นับเป็นงานบุญยิ่งใหญ่ของคนเชื้อสายจีน ที่มีการจัดขึ้นทุกปี
จำได้เมื่อยังเป็นเด็ก ตอนอาม่า ( คุณย่า ) ยังมีชีวิตอยู่ อาม่ากับอาก๊ง ( คุณปู่ ) เป็นคนจีนอพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ตั้งแต่สมัย ดร. ซุนยัดเซ็น แต่อากุ๊ง เสียชีวิตไปก่อน อาม่า
อาม่านั้นพูดไทยไม่ได้เลย แต่ดิฉันก็จำได้ว่าในตอนเด็กสนิทสนมกับอาม่ามากพอควร และมักจะเป็นหลานที่ถูกพาไปโรงเจ เมื่อถึงฤดูกินเจทุกครั้งไป
ในตำบลของเรา จะมีคนไทยเชื้อสายจีนอยู่เป็นชุมชนใหญ่ จึงมีโรงเจประจำตำบล ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านมากนัก ในช่วงเวลากินเจ ตลาดจะคึกคักมาก จะไม่มีใครขายพวกอาหารเนื้อสัตว์เลย เพราะจะขายไม่ได้ เพราะคนทั้งตำบลจะกินเจกันหมด ดิฉันมักจะต้องตื่นเช้าเป็นพิเศษมาตั้งโต๊ะขายพวกผักดองต่างๆ ซึ่งขายดีมากกว่าปกติมาก
ในช่วงเริ่มต้นของการกินเจ จะมีพิธีรับเจ้าลงมาจากสวรรค์ พวกผู้ใหญ่ จะคัดเลือกเด็กๆ ที่กินเจ เพื่อเข้าร่วมขบวนแห่ ดิฉันก็เคยได้ร่วมอยู่ครั้งหนึ่ง แต่ก็กลัวเสียงปะทัดที่ดังจนน่ากลัว แต่หลังๆก็ไม่ได้ร่วม เพราะกินเจไม่รอดสักปี อิอิ
ที่หน้าโรงเจ จะมีเจ้าที่หน้าตาเป็นยักษ์ตัวใหญ่ยืนชี้อยู่หน้าประตู ดูท่าทางน่าเกรงขาม ผู้ใหญ่ว่า ไว้เฝ้าประตูไม่ให้พวกที่ไม่ได้กินเจเข้า ดิฉันตอนเด็กๆ ก็รู้สึกกลัวทุกครั้งไป
ที่โรงเจจะคึกคักมากเวลาช่วงเทศกาลกินเจ จะมีผู้คนแต่งชุดขาว มาอยู่ มากิน ที่โรงเจตลอดเวลาช่วงเทศกาล อาม่ามักจะจูงดิฉันไปโรงเจ ดิฉันก็ช่วงถึงข้าวของไปไหว้เจ้า กลิ่นควันธูปลอยล่องทั่วโรงเจ จนรู้สึกแสบตา ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่จะงดเว้นบาป งดการฆ่าสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหาร อย่างน้อยกินมันมาทั้งปีแล้ว ปล่อยให้มันมีชิวิตยืนยาวอีกสัก 10 วันก็ดีไม่น้อย คิดดูสิ ว่าวันๆหนึ่ง เราต้องฆ่าหมูกี่ตัว เชือดไก่กี่ตัว
ในด้านสุขภาพเอง ก็ถือว่าได้ล้างลำไส้กันสักปีล่ะครั้ง อย่างที่เราทราบกันล่ะค่ะ ว่าทานเนื้อนั้น ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพมากนัก
ความหมายของการกินเจจาก วิกิพีเดีย
ประเพณีการกินเจกำหนดเอาวันตามจันทรคติ คือเริ่มต้นตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึง ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนทุกๆ ปี รวม 9 วัน 9 คืน มีจุดเริ่มต้นจากประเทศจีนมานานแล้ว โดยมีตำนานเล่าขานกันหลายตำนาน
คำว่า เจ ในภาษาจีนทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมีความหมายเดียวกับคำว่า อุโบสถ ดังนั้นการกินเจก็คือการรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน เหมือนกับที่ชาวพุทธในประเทศไทยที่ถืออุโบสถศีล หรือรักษาศีล 8 โดยไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว
แต่เนื่องจากการถืออุโบสถศีลของชาวพุทธฝ่ายมหายานที่ไม่กินเนื้อสัตว์ จึงนิยมนำการไม่กินเนื้อสัตว์ไปรวมกันเข้ากับคำว่ากินเจ กลายเป็นการถือศีลกินเจ ในปัจจุบันผู้ที่รับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังคงเรียกว่ากินเจ ฉะนั้นความหมายก็คือคนกินเจมิใช่เพียงแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ยังต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์ สะอาด ทั้งกาย วาจา ใจ
ความหมาย
เจียะแจ (食齋 ) เป็นการออกเสียงตามสำเนียงถิ่นแต้จิ๋ว ศัพท์คำนี้ใช้และเป็นที่เข้าใจแต่ทางตอนใต้ของจีนโดยเฉพาะแถบลุ่มอารยะธรรมหลิ่งหนาน (領南)ในมณฑลกวางตุ้ง อันเป็นแหล่งอาศัยดั่งเดิมของคนแคะ แต้จิ๋ว กวางตุ้งและไหหนำ ซึ่งเป็นชาวจีนกลุ่มใหญ่ในประเทศไทย เจียะแจตรงกับคำว่า ชือซู ( 吃素 )ในภาษาจีนกลาง (สำเนียงปักกิ่ง)
เจียะ ( 食 ) ในภาษาถิ่นใต้ หากใช้ในความหมายของคำกิริยา แปลว่า กิน
แจ ( 齋 ) แปลว่า บริสุทธิ์ ( 清淨 ) ( อ้างตามปทานุกรมพุทธศาสนาฉบับ วัดฝอกวงซัน ,ไต้หวัน )
เจียะแจ หรือ ตรงกับคำไทยที่นิยมใช้กันว่า กินเจ จึงแปลว่า การกินอาหารที่บริสุทธิ์ตามความเชื่อ(ในลัทธิกินเจ) ซึ่งหมายความถึงอาหารที่ไม่คาวหรือไม่เจือปนซากผลิตภัณฑ์ของสัตว์ รวมทั้งไม่ปรุงใส่พืชผักต้องห้าม
คำว่าเจียะแจนี้ชาวจีนฮกเกี้ยนทางปักษ์ใต้แถบจังหวัดภูเก็ตเรียกต่างออกไปว่า เจียะไฉ่ (食菜) ที่แปลตามตัวอักษรได้ว่า “กินผัก” แต่มีนิยามหรือความหมายตรงกับคำว่าเจียะแจที่กล่าวข้างต้น
|
ในช่วงเทศกาลกินเจ 9 วัน 9 คืน ผู้ที่ต้องการกินเจอย่างครบถ้วยสมบูรณ์ตามประเพณีการกินเจ จะต้องปฏิบัติดังนี้
1. งดเว้นเนื้อสัตว์หรือทำอันตรายต่อสัตว์
2. งดนม เนย และน้ำมันที่มาจากสัตว์
3. งดอาหารรสจัด ซึ่งหมายถึงอาหารเผ็ด หวานมาก เปรี้ยวมาก เค็มมาก
4. งดผักหรือเครื่องเทศที่มีกลิ่นแรง เช่น ผักชี กระเทียม หัวหอม ต้นหอม กุยช่าย รวมทั้งใบยาสูบ สิ่งเสพติดและของมึนเมาต่างๆ
5. รักษาศีลห้า
6. รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ รักษาอารมณ์
7. ทำบุญทำทาน
8. นุ่งขาวห่มขาว
สำหรับผู้ที่เคร่งครัดเพื่อการกินเจให้เป็นไปอย่างบริสุทธ์โดยแท้ จะเพิ่มการปฏิบัติโดยการกินอาหารเฉพาะที่คนกินเจด้วยกันเป็นผู้ปรุงเท่านั้น รวมถึงจะล้างหม้อไหจนสะอาดเอี่ยมแยกภาชนะสำหรับการปรุงอาหารเจไว้โดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังจุดตะเกียงไว้ 9 ดวงตลอดช่วงเทศกาลกินเจ 9 วัน โดยไม่ปล่อยให้ดับเพื่อเป็นพุทธบูชาและรำลึกถึงบุญคุณของพ่อแม่ญาติพี่น้องตลอดจนผู้ที่มีบุญคุณต่อผืนแผ่นดินเกิด
"อาหารเจ" เป็นอาหารที่ปรุงขึ้นมาจากพืชผักธรรมชาติล้วนๆ ไม่มีเนื้อสัตว์ปะปนและที่สำคัญต้องไม่ปรุงด้วยผักฉุนทั้ง 5 ได้แก่
