ยาสีฟัน…เป็นของคู่กันกับการแปรงฟัน เพราะนอกจากจะช่วยในการทำความสะอาดฟันและเหงือกแล้ว ยังทำให้เรารู้สึกสดชื่นหลังจากแปรงฟันด้วย
– ส่วนประกอบในยาสีฟัน –
ปัจจุบันมียาสีฟันจำนวนมากที่วางขายตามท้องตลาด ทำให้หลายคนมีคำถามว่าจะเลือกใช้ยาสีฟันยี่ห้อไหนดี การเลือกใช้ยาสีฟันมีหลักง่ายๆ คือ เลือกตามความต้องการโดยดูจากส่วนประกอบสำคัญในยาสีฟันนั้นๆ โดยทั่วไปยาสีฟันที่นิยมใช้จะมีลักษณะเป็นครีมข้นประกอบด้วยผงขัดที่ละเอียดเพื่อช่วยขจัดคราบฟัน มีสารที่ทำให้เกิดฟองซึ่งจะช่วยให้คราบฟันถูกขจัดออกได้ง่าย มีการแต่งกลิ่นและรสเพื่อให้น่าใช้ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีสารเก็บความชื้น สารช่วยยึด สารกันบูดและสารฟลูออไรด์
การเลือกใช้ยาสีฟัน
ส่วนประกอบของยาสีฟันแต่ละยี่ห้อจะแตกต่างกัน จึงควรเลือกใช้ตามวัตถุประสงค์ของแต่ละคนดังนี้
1. ช่วยในการป้องกันฟันผุ ส่วนประกอบในยาสีฟันที่มีผลต่อการป้องกันฟันผุคือ ฟลูออไรด์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า ฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุได้จริง ในประเทศไทยกำหนดให้เติมฟลูออไรด์ในยาสีฟันได้ไม่เกินร้อยละ 0.11 หรือ 1,100 ส่วนในส่วนประกอบล้านส่วน (ppm.) และต้องได้รับอนุญาตจากองค์การอาหารและยา หรือ อย. ด้วยยาสีฟันส่วนใหญ่ที่มีขายทั่วไปมักจะมีฟลูออไรด์ผสมอยู่ด้วย และหลายยี่ห้อจะมีคำว่า เอฟ (F) ต่อท้าย แต่ก็มีบางยี่ห้อที่มีคำว่า เอฟ แต่ไม่มีฟลูออไรด์ ฉะนั้นเราจึงควรศึกษารายละเอียดข้างกล่องในการเลือกใช้ให้ถูกต้อง
รูปแบบของฟลูออไรด์ที่ใช้มี 2 ชนิดคือ โซเดียมฟลูออไรด์กับโซเดียมโมโนฟลูออไรด์ฟอสเฟต ซึ่งในแต่ละยี่ห้อจะผสมสัดส่วนของฟลูออไรด์ทั้งสองต่างๆ กัน หรือใช้เพียงอย่างเดียว
ส่วนยาสีฟันที่ใช้สำหรับเด็กจะมีปริมาณฟลูออไรด์ต่ำกว่า 1,000 PPM. เช่น คอลเกตจูเนียร์มีฟลูออไรด์ 500 PPM. และโคโดโมเจลมีฟลูออไรด์ 850 PPM. ทั้งนี้เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากการที่เด็กกลืนฟลูออไรด์เข้าไปมากเกินไป อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพในการป้องกันฟันผุก็จะลดลงด้วย
2. ช่วยในการลดเชื้อซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเหงือกและฟันผุ ในยาสีฟันบางยี่ห้อมีการเติมสารที่ช่วยในการลดเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคเหงือกและฟันผุ เช่น สารไตรโคซาน ตัวอย่างเช่น คอลเกตโททอล ใช้ไตรโคซานเป็นส่วนประกอบ ซึ่งจะคงตัวอยู่ในช่องปากได้นาน 4-12 ชั่วโมงภายหลังการใช้ สารอีกตัวหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการลดเชื้อในช่องปากได้เช่นกัน ก็คือ สารไธมอล ซึ่งเป็นสารลดเชื้อที่มีอยู่ในยาสีฟันใกล้ชิดและพบว่า เป็นส่วนประกอบสำคัญของน้ำยาบ้วนปากลิสเตรอรีน ด้วย เพราะสารไธมอลจะคงตัวอยู่ในช่องปาก และยังคงมีฤทธิ์ในการระงับเชื้อภายหลังการใช้ประมาณ 2 ชั่วโมง ส่วนสารอีกตัวที่กำลังมาแรงก็คือ ทีที ออยส์ มีอยู่ในยาสีฟันใกล้ชิด แต่การคงตัวในช่องปากจะค่อนข้างต่ำเช่นเดียวกับไธมอล
3. ช่วยในการทำให้ฟันขาวขึ้น โดยการขัดคราบสีฟันออกทำให้ฟันขาวสะอาดขึ้น ยาสีฟันในกลุ่มนี้จึงเน้นไปที่ผงขัดฟันที่มีความหยาบกว่าปกติ เช่น ไดแคลเซียมฟอสเฟต (แซคท์) อลูมินั่มไฮดรอกไซด์ (เดนิวิท) อลูมินั่มออกไซด์ (คอลเกต-เซนเซชั่น) แคลไซน์อลูมินา (ดาร์ลี่ เฟรช แอนด์ ไบรท์) ซิลิคอนไดออกไซด์ (ใกล้ชิด) อลูมินั่มซิลิเกท (Glister)
ส่วนการทำให้ฟันขาวขึ้นอีกวิธีหนึ่ง คือ การฟอกสีฟัน (Bleeching) พบว่า มีเพียงสปาร์เกิ้ลสูตรเปอร์ออกไซด์เท่านั้นที่มีคาร์บาไมค์เปอร์ออกไซด์ ร้อยละ 3 ซึ่งเป็นสารที่สามารถฟอกสีฟันให้ขาวขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม โอกาสที่สารเปอร์ออกไซด์จะก่อให้เกิดการแพ้ และระคายเคืองต่อเหงือกมีได้สูง จึงควรระมัดระวังในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้สักหน่อย
4. ช่วยลดอาการเสียวฟัน มีการใช้สาร 2 ชนิด คือ สตรอนเตรียม คลอไรด์ (เซ็นโซดายน์สีแดง) และโปรตัสเซียมไนเตรดในการลดอาการเสียวฟัน โดยจะสามารถแก้เสียวฟันได้หลังการใช้ยาสีฟันประมาณ 20 ครั้งขึ้นไป ช่วยในการรักษาโรคเหงือก จะมีการใส่สารหรือสมุนไพรต่างๆ เข้าไปในยาสีฟัน เพื่อช่วยในการรักษาโรคเหงือก โดยจะช่วยลดเชื้อ Methyl-4-Esculetal Sodium (ไพโอดอลทิล) กานพลู หรือ Clove oil ฯลฯ สารบางตัวจะเพิ่มความแข็งแรงของเหงือก เช่น วิตามิน P, โปรวิตามินบี 5, Allantoin ฯลฯ ส่วนคาโมไมล์ จะมีฤทธิ์ในการลดการอักเสบ ทรานเอกชามิค เอซิด (ซอลท์) จะช่วยห้ามเลือด เป็นต้น
|
|
|
ยาสีฟันสมุนไพร
– ยาสีฟันสมุนไพร –
สมุนไพรไทยที่นำมาใช้ในยาสีฟัน ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยข่อย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีตั้งแต่โบราณมาแล้ว ส่วนที่นำมาใช้คือ กิ่งเล็กๆ หรือเปลือก เนื่องจากพบว่าเปลือกข่อยมีสารเทนนิน ซึ่งมีฤทธิ์ในการระงับเชื้อได้ ในขณะเดียวกันจะช่วยเคลือบฟันได้ด้วย
