Active Learning
ในยุคปฏิรูปการเรียนการสอน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการปฏิรูปการศึกษาเชื่อว่าในวงการครู-อาจารย์ในทุกระดับคงจะคุ้นเคยหรือได้ยินคำว่า Active Learning กันมาก และค่อนข้างจะเป็นคำที่อยู่ในยุค ซึ่งฮิตติดตลาด (ครู) ผู้เขียนเคยค้นหาและสอบถามว่ามีคำศัพท์ใดๆ ในภาษาไทยที่จะใช้เรียกแทนคำนี้ได้บ้างหรือไม่ ซึ่งราชบัณฑิตท่านหนึ่งก็บอกแก่ผู้เขียนว่า ถ้าจะให้ใช้ตรงตัวเลยก็ต้องใช้ว่า "การเรียนรู้แบบกัมมันต" เพราะคำว่า Active แปลเป็นไทยคือ กัมมันต ผู้เขียนคิดว่าน่าจะทำให้ครู-อาจารย์ทั้งหลายต้องฉงนกันต่ออีกกระมังว่า แล้วเจ้ากัมมันตนี้แปลว่าอย่างไรอีก ฉะนั้นจึงขอทับศัพท์ว่า Active Learning หรือใช้คำย่อว่า AL ในการเขียนต่อไปนี้
ก่อนอื่น ขอให้นิยามหรือคำจำกัดความเกี่ยวกับ AL ดังนี้ ผู้เขียนเห็นด้วยกับนิยามที่ว่า AL นั้น "เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความหมาย โดยการร่วมมือระหว่างผู้เรียนด้วยกัน ในการนี้ ครูต้องลดบทบาทในการสอนและการให้ข้อความรู้แก่ผู้เรียนโดยตรงลง แต่ไปเพิ่มกระบวนการและกิจกรรมที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นในการจะทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น และอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยการพูด การเขียน การอภิปรายกับเพื่อนๆ" ซึ่งโดยหลักการนี้ก็จะไปสอดคล้องกับหลักการใหญ่ที่ว่า ถ้าเราให้ผู้เรียนรู้จากการอ่านอย่างเดียวผู้เรียนก็จะเรียนรู้ได้เพียง 20% ถ้าจากการฟังก็จะเพิ่มเป็น 30% แต่ถ้าได้มีโอกาสได้พบเห็นก็จะเพิ่มเป็น 40% ถ้าจากการพูดก็จะเป็น 50% และได้ลงมือปฏิบัติเองก็จะถึง 60% และถ้าได้เรียนรู้จากกิจกรรมหลายๆ อย่างที่หลากหลายก็จะเพิ่มโอกาสที่จะเรียนรู้ถึง 90% ดังตารางข้างล่าง
ในกรณีที่เป็นเด็กโตหรือในระดับอุดมศึกษา AL จะกินความไปถึงความรับผิดชอบต่อการเรียนของนักศึกษาด้วย นั่นคือการที่ต้องพัฒนาลักษณะนิสัยทั้งด้านจิตใจและร่างกายให้มีความมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมายทางการศึกษาของตนเองด้วย โดยสร้างนิสัยใน การไปเข้าชั้นเรียนอย่างสม่ำเสมอ ทำการบ้านที่ผู้สอนมอบหมายให้อย่างดี และเมื่อทราบผลสำเร็จของ "การบ้าน" ก็พร้อมที่จะปรับปรุงและแก้ไขทำให้ดีขึ้นในโอกาสต่อไป กรณีความรับผิดชอบในการเข้าชั้นเรียน เด็กยิ่งเล็กเท่าไหร่ ปัญหาน่าจะมีน้อยลง คือมีน้อยกว่าเด็กโตที่อาจจะหลบเลี่ยงไม่เข้าเรียนได้มากกว่า ปัญหาที่จะมองควบคู่กันไปก็คือ ถ้ามุ่งหวังให้ผู้เรียนมีสภาพการเรียนรู้ที่ Active สภาพการสอนของครูก็จะต้อง Active ด้วย นั่นคือจะเกิด Active Learning ได้ก็ต้องมี Active Teaching ดังนั้น ทั้งผู้เรียนและผู้สอนก็คงต้อง "เตรียมตัว" ทั้งสองฝ่ายจึงจะเกิดสภาพที่ Active ขึ้นมาได้
การเตรียมตัวด้านผู้เรียน
นอกจากจะต้องพาตัวเองหรือบังคับตัวเองให้ไปเข้าชั้นเรียนแล้ว สิ่งที่จะก่อให้เกิดบรรยากาศของ AL ได้ ผู้เรียนก็จะต้องเตรียมตัวในเรื่องต่อไปนี้ คือ
