ไม้ใหญ่ยืนต้นเพื่อใช้ในการจัดสวน มีหลายชนิดที่นำมาใช้ในงานได้สวยงามและเพื่อประโยชน์ให้ร่มเงา
ขนาดที่ใช้ ก็แล้วแต่ความเหมาะสม ถ้าเป็นตามบ้านพักอาศัยมีพื้นที่ไม่กว้างนัก(เฉพาะส่วนของสวนพื้นที่ประมาณไม่เกิน100ตารางเมตร = 25ตารางวา ) ควรเลือกต้นไม้ ที่ทรงพุ่มไม่ใหญ่มาก และใบไม่หนาทึบเกินไป เพราะจะต้องพบกับปัญหาในการตัดแต่งทรงพุ่มอยู่เสมอ เพราะถ้าปล่อยตามธรรมชาติ ความใหญ่และความหนาทึบของทรงพุ่มจะทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกอึดอัดและบีบคั้นแทนความรู้สึกร่มรื่นเย็นสบาย
อีกปัญหาคือเรื่องของระบบราก ที่ต้องระวัง ต้นไม้บางชนิด ระบบรากรุนแรง ถ้าปลูกใกล้บ้านเกินไปอาจเกิดปัญหาระบบรากรบกวนโครงสร้างฐานรากได้ จะเห็นว่าไม้ต้องห้ามตามความเชื่อแต่โบราณนานมาที่ห้ามปลูกในบ้าน นั้นมีเหตุและผลอยู่ในตัวเอง เสมอ ยกตัวอย่างเช่น ต้นไทร, ต้นโพธิ์ ซึ่งเป็นไม้ใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาไปได้ไกล ซึ่งเชื่อว่าปลายใบตกที่ใดปลายรากอยู่ที่นั่น ทำให้เป็นข้อห้ามที่ไม่ให้ปลูกไว้ใกล้เรือน
ไม้ใหญ่ที่ขายอยู่ทั่วไปตามตลาดต้นไม้ หรือตามสวนจตุจักร มีอยู่ 2 ลักษณะคือ ไม้ที่ปลูกไว้ขายเพื่อการขุดล้อม และไม้ป่าที่ล้อมมาดิบๆ
อย่างแรก จะมีการนำไปบรรจุขุยมะพร้าวรดน้ำและยาเร่งรากเพื่อให้การนำไปปลูกไม่ประสบปัญหาต้นไม้หลุดตาย ส่วนอย่างหลังพวกขุดล้อมมืออาชีพ จะเสาะหาต้นไม้ตามหัวไร่ปลายนา เมื่อพบชนิดที่มีผู้สั่งหรือต้องการก็จะทำการบอนต้นไม้ คือขุดล้อมบริเวณรากตัดรากแขนงรอบๆรากแก้วแล้วหมักทิ้งไว้ประมาณ1เดือนให้ต้นไม้รู้สึกตัว แล้วค่อยตัดรากแก้วแล้วยกมา อย่างหลังนี้ถ้าผู้ซื้อไม่มีความรู้ความชำนาญในการดูก็จะเสี่ยงต้นไม้ตายเมื่อนำไปปลูกต่อได้
สนนราคาอาจถูกกว่าอย่างแรกพอดู
ข้อสังเกตุในการเลือกซื้อต้นไม้อย่างหลังและมีความเสี่ยงน้อย ให้ดูที่ยาง ถ้าต้นไม้มียางอัตราการตายจะน้อยเพราะเป็นพวกไม้เนื้ออ่อน เช่น ลั่นทม พญาสัตบรรณ แค่ระวังอย่ารดน้ำมากจนรากเน่าก็พอ ส่วนไม้เนื้อแข็ง เช่น พยอม, ลำดวน,บุนนาค ต้นไม้พวกนี้ ทำให้สะอื้นได้เชียวนะเพราะราคาไม่ใช่น้อย
ทีนี้เป็นเรื่องการเลือกต้นไม้ใหญ่เพื่อนำมาปลูกในบ้านตามขนาดพื้นที่ดังกล่าว เดี๋ยวโชว์รูปให้ดูดีกว่าว่ามีต้นอะไรบ้าง เอาเป็นพวกปาล์มก่อน แล้วจะค่อยๆเรียงลำดับจำแนกประเภท เป็นหมวดหมู่ ไปเรื่อยๆ สนใจก็คอยติดตามเอาเพราะต้นไม้ที่นำมาใช้ ในงานจัดสวนมีมากมายจริงๆ
ปาล์มหางกระรอก
Black Palm Foxtail Palm
ชื่อสามัญ : ปาล์มหางหมาจิ้งจอก,ปาล์มหางหมาป่า ,ปาล์มหางกระรอก