กานพูล ส่วนที่นำมาใช้มักจะเป็นดอกซึ่งมีน้ำมัน มีฤทธิ์ในการระงับเชื้ออย่างอ่อน นอกจากนี้ก็มี เกลือ ลิ้นทะเล (กระดองปลาหมึก) ใช้เป็นผงขัดฟัน พิมเสน การบูร ชะเอมเทศ ใช้ในการปรุงแต่งรสชาติ ส่วนสมุนไพรต่างประเทศที่นำมาผสมในยาสีฟัน จะพบว่ามีตัวหลักๆ คือ คาโมไมล์ ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เมอร์เปปเปอร์มิ้นท์ เสจ เอคชินาเซีย แรททาเนีย เป็นสมุนไพรที่นำมาผสมในยาสีฟันเพื่อช่วยในการรักษาโรคเหงือก โสม (Ginseng) เป็นสมุนไพรที่มักใช้เป็นยาบำรุงกำลังก็มีการนำมาผสมในยาสีฟันก๊กเลี้ยง จาเป่า และรัสตี้
|
|
|
ปัญหาจากการใช้ยาสีฟัน
ปัญหาจากการใช้ยาสีฟัน โดยปกติแล้วจะพบได้น้อยมาก ที่อาจจะพบได้บ้าง ก็คือ การแพ้ยาสีฟัน เยื่ออ่อนในช่องปากจะเกิดอาการแพ้หรือระคายเคือง บางรายอาจมีอาการบวม แดงที่ริมฝีปาก สาเหตุเกิดจากการแพ้สารบางตัวในยาสีฟันนั่นเอง เช่น บางคนจะแพ้เมนทอล ซึ่งเป็นสารแต่งกลิ่นและรสยาสีฟัน หรืออาจจะแพ้ฟลูออไรด์ในยาสีฟัน วิธีแก้ไขก็คือ เปลี่ยนไปใช้ยาสีฟันอื่นที่มีสารตัวนั้นน้อยลง
การใช้ยาสีฟันบางชนิดเพื่อขจัดคราบบุหรี่ และคราบอาหาร ซึ่งจะมีผงขัดมาก ก็อาจจะเกิดปัญหาทำให้ฟันสึกได้ จึงไม่ควรใช้ทุกวัน ยาสีฟันบางชนิดผสมสมุนไพร มีฤทธิ์เป็นยาฝาดสมานทำให้เหงอกดูเหมือนแน่นขึ้น ซึ่งต้องระวังในผู้ที่เป็นโรคปริทันต์ ซึ่งอาจมีหินปูนอยู่ใต้เหงือก ยังไม่ได้ขูดออก อาจมีการติดเชื้อใต้เหงือกเกิดขึ้นได้
|
|
|
หลักการเลือกใช้ยาสีฟัน
ในการใช้ยาสีฟันควรพิจารณาสิ่งต่อไปนี้คือ
– เป็นยาสีฟันประเภทครีม (Paste) หรือ เจล (Gel) เพราะจะไม่ทำให้ฟันสึกมากเมื่อเทียบกับชนิดผง
– มีฟลูออไรด์ผสมอยู่ด้วยเพราะสามารถช่วยป้องกันฟันผุได้
– มีราคาเหมาะสมเมื่อเทียบกับคุณภาพของยาสีฟัน
– เลือกตามปัญหาของแต่ละคน เช่น ผู้ที่มีอาการเสียวฟันอาจใช้ยาสีฟันที่แก้การเสียวฟันโดยเฉพาะ และเมื่อหมดอาการแล้วก็อาจจะใช้ยาสีฟันชนิดธรรมดาก็ได้
– นอกจากนี้เวลาแปรงฟันควรให้ยาสีฟันสัมผัสกับผิวฟันไม่น้อยกว่า 2 นาที จึงจะเป็นการใช้ยาสีฟันในการป้องกันฟันผุได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า
บทความนี้เรียบเรียงจากข้อเขียนของทันตแพทย์ภราดร ชัยเจริญ ซึ่งท่านได้ทำการสำรวจข้อมูลเมื่อปีพ.ศ.2542 ปัจจุบันมียาสีฟันใหม่ๆ ออกมาขายอีกมากมาย ฉะนั้นข้อมูลบางอย่างอาจจะเปลี่ยนแปลงไป และไม่ครบถ้วน อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณท่านในโอกาสนี้ด้วย
ที่มา..หนังสือ นิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 26 ฉบับที่ 10 ตุลาคม 2545
http://www.elib-online.com/doctors46/dental_dentrifice001.html
|
|
http://guru.sanook.com/pedia/topic/เรื่องน่ารู้ของยาสีฟัน/
http://www.charyen.com/jukebox/play.php?id=4508