• 1 กระเทียม (หมายรวมไปถึง หัวกระเทียม ต้นกระเทียม)
• 2 หัวหอม (หมายรวมไปถึง ต้นหอม ใบหอม หอมแดง หอมขาว หอมหัวใหญ่)
• 3 หลักเกียว (คือกระเทียมโทนจีน ลักษณะคล้ายหัวกระเทียม แต่มีขนาดเล็กและยาว กว่า ในประเทศไทยไม่พบว่าปลูกแพร่หลาย)
• 4 กุ้ยฉ่าย (ใบคล้ายใบหอม แต่แบนและเล็กกว่า)
• 5 ใบยาสูบ (บุหรี่ ยาเส้น ของเสพติดมึนเมา)
ผักดังกล่าวเหล่านี้ เป็นผักที่มีรสหนัก กลิ่นเหม็นคาวรุนแรง นอกจากนี้ยังมีพิษที่ทำลายพลังธาตุทั้ง 5 ในร่างกาย เป็นมูลเหตุให้อวัยวะหลักสำคัญภายในทั้ง 5 ทำงานไม่ปกติ สำหรับผู้ปฏิบัติสมาธิฝึกจิต ไม่ควรรับประทานเป็นอย่างยิ่ง เพราะผักดังกล่าวมีฤทธิ์กระตุ้นจิตใจอารมณ์ให้เร่าร้อนใจคอหงุดหงิดง่าย และยังมีผลทำให้พลังธาตุในกายรวมตัวกันได้ยาก เพราะฉะนั้น โดยหลักเกณฑ์ที่มีมาแต่ครั้งบรรพกาลกล่าวได้ว่า "อาหารเจ" หรือ "อาหารของคนกินเจ" จึงเป็นอาหารที่ปรุงและรับประทานตามหลักเวชศาสตร์และเภสัชศาสตร์โบราณของจีนนั่นเอง
บรรพชนในแต่ละครัวเรือนของคนกินเจได้ถ่ายทอดหลักของการกินเจที่ถูกต้อง และศิลปะในการปรุงไว้ให้แก่ลูกหลานของตน สืบต่อเนื่องกันมาโดยไม่ขาดสาย คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าอาหารเจเป็นอาหารที่มีรสจืดชืดไม่อร่อย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดมาก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะไม่มีโอกาสลิ้มรสอาหารเจที่แท้จริงก็เป็นได้ อาหารเจมีรสชาดอร่อยกลมกล่อมต่างไปจากอาหารที่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารเจไม่มีกลิ่นเหม็นคาวๆ ใดเลย อาหารเจบางอย่าง คนทั่วไปที่รับประทานแต่อาหารเนื้อจะไม่มีโอกาสรู้จักหรือได้ลิ้มรสเลยในชีวิต เนื่องด้วยอาหารเหล่านั้นทำขึ้นรับประทานกันเฉพาะในบรรดากลุ่มคนที่กินเจเท่านั้น บางคนมักคิดเอาเองว่า หากรับประทานแต่อาหารเจจะทำให้เป็นโรคขาดอาหาร แต่ทางการแพทย์กลับยืนยันว่าไม่ว่าจะเป็นคนที่กินอาหารเนื้อหรือคนที่กินเจ ก็มีสิทธิ์เป็นโรคขาดอาหารได้เท่ากัน
ข้อควรปฏิบัติในการรับประทานอาหารเจ
1. พืชผักและผลไม้ เป็นของคู่กันเสมอ นอกจากผักสดๆ ที่นำมาปรุงเป็นอาหารแล้ว คนกินเจจำเป็นต้องรับประทานผลไม้สดๆ หลังอาหารทุกมื้ออย่างสม่ำเสมอ การเลือกซื้อผักผลไม้เพื่อนำมาปรุง และการบริโภคในแต่ละวันควรจัดให้ได้ครบตามสีของธาตุทั้ง 5 ดังนี้
1. สีแดง (แดงส้ม, แสด, ชมพู) สัญลักษณ์ ธาตุไฟ
2. สีดำ (น้ำเงิน, ม่วง) สัญลักษณ์ ธาตุน้ำ
3. สีเหลือง (เหลืองแก่, เหลืองอ่อน) สัญลักษณ์ ธาตุดิน
4. สีเขียว (เขียวเข้ม, เขียวอ่อน) สัญลักษณ์ ธาตุไม้
5. สีขาว (ขาวนวล, ขาวสะอาด) สัญลักษณ์ ธาตุโลหะ
ตารางผัก, ผลไม้ แบ่งตามทั้ง 5 หมู่สี ผัก ผลไม้
