วันนี้มีสาระความรู้เรื่อง ไข่ผำ (อย่าตกใจล่ะ ออกเสียงให้ถูก ถ้าออกเสียงผิด ตัวใครตัวมันนะคะ) มานำเสนอสมาชิกครูบ้านนอก เพราะหลายคนอาจยังไม่รู้จักและไม่เคยลิ้มลองรสชาติ
“ผำ” หรือเรียกว่า ไข่แหน (Fresh water Alga, Swamp Algae) รู้กันกันในชื่อ ไข่น้ำ, ไข่ขำ และ ผำ มีชื่อพื้นเมืองทางภาคเหนือเรียกว่า ผำ ทางภาคกลางเรียกว่า ไข่น้ำ ส่วนทางภาคอีสานเรียกว่า ไข่ผำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า วอลฟ์เฟีย กลอโบซ่า (Wolffia globosa Hartog & Plas.) จัดอยู่ในวงศ์ เล็มนาซีอี้ (LEMNACEAE)
“ผำ” หรือไข่แหน จัดเป็นชื่อของพืชชนิดหนึ่งที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ อาจลอยอยู่เป็นกลุ่มล้วนๆหรือลอยปนกับพืชชนิดอื่นๆ เช่น แหน, แหนแดง ก็ได้ ไข่แหนเป็นพืชมีดอกที่มีขนาดเล็กที่สุดไข่แหนกระจายอยู่ในประเทศต่างๆในทวีปยุโรป ในทวีปแอฟริกากลางและใต้ ในเกาะมาดากัสการ์และในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะบริเวณเขตศูนย์สูตรใต้ และตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังพบในประเทศบราซิล ประเทศอินโดนีเซีย และ ประเทศออสเตรเลีย ด้วย
ลักษณะทางพฤษศาสตร์ ผำเป็นพืชน้ำ คล้ายตะไคร่น้ำ รูปร่างเป็นเม็ดกลมเล็กๆ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.1-0.2 มม. มีสีเขียวลอยอยู่บริเวณผิวน้ำเป็นแพ มักเกิดในธรรมชาติที่น้ำใส นิ่ง เช่น บึง หนองน้ำ เป็นต้น
สาหร่าย ผำ Swamp algae
“ผำ” เป็นพืชน้ำคล้ายแหนต้นเล็กๆบางครั้งเรียก "ไข่แหน" เป็นเม็ดกลมสีเขียว ลอยเป็นแพอยู่ผิวน้ำ พบตามธรรมชาติที่น้ำใสนิ่ง เช่น บึง หนองน้ำ ผำจะพบมากในฤดูฝน ทางภรคเหนือ ภาคอีสานและภาคกลาง จะพบวางขายกันมากมาย นำไปทำอาหารได้หลายอย่าง ผำ เป็นพืชดอกที่มีต้นเล็กที่สุด หรือเป็นผักที่ต้นเล็กที่สุด
|
สาหร่ายน้ำจืด เทา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า สไปโรจีร่า : Spirogyra sp.
Fresh water algae จัดอยู่ในวงศ์ไซนีมาทาซีอี้ : Zygnemataceae |
เทา หรือ เตา เป็นสาหร่ายน้ำจืด พบมากที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก ในแหล่งน้ำนิ่ง สะอาด ใส รูปร่างเป็นเส้นยาวคล้ายผม ไม่มีกิ่งก้าน จะพบมากในช่วงหน้าฝน ชาวบ้านจะนำมาขายโดยม้วนเป็นก้อนกลมๆ เทา ส่วนมากนำมากินเป็นผักสด ผักลวกกับน้ำพริก หรือเอามายำ แกงส้ม
การขยายพันธุ์ของผำ มี 2 แบบ ได้แก่
1. การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ เนื่องจากไข่แหนเป็นพืชมีดอกขนาดเล็กที่สุด ดอกของไข่แหนจะเจริญเติบโตออกทางช่องข้างบนของต้น ดอกไม่มีกลีบดอก และไม่มีกลีบเลี้ยง ดอกตัวผู้จะมีเกสรตัวผู้ 1 อัน ประกอบด้วยอับละอองเรณู 2 อับ ดอกตัวมีรังไข่ที่มี 1 ช่องและมีไข่อยู่ 1 ใบ ก้านเกสรตัวเมียสั้น ยอดเกสรตัวเมียมีลักษณะแบน เมล็ดมีขนาดเล็ก กลมเกลี้ยง ยังไม่ปรากฏว่ามีไข่แหนมีดอกในประเทศไทย มีแต่รายงานการพบเห็นในประเทศอื่น ไข่แหนจะมีดอกและเมล็ดในราวๆเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม
2. การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ โดยการแตกหน่อ ซึ่งมีผู้ทำการศึกษาการเจริญเติบโตแล้วพบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ไข่แหนแต่ละต้นจะแตกหน่อให้ต้นใหม่ทุกๆ 5 วัน
ผำมีรสมัน ผำ 100 กรัม ให้พลังงาน ต่อร่างกาย 8 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วยเส้นใย 0.3 กรัม แคลาเซียม 59 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 25 มิลลิกรัม เหล็ก 6.6 มิลลิกรัม วิตามินเอ 5346 IU วิตามินบีหนึ่ง 0.03 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.09 มิลลิกรัม ไนอาซิน 0.4 มิลลิกรัม วิตามินซี 11 มิลลิกรัม
ประโยชน์ของผำ
ด้านการศึกษา เนื่องจากผำหรือไข่แหนเป็นต้นไม้ขนาดเล็ก มีการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว สามารถนำมาปลูกเลี้ยงไว้ในพื้นที่ที่มีขนาดเล็กได้ จึงเหมาะแก่การทำมาใช้เป็นอุปกรณ์ในการศึกษา เช่น การศึกษาอิทธิพลของสารที่ควบคุมการขยายพันธุ์ของพืช
ด้านโภชนาการ ผำหรือไข่แหน เป็นอาหารของสัตว์น้ำและสัตว์ปีกหลายชนิด นอกจากนี้ ไข่แหนยังมีแคลเซียมและเบต้าแคโรทีนสูงมาก คนในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ยังได้นำผำหรือไข่แหนมาประกอบเป็นอาหารอีกด้วย ผำหรือไข่แหนมีสารพิษต้านฤทธิ์สารอาหาร จึงต้องนำผำหรือไข่แหนมาทำให้สุกก่อนรับประทาน นะคะ
ครั้งต่อไปจะนำอาหาร ไข่ผำ มานำเสนอค่ะ.....
ขอบคุณ บทความวิทยุ โดยคุณดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ หัวหน้างานฝึกอบรม คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รายการ “สาระความรู้ทางการเกษตร” สถานีวิทยุมอ.FM 88 MHz