            หลักธรรมที่นำมาฝากครูในครั้งนี้ ขอแบ่งออกเป็น  3  ด้าน คือ

          1.หลักธรรมสำหรับการครองตน

          2.หลักธรรมสำหรับการครองคน

          3.หลักธรรมสำหรับการครองงาน

1.หลักธรรมสำหรับการครองตน

1.1  ฆราวาสธรรม  4

ฆราวาสธรรม แปลว่า ธรรมสำหรับผู้ครองเรือน หรือธรรมสำหรับการครองเรือน มีอยู่  4  ข้อ คือ

1)      สัจจะ          ซื่อสัตย์ต่อกัน

2)      ทมะ            รู้จักข่มจิตของตน

3)      ขันติ           มีความอดทน

4)      จาคะ           รู้จักเสียสละแบ่งปันของตนแก่คนที่ควรให้ปัน

ความซื่อสัตย์สุจริตต่อกันเป็นหัวใจของการครองเรือน สามีภรรยาและสมาชิกในครอบครัว ถ้ามี

คุณธรรมข้อนี้แล้ว  จะอยู่ด้วยกันด้วยความราบรื่น สามัคคีกัน มีความสงบสุข และการอยู่ร่วมกันนั้น ถ้าสามีภรรยาและคนในครอบครัว รู้จักข่มจิตใจตนเอง ไม่เอาแต่ใจตนเอง จะทำอะไรก็มีความยับยั้งชั่งคิด ไม่ทำอะไรเกินขอบเขต หรือนอกลู่นอกทางตามอำเภอใจ ครอบครัวก็จะมีระเบียบวินัย เมื่อมีการกระทำสิ่งใดเป็นการกระทบกระทั่งกันเป็นบางครั้งบางคราว ก็มีน้ำใจอดทนไม่ถือโกรธ หรือไม่โกรธตอบ ฝ่ายหนึ่งเย็นเข้าไว้ ครอบครัวก็จะมีความสงบ ความเสียสละ คือรู้จักเสียสละช่วยเหลือญาติมิตร ตลอดถึงเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงกัน ก็จะทำให้ได้รับไมตรีจิตจากญาติมิตรและเพื่อนบ้าน ครอบครัวจะไม่อยู่โดดเดี่ยว จะมีคนช่วยเหลือเมื่อเกิดอันตรายหรือพบอุปสรรค

            ข้าราชการครูควรปฏิบัติตามหลักฆราวาสธรรม  4  ประการนี้ เพื่อให้ครอบครัวมีความสามัคคี ไม่วิวาทบาดหมางกัน และอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขตลอดไป

1.2  วุฑฒิธรรม  4

วุฑฒิธรรม  แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องนำไปสู่ความเจริญ ทำให้ผู้ปฏิบัติได้รับความเจริญก้าวหน้าในชีวิต

ตามความประสงค์ มีอยู่  4  ข้อ  คือ

1)      สัปปุริสสังเสวะ  การคบสัตบุรุษ คือคบกับคนที่มีความสงบกาย วาจา ใจ หรือประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ และมีสติปัญญา รู้จักเหตุรู้จักผล รู้จักตน รู้จักเวลา รู้จังสังคม และรู้จักบุคคลที่ควรคบและไม่ควรคบ และตนเองก็เป็นเช่นสัตบุรุษนั้น

2)      สัทธัมมัสสวนะ  ควรตั้งใจฟัง ตั้งใจศึกษา และปฏิบัติตามคำแนะนำสั่งสอนของสัตบุรุษ เพราะสัตบุรุษจะไม่แนะนำในสิ่งที่ไร้ประโยชน์

3)      โยนิโสมนสิการ  คือ เมื่อฟังแล้ว ต้องรู้จักไตร่ตรองพิจารณาด้วยปัญญาของตนก่อน เพื่อจะได้เป็นคนไม่เชื่องมงาย ไตร่ตรองดูให้รอบคอบ ว่า สิ่งที่ได้ฟังมานั้นถูกต้องตามหลักเหตุผลหรือไม่เพียงใด การทำอย่างนี้ย่อมเป็นทางก่อให้เกิดปัญญา

4)      ธัมมานุธัมมปฏิบัติ  เมื่อฟังแล้ว ไตร่ตรองดีแล้ว ให้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง แล้เราจะเห็นผลด้วยตนเอง

วุฑฒิธรรม  4  ข้อนี้ ในพระไตรปิฎก พระพุทธองค์ทรงแสดงว่าเป็น ปัญญาวุฑฒิ คือธรรมเป็นเครื่อง

นำไปสู่ความเจริญแห่งปัญญา หมายความว่า เมื่อปฏิบัติธรรม  4  ข้อนี้แล้ว ย่อมจะเกิดปัญญา เกิดความรู้ ความเฉลียวฉลาดขึ้นในใจ

