Advertisement
|
ปัจจุบันแม้ประเพณีต่าง ๆ จะยังคงดำรงอยู่ในหลายท้องถิ่น แต่คนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ๆ มักจะไม่ค่อยรู้ว่ามูลเหตุใดจึงมีประเพณีนั้น ๆ เกิดขึ้น เช่นเดียวกับ “ลอยกระทง” อันเป็นอีกประเพณีหนึ่งคล้ายสงกรานต์ซึ่งเป็นนักขัตฤกษ์ (งานรื่นเริงตามฤดูกาล) ที่ผู้คนทั่วประเทศทุกจังหวัดจัดกันเป็นประจำทุกปีเมื่อถึงวันเพ็ญ เดือน 12 ด้วยรูปแบบที่เกือบคล้ายคลึงกัน จะต่างกันบ้างก็คงเป็นเพียงวัสดุและรูปแบบกระทงที่นำไปลอยเท่านั้น ซึ่งนอกเหนือไปจากความสนุกสนานแล้ว ความหมายที่แท้จริงของการไป “ลอยกระทง” เป็นอย่างไร ทำไมถึงต้องลอยกัน เชื่อว่าหลายคนจะยังไม่ทราบ อีกทั้ง “นางนพมาศ” ที่สมัยนี้มีการประกวดตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงรุ่นสาว และกล่าวกันว่าเป็นสนมของพระร่วงในสมัยกรุงสุโขทัยนั้น มีตัวตนจริงหรือไม่ เพื่อเป็นการเผยแพร่และแบ่งปันความรู้สู่สาธารณชน กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงขอนำข้อมูลจากเอกสารเผยแพร่ชื่อ “ลอยกระทงขอขมาธรรมชาติ” ของ อ.สุจิตต์ วงษ์เทศ มาบอกกล่าวเล่าต่อเพื่อให้ทราบกัน
ลอยกระทง เป็นพิธีกรรมร่วมกันของผู้คนในชุมชนทั้งสุวรรณภูมิ หรือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีมาแต่ยุคดึกดำบรรพ์ เพื่อขอขมาต่อธรรมชาติ อันมีดินและน้ำที่หล่อเลี้ยง ตลอดจนพืชและสัตว์ที่เกื้อกูลให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ มนุษย์จึงมีชีวิตเจริญเติบโตขึ้นได้ แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่าลอยกระทงเริ่มมีมาแต่เมื่อไร แต่พิธีกรรมเกี่ยวกับ “ผี” ผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติ มีอยู่กับผู้คนในชุมชนสุวรรณภูมิไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ก่อนรับศาสนาพุทธ-พราหมณ์จากอินเดีย
ผีสำคัญยุคแรก ๆ คือ ผีน้ำ และ ผีดิน ซึ่งต่อมาเรียกชื่อด้วยคำยกย่องว่า “แม่พระคงคา” กับ “แม่พระธรณี” มีคำพื้นเมืองนำหน้าว่า “แม่” ที่หมายถึงผู้เป็นใหญ่
ผู้คนในสุวรรณภูมิรู้ว่าที่มีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะ น้ำ และ ดิน เป็นสำคัญ และ น้ำ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะเป็นบ่อเกิดของสิ่งมีชีวิต ดังนั้น เมื่อคนเรามีชีวิตอยู่รอดได้ปีหนึ่ง จึงทำพิธีขอขมาที่ได้ล่วงล้ำก้ำเกินโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น เหยียบย่ำ ถ่ายของเสีย หรือทำสิ่งอื่นใดที่ไม่เหมาะสมเสียครั้งหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ทำพิธีบูชาพระคุณไปพร้อมกัน ด้วยการใช้วัสดุที่ลอยน้ำได้ใส่เครื่องเซ่นไหว้ให้ลอยไปกับน้ำ อาทิ ต้นกล้วย กระบอกไม้ไผ่ กะลามะพร้าว ฯลฯ และช่วงเวลาที่เหมาะสมที่คนเราเรียนรู้จากประสบการณ์ธรรมชาติ คือ สิ้นปีนักษัตรเก่า ขึ้นปีนักษัตรใหม่ ตามจันทรคติที่มีดวงจันทร์เป็นศูนย์กลาง เพราะเป็นสิ่งที่มีอำนาจทำให้เกิดน้ำขึ้น น้ำลง ซึ่งวันสิ้นปีนักษัตรเก่า ก็คือ วันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ กลางเดือน 12 เพราะเป็นช่วงที่น้ำขึ้นสูงสุด และเมื่อพ้นไปจากนี้ก็เริ่มขึ้น ปีนักษัตรใหม่ เรียกเดือนอ้าย แปลว่าเดือนหนึ่ง ตามคำโบราณนับหนึ่ง สอง สาม ฯลฯ ว่า อ้าย ยี่ สาม เป็นต้น และเมื่อเทียบช่วงเวลากับปฏิทินตามสุริยคติที่มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางก็จะตกราวเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนของทุกปี
