ทำบุญให้ได้บุญ
- เวลามีงานบุญ เจ้าภาพหวังจะให้งานออกมาดี เรียบร้อยถูกต้องที่สุด แต่ก็มักจะมีภาระให้ต้องจัดการหลายเรื่อง เป็นเหตุให้เกิดความขุ่นข้อง ขัดเคืองใจได้ง่าย คนจัดงานบุญควรวางใจอย่างไร เพื่อให้ได้บุญตามเจตนา
อันนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าพิธีกรรมมีความจำเป็น เพราะว่าขณะที่เตรียมของถวายพระ หรือจัดการงานต่างๆ จิตใจเราจะขุ่นมัวแต่ว่า อย่างน้อยเราควรจะมีความสงบใจในช่วงที่เราถวายทาน การมีพิธีกรรมส่วนหนึ่งก็เพื่อทำให้คนที่กำลังวุ่นวายพอมารับศีล มาบูชาพระรัตนตรัย กล่าวนะโม อรหัง สัมมา ความวุ่นวายที่เกิดจากการทำงานเตรียมงานก็จะค่อยๆ สงบ จิตก็จะเป็นสมาธิ ดีกว่าออกจากครัวแล้วก็มาถวายของให้พระเลย จิตก็ยังวุ่ยวายอยู่ เพราะฉะนั้น นี่คือความจำเป็นที่คนโบราณ ต้องมีพิธีกรรมเพื่อให้คนที่กำลังวุ่นวายจากการเตรียมงาน ได้มีโอกาสน้อมจิตให้สงบ ซึ่งก็ทำให้ได้รับอานิสงส์ ของบุญเพิ่มขึ้น
แต่ถ้าจะให้ดีกว่านั้น เราควรเตรียมจิตเตรียมใจสำหรับงานบุญโดยตระหนักอยู่เสมอว่า การที่เรามีสติในระหว่างที่เราทำงาน การที่เรามีสมาธิในระหว่างที่เราทำงานก็เป็นบุญ เป็นบุญมากด้วย ขณะเดียวกัน การระงับความหงุดหงิดขุ่นข้องหมองใจก็เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งเหมือนกัน และมีความสำคัญมากด้วย ดังนั้นจึงควรเอางานบุญเป็นโอกาสที่จะได้ฝึกฝนตนเองทางจิตใจ
คนส่วนใหญ่มักจะมีความเครียดจากการเตรียมงาน ก็เพราะว่ากลัวว่าจะทำได้ไม่ดีหรือว่าเงินได้น้อยไป นั่นเป็นเพราะเราไปให้ความสำคัญกับเงินมากกว่าเรื่องของจิตใจ ถ้าเราทำโดยตระหนักว่าเจตนาและคุณภาพจิตเป็นสิ่งสำคัญกว่าเงิน แม้เงินจะได้น้อย แต่เราทำด้วยเจตนาดี มีความภาคภูมิใจที่ได้ทำ ก็เท่ากับได้บุญแล้ว นอกจากนั้นการวางจิตวางใจเช่นนี้ยังช่วยให้เราได้ฝึกการปล่อยวางด้วย ถ้าเราปล่อยวางเป็นก็จะได้รับได้อานิสงส์แห่งบุญมากขึ้น ดังนั้นจึงพึงระลึกว่า ระหว่างเตรียมงานก็เป็นการทำบุญด้วยอย่างหนึ่ง
- กรณีที่เราเป็นเจ้าภาพ จะต้องบอกบุญอย่างไรถึงจะไม่เป็นภาระกับผู้อื่น
การบอกบุญคล้าย ๆ กับเป็นการเปิดโอกาสให้คนได้ทำดี อันนี้ก็เรียกว่าเป็นบุญอย่างหนึ่ง เรียกว่าปัตติทานมัย คราวนี้เราต้องตั้งจิตว่านี้เป็นการเปิดช่องให้คนได้ทำดีนะ เราอย่าไปยึดที่จำนวนเงินที่เราจะได้รับหรืออย่าไปตั้งเป้าที่ตัวเงิน ถ้าเราไปให้ความสำคัญที่เป็นตัวเงินนี่เราจะทุกข์ ถ้าเกิดว่าเขาให้น้อยหรือบอกบุญแล้วเขาเฉย ไม่ได้ร่วมทำบุญ ก็อาจจะรู้สึกโมโห อันนี้ก็ไม่ได้บุญแล้ว เพราะบุญนี่มันต้องทำด้วยจิตที่เมตตา จิตที่เบิกบาน ทำแล้วจิตกลับหดหู่เศร้าหมอง มันก็ไม้ได้บุญ เรียกว่าทำบุญกลับได้บาป ต้องถือว่าเราเพียงแค่การเปิดโอกาสให้คนทำดีก็เป็นบุญแล้ว