แดง มะเขือเทศ, พริกสุก, หัวแครอท ฯลฯ มะละกอ, ส้ม, แตงโม ฯลฯ
ดำ มะเขือม่วง, เผือก, เห็ดหูหนู ฯลฯ ละมุด, ลูกหว้า, องุ่น ฯลฯ
เหลือง ฟักทอง, ข้าวโพด, พริกเหลือง ฯลฯ มะม่วง, กล้วย, ทุเรียน ฯลฯ
เขียว ผักคะน้า, ถั่วฝักยาว, ผักบุ้ง ฯลฯ ฝรั่ง, ชมภู่, มะเฟื่อง ฯลฯ
ขาว หัวผักกาดขาว, ผักกาดขาว, กระหล่ำดอก มะพร้าว, น้อยหน่า ฯลฯ
ผักผลไม้ไม่จำเป็นต้องมีราคาแพงหรือเป็นประเภทยาก เช่น พวกผักผลไม้เมืองหนาว ควรยึดหลักราคาถูก ประหยัด แต่มีคุณประโยชน์สูง จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่รู้จักฉลาดกิน ฉลาดใช้ ประหยัดยอด ประโยชน์เยี่ยม
ประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยผักผลไม้หลายหลาก ตลอดปีเราสามารถหามาบริโภคได้ไม่ขาดแคลน จึงควรเลือกซื้อมาปรุงและบริโภคให้ครบทั้ง 5 สี โดยสลับเปลี่ยนหมุนเวียนนำมาบริโภคในแต่ละวันโดยไม่ซ้ำกัน และไม่ควรเลือกทานเฉพาะอย่างหนึ่งอย่างใดที่ตนชอบ โดยไม่คำนึงถึงคุณประโยชน์หลายๆ ท่านเลือกรับประทานผักผลไม้เฉพาะอย่างเพื่อความอร่อยเท่านั้น เป็นการรับประทานอาหารเจที่ยังไม่ถูกหลัก
2. เมล็ดธัญพืช นอกจากผักผลไม้ที่ต้องรับประทานให้ครบทุกสีเป็นประจำแล้ว เมล็ดธัญพืชได้แก่ ถั่ว ถั่วแปลกแข็งทุกประเภท พืชที่เป็นหัวในดิน เช่น เผือก มัน กลอย มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก โดยเฉพาะเมล็ดถั่วมีสารอาหารครบทุกหมู่ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต คือแป้งและน้ำตาล โปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่หลายชนิด คนที่กินเจควรรับประทานถั่วทั้ง 5 สีเป็นประจำ ได้แก่ ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่งเหลือง ถั่วเขียว ถั่วขาว
ถั่วทั้ง 5 สีนี้ ราคาไม่แพงมีอยู่แพร่หลาย บางทีก็ทำเป็นของหวานต่างๆ เช่น ถั่วดำบวช ถั่วแดงต้มน้ำตาล ถั่วเหลืองน้ำกะทิ (เต้าส่วน) ถั่วเขียวต้มน้ำตาลกรวด ถั่วลิสงอบ หรือเคลือบน้ำตาล ลูกเดือยบวช ถั่วขาวกวน ฯลฯ สำหรับถั่วขาวไม่ค่อยจะมีการปลูกแพร่หลายในประเทศไทย แต่ก็สามารถรับประทานถั่วลิสงซึ่งให้ประโยชน์ทดแทนกันได้
ทุกคนควรรับประทานถั่วดังกล่าวหมุนเวียนไปให้คบทุกสีจะทำให้ร่างกาย ได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ และช่วยเสริมให้อวัยวะหลักสำคัญภายในทำงานได้ดียิ่งขึ้น
เนื้อเมล็ดในของพืชผัก อันได้แก่ เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง เมล็ดแตงโม มันฮ่อ นับเป็นของขบเคี้ยวที่คนกินเจรู้จักดี เนื้อในของเมล็ดพืชดังกล่าว เป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินมากมายหลายชนิด ซึ่งทรงคุณค่าทางโภชนาการอย่างยิ่ง
ถั่วทั้ง 5 สีที่ให้คุณประโยชน์ต่ออวัยวะหลักภายใน