ช่วงเวลาต่อเนื่องกันนี้เองที่ทำให้ชุมชนโบราณมีพิธีกรรมเกี่ยวกับน้ำหลายอย่าง เพื่อวิงวอนขอ “แม่” ของน้ำอย่าให้นองหลากมากล้น จนท่วมข้าวที่กำลังออกรวงเต็มที่ มิฉะนั้นข้าวจะจมน้ำตายหมด อดกินไปทั้งปี ดังมีกลอนเพลงเก่า ๆ ว่า “เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำทรง เดือนอ้ายเดือนยี่ น้ำก็รี่ไหลลง” ทำให้มีประเพณีแข่งเรือเสี่ยงทาย และการร้องขอ ขับไล่น้ำให้ลงเร็ว ๆ อย่าให้ท่วมข้าว
และหลังจากรับศาสนาพุทธ-พราหมณ์จากอินเดียเมื่อราว 2,000 ปีมาแล้ว ราชสำนักโบราณในสุวรรณภูมิก็ได้ปรับพิธีกรรม “ผี” เพื่อขอขมาน้ำและดินให้เข้ากับศาสนาที่รับเข้ามาใหม่ ทำให้ความหมายเดิมเปลี่ยนไป กลายเป็นการลอยกระทงเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าและเทวดา ซึ่งในส่วนนี้มีพยานหลักฐานเก่าสุด คือ รูปสลักพิธีกรรมทางน้ำคล้ายลอยกระทงที่ปราสาทหินบายนในนครธม ทำขึ้นราวหลัง พ.ศ. 1700 แต่สำหรับชุมชนชาวบ้านทั่วไปก็ยังเข้าใจเหมือนเดิม คือ ขอขมาแม่พระคงคาและแม่พระธรณี ดังมีหลักฐานปรากฏอยู่ในเอกสารของลาลูแบร์ชาวฝรั่งเศส ที่บันทึกพิธีชาวบ้านในกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเอาไว้หลายตอน เช่น “ประชาชนพลเมืองจะแสดงความขอบคุณแม่คงคาด้วยการตามประทีปโคมไฟขนาดใหญ่ (ในแม่น้ำ) อยู่หลายคืน...เราจะได้เห็นทั้งลำแม่น้ำเต็มไปด้วยดวงประทีปลอยน้ำ......” เป็นต้น
สำหรับราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ที่อยู่บริเวณที่ราบลุ่มน้ำ และมีน้ำท่วมนานหลายเดือนก็เป็นศูนย์กลางสำคัญที่จะสร้างสรรค์ประเพณีเกี่ยวกับน้ำขึ้นมาให้เป็น “ประเพณีหลวง” ของราชอาณาจักร ดังมีหลักฐานการตราเป็นกฎมนเทียรบาล ว่าพระเจ้าแผ่นดินต้องเสด็จฯ ไปประกอบพิธีกรรมทางน้ำ เพื่อความมั่นคงและมั่งคั่งทางกสิกรรมของราษฎร และยังมีกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารคเพื่อประกอบพระราชพิธีโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีเอกสารบันทึกอย่างเป็นทางการอยู่ในตำราพระราชพิธีกับวรรณคดีโบราณ เช่น โคลงทวาทศมาสที่มีการกล่าวถึงประเพณี “ไล่ชล” หรือไล่น้ำเพื่อวิงวอนให้น้ำลดเร็ว ๆ เป็นต้น ซึ่งประเพณีหลวงอย่างนี้ ไม่มีหลักฐานใด ๆ ปรากฏว่ามีอยู่ในเมืองที่อยู่เหนือกรุงศรีอยุธยาขึ้นไป เช่น สุโขทัย ที่ตั้งอยู่บนที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง จึงไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารค ส่วนตระพังหรือสระน้ำในสุโขทัยก็มีไว้เพื่อกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในการบริโภคอุปโภคของวัดและวังที่อยู่ในเมือง และมิได้มีไว้เพื่อกิจกรรมสาธารณะอย่างเช่น ลอยกระทง ฯลฯ
ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นช่วงที่บ้านเมืองมั่นคง การศึกสงครามลดลงเกือบหมด การค้าก็มั่งคั่งขึ้น โดยเฉพาะกับจีน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ฟื้นฟูประเพณีพิธีกรรมสำคัญเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร และด้วยความจำเป็นในด้านอื่น ๆ อีก จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ ตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือ นางนพมาศ ขึ้นมา โดยสมมุติให้ฉากของเรื่องเกิดขึ้นในยุคพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย ซึ่งตำราดังกล่าวได้พูดถึงนางนพมาศว่าเป็นพระสนมเอกของพระร่วง ที่ได้คิดประดิษฐ์กระทงใบตองเป็นรูปดอกบัวกมุทขึ้น ด้วยเห็นว่าเป็นดอกบัวพิเศษที่บานในเวลากลางคืนเพียงปีละครั้ง สมควรทำเป็นกระทงแต่งประทีป ลอยไปถวายสักการะรอยพระพุทธบาท ซึ่งเมื่อพระร่วงเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นก็รับสั่งถามถึงความหมาย นางก็ได้ทูลอธิบายจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย พระองค์จึงมีพระราชดำรัสว่า “แต่นี้สืบไปเบื้องหน้าโดยลำดับ กษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน”
