บทความเรื่อง
มองวรรณคดีกับทฤษฎีการเป็นผู้นำแบบมีส่วนร่วม
โดย สมปอง จันทคง
--------------------------------------
ความเป็นมาและความสำคัญ
จากการศึกษา “จากรามเกียรติ์...สู่การประเมิน” ของ ศาสตราจารย์ ดร. เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ ราชบัณฑิต ทำให้เกิดแนวคิดในการวิเคราะห์วรรณคดี เพื่อเปรียบเทียบกับทฤษฎี การเป็นผู้นำโดยมีส่วนร่วม ของผู้นำหรือตัวละครเอกและบริวารในเรื่องพระอภัยมณี ตอน พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ ผลงานของ พระสุนทรโวหาร (สุนทร ภู่) กวีเอกของไทยและของโลก เพื่อศึกษาแนวคิดในการบริหาร เผื่อว่าจะได้แนวคิดที่ดี ๆ จากกวีเอกของโลกเกี่ยวกับภาวะผู้นำบ้าง
เรื่องพระอภัยมณีนี้ เป็นวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ท่านผู้รู้หลายท่านกล่าวว่าเป็นนิทานคำกลอนที่เกิดจากจินตนาการของท่านสุนทรภู่ แต่หลายท่านก็กล่าวว่าเป็นเรื่องที่มีจริงในชีวิตของท่านสุนทรภู่ เช่น เกาะแก้วพิสดาร ก็คือ เกาะเสม็ด ซึ่งมีหาดทรายที่แสนงดงาม แวววาว ด้วยแก้วที่ล่อแสงตะวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น
สุนทรภู่กำหนดตัวละครสำคัญ ๆ ไว้หลายตัวแต่ละตัว สุนทรภู่ได้แทรกวิถีชีวิตเข้าไป อย่างกลมกลืน อ่านแล้วมีความสนุกสนานแม้จะเป็นจินตนาการก็ทำให้ผู้อ่านแทบไม่อยากละสายตาได้ ถ้าหากศึกษาให้ดี ๆ เราอาจจะพบว่าท่านสุนทรภู่เป็นสัตวแพทย์คนหนึ่งของโลก หรือสัตวแพทย์คนแรกของประเทศไทยที่สามารถผสมพันธุ์สัตว์ข้ามสายพันธุ์ได้ ในชีวิตจริงทางวิทยาศาสตร์เราพบว่า ม้าผสมกับลา ได้ล่อ แต่สำหรับท่านสุนทรภู่แล้ว มีสัตว์ข้ามสายพันธุ์หลายพวกที่เกิดขึ้นในเรื่องพระอภัยมณี อาทิ ม้าผสมกับมังกรได้ม้านิลมังกร ที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนทั้งม้าและมังกร หรือแม้แต่พระอภัยมณีเองอยู่กินกับยักษ์น้ำชื่อนางผีเสื้อสมุทร ก็ได้โอรสชื่อสินสมุทร ที่มีรูปร่างหน้าตาหล่อเหลางดงามเหมือนพ่อและมีตาแดงดังแสงพระอาทิตย์ มีกำลังมหาศาลเหมือนแม่ หรือ พระอภัยมณีอยู่กินกับนางเงือกที่มีท่อนบนของร่างกายเหมือนคนท่อนล่างเหมือนปลา ได้โอรสชื่อสุดสาคร สามารถแหวกว่ายในน้ำ ดำน้ำได้เป็นวัน ๆ ไม่โผล่ หรือดำตรงนี้ไปโผล่ตรงโน้นเป็นหลายโยชน์ เป็นต้น
2
ในเชิงบริหารท่านสุนทรภู่ก็คงเก่งไม่เบา ที่สามารถสร้างตัวละครอย่างพระอภัยมณี ให้สามารถกำกับ ควบคุม ดูแล ให้คนในครอบครัว หรือบริวาร เคารพ เชื่อฟัง และปฏิบัติตาม ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษา วิเคราะห์ และนำมาใช้ในการสร้างภาวะผู้นำในการบริหาร
จุดมุ่งหมายในการศึกษา
เพื่อศึกษาภาวะผู้นำและการมีส่วนร่วมของตัวละครเอก และตัวละครอื่นในเรื่อง พระอภัยมณีตอนพระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
