Advertisement
กินเจเพื่ออะไร...ทำไมต้องกินเจ...
.
ผู้ที่กินเจอาจจะมีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกันไป แต่จุดประสงค์หลักสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทดังนี้
1.กินเพื่อสุขภาพ อาหารเจเป็นอาหารประเภทชีวจิต เมื่อกินติดต่อกันไปช่วงเวลาหนึ่งจะทำให้ร่างกายเกิดการปรับตัวให้อยู่ในสภาวะสมดุล สามารถขับพิษของเสียต่างๆ ออกจากร่างกายได้ ปรับระบบไหลเวียนโลหิต ระบบทางเดินอาหารให้มีเสถียรภาพ
2.กินด้วยจิตเมตตา เนื่องจากอาหารที่เรากินอยู่ในชีวิตประจำวัน ประกอบด้วยเลือดเนื้อของสรรพสัตว์ ผู้มีจิตเมตตา มีคุณธรรมและมีจิตสำนึกอันดีงามย่อมไม่อาจกินเลือดเนื้อของสัตว์เหล่านั้นซึ่งมีเลือดเนื้อ จิตใจและที่สำคัญมีความรักตัวกลัวตายเช่นเดียวกับคนเรา
3.กินเพื่อเว้นกรรม ผู้ที่เข้าใจอย่างลึกซึ้งย่อมตระหนักว่าการกินซึ่งอาศัยการฆ่าเพื่อเอาเลือดเนื้อผู้อื่นมาเป็นองเราเป็นการสร้างกรรม แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้ลงมือฆ่าเองก็ตาม การซื้อจากผู้อื่นก็เหมือนกับการจ้างฆ่าเพราะถ้าไม่มีคนกินก็ไม่มีคนฆ่ามาขาย กรรมที่สร้างนี้จะติดตามสนองเราในไม่ช้าทำให้สุขภาพร่างกายอายุขัยของเราสั้นลงเป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อผู้หยั่งรู้เรื่องกฎแห่งกรรมนี้จึงหยุดกินหยุดฆ่าหันมารับประทานอาหารเจ ซึ่งทำให้ร่างกายเติบโตได้เหมือนกัน โดยไม่เห็นแก่ความอร่อยช่วงเวลาสั้นๆ เพียงแค่อาหารผ่านลิ้นเท่านั้น
ประโยชน์
การกินอาหารเจ นอกจากจะเป็นการถือศีลและรักษาประเพณีแล้ว ยังให้ประโยชน์ต่อร่างกายดังนี้
1.ร่างกายสามารถขับถ่ายของเสียออกได้หมดทำให้ไม่มีสารพิษตกค้างอยู่ภายใน สารอาหารที่มีคุณค่าในพืชผักและผลไม้จะช่วยให้ระบบขับถ่ายและการย่อยเป็นปกติ
2.เมื่อรับประทานเป็นประจำโลหิตจะถูกฟอกให้สะอาดขึ้นเรื่อยๆ เซลล์ต่างๆ ของร่างกายเสื่อมสลายช้าลงทำให้อายุยืนยาวมีผิวพรรณสดชื่นผ่องใส นัยน์ตาแจ่มใสไม่พร่ามัวร่างกายแข็งแรงรู้สึกเบาสบายไม่อึดอัด มีสุขภาพพลานามัยดี
3.อวัยวะหลักสำคัญภายใน ได้แก่ หัวใจ ไต ม้าม ตับ ปอด และอวัยวะประกอบคือ ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก กระเพาะปัสสาวะ กระเพาอาหาร ถุงน้ำดี แข็งแรงทำงานได้เป็นปกติสมบูรณ์
4.ร่างกายสามารถต้านทานต่อสารพิษต่างๆ ได้แก่
(1).สารเคมี ยากำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง สารดีดีที
