หญ้านาง (ปู่เจ้าเขาเขียว หรือ หญ้าภคินี) มี 2 ชนิดคือ ชนิดขาว และเขียว
เป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่นหรือตอไม้ พบได้ในทุกภาคของประเทศไทย
หญ้านางเป็นไม้เลื้อย รูปใบคล้ายไข่ ปลายใบเรียว แหลม โคนนม ดอกเป็นช่อขนาดเล็ก
ผลสีเหลืองแดง เป็นสมุนไพรที่ไม่พบว่ามีความเป็นพิษ หรือทานแล้วมีอาการข้างเคียง
เป็นตัวยาในตำหรับยา 5 ราก แก้ไข้ทุกชนิด ราก รส ขมเย็น สรรพคุณ ใบใช้เข้ายาเขียว
ทำยาพอก ส่วนรากแก้ไข้ทุกชนิด ไข้พิษ ไข้เหนือ ไข้หัว เหือด หัด สุกใส ฝีดาษ
ไข้กาฬ ขับกระทุ้งพิษได้ดี เป็นยารักษาและป้องกันโรคร้ายได้หลายอย่าง น้ำจากหญ้านาง
ยังสามารถช่วยรักษาอาการคันศีรษะ โดยนำน้ำหญ้านางนั้นมาสระผม , หน่อไม้สด
กินคู่กับ *ใบหญ้านาง*
(เป็นการล้างพิษของหน่อไม้ออก) ช่วยขยายหลอดเลือด
ตำรับยาที่มีตัวยาดังต่อไปนี้ตัวหนึ่งตัวใดหรือหลายตัวเป็นตัวยาสำคัญ คือ จันทน์เทศ จันทน์แดง ใบพิมเสน ใบหญ้านาง ใบมะระ รากมะเดื่อชุมพร รากชิงชี่ รากหญ้านาง
รากคนทา รากท้าวยายม่อม ผักกระโฉม ใบสันพร้าหอม ว่านกีบแรด ว่านร่อนทอง
มหาสดำ ไคร้เครือ เนระพูสี
เอ๊ะขออนุญาตนำบทความดีๆ ของคุณดินดำน้ำชุ่ม มาลงประกอบด้วยว่า
หญ้านางนี้เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน เป็นความฉลาดของคนโบราณ บวกกับความรู้ด้าน
สมุนไพรของไทยเรา
ที่มีมานานแสนนานและควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ ไม่เฉพาะภูมิปัญญาพื้นบ้านเท่านั้นที่ควรอนุรักษ์ พืชพันธุ์สมุนไพรด้วยเช่นกันที่ควรอนุรักษ์เอาไว้ ให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน
เกริ่นมา
เสียนาน มาอ่านบทความกันเลยค่ะ
ท่านที่เคยทานแกงหน่อไม้ หรือซุบหน่อไม้ ที่เป็นตำหรับอีสานแท้ๆ คงเคยเห็นน้ำ
เขียวๆในแกงหน่อไม้ หรือซุบหน่อไม้นั่นแล้ว ตอนที่ผมเป็นเด็กผมเคยถามแม่ว่า ทำไมแกง
หรือซุบหน่อไม้ต้องใส่น้ำใบหญ้านาง คำตอบก็คือมันเป็นของคู่กัน ทำให้มันอร่อย และ บรรพบุรุษพาทำมาเช่นนั้น ผมก็เห็นว่าใช่ มันอร่อย กว่าแกงหน่อไม้ที่ไม่ได้ใส่น้ำใบหญ้านาง
ที่หมู่บ้านของผมไม่มีต้น (เครือ) หญ้านางขึ้น แม่บอกว่ามันขึ้นในดงแถวๆแม่น้ำชี
เวลามีเพื่อนบ้านไปแถวๆนั้นก็จะมีการเก็บเครือหญ้านางมาฝากกันไม่ต้องซื้อหา ถือว่าเป็น