1.3  จักรธรรม  4

จักรธรรม  แปลว่า  ธรรมเป็นเหมือนล้อรถ หมายความว่า รถจะใช้เป็นพาหนะขับไปสู่เป้าหมายได้ ต้อง

เป็นรถที่มีล้อ คนเราจะก้าวไปสู่ความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ก็จะต้องมีธรรมเป็นล้อ กล่าวคือ ต้องดำเนินชีวิตโดยมีธรรมประจำใจ ได้แก่จักรธรรม  4  หรือเรียกสั้น ๆ ว่า จักร  4  คือ

            1) ปฏิรูปเทสวาสะ          อยู่ในถิ่นอันสมควร หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีความสะดวกปลอดภัย เจริญอุดมสมบูรณ์

            2) สัปปุริสูปัสสยะ          การคบสัตบุรุษ    คือเลือกคบแต่คนดี ปรึกษาหารือ ร่วมคิด ร่วมทำ หรือประพฤติตามอย่างคนดีนั้น

            3) อัตตสัมมาปณิธิ          การตั้งตนไว้ชอบ ได้แก่การตั้งจิตใจของตนไว้ในทางที่ถูกที่ควร เช่น ตั้งใจระวังไม่กระทำความชั่ว ตั้งใจละเลิกความชั่ว ตั้งใจทำความดี ตั้งใจรักษาความดีไว้ให้คงอยู่และให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป หรือตั้งตนไว้ในทางยุติธรรม คือไม่ลำเอียงด้วยอคติทั้ง  4 ตั้งตนไว้ในคุณธรรม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ตลอดจนวางตนให้เหมาะสมกับฐานะ ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น

            4) ปุพเพกตปุญญตา  ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ในปางก่อน ให้รู้จักการทำความดีไว้ เพราะการทำความดีย่อมมีส่วนสนับสนุนการกระทำในปัจจุบันให้ประสบความสำเร็จ ไม่มีใครสร้างบ้านให้เสร็จในวันเดียวได้ ดังนั้นเราควรประกอบความดีอย่างสม่ำเสมอ

1.4  อายุวัฒนธรรม  5

อายุวัฒนธรรม แปลว่า ธรรมที่ทำให้อายุยืน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อายุสสธรรม แปลว่า ธรรมที่เกื้อกูล

แก่อายุ หมายความว่า ธรรมที่ช่วยให้อายุยืน มีอยู่  5 ประการ คือ

            1) สัปปายการี   รู้จักทำความสบายแก่ตน

            2) สัปปารยมัตตัญญู  รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย

            3) ปริณตโภชี  บริโภคอาหารที่ย่อยง่าย

            4) กาลจารี  ประพฤติเหมาะในเรื่องเวลา

            5) พรหมจารี  คือพรหมจรรย์

            การรู้จักอยู่ในที่มีอากาศสบาย สถานที่สะอาดเรียบร้อย และรู้จักระงับสติอารมณ์ไม่ให้มีความวิตกกังวล หรือขุ่นเคืองอยู่ในใจ ชื่อว่ารู้จักทำความสบายแก่ตนเอง เมื่อได้รับสิ่งที่สบายแก่ตนเอง ก็ต้องรู้จักประมาณ คือรู้จักความพอดีในสิ่งนั้น ไม่ทำตนให้สบายเกินไป อย่างนี้เรียกว่า รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย การบริโภคอาหารที่ละเอียดอ่อน เคี้ยวอาหารให้ละเอียด ชื่อว่าบริโภคอาหารที่ย่อยง่าย การทำสิ่งใดรู้จักทำเป็นเวลา ทำพอเหมาะแก่เวลา พักผ่อนพอเหมาะแก่เวลา กินนอนเป็นเวลา อย่างนี้ชื่อว่าประพฤติเหมาะในเรื่องเวลา ผู้เป็นบรรพชิตถือพรหมจรรย์ ผู้เป็นคฤหัสถ์ รู้จักประมาณในกามกิจ ไม่มักมากในกาม ชื่อว่าถือพรหมจรรย์ ผู้ที่ปฏิบัติตามหลักอายุวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ได้ ย่อมจะเป็นผู้ที่มีอายุยืน

1.5  สัปปุริสธรรม 7

สัปปุริสธรรม  แปลว่า ธรรมของสัตบุรุษ คือคนดี หรือธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ มี  7  อย่าง คือ

1)      ธัมมัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักเหตุ คือ ความรู้จักว่าสิ่งนี้เป็นเหตุของสิ่งนี้ เช่น รู้ว่าสิ่งนี้เป็นเหตุแห่งสุข สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ หรือพบผลแล้วรู้ชัดว่า ผลนั้นเกิดมาจากเหตุ ผลดีย่อมมาจากเหตุดี ผลชั่วย่อมมาจากเหตุชั่ว อย่างนี้เรียกว่า ธัมมัญญุตา

