รายงานผลการสังเกตการจัดการเรียนรู้
โดย นายทองใบ ปัดทำ โรงเรียนซำสูงพิทยาคม จังหวัดขอนแก่น
ความเป็นมาและความสำคัญของการสังเกตการสอน
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2545 มีแนวการจัดการศึกษาตาม มาตรา 22 การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถ เรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ และมาตรา 24 (5) ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียน และอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้ รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่าง ๆ (กระทรวงศึกษาธิการ : 2544)
การจัดการศึกษาของสถานศึกษาให้เกิดคุณภาพนั้น ควรต้องประกอบด้วย 3 กระบวนการด้วยกัน คือ กระบวนการบริหาร กระบวนการเรียนการสอน และกระบวนการนิเทศการศึกษาการนิเทศการศึกษา เป็นการชี้แจง การแสดง หรือการแนะนำเกี่ยวกับการสอนและการอบรม การนิเทศการศึกษาเป็นภารกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ดังจะเห็นได้จากเหตุผลความจำเป็นในหลายประการ เช่น ความเปลี่ยนแปลงของสังคม ความเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว บุคลากรในหน่วยงานทางการศึกษาจำเป็นต้องปรับปรุงตนเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อจะได้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการนิเทศการศึกษาเป็นกระบวนการที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือและพัฒนางาน ให้ทันต่อสภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หน่วยงานทางการศึกษาทุกระดับมีเป้าหมายในการปฏิบัติงานร่วมกันคือ พัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งจำเป็นต้องใช้กระบวนการบริหารจัดการ กระบวนการเรียนการสอน และกระบวนการนิเทศ เพื่อจะได้ช่วยส่งเสริม สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน การนิเทศการศึกษาจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยเหลือสนับสนุนให้กระบวนการบริหาร และการบวนการเรียนการสอนมีคุณภาพถึงระดับที่พึงประสงค์ (ชัด บุญญา : 2538)
การนิเทศการศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนา ปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพการศึกษาในสถานศึกษา ให้ครูมีความรู้ ความเข้าใจในหลักสูตร สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการบริหารจัดการ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและปัญหาอื่นๆ ที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา ข้าพเจ้าจึงได้ดำเนินการสังเกตการจัดการเรียนรู้ขึ้น
เป้าหมายของการสังเกตการสอน คือ นายอิทธิพล บุญเดช ตำแหน่งครูผู้ช่วย
กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี สอนวิชาคอมพิวเตอร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/3 จำนวน 28 คน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2552 โรงเรียนซำสูงพิทยาคม ตำบลกระนวน อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น
ระยะเวลาการสังเกตการสอน วันที่ 8 กันยายน 2552 ห้องคอมพิวเตอร์
อาคาร 3 เวลา 09.40 น.-10.40 น.
เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล แบบสังเกตการสอน
การวิเคราะห์ข้อมูล
วิเคราะห์หาค่าเฉลี่ย
น้ำหนักคะแนนระดับคุณภาพและแปลความหมาย
ระดับคะแนน 4.51 – 5.00 หมายถึง ปฏิบัติได้ระดับดีมาก
ระดับคะแนน 3.51 – 4.50 หมายถึง ปฏิบัติได้ระดับดี