- อ่านบทเรียนและหรือทำการบ้านที่ได้รับมอบหมายมาล่วงหน้า
- ทบทวนสิ่งที่ได้เรียนไปแล้ว
- เตรียมใจที่จะเรียนอย่างสนใจ
- เตรียมกายให้พร้อมที่จะเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ
ขณะเรียน สิ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดบรรยากาศ AL ได้นั้น ผู้เรียนจะต้องไม่ออกไปนอกห้องบ่อย พยายามนั่งแถวหน้า ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับเด็กโตๆ ที่มีโอกาสได้เลือกที่นั่งเอง และมักจะไม่เลือกนั่งแถวหน้า นอกจากนี้ ต้องพยายามเป็นผู้ฟังที่ Active คือ ตื่นตัวตลอดเวลาว่าใครพูดอะไร ไม่ว่าจะเป็นครูหรือเพื่อนร่วมชั้น และต้องมีส่วนร่วมในการสนองตอบต่อการพูดคุยนั้น และสุดท้ายต้องจดบันทึกสม่ำเสมอ
บทบาทของครู
ทีนี้มาดูบทบาทครูบ้างว่าต้องเตรียมทำตัวอย่างไร และดำเนินการอย่างไรจึงจะทำให้เกิดบรรยากาศของ AL ได้ ซึ่งจากการวิเคราะห์พฤติกรรมของครูที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นครูแห่งชาติจะพบองค์ประกอบของความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนอยู่เสมือนๆ กัน หรือคล้ายๆ กัน คือ
- การเตรียมตัวให้พร้อมที่จะสอน หรือ ศึกษาขอบเขตและกรอบในการทำงาน
- ศึกษาฝ่ายผู้เรียน วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง
- จัดระบบการเรียนการสอน ซึ่งจะเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมมากที่สุด
- รวบรวมทรัพยากรและผลิตขึ้นเพิ่มเติม โดยเฉพาะสื่อต่างๆ
- ดำเนินการพัฒนาผู้เรียนและพัฒนางาน
- ประเมินผล-สรุปผลและนำมาปรับปรุง
ในระบบการเรียนการสอนนั้นการที่จะให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมมากที่สุดได้นั้น กรณีที่เป็นเด็กโตหรือระดับนักศึกษาแล้ว ผู้สอนจะต้องพยายามสร้างนิสัยการเรียนรู้แบบ AL ให้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอด้วย โดยจะต้องให้ผู้เรียนได้รู้ตัวว่าในขณะนั้นผู้เรียนจะต้อง
- รู้ว่าตัวเองจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับอะไรบ้าง
- สิ่งที่จะเรียนรู้นั้นไปเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เรียนไปแล้วอย่างไร
- สิ่งที่เรียนนั้นมันสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับความเป็นไปของโลกปัจจุบันอย่างไร
- ทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าข้อเท็จจริงหรือข้อความรู้ที่ได้รับรู้ไปนั้นถูกต้องแน่นอน
- กลับไปตรวจสอบ "การบ้าน" หรือสิ่งที่ค้นคว้าอยู่ใหม่ว่าเราได้คำตอบที่ถูกต้องไหมหรือทำถูกต้องกับคำถามไหน
- สามารถสอบถามความรู้เพิ่มเติมจากผู้อื่น หรือไปทำงานร่วมกับผู้อื่นเพื่อให้ได้คำตอบมาก่อนที่จะสรุปคำตอบสุดท้าย โดยต้องฟังหรือหาคำตอบให้ได้มาอย่างสมบูรณ์ก่อนที่จะสรุปนำเสนอ
กิจกรรมที่จะให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วม อันนำไปสู่ความกระตือรือร้นหรือตื่นตัวที่จะเรียนรู้นั้นที่จริงก็ไม่ใช่ของใหม่ในวงการจัดการเรียนการสอนของไทย เพียงแต่ว่าเท่าที่ผ่านมาผู้สอนไม่ค่อยได้เอามาใช้กัน หรือใช้ก็น้อยมาก อาจเป็นเพราะต้องใช้เวลาในการเตรียมการและการติดตามผล