ผลการศึกษา
พระอภัยมณี มีอาวุธประจำกาย คือ ปี่ ซึ่งเสียงปี่ที่พระอภัยมณีเป่านี้มีฤทธิ์ใน การกำกับควบคุมผู้อื่นให้สงบเงียบและหลับ (สยบ) ได้ ซึ่ง ปี่ เป็นตัวแทนของอำนาจ ที่พระอภัยมณีจะใช้เมื่อไรก็ได้ แต่พระอภัยมณีก็มีสติสัมปชัญญะในการใช้ พระอภัยมณีไม่ใช้ตามอำเภอใจ ในตอนพระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทร พระอภัยมณีอยู่กินกับนางผีเสื้อสมุทรเป็นเวลานานถึง 8 ปี มีโอรสด้วยกัน 1 องค์ คือ สินสมุทร ในการกำกับ ควบคุม ดูแล ครอบครัวส่วนใหญ่จะเป็นหน้าที่ของนางผีเสื้อสมุทร เพราะพระอภัยมณีถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ทั้งหมดให้ เพราะไม่ชำนาญในพื้นที่ การบริหารไม่มีอิสระ ไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด เพราะเป็นเสมือนผู้บริหารที่ย้ายมาดำรงตำแหน่งใหม่ หากใช้วิธีแข็งกร้าวอาจจะเอาตัวเองไม่รอด ดังนั้นจึงใช้วิธีการบริหารแบบตามน้ำไปก่อน เมื่อโอกาสเหมาะสมจึงค่อย ๆ ดึงอำนาจนั้นกลับคืนทีละน้อย ๆ บัวไม่ใช้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น ดังกลอนตอนต้นว่า
“จะกล่าวกลับจับความไปตามเรื่อง ถึงบาทเบื้องปรเมศพระเชษฐา
องค์อภัยมณีศรีโสภา ตกยากอยู่คูหามาช้านาน
กับด้วยนางอสุรีนีรมิต เป็นคู่คิดเชยชมสมสมาน
ต้องรักใคร่ไปตามความกันดาร จนนางมารมีบุตรบุรุษชาย...”
3
พระอภัยมณียอมให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ แต่เป็นเหตุการณ์ดี ๆ ทั้งนั้น เช่น มีโอรส 1 องค์ ก็เฝ้าฟูมฟักเลี้ยงดูอย่างดี สอนวิชาเป่าปี่ให้ มอบสิ่งดี ๆ ให้
“เฝ้าเลี้ยงลูกผูกเปลแล้วเห่ช้า จนใหญ่กล้าอายุได้แปดปี
จึงให้นามตามอย่างข้างมนุษย์ ชื่อสินสมุทรกุมารชาญชัยศรี
ธำมรงค์ทรงมาค่าบุรี พระภูมีถอดผูกให้ลูกยา
เจียรบาดคาดองค์ก็ทรงเปลื้อง ให้เป็นเครื่องนุ่งห่มโอรสา
สอนให้เจ้าเป่าปีมีวิชา เพลงศาสตราสารพัดหัดชำนาญ”
เปรียบเสมือนมีพนักงาน บริวาร หรือผู้ใต้บังคับบัญชาใหม่ ก็จะมีการปฐมนิเทศ มอบหมายงานที่เหมาะสมกับความรู้ ความสามารถ ความชำนาญให้ เมื่อทำผลงานเป็นที่ประจักษ์ ก็ให้ความดีความชอบ ตามกาลอันสมควร
ผู้ใต้บังคับบัญชามีน้อย ต้องเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด เสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน จะก่อให้เกิดความศรัทธา ความสามัคคี และหวังดีต่อกัน งานในองค์กรจึงจะเดินไปได้ดี มีประสิทธิภาพ
การจะทำงานให้สำเร็จผู้นำต้องมีแนวคิดในการทำงาน เช่น มีการวางแผนการทำงาน อย่างรอบคอบก่อนมอบหมายหน้าที่การงาน และลงมือทำงาน เมื่อลงมือทำงานก็ต้องมีการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล การทำงานเป็นระยะ แล้วยังต้องปรับปรุงพัฒนางานนั้นให้ดียิ่งขึ้น ถ้ากล่าวให้น่าเชื่อถือก็คือ ต้องมีขั้นตอนเป็นวงจร PDCA นั่นเอง (สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี. 2548 : 2)