ระดับคะแนน 2.51 – 2.50 หมายถึง ปฏิบัติได้ระดับปานกลาง
ระดับคะแนน 1.51– 2.50 หมายถึง ปฏิบัติได้ระดับพอใช้
ระดับคะแนน 1.00– 1.50 หมายถึง ควรปรับปรุงแก้ไข
(บุญชม ศรีสะอาด : 2538)
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. ผู้สังเกตการสอนและผู้รับการสังเกตการสอนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคนิควิธีการ
จัดกิจกรรมการเรียนการสอน การนำองค์ความรู้ ข้อเสนอแนะไปประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
2. ผู้สังเกตการสอนและผู้รับการสังเกตการสอนมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอย่างกัลยาณมิตร
3. ผู้รับการสังเกตการณ์สอนสามารถพัฒนาตนเองในวิชาชีพและจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
4. เพื่อสร้างเสริมเจตคติที่ดีต่อการสังเกตการสอนให้แก่เพื่อนครู ให้เกิดความมั่นใจว่า
การสังเกตการสอนสามารถช่วยครูแก้ปัญหาและพัฒนาการเรียน การสอนได้
5. เพื่อให้ครูเกิดความภาคภูมิใจในวิชาชีพ และมุ่งมั่นพัฒนาตนเองเป็นครูมืออาชีพ
อย่างมาตรฐาน และรักษาระดับคุณภาพไว้อย่างต่อเนื่อง
ผลการสังเกตพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้
ข้าพเจ้านายทองใบ ปัดทำ นักศึกษาปริญญาโทสาขาหลักสูตรและการสอน วิชาเฉพาะการพัฒนาหลักสูตร รหัสนักศึกษา 515050273-6 ศึกษารายวิชา 224 707 การจัดการชั้นเรียน (Classroom management) ได้รับมอบหมายให้สังเกตการสอนของครู 1 คน เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ เสนอปัญหา แนวทางแก้ไข การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพ ผลการสังเกตพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ ขอเสนอเป็นลำดับดังนี้
หัวข้อที่ทำการสังเกต
- การเตรียมการสอนและแผนการจัดการเรียนรู้
ครูผู้สอน ได้เขียนแผนการจัดการเรียนรู้ไม่เป็นไปตามตามรูปแบบที่กำหนด มีหัวข้อสำคัญในแผนการจัดการเรียนรู้ไม่ครบองค์ประกอบ ซึ่งประกอบด้วย สาระสำคัญ ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง สาระการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ สื่อ/แหล่งเรียนรู้ และการวัดผลประเมินผลชัดเจน
- การดำเนินการสอน
การนำเข้าสู่บทเรียน
ในการนำเข้าสู่บทเรียน ครูผู้สอนแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้แล้วนำเข้าสู่บทเรียนโดยการสนทนากับนักเรียน ใช้คำถามถามนำเกี่ยวกับส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ ซึ่งนักเรียนให้ความร่วมมือตอบคำถามตามประสบการณ์ของตน โดยครูถามนักเรียน จำนวน 1 คน เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จากการสังเกตพบว่า นักเรียนมีทักษะการใช้คอมพิวเตอร์อยู่บ้าง กล้าที่จะแสดงออก มีความเชื่อมั่น สามารถตอบคำถามได้ถูกต้อง ซึ่งเป็นจุดเร้าความสนใจเพื่อนร่วมชั้นให้ มีความกระตือรือร้นในการใฝ่รู้ใฝ่เรียน หลังจากนั้นครูผู้สอนจึงเริ่มสอนในเนื้อหาที่เตรียม
การสอน
ครูผู้สอนเตรียมความพร้อมของผู้นักเรียนและสื่อให้พร้อมที่จะสอน โดยใช้รูปแบบการสอนแบบบรรยายหน้าชั้นเรียน ครูแนะนำเครื่องมือสำรองข้อมูลให้นักเรียนทราบ เช่น แผ่น CD และแผ่นDVD ตลอดจนอุปกรณ์สำรองข้อมูลอื่น ๆ แต่ไม่ได้นำมาแสดงให้นักเรียนเห็น จากนั้นครูอธิบายข้อแตกต่างโดยการเขียนบนกระดาน พร้อมให้นักเรียนสัมผัสถึงความแตกต่างนั้น โดยส่งให้นักเรียนในห้องดู เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ โดยภาพรวมนักเรียนทุกคนให้ความสนใจ ตั้งใจ ใฝ่เรียนรู้เป็นอย่างดี ครูผู้สอนเดินตรวจสอบการร่วมกิจกรรมของนักเรียน และสุ่มถามนักเรียนบ่อย เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนได้คิดตามเนื้อหาที่ครูสอน