จึงอาจทำให้ผู้สอนรู้สึกว่าเป็นการลำบากและหรือยุ่งยาก เช่น การให้ทำโครงการ การฝึกปฏิบัติ การทดลอง การค้นคว้าอภิปราย การแสดงบทบาทสมมติ การอ่าน การเขียน เกม ฯลฯ แต่กิจกรรมระหว่างเด็กเล็กกับเด็กโตอาจต่างกันในรายละเอียดเพราะวุฒิภาวะต่างกัน เช่น สำหรับเด็กเล็กการฝึกให้รู้จักค้นคว้าและนำมาอภิปราย พูดคุยกันนั้น ก็ควรจะอยู่ในการกำกับดูแลและหรือการให้คำแนะนำช่วยเหลือจากผู้สอน แทนที่จะปล่อยให้ศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองเหมือนเด็กที่โตแล้ว อย่างไรก็ดีมีข้อที่น่าสังเกตประการหนึ่งก็คือ ในขั้นตอนที่จะให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองให้มากที่สุดนั้นตัวกิจกรรมหลักระหว่างการเรียนการสอนในชั้นเรียนในประเทศไทยกับต่างประเทศ โดยเฉพาะทางตะวันตก อาจแตกต่างกันเป็นอย่างมาก ในด้านกิจกรรมการค้นคว้าในห้องสมุด นักเรียนไทยจะไม่คุ้นเคยกับการไปค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองจากการอ่านมากนัก การทำรายงานเพื่อส่งครูก็จะทำไปอย่างนั้น โดยไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร ถ้าจะถามว่าทำไม เหตุผลน่าจะเป็นเพราะพฤติกรรมฝ่ายผู้สอนด้วยว่าให้ความสำคัญกับการรายงานมากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่อาจเห็นว่าง่ายดี สั่งการบ้านเป็นการให้ทำรายงาน แต่ไม่เคยสนใจที่จะตรวจหรืออ่านแล้วชี้แจงให้ผู้เรียนได้ทราบว่า สิ่งที่เขาไปค้นคว้ามานั้นมันดีมากน้อยเพียงใด ครอบคลุมที่ต้องการไหม ตอบข้อคำถามได้ชัดเจนหรือเปล่า ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่เห็นเด็กไทยเรียนรู้จากการอ่านหรือค้นคว้าสักเท่าใดนัก โดยเฉพาะในยุคที่มุ่งเรียนเพื่อให้จบเท่านั้น
และในบางครั้งผู้สอนก็อาจเข้าใจผิดว่า การที่จะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างกระตือรือร้นจึงต้องมีส่วนร่วมมากๆ โดยแบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่มย่อยให้มากที่สุด ซึ่งการที่นักเรียนถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยๆ เพียงกลุ่มย่อยๆ เพียงกลุ่มละ 2-3 คน แล้วก็นั่งเรียนอยู่ด้วยกันก็ดี หรือทำงานที่ได้รับมอบหมายด้วยกันทั้งหมดก็ดี ไม่ใช่การเรียนรู้ในลักษณะของ Active Learning การที่จะตัดสินว่าเป็น AL ได้ก็ต่อเมื่อไม่ว่าจะมีการแบ่งกลุ่มย่อยหรือไม่ก็ตาม จะต้องมีลักษณะดังนี้เกิดขึ้น
- มีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน
- มีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้เรียนด้วยกัน
- บรรลุสำเร็จทางด้านวิชาการ
- เกิดทักษะทางด้านการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน
- มีการพัฒนาทักษะกระบวนการคิดไปสู่ในระดับที่สูงขึ้น
- เกิดเจตคติที่ดีต่อวิชาที่เรียนและเกิดแรงจูงใจต่อการเรียนรู้