ชื่ออื่น : Foxtail Palm
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Wodyetia bifurcata
ถิ่นกำเนิด : ออสเตรเลีย
จะมีปาล์มที่คล้ายกันและแยกกันไม่ค่อยออกระหว่างปาล์มหางหมาป่ากับปาล์มหางกระรอกที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่าNormanbya normanbyi หรือชื่อสามัญว่า Black Palm บางทีก็เรียกรวมกันว่าFoxtailบ้าง ปาล์มหางกระรอกบ้าง แต่ก็สามารถนะไม่ได้ผิดอะไรแต่จะชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างว่ามันดูยังไงต่างกันตรงไหน
Foxtail ต้นจะอ้วนกว่าป่องตรงกลางหน่อยๆใบย่อยจะเป็นพวงแผ่ออกทุกทิศทาง ต้นที่ปลูกกันอยู่ในปัจจุบันใบมีอยู่สองลักษณะคือใบแคบแหลม และใบกว้างปลายใบหยัก และใบค่อนข้างแข็ง ส่วนปาล์มหางกระรอก ใบจะกางออกหลายทิศทางแต่ใบย่อยจะมีขนาดใหญ่กว่า สีเขียวเข้มใต้ใบจะออกสีขาวๆ และความสามารถในการสร้างความสูงมีมากกว่าสูงได้ถึง20 เมตรในขณะที่Foxtail สูงได้ราวๆ 15 เมตร ขนาดที่ปลูกกำลังดีคือความสูงอยู่ระหว่าง 2-5 เมตร ปลูกเป็นแถวก็ดีเป็นกลุ่มก็สวย รูปข้างบนสองรูปนี้ดูเปรียบเทียบกันว่าแตกต่างกันอย่างไร
ผลของปาล์มฟอกซ์เทล เวลาสุกสีส้มแดง หากนำมาเพาะใช้เวลา 3-4 เดือนถึงจะงอก บางทีเวลาที่ใช้เพาะนานเกินไป จะเข้าใจกันว่าไม่ขึ้นแล้วก็ปล่อยทิ้ง เลยไม่งอกซะจริงๆ
.................................................................................
อินทผลัม
ชื่อสามัญ : อินทผลัม ใบเงิน
ชื่ออื่น : Indian Wild Date , Sugar Wild Date
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phoenix sylvestris
ถิ่นกำเนิด : อินเดีย
เห็นต้นใหญ่โตมโหฬารอย่างนี้อย่าเพิ่งด่านะว่าชักชวนให้นำมาปลูกในบ้าน ต้นนี้สำหรับคนรักปาล์มอยากปลูก ก็ปลูกได้แต่ขอความสูงหน่อย 4-5เมตร
กำลังสวย เพราะหลีกปลายใบที่ตกลงมาให้พ้นศรีษะ บ้านจัดสรร สไตล์เมดิเตอเรเนียน ปลูกแถมลูกค้า แถวๆคลองสี่ ธัญญบุรี ทำให้บ้านสวยสง่าทีเดียวละ่่ราคาก็สวยเหมือนกันนะ
...................................................................................
หมากเขียว
ชื่อสามัญ : หมากเขียว ชื่ออื่น : MacArthur Palm
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ptychosperma macarthurii
ถิ่นกำเนิด : เกาะนิวกินีและตอนเหนือของออสเตรเลีย
เป็นปาล์มแตกกอเมื่อต้นเล็กปลูกเป็นไม้กระถางได้ พอโตก็ย้ายปลูกลงดิน ถ้าไม่ต้องการให้กอใหญ่มากก็ใช้วิธีกำจัดหน่อที่แตกรอบโคน
......................................................................................