ซึ่งนักเรียนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข มีความกระตือรือร้น สามารถทำใบงานที่ครูมอบหมายได้ดี จากการสังเกตในชั้นเรียนนี้พบว่ามีนักเรียนจำนวน 2 คน ที่ไม่ค่อยสนใจเรียน มี 1 คน ที่เหม่อลอย ไม่แสดงอาการรับรู้กับเรื่องราวที่ครูสอน ตามประวัติของนักเรียนคนนี้ชอบโดดเรียน ไปเล่นเกมบ่อย ๆ
ขั้นสรุปบทเรียน
ครูผู้สอนได้ใช้วิธีการสรุปบทเรียนโดยให้นักเรียนมีส่วนร่วม โดยการช่วยกันตอบคำถามครูอธิบายเนื้อหาสาระเพิ่มเติม แล้วให้นักเรียนจาดบันทึกสาระความรู้ลงในสมุดงาน แล้วให้นักเรียนทำแบบทดสอบหลังเรียน บันทึกข้อมูลคะแนนที่ได้ลงแบบบันทึก เป็นการเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดี และสร้างองค์ความรู้ที่คงคน
3. การปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พอสมควร นักเรียนส่วนใหญ่
มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและตอบคำถาม แต่ก็ยังมีบางคนไม่ยอมให้ความร่วมมือในการจัดการเรียนรู้ไม่กล้าแสดงออก
4. บุคลิกภาพ
ครูผู้สอนมีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความเป็นกันเองกับนักเรียนอย่างกัลยาณมิตรใช้น้ำเสียงใช้ภาษาถูกต้องในการอธิบาย การแต่งกายสุภาพเรียบร้อย กิริยาท่าทางเหมาะสม สามารถควบคุมอารมณ์และปรับตัวได้ดี
5. การใช้สื่อการสอน
สื่อการเรียนการสอนครั้งนี้ ครูผู้สอนเลือกใช้สื่อที่เป็นของจริง เช่น แผ่น CD และแผ่นDVD ตลอดจนอุปกรณ์สำรองข้อมูลอื่น ๆ ซึ่งเป็นสื่อที่นักเรียนคุ้นเคยอยู่แล้ว มีความน่าสนใจทันสมัย การเตรียมบทเรียนมีความพร้อมครบเนื้อหาสาระเป็นอย่างดี แต่ปัญหาที่พบก็คือ สื่อที่ครูนำมาใช้มีน้อยนักเรียนสัมผัสไม่ทั่วถึง ถ้ามีการจัดการเรียนการสอนที่ห้องคอมพิวเตอร์นักเรียนน่าจะมีการเรียนรู้ที่ดีกว่านี้ แต่เนื่องจากห้องคอมพิวเตอร์ของโรงเรียนมีน้อยจึงมีการหมุนเวียนการใช้ห้องร่วมกับชั้นเรียนอื่น
6. การวัดผลและประเมินผลการเรียน
การวัดผลประเมินผล ใช้วิธีวัดผลได้เหมาะสมกับเนื้อหา มีการตรวจสอบ และปรับปรุง ผู้เรียนได้บ้างระหว่างสอน แต่ยังไม่ทั่วถึง
การสะท้อนผล
จากการสังเกตพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้นายอิทธิพล บุญเดช ในครั้งนี้
ปฏิบัติกิจกรรมการเรียนการสอนอยู่ในระดับ ดี แต่พบข้อบกพร่องบางประการ ข้าพเจ้าได้ชี้แนะ ให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนครั้งต่อไป ดังนี้
1. การเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ มีการเตรียมการได้ดี แต่ควรเพิ่มมาตรฐานการเรียนรู้
และตัวชี้วัด จุดประสงค์การเรียนรู้ให้ถูกต้อง การลำดับขั้นตอนของการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ เพื่อเป็นการตรวจสอบมาตรฐานการเรียนรู้ไปในตัวด้วย
2. การนำเข้าสู่บทเรียน ควรเร้าความสนใจนักเรียนด้วยเพลงหรือเกมต่าง ๆ หรือภาพ
ขั้นสอนครูผู้สอน ควรนำส่วนประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อื่น ๆ มาใช้ประกอบการสอน
3. ขณะให้นักเรียนแต่ละคนทำใบงาน และนักเรียนที่เรียนได้ช้า ครูผู้สอนควรเดิน
ตรวจสอบการปฏิบัติทักษะของนักเรียนอย่างจริงจัง และเอาใจใส่เป็นกรณีพิเศษ การจัดการ
ชั้นเรียนครูผู้สอนควบคุมพฤติกรรมนักเรียนได้ดี นักเรียนส่วนใหญ่ตั้งใจเรียน