P (Planning) คือ ขั้นวางแผน : บุคลากรทุกคนร่วมกันวางแผน
D (Doing) คือ ขั้นการลงมือปฏิบัติ : บุคลากรทุกคนร่วมกัน
ทำงานตามแผนที่วางไว้อย่างมีความสุข
C (Checking) คือ ขั้นการตรวจสอบ : บุคลากรทุกคนร่วมกัน
ตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผลแบบกัลยาณมิตร
A (Action/Adjust) คือ ขั้นปรับปรุงแก้ไข : นำข้อบกพร่องมาปรับปรุงแก้ไข
และนำข้อดีมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อไป
4
พระอภัยมณีก็เช่นเดียวกัน พระอภัยมณีทราบแล้วว่านางผีเสื้อสมุทรเป็นยักษ์ คนละเชื้อชาติคนละเผ่าพันธุ์กับตน อยากหนีนานแล้วแต่ยังหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุดที่จะเป็นทางเลือกได้ เมื่อคิดหาทางเลือก ประเมินทางเลือกแล้วว่าให้เงือกผู้สันทัดเส้นทางเป็นผู้ พาหนีน่าจะได้ผลดี จึงตัดสินใจเลือกทางเลือกแล้วร่วมกันวางแผน นัดหมาย มอบหมายงานตามแผน และดำเนินการตามแผน
เงือกเฒ่ากล่าวว่าถ้าจะไปให้ถึงเกาะแก้วพิสดารของฤๅษีผู้มีวิชาแก่กล้าได้ต้องใช้เวลานานถึงเจ็ดวันเจ็ดคืนดังคำกลอนว่า
“แม้นกำลังดังข้าจะพาหนี เจ็ดราตรีเจียวจึงจะถึงสถาน
อสุรีมีกำลังดังปลาวาฬ ตามประมาณสามวันจะทันตัว
ถ้าแก้ไขให้นางไปค้างป่า ได้ล่วงหน้าไปบ้างจะยังชั่ว
จะอาสาพาไปมิได้กลัว ชีวิตตัวบรรลัยไม่เสียดาย”
ถ้าผู้นำมีบริวารที่เสียสละไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบากเช่นนี้ก็เปรียบได้ว่างานนั้นสำเร็จไปได้ครึ่งหนึ่งแล้ว
“แต่พระองค์ทรงคิดให้รอบคอบ ถ้าเห็นชอบท่วงทีจะหนีหาย
จึงโปรดใช้ให้องค์พระลูกชาย ไปหาดทรายหาข้าจะมาฟัง”
ผู้นำต้องวางแผนอย่างรอบคอบ ดังนั้นพระอภัยมณี จึงคิดหนัก วางแผนว่าจะทำอย่างไร ให้นางผีเสื้อสมุทรไปเก็บตัวอยู่จำศีลภาวนาอดอาหารในป่าเขาได้สักสามวัน โอกาสประจวบเหมาะนางผีเสื้อสมุทรฝันร้ายในคืนนั้น เล่าความฝันให้พระอภัยมณีฟัง พระอภัยมณีคาดคะเนจากความฝันของนางแล้วว่าตนน่าจะหนีรอด จึงตีไข่ใส่ข่าวทำนายฝันว่า นางฝันร้ายจะมีเหตุถึงชีวิต ต้องไปจำศีลภาวนาอดอาหารในป่าเขาสามวันสามคืนจึงจะหมดสิ้นเคราะห์กรรม นางจึงเชื่อคำทำนาย และตกลงจะไปจำศีลภาวนาอดอาหารดังคำพระอภัยมณีทายทัก
5
“...พอได้ช่องลองลวงดูตามเล่ห์ สมคะเนจะได้ไปดังใจหมาย
จึงกล่าวแกล้งแจ้งเสเพทุบาย เจ้าฝันร้ายนักน้องต้องตำรา
อันเทวัญนั้นคือมัจจุราช จะหมายมาดเอาชีวิตริษยา
.......................
นึกจะใคร่สะเดาะพระเคราะห์เจ้า พอบรรเทาโทษาที่อาสัญ
เหมือนงอนง้อขอชีวิตแก่เทวัญ กลัวแต่ขวัญเนตรพี่จะมิทำ...”