2)      อัตถัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักผล คือ ความรู้ชัดว่า สิ่งนี้เป็นผลของสิ่งนี้ เช่น รู้ว่า สุขเป็นผลแห่งเหตุอันนี้ ทุกข์เป็นผลแห่งเหตุอันนี้ หรือพบเหตุแล้วรู้จักคาดผลได้ว่า เหตุนั้นจะต้องได้ผลอย่างนี้แน่นนอน เหตุดีย่อมได้ผลดี เหตุชั่วย่อมได้ผลชั่ว อย่างนี้เรียกว่าอัตถัญญุตา

3)      อัตตัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักตน คือ ความรู้ชัดว่า ตนเองมีฐานะเป็นอย่างไร แล้วประพฤติตนให้เหมาะสมกับภาวะและฐานะของตน

4)      มัตตัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักประมาณ คือ รู้จักพอดี รู้จักประมาณในการแสวงหาและใช้จ่ายทรัพย์เลี้ยงชีพ

5)      กาลัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักกาล คือรู้จักเวลาอันเหมาะสมแก่การประกอบกิจและระยะเวลาที่ต้องใช้ในการประกอบกิจ การตรงต่อเวลา มาปฏิบัติงานให้ตรงต่อเวลา ทำให้พอเหมาะกับเวลาที่กำหนด

6)      ปริสัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักชุมชน คือรู้จักชุมชน หรือสังคมและรู้จักกิริยาที่ต้องประพฤติต่อชุมชนนั้น ๆ ว่า หมู่นี้เมื่อเข้าไปหาจะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ เป็นต้น

7)      ปุคคลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักบุคคล คือรู้จักบุคคล รู้จักเลือกบุคคล ว่า ผู้นี้เป็นคนดีควรคบ ผู้นี้เป็นคนไม่ดีไม่ควรคบ ผู้นี้มีอัธยาศัยเป็นอย่างนี้ มีคุณธรรมอย่างนี้เป็นต้น

 

2.หลักธรรมสำหรับการครองคน

2.1 พรหมวิหาร  4

            พรหมวิหาร แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของท่านผู้ใหญ่ หมายความว่า  ผู้ใหญ่จะเป็นบิดามารดา เป็นผู้ปกครอง ผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมือง หรือเป็นใหญ่ในฐานะอื่น ๆ จะเป็นผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือ ควรกราบไหว้บูชาของผู้น้อย จะต้องตั้งอยู่ในพรหมวิหารธรรมทั้ง 4 นี้ คือ

1)      เมตตา  ความรักใคร่ปรารถนาให้เป็นสุข กล่าวคือ ความรักที่เกิดจากความบริสุทธ์ใจอย่างพ่อแม่รักลูก หรือลูกรักพ่อแม่

2)      กรุณา  ความสงสาร  คิดช่วยให้พ้นทุกข์ กล่าวคือ เมื่อเห็นคนอื่นได้รับทุกข์แล้ว เกิดความสงสาร หวั่นใจ ไม่นิ่งนอนใจ คิดช่วยให้คนอื่นพ้นทุกข์ ให้พ้นโศก พ้นโรค พ้นภัย

3)      มุทิตา  ความพลอยยินดี เมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี กล่าวคือ เมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี มีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็มีความพลอยยินดี อนุโมทนาด้วย ไม่คิดอิจฉาริษยา มีแต่ความชื่นชมยินดีกับเขา

4)      อุเบกขา  ความวางใจเป็นกลาง กล่าวคือ ความวางใจเป็นกลาง ไม่เข้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือไม่คิดซ้ำเติมผู้อื่นในเมื่อผู้อื่นถึงความวิบัติ

โพสต์โดยสมาชิกหมายเลข 9303 วันที่ 3 พ.ย. 2552


คุณธรรมสำหรับครู

Advertisement

≡ เรื่องอื่นๆ ที่น่าอ่าน ≡

อย่านับไข่ของคุณ....

อย่านับไข่ของคุณ....


เปิดอ่าน 7,135 ครั้ง
Jingle bells

Jingle bells


เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง
สถิติที่น่าตกใจ

สถิติที่น่าตกใจ


เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง
การอ่านตัว  ฑ

การอ่านตัว ฑ


เปิดอ่าน 7,387 ครั้ง

:: เรื่องปักหมุด ::

7 ผลไม้ไทย ใช้เป็นยา

7 ผลไม้ไทย ใช้เป็นยา

เปิดอ่าน 7,143 ☕ คลิกอ่านเลย

Advertisement

≡ เรื่องน่าสนใจในหมวดหมู่นี้ ≡
เทคนิคการสอนโดยการสาธิตและลงมือทำ ....
เทคนิคการสอนโดยการสาธิตและลงมือทำ ....
เปิดอ่าน 7,144 ☕ คลิกอ่านเลย