(2).มลภาวะและก๊าซพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ในอุตสาหกรรม ไอเสียจากเครื่องจักร เครื่องยนต์ซึ่งแพร่กระจายปะปนไปในอากาศที่เราหายใจอยู่เป็นประจำและยังพบว่ามีปะปนอยู่ในแหล่งน้ำดื่มด้วย
(3.)กัมมันตภาพรังสีที่เกิดจากการทดลองระเบิดนิวเคลียร์และในการทำ
(4.)สงคราม สารอาหารในพืชผักช่วยให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายสามารถทนต่อการทำลายจากรังสีต่างๆ
ร่างกายสามารถต้านทานต่อสารพิษต่างๆ ได้สูงกว่าคนปกติธรรมดาสารพิษที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ในบรรดาผู้ที่กินอาหารเจ อาหารพืชผักและผลไม้เป็นประจำความเจ็บไข้ได้ป่วยมักไม่มีปรากฏโดยเฉพาะโรคที่รุนแรงหรือเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดตีบ ไขมันอุดตันในเส้นเลือด โรคไต ไขข้ออักเสบ โรคเก๊าส์ โรคเบาหวานฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่เกี่ยวกับระบบขับถ่าย ย่อยอาหารและทางเดินอาหาร เช่น โรคริดสีดวงทวาร มะเร็งในกระเพาะและลำไส้ โรคกระเพาะ อาหารไม่ย่อย โรคเหล่านี้จะไม่พบเลยในกลุ่มคนผู้ที่รับประทานอาหารเจ อาหารพืชผักและผลไม้เป็นประจำ
ความหมายของ เจ
คำว่า เจ ในภาษาจีนทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมีความหมายเดียวกับคำว่า อุโบสถ ดังนั้นการกินเจก็คือการรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน เหมือนกับที่ชาวพุทธในประเทศไทยที่ถืออุโบสถศีล หรือรักษาศีล 8 โดยไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว
แต่เนื่องจากการถืออุโบสถศีลของชาวพุทธฝ่ายมหายานที่ไม่กินเนื้อสัตว์ จึงนิยมนำการไม่กินเนื้อสัตว์ไปรวมกันเข้ากับคำว่ากินเจ กลายเป็นการถือศีลกินเจ ในปัจจุบันผู้ที่รับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังคงเรียกว่ากินเจ ฉะนั้นความหมายก็คือคนกินเจมิใช่เพียงแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ยังต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์ สะอาด ทั้งกาย วาจา ใจ
แจมิได้แปลว่า อุโบสถ
ในภาษาจีนมี(กลุ่ม)คำหรือวลีที่ใช้อักษรแจ(เจ, 齋 / 斋 )เป็นตัวประกอบร่วมด้วยหลายคำ แต่คำว่าโป๊ยกวนแจไก่ (八關齋戒 ) ซึ่งเป็นศัพท์ของทางพุทธศาสนา ดูจะเป็นคำที่นิยมหยิบยกมาใช้อธิบายความหมายของอักษรแจเสมอมา
โป๊ยกวนแจไก่ (八關齋戒 ) แปลว่า ศีลบริสุทธิ์แปดประการ ซึ่งก็คือ “ศีลแปด”ที่เรารูจักกันดี