ของฝากที่มีค่าต่อกัน เครือและใบหญ้านางสามารถเก็บไว้ได้หลายวัน เมื่อก่อนไม่มีตู้เย็น
แม่จะนำเครือหญ้านางไปวางแอบไว้ข้างๆหม้อน้ำดื่มที่ทำจากดินเผาจะทำให้สดไปอีก
หลายวันเพราะได้รับความชื้นจากหม้อน้ำดื่มนั่นเอง หรือถ้าจำเป็นจริงๆใบหญ้านางที่แห้ง
แล้วก็ยังสามารถนำมาใช้ได้อยู่ แต่ไม่ดีเท่าใบสดๆครับ
การนำใบหญ้านางมาใช้จะใช้ใบที่แก่จัดจนมีสีเขียวเข้ม การจะได้น้ำใบหญ้านาง
ต้องนำมาขยี้หรือคั้นในน้ำจนสีเขียวในใบหลุดออกมา มีคำกล่าวว่า การขยี้ใบหญ้านางแสดงออกซึ่งความอุตสาหะของคนๆนั้น คนขี้เกียจขยี้ใบหญ้านางไม่ได้กินหรอก ฉะนั้น
พ่อแม่นิยมใช้ลูกๆหลานๆในการขยี้ใบหญ้านางเพื่อเป็นการทดสอบลูกหลานว่าเป็นคน
เช่นไร เมื่อได้น้ำที่คั้นหรือขยี้จากใบหญ้านางแล้ว จากนั้นก็จะนำไปแกงกับหน่อไม้
ถ้าจะทำซุบหน่อไม้ ก็จะใช้หน่อไม้ดอง เอามาทำให้เป็นเส้น(เคี่ยนหน่อไม้) แล้วนำไปต้ม
กับน้ำใบหญ้านาง แล้วค่อยนำมาทำซุบอีกที หรือถ้าจะทำหมกหน่อไม้ก็ทำคล้ายๆกับเตรียมหน่อไม้เพื่อทำซุบ แต่หมกหน่อไม้จะใส่ข้าวเบือ(ข้าวสาร(เหนียว)แช่น้ำแล้วนำมาตำ
แล้วผสมกับหน่อไม้ปรุงรสก่อนนำไปห่อกับใบตองแล้วนำไปนึ่งอีกทีอันนี้เป็นเมนูที่ผมชอบมากเพราะแม่ทำให้กินบ่อยตอนผมเด็กๆตอนที่แม่มีชีวิตอยู่ ผมกลับไปเยี่ยม แม่ในแต่ละครั้ง แม่จะเตรียมเมนูนี้รอลูกชายเสมอ
เมื่อหลายปีผ่านมาผมก็ได้รับคำเฉลยทางวิทยาศาสตร์ว่าทำไมต้องแกงหน่อไม้
กับน้ำใบหญ้านาง ผมอ่านเจอเรื่องนี้จากนสพ.ฉบับหนึ่งแต่จำได้เพียงว่าคุณสมบัติของ
น้ำใบหญ้านางจะไปทำปฏิกริยาทางเคมีกับหน่อไม้เพื่อยับยั้งสารเคมีในหน่อไม้ ไม่ให้
สารเคมีตัวนี้ไปทำให้เกิดโรคต่อร่างกาย(ประมาณนี้นะครับคิดว่าผมจำไม่คลาดเคลื่อน
มากนักแต่ไม่สามารถหาลิงค์
นั้นเพื่อยืนยันได้แล้วครับ)
ถ้าเป็นจริงตามนั้นภูมิปัญญาอันนี้นับว่าน่าทึ่งมากครับกับการประกอบอาหาร
ที่ทำจากหน่อไม้ต้องต้มกับน้ำใบหญ้านางก่อนเพราะหน่อไม้เป็นของต้องห้ามสำหรับ
ผู้ป่วยในบางโรคเช่นกันครับเช่นโรคเก้าท์
ผมยังชอบกินหมกหน่อไม้ หรือแกงหน่อไม้กับน้ำใบหญ้านางอยู่ครับ แล้วท่านหละ
ทานหรือเปล่าครับ?
และขอบพระคุณคุณเบน ชาวเพื่อนไทยในออสเตรีย ที่มาจุดประกายในการค้นหานี้