ด้วยเหตุนี้จึงเกิดกระทง ทำด้วยใบตองแทนวัสดุ อื่น ๆ แล้วนิยมใช้ลอยกระทงมาแต่คราวนั้นตราบจนทุกวันนี้ ซึ่งตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศนี้ กรมพระยาดำรงราชา นุภาพทรงเชื่อว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากสำนวนโวหารมีลักษณะร่วมกับวรรณ กรรมสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ อีกทั้งยังมีเพราะมีข้อความหลายตอนที่แสดงให้เห็นว่าแต่งสมัยกรุงสุโขทัยไม่ได้ เช่น การอ้างถึงอเมริกัน ปืนใหญ่ เป็นต้น ดังนั้น นางนพมาศ จึงเป็นเพียง “นางในวรรณคดี” มิได้มีตัวตนอยู่จริง
นอกจากนี้ ในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยและเอกสารร่วมสมัย ก็ไม่มีปรากฏชื่อ “ลอยกระทง” แม้แต่ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงก็มีแต่ชื่อ “เผาเทียน เล่นไฟ” ที่มีความหมายอย่างกว้าง ๆ ว่า การทำบุญไหว้พระ โดยไม่มีคำว่า “ลอยกระทง” อยู่ในศิลาจารึกนี้เลย ส่วนเอกสารและวรรณคดีสมัย กรุงศรีอยุธยาสมัยแรก ๆ ก็มีแต่ชื่อ ชักโคม ลอยโคม แขวนโคม และลดชุดลอยโคมลงน้ำ ในพิธีพราหมณ์ของราชสำนักเท่านั้น และแม้แต่ในสมัยกรุงธนบุรีก็ไม่มีชื่อนี้ จนถึงยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์จึงมีปรากฏชัดเจนในพระราชพงศาวดารแผ่นดิน รัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ และเรื่องนางนพมาศ พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 3 ซึ่งก็หมายความว่า คำว่า “ลอยกระทง” เพิ่งปรากฏในต้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าประเพณีลอยกระทงจะเกิดขึ้น และมีพัฒนาการมาอย่างไรก็ตาม แต่ความหมายที่มีคุณค่ามหาศาลต่อสังคมปัจจุบันอันควรเผยแพร่ให้เป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวางก็คือ ลอยกระทงแม่พระคงคา ขอขมาธรรมชาติ อันมีดินและน้ำที่หล่อเลี้ยงเกื้อกูลความมีชีวิตให้มวลมนุษย์ตลอดจนพืชและสัตว์ ซึ่งการระลึกถึงพระคุณของธรรมชาตินี้เองจะช่วยให้เราเคารพและไม่ทำร้ายธรรมชาติ จนส่งผลให้ธรรมชาติย้อนกลับมาลงโทษมนุษย์ ดังเช่นที่เห็นในปัจจุบัน.
ที่มา www.dailynews.co.th/
|
วันที่ 30 ต.ค. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,134 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,132 ครั้ง เปิดอ่าน 7,133 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,193 ครั้ง เปิดอ่าน 7,135 ครั้ง เปิดอ่าน 7,167 ครั้ง เปิดอ่าน 7,135 ครั้ง เปิดอ่าน 7,134 ครั้ง เปิดอ่าน 7,134 ครั้ง เปิดอ่าน 7,134 ครั้ง เปิดอ่าน 7,132 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,184 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,134 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,135 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,133 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,241 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,136 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,345 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 30,277 ครั้ง |
เปิดอ่าน 11,318 ครั้ง |
เปิดอ่าน 18,441 ครั้ง |
เปิดอ่าน 12,059 ครั้ง |
เปิดอ่าน 8,761 ครั้ง |
|
|