คนไทยในรุ่นปู่ย่าตายายที่เคร่งในศีลวัตรจะไปอาราธนาศีลแปดจากพระสงฆ์ในวันธรรมสวนะภายในพระอุโบสถ ศีลแปดจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ อุโบสถศีล ”
ผู้เขียนเกี่ยวกับเรื่องกินเจที่ไม่เข้าใจภาษาและที่มาของคำจึงแปลอักษรแจผิดว่า “อุโบสถ” ซึ่งคำแปลนี้ก็ฮิตติดตลาดและถูกคัดลอกไปใช้บ่อยอย่างน่ารำคาญใจ เพราะหากจะเอาตามความในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานแล้ว
อุโบสถ เป็นคำนาม หมายถึง สถานที่ที่พระสงฆ์ประชุมกันทำสังฆกรรมต่างๆ เรียกย่อว่า โบสถ์ การแปลและเข้าใจคลาดเคลื่อนดังกล่าวยังถูกใช้เป็นบรรทัดฐานในการอธิบายวัตรปฏิบัติของการกินเจผิดตามไปด้วยว่า “การกินเจต้องถือศีลข้อวิกาลโภชน์” หรือการงดกินของขบเคี้ยวหลังเที่ยงวันไปแล้ว ซึ่งเป็นศีลข้อหนึ่งในศีลแปด ทั้งๆที่โรงครัวของศาลเจ้าหรือโรงเจที่เปิดเลี้ยงผู้คนในช่วงเทศกาลกินเจล้วนแต่มีอาหารมื้อเย็นให้กับผู้เข้าไปกิน ยิ่งวันที่มีการประกอบพิธีกรรมในตอนค่ำยังมีอาหารมื้อค่ำบริการเสริมให้เป็นพิเศษด้วย ที่เป็นเช่นนั้นเพราะในช่วงเทศกาลกินเจนั้นเขาถือเพียงศีลห้าที่เป็นนิจศีล ไม่ได้ครองศีลแปดอย่างที่หลายคนเข้าใจ (เว้นแต่ผู้ตั้งจิตอธิษฐานว่าจะครองศีลแปดเป็นการส่วนตัวเท่านั้น)
ในทางอักษรศาสตร์จีน อักษรตัว “แจ” มีพัฒนาการมาจาก ตัวอักษร ฉี “ 齊 ” ซึ่งแปลว่าบริบูรณ์ , เรียบร้อย อักษรแจเกิดจากการเพิ่มเส้นตั้งและสองจุด ( 小 ) เข้าไปกลางอักษรฉี ทำให้เกิดตัว ซื ( 示 ) ซึ่งแปลว่าการสักการะ อยู่ในแก่นกลางของตัวฉี
แจ( 齋 ) จึงมีความหมายว่า การรักษาความบริสุทธิ์(ทั้งกายและใจ)เพื่อการสักการะ หรือ การปฏิบัติบูชาถวายเทพยดา
ซึ่งการอธิบายในแนวทางนี้จะสอดคล้องกับ คำว่า “ 齋醮 ” ในลัทธิเต๋า ซึ่งย่อมาจากคำว่า 供齋醮神 ที่แปลว่าการบำเพ็ญกายใจให้บริสุทธิ์เพื่อเป็นสักการะบูชาเทพยดา
ความหมายของแจในศาสนาอิสลาม
ศัพท์คำว่า ศีลแจ / 齋戒 ในภาษาจีน นอกจากใช้ในลัทธิเต๋าและศาสนาพุทธแล้ว ยังหมายถึง “ศีลอด” ที่ถือปฏิบัติในเดือนถือศีลอดของชาวจีนอิสลาม สาระของศีลก็คือการห้ามรับประทานอาหารใดๆในระหว่างเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นจวบจนลับขอบฟ้า ตลอดเดือนถือศีลอด
แจในวัฒนธรรมดั่งเดิมของจีน