หมากเหลือง
ชื่อสามัญ : หมากเหลือง
ชื่ออื่น : Golden Cane Palm , Yellow Cane Palm ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dypsis lutescens
ถิ่นกำเนิด : มาดากัสการ์
เป็นปาล์มแตกกอ ขนาดที่นำมาใช้ช่วงประดับที่กำลังสวย ระหว่าง 0.50-4 เมตร เมื่อเล็กนำมาปลูกเป็นไม้กระถางประดับได้พอต้นโตก็ย้ายปลูกลงดิน
ปลูกในที่แสงแดดรำไรและกลางแจ้งได้
..................................................................
หมากแดง
ชื่อสามัญ : Lipstick Palm , Raja Palm, Sealing Wax Palm
ชื่ออื่น : หมากแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cyrtostachys renda
ถิ่นกำเนิด : เอเซียตะวันออกเฉียงใต้
ปาล์มยอดนิยมที่ยังครองใจคนทุกยุคทุกสมัยไม่เปลี่ยนแปลงคงไม่มีใครเกินหน้าหมากแดง เห็นจะเป็นเพราะสีแดงสวยของลำต้นและเส้นกลางใบสีแดงเข้ม ความสง่างามของฟอร์มต้น หมากแดงเป็นปาล์มแตกกอ โตช้า และเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่เสมอจึงประคองตัวและราคาอยู่ได้ ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด และแยกหน่อ ซึ่งอย่างหลังจะทำได้ค่อนข้างยาก ถ้าทำได้ง่ายป่านนี้ราคาคงตกกราวรูดไปแล้ว การใช้เป็นไม้ประดับปลูกลงกระถางไว้ในที่รำไรได้ หรือปลูกลงสนาม กลางแจ้ง ชอบที่ชื้นแฉะและทนน้ำท่วมขังได้ดี
...........................................................
หมากนวล
ชื่อสามัญ : Manila Palm, Christmas Palm
ชื่ออื่น : หมากคอนวล, หมากเยอรมัน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Adonidia merrillii
ถิ่นกำเนิด : ฟิลิปปินส์
เป็นปาล์มต้นเดี่ยว ปลูกกลางแจ้ง เป็นแถวต้นเดียว หรือปลูกเป็นกลุ่ม แบบนี้ก็สวย ทนน้ำท่วมได้ดี
มีอีกชนิดเรียกว่าหมากนวลสีทอง(Adonidia merrillii 'Golden' )ที่ทุกส่วนของลำต้นเป็นสีทอง โดยเฉพาะส่วนของใบย่อยและคอนิยมขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ใช้ระยะเวลาในการงอก 1-2 เดือน
...............................................................
สิบสองปันนา
ชื่อสามัญ :Dwarf Date ,Pigmy Date
ชื่ออื่น : สิบสองปันนา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phoenix roebelenii
ถิ่นกำเนิด : พม่า, อินเดีย, แคว้นสิบสองปันนา
ความสูงที่นำมาใช้ประดับ มีความสูงตั้งแต่ 50 เซนติเมตรขึ้นไป ปลูกเป็นไม้กระถางก็ได้ ปลูกลงสนามก็จัดเป็นกลุ่มหรือเป็นแถวเดี่ยว
....................................................................................
ปาล์มเชอรี่
ชื่อสามัญ : Cherry Palm
ชื่ออื่น : ปาล์มเชอรี่
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hyophorbe ' Cherry'
ถิ่นกำเนิด : ญี่ปุ่น
เป็นปาล์มลูกผสมระหว่าง ปาล์มแชมเปญกับปาล์มสามเหลี่ยมเหลือง จึงมีลักษณะอยู่ระหว่างปาล์มสองชนิดนี้ การขยายพันธุ์ เนื่องจากปาล์มต้นนี้เป็นหมันไม่ติดเมล็ด การขยายพันธุ์ต้องนำเมล็ดที่ได้จากการผสมเกสรของปาล์มแชมเปญและปาล์มสามเหลี่ยมมาเพาะเท่านั้น เหมาะสำหรับปลูกโชว์ลำต้นเป็นกลุ่มในที่กว้างๆ
.....................................................................