นางได้ฟังคำทำนายเช่นนั้นก็ตกลงใจทำตามคำแนะนำทันที จึงทำให้การวางแผนสำเร็จ ไปแล้วขั้นหนึ่ง พระอภัยมณีนั้นเป็นผู้นำที่มีความรอบคอบ ก่อนออกจากถ้ำได้นำปี่คู่กายห่อผ้าอย่างดีแล้วรีบเดินทางมาพบครอบครัวเงือกเฒ่าที่ชายหาด และเงือกเฒ่าจึงกำหนดให้พระอภัย ขึ้นขี่บ่าตนเอง แล้วให้สินสมุทรขึ้นบ่าเงือกแม่ ส่วนลูกสาวเงือกให้ตามหลังแล้วก็พากัน ออกเดินทางอย่างรวดเร็ว นี่ก็เป็นความสำเร็จอีกขั้น
ย้อนกลับมากล่าวถึงนางผีเสื้อสมุทร ที่ไม่มีความคิดเป็นของตนเองจึงถูกหลอกเอา ง่าย ๆ ถูกตัดกำลังโดยการอดอาหารสามวันสามคืน เรี่ยวแรง ก็แทบหมดสิ้นทรงตัวแทบไม่อยู่ เมื่อครบกำหนดก็กลับมายังถ้ำของตน ไม่เห็นมีใครจึงรู้ว่าถูกหลอก โกรธเคืองมากแต่ด้วยอ่อนกำลังเพราะหิวโหย พอได้ผลไม้เป็นอาหารฟื้นกำลังขึ้นมาได้ ก็ออกติดตาม เสาะหา ถามไถ่เรื่อยไปจนตามทัน
พระอภัยมณีมีผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน แม้จะมีประสบการณ์ มีอายุมากกว่า ก็ยอมรับใช้ทำงานให้ด้วยจริงใจในทางที่ถูกต้องเหมาะสม “เงือกผู้เฒ่าเคารพอภิวาท ขอรองบาทบริรักษ์จนตักษัย” นอกจากนี้แล้วพระอภัยมณียังเป็นผู้นำที่อ่อนโยน แม้ตนจะเป็นหน่อเนื้อกษัตริย์ ก็ยังอ่อนน้อมถ่อมตน และสอนให้โอรสรู้จัก อ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ด้วย ให้ขอขมาผู้อาวุโสกว่าก่อนล่วงเกินขึ้นขี่บนบ่าเงือก ดังคำกลอนตอนหนึ่งว่า
“พงศ์กษัตริย์ตรัสชวนสินสมุทร สอนให้บุตรขอสมาอัชฌาสัย
พระทรงบ่าเงือกน้ำงามวิไล พระหน่อไทขอสมาขึ้นบ่านาง”
การตรวจสอบการปฏิบัติงานตามแผนที่วางไว้เป็นระยะ ๆ จะทำให้ทราบได้ว่างานดำเนินไปได้ดีเพียงใด มีประสิทธิภาพเพียงใด พบปัญหา หรืออุปสรรคอะไรบ้าง จะได้หาทางแก้ไขได้ทันท่วงที พระอภัยมณีนั้นเป็นผู้นำที่มีความเอาใจใส่ต่อความเป็นอยู่ของเพื่อนร่วมทาง 6
หรือผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นอย่างดี คอยไต่ถามด้วยความห่วงใยอยู่ตลอด คอยแนะนำถ้าเหนื่อยก็ให้พักเอาแรง ดังตอนที่พระอภัยเดินทางมาได้ถึงเวลาพลบค่ำ
“พระห้ามเงือกสองราด้วยปรานี ประเดี๋ยวนี้ลมกล้าสลาตัน
เห็นละเมาะเกาะใหญ่ที่ไหนกว้าง หยุดเสียบ้างให้สบายจึงผายผัน
เราหนีนางมาได้ก็ไกลครัน ต่อกลางวันจึงค่อยไปให้สำราญ”
การตัดสินใจของผู้นำมิได้ถูกต้องเสมอไป หากการตัดสินใจผิดพลาดผู้ใต้บังคับบัญชา
ก็ต้องมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นคัดค้าน ด้วยเหตุและผล จึงจะทำให้ได้ข้อมูลที่ดีประกอบ การตัดสินใจ ดังคำกลอนตอนหนึ่งว่า
“ตาเงือกน้ำซ้ำสอนพระทรงศักดิ์ ยังใกล้นักอย่าประมาททำอาจหาญ
นางรู้ความตามมาไม่ช้านาน จะพบพานพากันตายวายชีวัน
อันตาข้าถ้าค่ำเห็นสว่าง ทั้งเดินทางเรี่ยวแรงแข็งขยัน
ถ้าแดดกล้าตามัวเป็นหมอกควัน จะผายผันล่วงทางไปกลางคืน”
เมื่อการคัดค้านสมเหตุสมผล ผู้นำก็ต้องยอมให้ผู้ตาม หรือ เปลี่ยนบทบาทกัน