1. ถั่วแดง (RED BEANS) ให้คุณต่อหัวใจ
2. ถั่วดำ (BLACK BEANS) ให้คุณต่อไต
3. ถั่วเหลือง (SOY BEANS) ให้คุณต่อม้าม
4. ถั่วเขียว (GREEN BEANS) ให้คุณต่อตับ
5. ถั่วขาว (WHITE BEANS) ให้คุณต่อปอด
ธาตุทั้ง 5 สี ถั่วแต่ละสี บำรุงอวัยวะ ธาตุไฟ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุไม้ ธาตุโลหะ แดง ดำ เหลือง เขียว ขาว ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วขาว หัวใจ ไต ม้าม ตับ ปอด
3. การได้รับประทานสาหร่ายทะเลทั้งสดและแห้งพร้อมทั้งใช้เกลือทะเลมาปรุงลงในอาหาร ทั้ง 2 อย่างนี้มีไอโอดีน ซึ่งจะสามารถป้องกันโรคคอพอกได้เป็นอย่างดี
4. งาขาวและงาดำ ในอาหารและขนมคนกินเจควรใช้งาปรุงผสมด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นงาขาวหรืองาดำ เพราะในเมล็ดงามีกรดไขมันไลโนเลอิค (LINOLEIC ACID) ซึ่งจำเป็นต่อร่างกายมากแต่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้
สำหรับผู้ทำอาหารเจรับประทานเอง ให้นำงาขาวมาล้างเอาผงฝุ่นออกจนสะอาดดี ตักใส่ตะแกรงทิ้งไว้ให้หมาดแล้วใช้ไฟอ่อนๆ คั่วในกระทะจนสุกเหลืองพอเย็นจึงนำมาโขลกหรือ ปั่นให้แตกด้วยเครื่อง จะทำให้ได้ประโยชน์จากน้ำมันที่อยู่ในเมล็ดดียิ่งขึ้น งานที่บดแล้วจะมีกลิ่นหอมสามารถนำใช้ปรุงอาหาร และขนมได้ทุกประเภท ทำให้มีรสดี หอมน่ารับประทาน โดยปกติผู้ที่กินเจควรรับประทานงานในปริมาณวันละ 2 ช้อนโต๊ะ ก็นับว่าเพียงพอแก่ความต้องการของร่างกาย
5. ผู้ที่กินเจ ไม่ควรรับประทานรสจัดเกินไป เช่น เผ็ดจัด เค็มจัด ขมจัด เปรี้ยวจัด หวานจัด รสชาติที่จัดมากๆ จะส่งผลไปถึงอวัยวะหลักดังนี้
• รสขม ส่งผลต่อ หัวใจ
• รสเค็ม ส่งผลต่อ ไต
• รสหวาน ส่งผลต่อ ม้าม
• รสเปรี้ยว ส่งผลต่อ ตับ
• รสเผ็ด ส่งผลต่อ ปอด
6. หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารหมักดอง เช่น ผักดอง ผลไม้ดอง เครื่องกระป๋อง อาหารสำเร็จรูป ควรหันมารับประทานอาหารสดที่ปรุงใหม่ๆ จะให้คุณประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่า
7. เครื่องดื่ม คนกินเจควรดื่มน้ำผลไม้สดๆ ตามธรรมชาติ เช่น น้ำส้ม น้ำมะเขือเทศ น้ำสับปะรด น้ำอ้อย น้ำมะพร้าว น้ำใบบัวบก น้ำมะตูม ฯลฯ น้ำผลไม้ดังกล่าวจะทำให้ร่างกายและผิวพรรณสดชื่นเปล่งปลั่ง เราควรงดน้ำหวานที่ปรุงแต่งรสและเจือสีสังเคราะห์ เพื่อหลีกเลี่ยงพิษภัยจากสิ่งปลอมปน
นอกจากการดื่มน้ำผลไม้สดๆ แล้ว ทุกคนต้องดื่มน้ำสะอาดให้ได้วันละ 8 แก้ว เป็นประจำ
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นหลักความรู้ในการปรุงและบริโภคอาหารเจ ซึ่งคนกินเจต้องยึดถือปฏิบัติ เพื่อให้ได้มาซึ่งพลานามัยที่สุขสมบูรณ์พร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ
ขอให้ทุกท่าน มีความสุขกับการกินเจในปีนี้