การตรวจสอบผลแห่งบุญ
การวัดว่าได้บุญมาก - บุญน้อย มีหลักเกณฑ์สำหรับวัดอยู่ ๓ ประการ คือ
๑. ปฏิคาหก คือ ผู้รับ เป็นผู้มีศีล มีคุณธรรม มีความดี เราก็ได้บุญมาก ทั้งนี้ไม่จำกัดว่า ปฏิคาหกจะต้องเป็นพระสงฆ์เสมอไป อาจเป็นสามเณร แม่ชี หรือคฤหัสถ์ชาวบ้านก็ได้ แต่หากปฏิคาหกเป็นคนไม่มีศีล เราก็ได้บุญน้อย เพราะเขาอาจอาศัยผลจากของที่เราให้ไปทำไม่ดี เช่น ได้อาหารไปกิน มีแรง ก็หันไปทำการร้ายได้อีก อย่างนี้เราก็ได้บุญน้อย
๒. วัตถุสิ่งของที่มอบให้ มีความบริสุทธิ์ ได้มาโดยสุจริต เป็นของดีมีประโยชน์ มีคุณค่า และมีความเหมาะสมกับผู้รับ เช่น ถวายจีวรแก่พระสงฆ์ ให้เสื้อผ้าแก่เด็ก ๆ เช่นนี้ย่อมได้บุญมาก
๓. ทายกคือผู้ให้ เป็นผู้มีศีล มีธรรม มีเจตนาที่เป็นบุญเป็นกุศล ตั้งใจดี ยิ่งถ้าเจตนานั้นประกอบด้วยปัญญาก็มีคุณสมบัติดีประกอบมากขึ้น ก็ยิ่งเป็นบุญมากขึ้น
ยังมีวิธีตรวจสอบบุญที่สมบูรณ์อีกวิธีหนึ่ง โดยการตรวจสอบด้านจิตใจของผู้ให้ว่ามีเจตนาเป็นอย่างไรบ้าง คือ
๑. เจตนาก่อนให้ (บุพเจตนา) ตั้งแต่ตอนแรก เริ่มต้น ตั้งใจดี มีศรัทธา มีความเลื่อมใส จิตใจเบิกบาน ตั้งใจทำจริง มีศรัทธามาก
๒. เจตนาขณะให้ หรือขณะถวายของให้ ก็จริงใจจริงจัง ตั้งใจทำด้วยความเบิกบาน ผ่องใส มีปัญญา รู้ เข้าใจ (มุญจนเจตนา)
๓. เมื่อมอบของไปแล้ว หรือถวายของให้แล้ว หลังจากนั้นระลึกขึ้นเมื่อใด จิตใจก็อิ่มเอิบผ่องใสขึ้น เกิดความภูมิใจในทานที่ให้ไปว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้รับจริง ๆ ระลึกได้เมื่อใดก็ได้บุญเพิ่มขณะนั้นแล (อปราปรเจตนา)
ทั้งหมดนี้คือองค์ประกอบที่จะทำให้เราได้บุญมากหรือน้อย
ละบาปก่อนทำบุญ
เมื่อเราไปทำบุญที่วัดไม่ว่าจะเป็น ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ถวายสังฆทาน ถวายพระพุทธรูป หรือแม้แต่นิมนต์พระมาทำบุญที่บ้าน รวมทั้งงานพิธีกรรมต่าง ๆ ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการสมาทานศีล ๕ เสียก่อนทุกครั้ง นั่นเป็นเครื่องหมายอย่างหนึ่งว่า จะทำบุญทั้งทีก็ต้องเริ่มต้นละบาปกันก่อน คือการเข้ามาอยู่ในศีลในธรรม เพื่อว่าการทำบุญนั้นจะได้เกิดอานิสงส์สูง
การสมาทานศีลก่อนทำบุญทุกครั้ง ก็เปรียบได้กับการเตือนสติคนทำบุญ ให้ระมัดระวังการทำชั่วทำบาป เมื่อตั้งใจทำบุญแล้ว ก็มิควรพลัดหลงกลับไปทำบาป เบียดเบียนใครอีก หรืออีกนัยหนึ่งคือละบาปก่อนทำบุญนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมาทำบุญ หรือหนทางใด ๆ ที่จะเป็นการเบียดเบียนผู้อื่น ทำความเดือดร้อนให้ผู้อื่น เพียงเพื่อจะนำเหตุปัจจัยเหล่านั้นไปทำบุญก็เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะจะกลายเป็นการทำบุญที่ขาดทุนคือได้บาปมากกว่าได้บุญ
แม้แต่ โอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ในการปฏิบัติตนไปสู่พระนิพพาน ที่มีใจความ ๓ ประการ ว่า
- ๑. การไม่ทำความชั่วทั้งปวง
- ๒. การบำเพ็ญแต่ความดี
- ๓. การทำจิตของตนให้ผ่องใส
คำสอนดังกล่าวนี้ยังต้องเริ่มต้นด้วยการละเลิกทำชั่วก่อนเช่นกัน หาไม่แล้วการทำบุญไปด้วย ทำบาปไปด้วยก็คงไม่มีความหมายอะไรแก่ชีวิต
ที่มา ฉลาดทำบุญ จากwww.khonnaruk.com/html/phra/boon/boon-1.html#top