อาจารย์จุฬาฯ ชี้ควรเน้นแนะแนวเด็กตั้งแต่ประถมฯ ช่วงที่มีกระบวนการคิด วิเคราะห์ แนะผู้บริหารต้องคิดนอกกรอบ ผอ.สมศ.ยอมรับเห็นด้วยกับหลักสูตรฟันหลอ เน้นการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ
ที่โรงแรมดุสิตธานี พัทยา เมื่อวันที่ 17 ต.ค. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดประชุมเชิงนโยบายเพื่อระดมความคิดเรื่อง "การพัฒนาการศึกษาทั้งระบบเพื่อพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนไทย ครั้งที่ 2" ช่วงเช้ามีการนำเสนอประเด็นหลักสูตรการเรียนการสอน โดย นายสุชาติ วงษ์สุวรรณ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สรุปถึงแนวทางพัฒนาการศึกษาว่า จะต้องดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนาหลักสูตร ปรับปรุงรูปแบบการบริหารจัดการหลักสูตร พัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ของครู พัฒนาระบบการแนะแนวของสถานศึกษาและพัฒนาครูทั้งระบบ
ด้าน รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอแนะว่า ข้อมูลที่ สพฐ.ทำการบ้านพบเด็กประถมศึกษาต้องเรียนทุกวิชา เป็นการปิดกั้นกระบวนการเรียนรู้และทำให้เด็กไม่สามารถค้นพบศักยภาพของตนเอง แม้แต่ครูยังแย้งว่าเนื้อหาเยอะแต่ต้องทำตามหลักสูตร จากประสบการณ์ติดตามนิเทศพบเด็กต้องเรียนเนื้อหาที่เรียนซ้ำๆ ถึง 30% การแนะแนวยังมุ่งเน้นที่การศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษา เป็นเจ้าคนนายคน แต่ละเลยด้านอาชีวะ ทั้งนี้ควรเน้นแนะแนวเด็กตั้งแต่ประถมศึกษา เป็นช่วงที่เด็กมีกระบวนการคิด วิเคราะห์ และการปรับปรุงหลักสูตรยังคิดเชิงทฤษฎีมากเกินไป ทำอย่างไรให้ผู้บริหารคิดนอกกรอบ
ขณะที่ คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ควรทบทวนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานปี 2553 ทอนส่วนที่ซ้ำ30% ออก โดยเฉพาะระดับประถมเป็นช่วงปรับเปลี่ยนคนเป็นคนดี เก่ง วิคราะห์ ควรเน้นพัฒนาทักษะภาษา ทักษะการรู้จักตัวตน และรู้ว่าการเป็นคนดีคนเก่งเป็นอย่างไร เน้นการเรียนรู้รอบตัวและเรียนรู้ธรรมชาตินอกตัวมากขึ้น และให้เด็กมีการค้นพบการเรียนสายอาชีพมากขึ้นไม่ใช่มุ่งแต่สายสามัญ
ส่วน นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ รักษาการ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา กล่าวว่า เห็นด้วยกับหลักสูตรฟันหลอ และเน้นการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ ที่สำคัญคือครูต้องพัฒนาให้มีความสุข และรับการปรับเปลี่ยนวิธีการด้วยใจ
ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทอสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) กล่าวว่า หลักสูตรมีความยืดหยุ่น แต่เพราะต้นสังกัดชอบสั่งให้ทำ และการสอบโอเน็ตที่สอบมา 4 ปีแล้วแต่ไม่มีการนำไปใช้ แม้แต่บางโรงเรียนยังไม่รู้จัก คะแนนที่ต่ำเพราะไม่ใช่เด็กไม่มีคุณภาพแต่เพราะเด็กไม่ตั้งใจสอบ
นายจุรินทร์ กล่าวว่า โดยสรุปหลักสูตรการเรียนการสอนมีความชัดเจนว่าการท่องจำยังจำเป็นแต่ทำ อย่างไรให้เด็กได้คิดวิเคราะห์มากขึ้น เบื้องต้นต้องปรับ 3 ส่วนคือ 1.หลักสูตร นอกจากจะทำให้เด็กมีความรู้ทางวิชาการแล้ว ต้องสอนทักษะการคิดวิเคราะห์ มีการเสนอให้สอนเด็กรู้จักหาความหมาย คิดแบบสร้างสรรค์ คิดตัดสินใจและคิดแก้ปัญหาในภาวะวิกฤต รวมทั้งมีคุณลักษณะ 3D ทั้งนี้ต้องกลับไปพิจารณาว่าหลักสูตรการเรียนการสอนที่ผ่านมาสอดคล้องตามที่ กล่าวหรือไม่ และต้องพิจารณาว่าเนื้อหาหลักสูตรมีความซ้ำซ้อนเกินความจำเป็นหรือไม่ และต้องปรับปรุงอย่างไร นอกจากนี้การส่งเสริมการเรียนนอกห้องเรียนอย่างสร้างสรรค์จะดำเนินการให้ เป็นรูปธรรมอย่างไร มีการนำเสนอหลักสูตรนอกห้องเรียนเพื่อนำไปสู่การคิดวิเคราะห์ ในที่สุดอาจต้องปรับตารางสอน 2.ครู เป็นอีกปัจจัยหลักที่ต้องพัฒนา รวมถึงผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีความเข้าใจ และกระบวนการเรียนการสอนเป็นหัวใจสำคัญว่าครูจะสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็น ได้อย่างไร รวมถึงกระบวนการวัดผลที่ต้องเที่ยงตรงแม่นยำ 3.สื่อจะมีการส่งเสริมอย่างไรเพื่อเข้าถึงง่าย มีข้อเสนอให้ค้นหาสื่อต้นแบบที่หลายประเทศทำสำเร็จแล้วนำมาประยุกต์ใช้นอก เหนือจากที่คิดค้นด้วยตนเองด้วย ผลิตสื่อที่เป็นเครื่องช่วยการสอนสำหรับครู และต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการแนะแนว
อย่างไรก็ตามการตัดทอนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่กำลังจะใช้ในปี 2553 ที่ซ้ำซ้อน คงต้องให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทำหลักสูตรเดิมพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจใน ทางที่ถูกต้อง คาดว่าจะใช้เวลาภายใน 1 เดือนจะสรุปผลได้ อย่างไรก็ตามการปฏิรูปการศึกษารอบสองขณะนี้เรามีเป้าหมายทิศทางดำเนินการที่ชัดเจนแล้ว เพียงแต่กระบวนการเดินหน้าในรายละเอียดแต่ละเรื่องอย่างเป็นรูปธรรมจะต้อง ช่วยกันระดมความคิดเห็นเพื่อไม่ให้เลื่อนลอยเป็นนามธรรม หลังจากนี้จะสรุปในแต่ละประเด็นอีกครั้งที่กระทรวงศึกษาธิการ
อ่านเรื่องอื่นๆหรือแวะทักทายที่