ปาล์มแชมเปญ
ชื่อสามัญ : Bottle Palm
ชื่ออื่น :ปาล์มแชมเปญ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hyophorbe lagenicaulis
ถิ่นกำเนิด : หมู่เกาะมัสคารีน
เป็นปาล์มที่เหมาะกับการเลี้ยงในกระถางโชว์ทรวดทรงของลำต้นที่ป่องออกคล้ายสะโพก ถ้าปลูกลงดินให้ปุ๋ยมากไปต้นจะโต เหมือนสาวๆรับประทานมากไม่ควบคุมเรื่องอาหารการกินหุ่นเสียได้ง่ายๆ ปาล์มแชมเปญก็เหมือนกัน ต้นที่เห็นนี้อดอยากทั้งน้ำทั้งปุ๋ย เลยได้หุ่นอย่างนี้ ปาล์มแชมเปญที่ต้นโตมากๆลำต้นจะคอดไม่สวยเรียกว่าพอแก่หน่อยคนก็เมินซะงั้น
...........................................................................
ปาล์มน้ำมัน
ชื่อสามัญ : African Oil Palm
ชื่ออื่น : ปาล์มน้ำมัน
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Elaeis guineensis
ถิ่นกำเนิด : ทวีป อาฟริกา
เป็นปาล์มต้นเดี่ยวสูงใหญ่ ขนาดความสูง ได้ถึง 20 เมตร พุ่มใบแผ่กว้างประมาณ 5 เมตร เหมาะปลูกในพื้นที่กว้าง กลางแจ้ง ตอนเล็กปลูกเป็นไม้กระถางได้ โดยใส่กระถางใหญ่ตั้งโชว์ขนาดปลูกลงสนามที่กำลังสวยงามคือ ตอนช่วงความสูงได้ 6 เมตร ในกรุงเทพฯปลูกปาล์มน้ำมันไว้สองข้างทางที่เห็นดูได้ตรงลียบทางด่วน รามอินทรา -พระรามเก้า สมัยตอนนิยมใหม่ๆราคาแพงพอดู แต่พออิทผลัมเข้ามาคนนิยมมากกว่า เดี๋ยวนี้ราคาลดลง พอสมควร
........................................................................
ชื่อสามัญ : Washington Palm
ชื่ออื่น : ปาล์มเป็ตติโค้ต
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Washingtonia robusta
ถิ่นกำเนิด : อเมริกา ตอนเหนือเม็กซิโก
เป็นปาล์มที่นิยมปลูกกันมากในขณะนี้ เหมาะสำหรับปลูกเรียงเป็นแถว หมั่นตัดแต่งก้านใบข้างล่างออกให้หมดจนเห็นกาบใบสีน้ำตาลแดง ตอนเล็กใบรูปพัดจะมีเส้นใยสีขาวๆ ถ้าสูงมากๆทางใบจะแห้งติดแน่นและค่อยหลุดร่วง ขนาดที่ปลูกกำลังสวยคือ 3-6 เมตร
มีอีกต้นคือปาล์มเป็ตติโค้ตยาว ชื่อสามัญคือ American Cotton Palm ,Califonia Palmเป็นปาล์มถิ่นกำเนิดเดียวกัน ชื่อพฤกษศาสตร์ Washingtonia fififera ต้นนี้เวลาล้อมมาปลูกติดยากกว่าต้นแรกมาก คนเลยนิยมปลูกต้นแรกมากว่านี่คงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ต้องแยกว่าจะปลูกปาล์มเป็ตติโค้ตต้นไหน
.........................................................................
ปาล์มอ้ายหมี
ชื่อสามัญ : Cuban Petticoat Palm
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Copernicia macroglossa
ชื่ออื่น : ปาล์มอ้ายหมี
ถิ่นกำเนิด : คิวบา
เป็นปาล์มต้นเดี่ยวและเป็นปาล์มต้นแพง หน้าตาแบบที่เห็น ตอนเล็กปลูกเลี้ยงลงกระถางก็สวยดี
โตขึ้นก็ย้ายปลูกลงดิน สูงได้ถึง 10 เมตร แต่ขนาดที่เล่นกันและกำลังสวยก็คือ ระยะความสูง 0.50เมตร- 5 เมตร
จะเห็นว่าปาล์มต้นนี้ไม่มีก้านใบ กาบใบจะแผ่คลุมรอบคอ ใบแห้งที่ติดแน่นที่ลำต้นจะหลุดร่วงเองเมื่อต้นสูงเกิน 5 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด
.............................................................................
