|
อย่างที่ทราบกันว่ากระดูกพรุนก็คือ อาการของภาวะเนื้อกระดูกโปร่งบาง ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง และมีโอกาสกระดูกหักได้ง่าย ดังนั้นคุณเสี่ยงกับการเป็นโรคกระดูกพรุนได้ ถ้าคุณ...
|
1. เป็นผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน สาเหตุสำคัญเชื่อว่าเกิดจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน
2. เป็นสิงห์อมควันหรือเป็นขี้เมา ดื่มเหล้าอยู่เป็นประจำ
3. ชอบกินเนื้อสัตว์มากเกินไป ก็จะทำให้เกิดภาวะเป็นกรดในเลือด ร่างกายจึงต้องดึงแคลเซียมออกจากกระดูกไปใช้มากขึ้น
4. กินอาหารรสเค็มจัด ไม่ค่อยกินอาหารที่มีแคลเซียม
5. กินยาบางชนิดเป็นประจำ เช่น พวกไทรอยด์ฮอร์โมน ยาสเตียรอยด์ ยากันชักบางชนิด ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของอะลูมิเนียม หรือยาขับปัสสาวะ ซึ่งมักใช้ในโรคความดันโลหิตสูง
6. ออกจากบ้านแต่เช้ามืดกลับบ้านเอาตอนค่ำๆ อยู่แต่ในอาคารไม่มีโอกาสได้รับแสงแดดตอนเช้าๆ หรือตอนเย็นเลยก็ขาดโอกาสที่จะรับวิตามินดีฟรีๆ ไปเสริมสร้างกระดูกอีก
7. ขาดการออกกำลังกาย ที่มีการแบกรับน้ำหนัก เช่น ยกน้ำหนัก วิ่ง หรือเดิน
8. ผอม เพราะคนผอมจะไม่มีไขมันที่สามารถเปลี่ยนเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนได้อย่างคนอ้วน
9. เป็นโรคบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคขาดวิตามินดี โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น
หากคุณมีปัจจัยเสี่ยงข้างต้นหรือไม่ก็ตาม เราอยากแนะนำให้คุณได้สะสมแคลเซียมไว้ตั้งแต่วันนี้ด้วยการกินให้ถูกวิธีกับ 4 อาหารที่อุดมแคลเซียม เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนค่ะ
- งา อาจจะไม่ได้โด่งดังเท่ากับนม แต่งาอบมีแคลเซียมสูงกว่านมถึง 10 เท่า และสูงกว่าพืชผักทั่วไปถึง 40 เท่า เพราะงาอบมีทั้งแคลเซียม โปรตีน เหล็ก ไอโอดีน และฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่สำคัญในการสร้างกระดูก
- เต้าหู้ มีทั้งโปรตีนและแคลเซียมสูงแล้วยังดูดซึมทางลำไส้ได้ดี
- อาหารทะเล เช่น ปลาทูนึ่ง ปลาแห้งตัวเล็กๆ หอยแครง หอยขม กุ้งแห้ง กุ้งฝอย ปูม้า ปลาซาร์ดีนกระป๋อง จะมีแคลเซียมราว 50 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม
- ผักใบเขียว หลายชนิดที่มีแคลเซียมไม่น้อยกว่า 50 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม เช่น ผักบุ้งจีน ใบกะเพราขาว ยอดแค ยอดกระถิน ผักกระเฉด ใบยอ ตำลึง ส่วนใบชะพลู ผักโขมน้อย มะเขือพวง ก็มีแคลเซียมอยู่มากเช่นกัน
นอกจากจะต้องได้รับแคลเซียมมากเพียงพอแล้ว อย่าลืมออกกำลังกายเป็นประจำ เริ่มง่ายๆ ด้วยการเดิน ขี่จักรยาน กระโดดเชือก หรือเต้นแอโรบิก เพื่อสร้างเสริมกระดูกควบคู่กันด้วยนะคะ
ขอบคุณที่มา เลดี้ทิป
|