ศัพท์ แจ พบในเอกสารจีนเก่าที่มีอายุกว่าสองพันปีหลายฉบับ เช่น 禮記 , 周易 , 易經 , 孟子 , 逸周書 (เอกสารที่อ้างนี้ปัจจุบันถือว่าเป็นคัมภีร์ในลัทธิหยู) เอกสารเหล่านั้นยังใช้อักษรตัวฉี(齊 )แต่เวลาอ่านออกเสียงกลับต้องอ่านออกเสียงว่า ไจ เช่น คำว่า ไจเจี๋ย / 齊潔 หรือ ไจเจี้ย / 齊戒 ซึ่งก็คือการออกเสียงแจในสำเนียงแต้จิ๋วนั่นเอง อักษรฉีในเอกสารนั้นนักอักษรศาสตร์ตีความว่าแท้จริงแล้วก็คืออักษรตัวแจหรือใช้แทนตัวแจ แจที่ว่านี้หาได้หมายถึงการงดกินของสดคาว หรือ การงดรับประทานอาหารหลังเที่ยง หากหมายถึงการชำระล้างร่างกาย สงบจิตใจ และสวมใส่เสื้อผ้าใหม่สะอาด เป็นการเตรียมกายและใจให้บริสุทธิ์เพื่อประกอบพิธีกรรมสักการะบูชา ขอพร หรือแสดงความขอบคุณต่อเทพยดาแห่งสรวงสวรรค์
แจเพื่อการจำแนกความเคร่งครัดของภิกษุฝ่ายมหายาน
ศีลของภิกษุฝ่ายมหายาน ในส่วนเกี่ยวกับการฉันของภิกษุแตกต่างจากฝ่ายเถรวาททั้งมีการจำแนกเป็นสองลักษณะตามสำนักศึกษาได้แก่
1.เหล่าที่ถือมั่นในศีลวิกาลโภชน์และฉันอาหารเจ จะไม่ฉันอาหารหลังอาทิตย์เที่ยงวัน เรียก ถี่แจ /持齋
2.เหล่าที่ถือมั่นแต่การฉันอาหารเจ เรียกถี่สู่ /持素
เจียะแจ ความหมาย
เจียะแจ (食齋 ) เป็นการออกเสียงตามสำเนียงถิ่นแต้จิ๋ว ศัพท์คำนี้ใช้และเป็นที่เข้าใจแต่ทางตอนใต้ของจีนโดยเฉพาะแถบลุ่มอารยะธรรมหลิ่งหนาน (領南)ในมณฑลกวางตุ้ง อันเป็นแหล่งอาศัยดั่งเดิมของคนแคะ แต้จิ๋ว กวางตุ้งและไหหนำ ซึ่งเป็นชาวจีนกลุ่มใหญ่ในประเทศไทย เจียะแจตรงกับคำว่า ชือซู ( 吃素 )ในภาษาจีนกลาง (สำเนียงปักกิ่ง)
เจียะ ( 食 ) ในภาษาถิ่นใต้ หากใช้ในความหมายของคำกิริยา แปลว่า กิน
แจ ( 齋 ) แปลว่า บริสุทธิ์ ( 清淨 ) ( อ้างตามปทานุกรมพุทธศาสนาฉบับ วัดฝอกวงซัน ,ไต้หวัน )
เจียะแจ หรือ ตรงกับคำไทยที่นิยมใช้กันว่า กินเจ จึงแปลว่า การกินอาหารที่บริสุทธิ์ตามความเชื่อ(ในลัทธิกินเจ) ซึ่งหมายความถึงอาหารที่ไม่คาวหรือไม่เจือปนซากผลิตภัณฑ์ของสัตว์ รวมทั้งไม่ปรุงใส่พืชผักต้องห้าม
คำว่าเจียะแจนี้ชาวจีนฮกเกี้ยนทางปักษ์ใต้แถบจังหวัดภูเก็ตเรียกต่างออกไปว่า เจียะไฉ่ (食菜) ที่แปลตามตัวอักษรได้ว่า “กินผัก” แต่มีนิยามหรือความหมายตรงกับคำว่าเจียะแจที่กล่าวข้างต้น
เทศกาลกินเจ
ประเพณีการกินเจกำหนดเอาวันตามจันทรคติ คือเริ่มต้นตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึง ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนทุกๆ ปี รวม 9 วัน 9 คืน มีจุดเริ่มต้นจากประเทศจีนมานานแล้ว โดยมีตำนานเล่าขานกันหลายตำนาน
ตำนานที่ 1
ชาวจีนกินเจเป็นการบำเพ็ญกุศลเพื่อรำลึกถึงวีรชน 9 คน ซึ่งเรียกว่า “หงี่หั่วท้วง” ซึ่งได้ต่อสู้กับชาวแมนจูอย่างกล้าหาญถึงแม้จะแพ้ก็ตาม ชาวบ้านได้พากันถือศีลกินเจนุ่งขาวห่มขาวเพราะเชื่อว่าการปฏิบัติเช่นนี้จะช่วยชำระจิตวิญญาณเกิดความเข้มแข็งทางร่างกายและจิตใจ
