ชื่อเรื่อง รายงานการพัฒนาแบบฝึกทักษะปฏิบัติขลุ่ยรีคอร์เดอร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
สาระการเรียนรู้ ศิลปะ (สาระดนตรี)
ผู้รายงาน นายสุทิน ไชยนา
หน่วยงาน โรงเรียนบางชัน (ปลื้มวิทยานุสรณ์) สำนักงานเขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร
ปีที่ศึกษา พ.ศ. 2550
บทคัดย่อ
การศึกษารายงานครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ (1) เพื่อพัฒนาแบบฝึกทักษะปฏิบัติขลุ่ยรีคอร์เดอร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ (สาระดนตรี) ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 (2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สอนโดยใช้แบบฝึกปฏิบัติขลุ่ยรีคอร์เดอร์ และกลุ่มที่สอนโดยใช้หนังสือเรียนวิชาดนตรี-นาฏศิลป์ ของ พว. และ (3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยแบบฝึกทักษะขลุ่ยรีคอร์เดอร์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษารายงานครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบางชัน(ปลื้มวิทยานุสรณ์) สำนักงานเขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร จำนวน 80 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สอนโดยใช้แบบฝึกปฏิบัติขลุ่ยรีคอร์เดอร์ จำนวน 40 คน และกลุ่มที่สอนโดยใช้หนังสือเรียนวิชาดนตรี-นาฏศิลป์ ของ พว. จำนวน 40 คน ได้มาจากการสุ่มแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า ได้แก่ (1) แบบฝึกทักษะปฏิบัติขลุ่ยรีคอร์เดอร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ใช้เวลาในการทดลอง 18 ชั่วโมง (2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางหลังเรียน จำนวน 30 ข้อ ค่าความยากง่ายอยู่ระหว่าง 0.53-0.65 ค่าอำนาจจำแนกอยู่ระหว่าง 0.40-0.70 มีค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบ เท่ากับ 0.82 และ (3) แบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยแบบฝึกทักษะปฏิบัติขลุ่ยรีคอร์เดอร์ จำนวน 10 ข้อ สถิติที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ ทดสอบความมีนัยสำคัญทางสถิติโดยใช้ t-test (Dependent Samples) ผลการศึกษาค้นคว้าพบว่า แบบฝึกทักษะปฏิบัติขลุ่ยรีคอร์เดอร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกปีที่ 2 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 81.82/81.25 นักเรียนที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะปฏิบัติขลุ่ยรีคอร์เดอร์ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยของผู้เรียนสูงกว่านักเรียนที่เรียนโดยใช้หนังสือเรียนวิชาดนตรี-นาฏศิลป์ ของ พว. อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยแบบฝึกทักษะปฏิบัติขลุ่ยรีคอร์เดอร์ ในระดับมากที่สุดทุกข้อ
โดยสรุปแบบฝึกทักษะปฏิบัติขลุ่ยรีคอร์เดอร์ ทำให้นักเรียนรู้สึกกระตือรือร้นต่อการเรียน เรื่องทฤษฎีดนตรีสากลขั้นพื้นฐานสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล สามารถนำไปใช้ได้ เป็นแนวทางในการศึกษาเพื่อพัฒนาในเนื้อหาและรายวิชาอื่นต่อไป