สุนทรพจน์.....?เศรษฐกิจพอเพียง?
สุนทรพจน์.....?เศรษฐกิจพอเพียง?
เปิดอ่าน 7,361 ☕ คลิกอ่านเลย

ไม่อยากมีกลิ่นปากใช่ไหม....เคี้ยวพืชสมุนไพร  ดื่มน้ำผลไม้ลดกลิ่นปาก
ไม่อยากมีกลิ่นปากใช่ไหม....เคี้ยวพืชสมุนไพร ดื่มน้ำผลไม้ลดกลิ่นปาก
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย

สร้อยข้อมือ.... เลือกยังไงให้ สวยโดดเด่น
สร้อยข้อมือ.... เลือกยังไงให้ สวยโดดเด่น
เปิดอ่าน 7,144 ☕ คลิกอ่านเลย

WiMAX คืออะไร ไวแม็กซ์ (WiMAX : Worldwide Interoperabillty for Microware Access)
WiMAX คืออะไร ไวแม็กซ์ (WiMAX : Worldwide Interoperabillty for Microware Access)
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย

กฏน่ารักๆที่ทำให้คุณอมยิ้ม...
กฏน่ารักๆที่ทำให้คุณอมยิ้ม...
เปิดอ่าน 7,138 ☕ คลิกอ่านเลย

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

ความผูกพันสำคัญต่อองค์กรอย่างไร ?
ความผูกพันสำคัญต่อองค์กรอย่างไร ?
เปิดอ่าน 8,678 ครั้ง

คลิปขนส่งพัสดุจีน ของไทยว่าห่วยแล้ว ยังชิดซ้ายเลย
คลิปขนส่งพัสดุจีน ของไทยว่าห่วยแล้ว ยังชิดซ้ายเลย
เปิดอ่าน 13,302 ครั้ง

เกษียณ65ปีทางแก้ประชากรสูงอายุ มีเงินเก็บ"4แสน"ก็อยู่ลำบาก
เกษียณ65ปีทางแก้ประชากรสูงอายุ มีเงินเก็บ"4แสน"ก็อยู่ลำบาก
เปิดอ่าน 24,774 ครั้ง

"อยากไปโรงเรียน" โจทย์ใหญ่? พ่อแม่ช่วยลูกได้..ด้วย "สนุก"
"อยากไปโรงเรียน" โจทย์ใหญ่? พ่อแม่ช่วยลูกได้..ด้วย "สนุก"
เปิดอ่าน 9,920 ครั้ง

หวิดโดนรถทับ สาวลืมดึงเบรคมือ
หวิดโดนรถทับ สาวลืมดึงเบรคมือ
เปิดอ่าน 13,486 ครั้ง

เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
สนามเด็กเล่น

แหล่งรวมเกมส์ เกมส์ให้เล่นมากมาย ศูนย์รวมเกมส์สนุกๆ เกมส์ความรู้ เกมส์ลับสมอง เกมส์ประลองยุทธ แหล่งรวบรวมข้อมูล เกมส์ เกมส์ออนไลน์ เกมส์มันๆ เกมส์ตัดผม ไว้มากมายที่นี่ ให้เด็กๆได้เลือกเล่นมากมาย คลิกเลย

 
หมวดหมู่เนื้อหา
เนื้อหา แยกตามหมวดหมู่ สามารถเลืออ่านได้ตามหมวดหมู่ที่นี่


· Technology
· บทความเทคโนโลยีการศึกษา
· e-Learning
· Graphics & Multimedia
· OpenSource & Freeware
· ซอฟต์แวร์แนะนำ
· การถ่ายภาพ
· Hot Issue
· Research Library
· Questions in ETC
· แวดวงนักเทคโนฯ

· ความรู้ทั่วไป
· คณิตศาสตร์
· วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· ภาษาต่างประเทศ
· ภาษาไทย
· สุขศึกษาและพลศึกษา
· สังคมศึกษา ศาสนาฯ
· ศิลปศึกษาและดนตรี
· การงานอาชีพ

· ข่าวการศึกษา
· ข่าวตามกระแสสังคม
· งาน/บริการสังคม
· คลิปวิดีโอยอดนิยม
· เกมส์
· เกมส์ฝึกสมอง

· ทฤษฎีทางการศึกษา
· บทความการศึกษา
· การวิจัยทางการศึกษา
· คุณครูควรรู้ไว้
· เตรียมประเมินวิทยฐานะ
· ผลงานวิชาการเล่มเต็ม
· เครื่องมือสำหรับครู

ครูบ้านนอกดอทคอม

เว็บไซต์เพื่อครู ข่าวการศึกษา ความรู้ การศึกษาไทย

      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