ตำนานที่ 2
เพื่อเป็นการประกอบพิธีกรรมเพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้าในอดีตกาล 7 พระองค์และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ รวมเป็น 9 พระองค์ด้วยกัน หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า “ดาวนพเคราะห์” ทั้ง 9 ได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหู และพระเกตุ ในพิธีกรรมบูชานี้สาธุชนในพระพุทธศาสนาสละเวลาทางโลกมาบำเพ็ญศีลงดเว้นเนื้อสัตว์และแต่งกายด้วยชุดขาว
ตำนานที่ 3
ผู้ถือศีลกินเจในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาของชาวจีนในประเทศไทย เพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้าในอดีลกาล 7 พระองค์ ดังมีในพระสูตร ปั๊กเต๊าโก๋ว ฮุดเชียวไจเอียงชั่วเมียวเกง กล่าวไว้คือ พระวิชัยโลกมนจรพุทธะ พระศรีรัตนโลกประภาโมษอิศวรพุทธะ พระเวปุลลรัตนโลกวรรณสิทธิพุทธะ พระอโศกโลกวิชัยมงคลพุทธะ พระวิสุทธิอาศรมโลกเวปุลลปรัชญาวิภาคพุทธะ พระธรรมมติธรรมสาครจรโลกมโนพุทธะ พระเวปุลลจันทรโภคไภสัชชไวฑูรย์พุทธะ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ คือพระศรีสุขโลกปัทมอรรถอลังการโพธิสัตว์และพระศรีเวปุลกสังสารโลกสุขอิศวรโพธิสัตว์ รวมเป็น 9 พระองค์(หรือ “เก้าอ๊อง”)ทรงตั้งปณิธานจักโปรดสัตว์โลก จึงได้แบ่งกายมาเป็นเทพเจ้า 9 พระองค์ด้วยกันคือ ไต้อวยเอี๊ยงเม้งทัมหลังไทแชกุน ไต้เจียกอิมเจ็งกื้อมึ้งงวนแชกุน ไต้กวนจิงหยิ้งลุกช้งเจงแชกุน ไต้ฮั่งเฮี่ยงเม้งม่งเคียกนิวแชกุน ไต้ปิ๊กตังง้วนเนี้ยบเจงกังแชกุน ไต้โพ้วปั๊กเก๊กบู๊เอียกกี่แชกุน ไต้เพียวเทียนกวนพัวกุงกวนแชกุน ไต้ตั่งเม้งงั่วคูแชกุน ฮุ้ยกวงไตเพียกแชกุน เทพเจ้าทั้ง 9 พระองค์ ทรงอำนาจตบะอันเรืองฤทธิ์บริหารธาติดิน น้ำ ลม ไฟ และทอง ทั่วทุกพิภพน้อยใหญ่สารทิศ
ตำนานที่ 4
กินเจเพื่อเป็นการบูชากษัตริย์เป๊ง “กษัตริย์เป๊ง” เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ซ้องซึ่งสิ้นพระชนม์โดยทรงทำอัตวินิบาตกรรม (การฆ่าตัวตาย) ในขณะที่เสด็จไต้หวันโดยทางเรือ เมื่อมีพระชนนมายุได้ 9 พรรษา พิธีบูชาเพื่อระลึกถึงราชวงศ์ซ้องนี้ มีแต่เฉพาะในมณฑลฮกเกี้ยนซึ่งเป็นดินแดนผืนสุดท้ายของราชวงศ์ซ้องเท่านั้น โดยชาวฮกเกี้ยนได้จัดทำพิธีดังกล่าวนี้ขึ้นด้วยการอาศัยศาสนาบังหน้าการเมือง การที่เผยแผ่มาสู่เมืองไทยได้นั้นเพราะชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพจากฮกเกี้ยนนำมาเผยแผ่อีกทอดหนึ่ง