ปาล์มหมีเทา
ชื่อสามัญ : Hospita Palm
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Copernicia hospita
ชื่ออื่น : ปาล์มหมีเทา
ถิ่นกำเนิด : คิวบา
เป็นปาล์มโตช้าแต่สวยมากๆ ปลูกต้นเดี่ยวอย่างโดดเด่นก็สวยปลูกเป็นกลุ่มก็สวย ตามประสาปาล์มนั่นแหละ แพงเอาเรื่องเหมือนกัน ความงามที่ไม่ธรรมดาก็ควบคู่ไปกับราคาที่ไม่ธรรมดาไปด้วย
...........................................................................................
ตาลฟ้า
ชื่อสามัญ : Bismarck Palm
ชื่ออื่น :ตาลฟ้า
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Bismarckia nobilis
ถิ่นกำเนิด : มาดากัสการ์
ต้นนี้ปลูกไว้หน้าบ้านประมาณอายุได้ 3-4 ปี สงสัยต้องล้อมออกเบียดกำแพงพังแน่ ตอนเอามาปลูกต้นสูงประมาณ 50 เซนติเมตร รู้ทั้งรู้ว่าผลจะเป็นอย่างนี้แต่ใจมันชอบ เสียดาย ถ้าปลูกกลางสนามจะแผ่ศักยภาพได้สวยงามมาก ดูความงามแล้วคงไม่ต้องบรรยายความ แถม โตเร็วด้วย ต้นนี้สูงได้ถึง 25 เมตร
(ภาพที่3กับภาพแรกระยะเวลาห่างกัน 1ปีพอดี โตเร็วขนาดไหนลองพิจารณา )
....................................................................
ตาลน้ำเงิน
ชื่อสามัญ : Blue Latan Palm
ชื่ออื่น : ตาลน้ำเงิน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Latanai loddigesii Mart.
ถิ่นกำเนิด : เกาะมัสคารีน
เป็นปาล์มต้นเดี่ยวสูงประมาณ 8 เมตร ตอนต้นเล็กขอบใบและก้านใบจะมีสีชมพูหรือสีทับทิม เมื่อต้นแก่จะมีสีน้ำเงินปนเทา ก้านใบมีขนสีขาวเป็นนวลคลุมอยู่ ลักษณะจะคล้ายตาลแดง เป็นปาล์มที่ชอบที่แจ้งขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด
................................................................................
ปาล์มเคราฤาษี
ชื่อ สามัญ : Mat Palm , Oldman Palm
ชื่ออื่น : เคราฤาษี
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Coccothrinax crinita
ถิ่นกำเนิด : คิวบา
ปาล์มต้นนี้ไม่พูดถึงไม่ได้ แพงเอาการอยู่ เพราะต้นโตช้ามากๆ สูงได้ถึง 10 เมตร หน้าตาแบบที่เห็นนี่แหละ มีไว้ประดับบารมีคนรักปาล์ม ขอสนับสนุน รูปนี้มาจากหนังสือปาล์มประดับของ อาจารย์
ดร ปิยะ เฉลิมกลิ่น คุณ อภิชัย อิงควุฒิ ถ่ายภาพ ใครรักปาล์มมากๆหาซื้อหนังสือท่านนำมาเป็นคู่มือได้ ราคาคุ้มค่า น่าอ่าน ต้นจริงดูได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ต้นยังไม่ใหญ่เท่าไหร่ กำลังสวย
...........................................................................
เปาโรติ๊ส
<!--[endif]--> ชื่อสามัญ : Everglades Palm , Paurotis Palm, Silver Saw Palmetto
วิทยาศาสตร์ : Acoelorraphe wrightii
ถิ่นกำเนิด : รัฐฟลอลิดา , อเมริกากลาง และหมู่เกาะ West Indies
เป็นปาล์มกอความสูงประมาณ 8 เมตรต้นโตช้าเหมาะปลูกลงกลางแจ้ง ขนาดความสูง2-4เมตรกำลังสวย สนนราคา สำหรับนักเลงปาล์มไม่หนักหนา เล่นได้
................................................................
ปรงเม็กซิกัน
ชื่อสามัญ : Jamaica Sago Tree
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zamia furfuracea Linn. F.