ได้มีผู้แนะนำว่า การฝึกการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนด้วยกันอย่างง่ายที่สุด คือ การให้ผู้เรียนได้จับคู่กันทำกิจกรรมด้วยกัน อาจเริ่มต้นจากจับคู่กันอ่านในเรื่องเดียวกัน แล้วผลัดกันตั้งคำถาม-และตอบ หรือให้ไปเตรียมตัวอ่านมาล่วงหน้า เตรียมคำถามมา แล้วจึงค่อยมาจับคู่กันถามตอบ แต่ไม่ว่าจะใช้เทคนิคใดๆ ก็ตาม จะต้องไม่ใช้ซ้ำซาก เพราะจะเกิดความเบื่อหน่ายและการจับคู่ผู้เรียนก็ควรสับเปลี่ยนคู่บ่ายๆ และควรเลือกคู่ประเภทนั่งหน้ากับหลังมากกว่าให้จับคู่ที่นั่งชิดกัน (เพื่อนสนิทมักจะนั่งชิดกัน) และเหนือสิ่งอื่นใด การวางแผนจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิด AL นั้นจะต้องถือว่ากิจกรรมนั้นเพื่อวัตถุประสงค์ใด จัดเพื่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างใครกับใคร ต้องใช้เวลามากน้องเพียงใด เราต้องการเพียงกิจกรรมการพูดคุยเพื่อค้นหาคำตอบแค่นั้น หรือมีกิจกรรมอย่างอื่นที่จะต้องทำต่อเนื่องด้วย ทั้งนี้เพื่อการจัดเวลาที่เหมาะสม ตลอดจนมีเวลาเพื่อสรุปและประเมินผลกิจกรรมต่างๆ ด้วย
อนึ่ง ในการศึกษาและทำความเข้าใจเพื่อนำกระบวนการ Active Learning ไปใช้เพื่อการเรียนการสอนนั้น เราจะพบว่ามีคำศัพท์ หลายๆ คำที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น Cooperative Learning, Child Centre, Collaborative Learning ฯลฯ ซึ่งแต่ละคำจะมีความเกี่ยวข้องกันและมีส่วนหนึ่งที่เหมือนกัน แต่ถ้าศึกษาในรายละเอียดแล้วจะพบว่าไม่เหมือนกัน ซึ่งถ้ามีโอกาสจะเขียนเล่าถึงกระบวนการที่แตกต่างกันมาให้อ่านกันใหม่
สำหรับบทสรุปของ Active Learning นั้น ก็น่าจะเป็นว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่จะทำให้เกิดสภาพของ Active Learning ได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด ผู้ที่จะก่อให้เกิดสภาพนี้ได้คือ ครูผู้สอนที่จะต้องมีสภาพของ Active Teaching ก่อน และไม่ว่าเราจะใช้คำศัพท์ใดๆ หรือใช้นิยามหรือคำจำกัดความใดๆ ที่จะกว้างหรือแคบก็ตามสิ่งที่เราในฐานะครูผู้สอน ซึ่งต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนนั้น จะต้องคำนึงถึงก็คือทำอย่างไรจึงจะให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ที่พึงประสงค์ และครบถ้วนถามที่สังคมยุคปฏิรูปการศึกษาได้มุ่งหวังไว้ ไม่ใช่สอนเพื่อเด็กเรียนรู้เพียงเพื่อจำเอามาตอบเราได้เท่านั้น
"การฝึกการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนด้วยกัน
อย่างง่ายที่สุด คือ การให้ผู้เรียนได้จับคู่กันทำ
กิจกรรมด้วยกัน อาจเริ่มต้นจากจับคู่กันอ่าน
ในเรื่องเดียวกัน แล้วผลัดกันตั้งคำถาม-และตอบ"
"ครูต้องลดบทบาทในการสอนและการให้ข้อความรู้
แก่ผู้เรียนโดยตรงลง แต่ไปเพิ่มกระบวนการและ
กิจกรรมที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้น
ในการจะทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น
และอย่างหลากหลาย"
ที่มาข้อมูล : วารสารวิชาการ ปีที่ 6 ฉบับที่ 9 กันยายน 2546
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมวิชาการ
ที่มาเว็บ : https://www.myfirstbrain.com