ตำนานที่ 5
1500 ปีมาแล้ว มณฑลกังไสเป็นดินแดนที่เจริญรุ่งเรืองมาก ฮ่องเต้เมืองนี้มีพระราชโอรส 9 พระองค์ซึ่งเป็นเลิศทั้งบุ๋นและบู๊จึงทำให้หัวเมืองต่างๆ ยอมสวามิภักดิ์ ยกเว้นแคว้นก่งเลี้ยดที่มีอำนาจเข้มแข็งและมีกองกำลังทหารที่เหนือกว่า ทั้งสองแคว้นทำศึกกันมาถึงครั้งที่ 4 แคว้นก่งเลี้ยดชนะโดยการทุ่มกองกำลังทหารที่มีทั้งหมดที่มากกว่าหลายเท่าตัวโอบล้อมกองทัพพระราชโอรสทั้งเก้าไว้ทุกด้าน แต่กองทัพก่งเลี้ยดไม่สามารถบุกเข้าเมืองได้จึงถอยทัพกลับ
จนวันหนึ่งชาวกังไสเกิดความแตกสามัคคีและเอาเปรียบกัน เทพยดาทราบว่าอีกไม่นานกังไสจะเกิดภัยพิบัติจึงหาผู้อาสาช่วยแต่ชาวบ้านจะพ้นภัยได้ก็ต่อเมื่อได้สร้างผลบุญของตนเอง ดวงวิญญาณพระราชโอรสองค์โตรับอาสาและเพ่งญาณเห็นว่าควรเริ่มที่บ้านเศรษฐีใจบุญ ลีฮั้วก่าย
คืนวันหนึ่งคนรับใช้แจ้งเศรษฐีลีฮั้วก่ายว่ามีขอทานโรคเรื้อนมาขอพบเศรษฐีจึงมอบเงินจำนวนหนึ่งให้เป็นค่าเดินทาง แต่ขอทานไม่ไปและประกาศให้ชาวเมืองถือศีลกินเจเป็นเวลา 9 วัน 9 คืนผู้ใดทำตามภัยพิบัติจะหายไป เศรษฐีนำมาปฏิบัติก่อนและผู้อื่นจึงปฏิบัติตามจนมีการจัดให้มีอุปรากรเป็นมหรสพในช่วงกินเจด้วย
เล่าเอี๋ยเกิดศรัทธาประเพณีกินเจของมณฑลกังไสจึงได้ศึกษาตำราการกินเจของเศรษฐีลีฮั้วก่ายที่บันทึกไว้ แต่ได้ดัดแปลงพิธีกรรมบางอย่างให้รัดกุมยิ่งขึ้นและให้มีพิธียกอ๋องส่องเต้ (พิธีเชิญพระอิศวรมาเป็นประธานในการกินเจ)
ตำนานที่ 6
ชายขี้เมานามว่า เล่าเซ็ง เข้าใจผิดคิดว่าแม่ตนตายไปเพราะเป็นโรคขาดสารอาหาร จนคืนหนึ่งแม่ได้มาเข้าฝันบอกว่า แม่ตายไปได้รับความสุขมากเพราะแม่กินแต่อาหารเจและตอนนี้แม่อยู่บนเขาโพถ้อซัว ตั้งอยู่บนเกาะน่ำไฮ้ ในมณฑลจิ๊ดเจียงถ้าลูกอยากพบแม่ให้ไปที่นั่น
ครั้นถึงเทศกาลไหว้พระโพธิสัตว์กวนอิมที่เขาโพถ้อซัว เล่าเซ็งอยากไปแต่ไปไม่ถูกจึงตามเพื่อนบ้านที่จะไปไหว้พระโพธิสัตว์ เพื่อนบ้านเห็นเล่าเซ็งสัญญาว่าจะไม่กินเหล้าและเนื้อสัตว์จึงให้ไปด้วย ระหว่างทางเดินสวนกับคนขายเนื้อเล่าเซ็งลืมสัญญาที่ให้ไว้เพื่อนบ้านก็หนีไป โชคดีที่มีหญิงสาวคนหนึ่งเดินผ่านมาและต้องการไปไหว้พระโพธิสัตว์เล่าเซ็งจึงขอตามนางไป
เมื่อถึงเขาโพถ้อซัวขณะที่เล่าเซ็งก้มลงกราบไหว้พระโพธิสัตว์นั้น เขาเห็นแม่ลอยอยู่เหนือกระถางธูปที่คนอื่นมองไม่เห็น ขณะเดินทางกลับเขาได้แยกทางกับหญิงสาวและได้พบเด็กชายคนหนึ่งยืนร้องไห้อยู่จึงเข้าไปถามไถ่ได้ความว่าเป็นลูกของเขากับภรรยาที่เลิกกันไปนานแล้ว เขาจึงพาไปอยู่ด้วยแล้ววันหนึ่งหญิงสาวที่นำทางไปเขาโพถ้อซัวมาขออาศัยอยู่ด้วย ทั้งสามอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