ถิ่นกำเนิด : ประเทศเม็กซิโก และโคลัมเบีย
พูดเรื่อง ปรง ๆ ซะบ้าง ต้นนี้ชอบนะสวยดี มีต้นตัวผู้ ตัวเมียด้วยนะ เพราะดอกแยกเพศอยู่คนละต้น สังเกตุได้อย่างไรไม่เห็นมีใครพูดถึงน่าจะไม่ใช่สาระแตกต่างในเรื่องความงาม เลยไม่เป็นประเด็น
ปรงเม็กซิกันลำต้นสั้น มักจะแตกหน่อใกล้ๆโคนต้น โคนก้านใบมีหนามและใบอ่อนจะมีขนสีน้าตาลปกคลุม ใครมือดีก็ลองสกัดหน่อที่แตกใหม่มาขยายพันธุ์ แต่ถ้าไม่แน่อย่าใจเสี่ยง
....................................................................
ปรงญี่ปุ่น
ชื่อสามัญ : Sago Palm
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cycas revoluta. Thunb.
ถิ่นกำเนิด : ประเทศญี่ปุ่นตอนใต้
นี่ถ้าอยู่ที่ญี่ปุ่นคงเห็นกิ่งก้านสาขาของปรงต้นนี้กันบ้างเพราะ จะเป็นไปได้ถ้าอยู่ในถิ่นของตัว เรียกว่าเก่งอยู่ในบ้าน มีต้นตัวผู้ตัวเมียเหมือนกันเลยไม่ติดผลไม่มีเมล็ดเพราะฉะนั้นเวลาจะขยายพันธุ์ ก็ใช้วิธี แซะเอาลูกเล็กๆที่เกิดใกล้ต้นแม่เอาไปปลูกใหม่ ใครมีฝีมือก็เชิญอีกเช่นกัน ชื่อสามัญที่เรียกว่า สาคูปาล์มเพราะมีรากสะสมอาหารอ้วนและมีแป้ง ใช้รับประทานได้ แต่ไม่ใช่ต้นสาคูและไม่ใช่ปาล์มที่แท้จริง เห็นต้นมันคล้าย พูดถึงปรง ทำให้เลยมาต้นนี้ด้วย
.........................................................................
ปาล์มน้ำพุ
ชื่อสามัญ ; Carpentaria Palm
ชื่ออื่น : ปาล์มน้ำพุ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Carpentaria acuminate
ถิ่นกำเนิด : ตอนเหนือ
เมื่อก่อนประมาณก่อนปี 40 ปาล์มน้ำพุ เคยถูกใช้ในงานจัดสวนมาก เพราะต้นสูงได้ถึง 20 เมตร ใช้สร้างระดับงานด้านความสูงประกอบอาคารหรือตึกขนาดใหญ่ แต่เนื่องจากปัญหาของการขนส่ง ที่ป้องกันการเสียหายและยุ่งยาก จึงทำให้ปาล์มน้ำพุหายไปช่วงเวลาหนึ่ง แต่ปัจจุบัน เราใช้ปาล์มน้ำพุขนาดแค่ 2-4 เมตร และความที่เป็นปาล์มโตเร็ว เลี้ยงง่ายและทนน้ำท่วมได้ดี นักปลูกเลี้ยงปาล์มเพื่อการค้าจึงหันมานิยมปลูกปาล์มน้ำพุกัน เท่ากับว่า return to landscape อีกครั้ง
..................................................................
ปาล์มจีน
ชื่อสามัญ : Chinese Fan Palm ,ปาล์มเซี่ยงไฮ้
ชื่ออื่น : ปาล์มจีน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Livistona chinesis
ถิ่นกำเนิด : หมู่เกาะริวกิวของญี่ปุ่น
เหมาะปลูกลงสนามที่กว้าง ยังมีปาล์มอีกสองต้นที่ลักษณะคล้ายกันมาก คือปาล์มลู่ลม Livistona decipiensชื่อสามัญเรียกว่า Ribbon Fan Palm หรือ Weeping Cabbage Palm และอีกต้น คือ ปาล์มลู่ลมLivistona drudie ชื่อสามัญคือ Drudes Palm ความแตกต่างอยู่ที่ลำต้นไม่เหมือนกันและใบที่ลู่ลงมากน้อยต่างกัน อีกสองต้นถ้าได้รูปแล้วจะนำมาเปรียบให้ดู
|