- บางครั้งเราได้รับการบอกบุญ เช่น ซองผ้าป่า ซองกฐิน โดยเฉพาะช่วงเทศกาล เราร่วมทำบุญบริจาคด้วยความรู้สึกตัดรำคาญหรือเกรงใจเจ้าภาพ ถือว่าเราได้บุญหรือเปล่า
มันก็เป็นการทำบุญ แต่เป็นการทำบุญในแง่ที่ว่าก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้รับ การให้ทานแก่ใครก็ตาม แม้กระทั่งมิจฉาชีพหรือสัตว์เดรัจฉาน ก็มีอานิสงส์ด้วยเช่นกัน แต่ว่าอานิสงส์แห่งบุญแบบนี้ จะบังเกิดน้อยลงหากเราทำบุญโดยไม่ได้มีความแช่มชื่นเบิกบานใจเลย เพราะบุญนั้นคือชื่อแห่งความสุข ถ้าทำแล้วไม่มีความสุข ก็แสดงว่าไม่เกิดบุญในใจเรา ดังนั้นเราจึงควรทำด้วยความเต็มใจ ด้วยความปรารถนาดี ไม่ได้ไปทำเพราะเกรงใจ และไม่ฬด่งให้ความสำคัญกับจำนวนเงิน แต่ขอให้ทำด้วยเจตนาดี
- บางคนตัวเองทำบุญด้วยความเต็มใจ แต่วิธีการอาจจะเบียดเบียนตัวเองหรือครอบครัว เช่น ไปกู้เงินมาทำบุญหรือว่าเอาทรัพย์ซึ่งเป็นของครอบครัวไปทำบุญ โดยที่ญาติอาจจะไม่ได้เห็นดีด้วย อย่างนี้ถือเป็นการหลงบุญได้ไหม
นี่เป็นเพราะเราไปเข้าใจว่าบุญ หมายถึงการให้ทานเท่านั้น ฉะนั้นถ้าอยากจะทำบุญก็คิดว่า จะต้องให้ทานอย่างเดียว โดยไม่ได้คิดว่าทำความดีอย่างอื่นก็เป็นบุญเช่นกัน แม้จะไม่ได้ให้ทาน เมื่อเราคิดว่าต้องทำบุญด้วยวัตถุแล้ว ดังนั้นเมื่อไม่มีก็ต้องไปหามาให้ได้ จนกระทั่งไปกู้มา นี้เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในการทำบุญ
อีกเหตุผลหนึ่งคือความเข้าใจว่าบุญ จะได้มากก็ต่อเมือ่ให้มาก บุญขึ้นอยู่กับปริมาณของเงินที่ให้ ซึ่งไม่ใช่ แม้ให้เพียงเล็กน้อยแต่ให้ด้วยจิตที่ปรารถนาดี ให้ถูกต้องตามหลักสัปปุริสทานก็ได้บุญแล้ว ปัญหาอยู่ที่ผู้คนยังเข้าใจเรื่องบุญไม่ถูกต้อง ทำแล้วจึงเกิดความไม่สบายใจและทำให้คนอื่นพลอยเดือดร้อนไปด้วย
เราทุกคนควรระลึกอยู่เสมอว่าในฐานะที่เป็นคนในครอบครัวเราก็มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ การทำหน้าที่ให้ถูกต้องในฐานะที่เป็นพ่อแม่ ก็เป็นการทำบุญ เป็นการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน ทีนี้ถ้าเราไม่ได้ทำหน้าที่ถูกต้องเพราะเราไปสร้างหนี้สิน ก่อความเดือดเนื้อร้อนใจแก่ผู้อื่น แม้จะเป็นการกระทำในนามของการทำบุญก็ตาม ก็ไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง
- อย่างกรณีที่เราทำบุญ ซึ่งอาจจะไปสนับสนุนการเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น เช่นเราปล่อยนกปล่อยปลา ก็ไปสนับสนุนให้มีคนไปจับสัตว์มาขาย หรือเวลาเราตักบาตรซึ่งเป็นร้านค้าที่เขาเอาอาหารมาเวียนขาย กรณีแบบนี้เราควรจะมีท่าทีต่อการทำบุญด้วยวิธีเหล่านี้อย่างไร