หญิงสาวผู้นั้นเป็นสาวบริสุทธิ์ประพฤติตนเป็นคนดีอยู่ในศีลธรรมและถือศีลกินเจอยู่เนืองนิตย์ นางรู้ว่าใกล้ถึงวันตายของนางแล้วจึงบอกเล่าเซ็ง เมื่อถึงวันนั้นนางอาบน้ำแต่งตัวด้วยอาภรณ์ที่ขาวสะอาดแล้วนั่งสักครู่ก็สิ้นลม เล่าเซ็งเห็นการจากไปด้วยดีของนางคล้ายกับแม่จึงเกิดศรัทธายกสมบัติให้ลูกชายแล้วประพฤติตนใหม่ เมื่อตายไปจะได้บังเกิดผลเช่นเดียวกับแม่และหญิงสาวและประเพณีกินเจจึงเริ่มขึ้น
ตำนานที่ 7 การกินเจที่ภูเก็ต
มีคณะงิ้วจากเมืองจีนมาเปิดการแสดงที่กะทู้นานเป็นแรมปี แล้วบังเอิญช่วงนั้นเกิดโรคระบาดขึ้นคณะงิ้วจึงจัดให้มีพิธีกินเจและสร้างศาลเจ้าขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ หลังจากนั้นโรคภัยไข้เจ็บก็หายสิ้น ชาวกะทู้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาจึงปฏิบัติตาม และหลังจากประกอบพิธีอยู่ประมาณ 2-3 ปี ผู้ศรัทธามากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับอยากได้พิธีกินเจที่สมบูรณ์ตามแบบประเพณีมณฑลกังไส ประเทศจีน จึงได้ส่งตัวแทนไปนำควันธูป (เหี่ยวเอี้ยน) ในการเดินทางกลับจะต้องคอยจุดธูปต่อกันมิให้ดับมอด ศาลเจ้ากะทู้จึงได้ชื่อว่าเป็นต้นตำรับของพิธีกินเจในปัจจุบัน
|
คนทรงเจ้า (กินเจภูเก็ต)
เริ่มแล้วครับ ขบวนแห่ม้าทรง เทศกาลถือศีลกินผัก จังหวัดภูเก็ต
|
|
|
|
|
วันที่ 17 ต.ค. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,240 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,151 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,150 ครั้ง เปิดอ่าน 7,156 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,144 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,390 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,141 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,140 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,412 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,162 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,141 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 35,176 ครั้ง |
เปิดอ่าน 9,414 ครั้ง |
เปิดอ่าน 28,698 ครั้ง |
เปิดอ่าน 15,115 ครั้ง |
เปิดอ่าน 21,566 ครั้ง |
|
|