เป็นผู้นำบ้างก็ได้เพื่อให้การทำงานนั้นสำเร็จนางผีเสื้อสมุทรเป็นฝ่ายล่า ออกติดตามโดย ขาดการวางแผนบุ่มบ่าม ขาดบริวาร ขาดผู้ช่วย แม้จะติดตามมาอย่างกระชั้นชิด และรวดเร็ว ด้วยการ ไต่ถามหามาตามทางได้เบาะแสก็รีบตัดสินใจแบบรวดเร็ว เดินทางไล่มาติด ๆ ด้วยอารมณ์โกรธแค้นขุ่นเคือง การทำอะไรก็ตามหากใช้อารมณ์ในการจัดการกับปัญหาโดยขาดสติ ยั้งคิด ไร้เหตุผล เอาอารมณ์ของตนเป็นใหญ่ ต่อให้เป็นผู้มีอำนาจราชศักดิ์เพียงใดบางครั้ง ก็ตายน้ำตื้นได้เช่นกัน ดังนั้นผู้นำจึงไม่ควรให้อคติเข้าครอบงำ
อคติ 4 ประกอบด้วย
1. ฉันทาคติ คือ มีความลำเอียงเพราะความรักใคร่ชอบพอ
2. โทสาคติ คือ มีความลำเอียงเพราะความโกรธ เกลียด
3. โมหาคติ คือ มีความลำเอียงเพราะความหลงหรือความโง่เขลา
7
4. ภยาคติ คือ มีความลำเอียงเพราะความกลัว เกรงใจ เกรงอิทธิพล หรือกลัวเสียผลประโยชน์
การปฏิบัติงานต้องมีการประเมินระหว่างการทำงานด้วยเพื่อจะทำให้ทราบสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นอยู่ว่าปัญหาได้คลี่คลายลงหรือเขม็งเกลียวมากยิ่งขึ้น จะหาทางหนีทีไล่อย่างไร จึงจะไม่ผิดพลาดพลั้ง เช่นเดียวกับพระอภัยมณีกับเงือกเฒ่าช่วยกันประเมินสถานการณ์ จากสภาพจริง ว่านางผีเสื้อสมุทรต้องตามมาทันในวันนี้แน่นอน คงหนีไม่พ้นเป็นแน่ จึงร่วมกันวางแผนกับทุกคนในทีมงานเพื่อหาทางเอาตัวให้รอด
ปัญหาตอนนี้รุมเร้าหนักที่สุด ดังนั้นสมาชิกในองค์กรต้องสมัครสมานสามัคคีกัน ช่วยกันแก้ปัญหาคนละไม้คนละมือใครทำสิ่งใดพอจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรได้บ้างก็ต้องลงมือทำอย่าชักช้าเพราะอาจจะทำให้ปัญหาลุกลามหาทางแก้ได้ยาก ดังนั้นในการแก้ปัญหาครั้งนี้
พระอภัยมณีนั้นแม้จะใจเสียเมื่อรู้ว่านางผีเสื้อสมุทรตามมาใกล้ทันแล้ว แต่ด้วยมีภาวะผู้นำ ก็ต้องทำใจดีสู้เสือ (ยักษ์) ต้องไม่ให้ใต้บังคับบัญชาเห็นความอ่อนแอ พร้อมสู้กับปัญหา แม้จะสูญเสียอำนาจไปบ้างก็ตาม พระอภัยมณียอมเสียสละตนเองเพื่อให้บริวารปลอดภัย เป็นการซื้อใจ ของบริวาร ลูกก็จะอยู่เพื่อพ่อ เงือกก็จะช่วยพาพระอภัยมณีหนีให้พ้น นางผีเสื้อน้ำ โดยสินสมุทรหลอกล่อนางยักษ์น้ำไปอีกทางหนึ่ง เงือกก็พาพระอภัยมณีหนีไปอีกทางหนึ่ง โดยให้นางเงือกน้อยพาพระอภัยมณีหนีไปให้ถึงเกาะแก้วพิสดาร เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือจากโยคีให้ทันเวลาอย่าให้นางยักษ์ตามมาทัน
การทำงานแข่งกับเวลา จะต้องไม่ทำแบบสุกเอาเผากิน ต้องคำนึงถึงคุณภาพ ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล และการตัดสินใจแบบฉับพลันก็เช่นเดียวกัน ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมในทางตรงข้าม การใช้อำนาจของนางผีเสื้อสมุทรบังคับขู่เข็ญให้คนอื่นกระทำตามใจตนเองอย่างขาดสติ ไร้เหตุผล เอาอารมณ์ของตนเป็นใหญ่ งานที่ได้ ก็จะไม่มีประสิทธิผล หาบริวารช่วยงานมิได้ แม้แต่คนใกล้ชิดที่คิดว่าเขาตายแทนได้เช่นลูกและผัว ก็ยังไม่เชื่อใจแล้วใครเขาไว้วางใจ
“นางผีเสื้อเหลือโกรธพิโรธร้อง &n