การทำบุญดังกล่าว ความจริงก็ได้บุญอยู่แล้ว เพราะเราไม่มีเจตนาร้าย เราต้องการให้นกให้ปลาได้อิสรภาพที่เป็นจริง เราถวายอาหารให้แก่พระ เราก็ทำด้วยเจตนาดี แต่ส่วนใหญ่ทำไปโดยไม่รู้ หรือแม้กระทั่งไม่ใส่ใจว่า จะเกิดผลอย่างไรกับนกกับปลาที่ปล่อย อะไรจะเกิดขึ้นกับอาหารที่ถวายพระ ตรงนี้เองที่ทำให้เรื่องการทำบุญ ต้องมีสิ่งหนึ่งเข้ามาประกอบด้วย ก็คือ การมีปัญญา และการมีสติ
การมีปัญญาและการมีสติ คือการทำด้วยความตระหนักรู้ ในทางพุทธศาสนา ในหลักคำสอนเรื่องสัปปุริสทาน คือการให้ทานแบบสัปบุรุษ พระพุทธองค์ท่านให้ความสำคัญแก่ปัญญาด้วย คือพึงให้โดยรู้ว่า ของที่ให้มีประโยชน์แก่ผู้รับหรือไม่เพียงใด ถ้าทำโดยไม่รู้เรื่องเลยว่า ของที่ให้นั้นมีประโยชน์แก่ผู้รับหรือไม่ ก็ได้บุญน้อย เช่น ถวายเหล้า บุหรี่ ยาชุดยาซองหรือสิ่งที่ไม่เหมาะสมแก่พระ
เพราะฉะนั้นเราต้องมี ความตระหนักรู้ มีสติ มีปัญญา ควบคู่ไปกับการทำบุญ ต้องพิจารณาด้วยว่าสิ่งที่เราให้ มีประโยชน์แค่ไหน ดังมีพุทธพจน์บอกว่า การให้อย่างเลือกเฟ้นหรือวิไจยทานเป็นกรรมที่พึงสรรเสริญ ดังนั้นแทนที่จะหลับหูหลับตาให้ เราควรให้ด้วยการพิจารณาไตร่ตรอง ใคร่ครวญว่าของที่เราให้นั้นมีประโยชน์แก่ผู้รับไหม ก่อผลกระทบอย่างไรบ้าง (สมัยนี้ควรต้องพิจารณารวมไปถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย) เช่นเราจะปล่อยนกปล่อยปลา เราก็ต้องพิจารณาว่า นกปลาที่เราปล่อยนั้น ได้รับอิสรภาพจริงอย่างที่เราต้องการหรือเปล่า
- มีบางคน ไม่ค่อยได้ดูแลพ่อแม่ในระหว่างมีชีวิตอยู่ หลังจากพ่อแม่เสียไปแล้วก็รู้สึกเสียใจอยากที่จะทดแทนบุญคุณ ควรจะทำบุญแบบไหนถึงจะเรียกว่าเป็นการทดแทนบุญคุณพ่อแม่ได้
การทำบุญทดแทนพ่อแม่ที่ดีก็คือขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เพราะว่าเป็นหลักประกันแน่นอนว่า ท่านจะได้รับประโยชน์เต็มที่ แต่ถ้าเราหวังไปทำบุญหลังจากที่ท่านจากไปแล้ว เราก็ไม่แน่ใจว่าท่านได้รับประโยชน์อย่างที่เราต้องการหรือเปล่า ชาติหน้ามีจริงหรือเปล่าเราก็พูดด้วยความมั่นใจไม่ได้
ในกรณีที่ท่านล่วงลับไปแล้วการทำบุญตามประเพณีก็ได้อยู่ ขึ้นชื่อว่าบุญแล้วทำได้หลายอย่าง การทำประโยชและการให้ทานแก่ผู้เดือดร้อน ก็เป็นการทำบุญให้แก่ผู้ตายได้ โดยอุทิศส่วนกุศลไปให้ท่าน
- เมื่อมีคนมาบอกบุญ เราควรวางจิตใจอย่างไร จึงถือเป็นการอนุโมทนาบุญที่ได้ประโยชน์จริงๆ
เราชื่นชมยินดีในการกระทำ การริเริ่มของคนผู้นั้น และเราก็ทำด้วยเจตนาดี ไม่ได้ระแวงสงสัยว่าเขาทำไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอะไร เรามีความศรัทธาชื่นชมยินดีในสิ่งที่เขาทำ ไม่ได้หงุดหงิดรำคาญใจหรือนินทาลับหลัง อันนี้คือความหมายของอนุโมทนา ถ้าเรามีจิตใจอย่างนี้ จิตใจเราก็เป็นสุข เป็นกุศลเกิดขึ้นในใจ ถึงแม้ว่าเราไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมเต็มที่ เรียกว่า ปัตตานุโมทนา ก็เป็นบุญได้เหมือนกัน
ที่มา ฉลาดทำบุญ จาก www.khonnaruk.com/html/phra/boon/boon-3.html#3