เมื่อคุณก้าวเข้าสู่ช่วงวัยของการทำงาน คุณคงใฝ่ฝันที่จะทำงานให้ประสบผลสำเร็จ….โดยแสดงความตั้งใจและมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบการทำงานของตนเองเสมอ ความพยายามในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา…..ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยภายในที่คุณสามารถควบคุมได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากภายในของคุณเอง….แต่มีบางปัจจัยที่ไม่สามารถทำให้คุณทำงานได้สำเร็จตามที่ปรารถนา….จนทำให้คุณรู้สึกเบื่อและท้อแท้กับชีวิตของการทำงาน….จนอาจทำให้คุณมีความคิดที่จะไม่อยากพัฒนาตนเอง หรือบางคนถึงขนาดจะต้องลาออกไป……นั่นก็คือปัญหา "การเมืองในองค์กร"
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับคำว่า การเมืองในองค์กร ก่อนนะคะ…..การเมืองในองค์กรเป็นสถานการณ์ของการแข่งขัน ความขัดแย้งและการชิงดีชิงเด่นกันในแง่ของผลประโยชน์ และความคิด….ทั้งนี้ดิฉันขอแบ่งระดับของการเมืองในองค์กรเป็น 3 ระดับ ได้แก่
ระดับบุคคล : คุณเคยเจอหรือไม่ว่าเวลาคุณทำงานกับใคร คุณรู้สึกไม่ถูกชะตากับคนที่คุณทำงานด้วย….นั่นอาจเป็นเพราะบุคลิกลักษณะหรือความคิดที่ไม่ตรงกัน…..ดิฉันขอเรียกว่าเป็นการเมืองที่เกิดขึ้นในองค์กรระดับย่อย….ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อระดับกลุ่มและหน่วยงาน….
ระดับกลุ่ม : กลุ่มคนเกิดจากคนหลายๆ คนที่มีความคิดหรือมีบุคลิกลักษณะคล้ายกันมารวมกัน…ดังนั้นเมื่อมีคนที่อยู่ในกลุ่มรู้สึกไม่ถูกชะตากับใคร…ย่อมอาจโน้มน้าวและชักจูงให้คนอื่น ๆ ในกลุ่มมีความรู้สึกตามไปด้วย…โดยเฉพาะผู้นำกลุ่มซึ่งสามารถมีอิทธิพลในการโน้มน้าวความคิดของสมาชิกในกลุ่มได้…..
ระดับหน่วยงาน : การเมืองในระดับนี้จะเกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่ไม่ตรงกัน หรือขัดกัน….โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นจากผู้บริหารของแต่ละหน่วยงาน…..เพราะผู้บริหารเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผลตอบแทนที่ได้รับจากการทำงานให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร….ทั้งนี้การเมืองในระดับหน่วยงานย่อมมีผลทำให้เกิดการเมืองในระดับกลุ่มหรือตัวบุคคลได้…..เพราะผู้บริหารของหน่วยงานจะเป็นบุคคลสำคัญในการเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมการทำงานของสมาชิกในทีม….
คุณหาคำตอบได้หรือยังว่า…การเมืองในองค์กรมีทุกที่…จริงหรือไม่…คำตอบของดิฉันคือ…การเมืองย่อมเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ องค์กร แต่ระดับของการเมืองอาจจะมีมากหรือน้อยแตกต่างกัน…..ที่ใดมีการเมืองในองค์กร….ที่นั่นย่อมมีปัญหาหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นเช่นกัน ซึ่งดิฉันได้สรุปผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนี้
- การไม่ประสานงานและร่วมมือกันในการทำงาน : จะเห็นได้จากการให้ข้อมูลที่ผิดพลาด ล่าช้า หรือให้ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง…รวมทั้งการไม่ช่วยเหลือหรือสนับสนุนการทำงานต่าง ๆ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นและเป็นปัญหาของการเมืองในระดับของบุคคล ดิฉันขอยกตัวอย่างของเลขาหวงนาย…ซึ่งคุณต้องติดต่อประสานงานด้วย….แต่เนื่องจากไม่ถูกชะตาหรือเหตุผลอะไรก็แล้วแต่….เค้าอาจจะไม่ให้ความช่วยเหลือหรือให้ข้อมูลอะไรกับคุณเลย…
- ผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานไม่บรรลุเป้าหมาย : การไม่ให้ความร่วมมือกันในการทำงานไม่ว่าจะเป็นระหว่างสมาชิกในทีมหรือนอกทีม ย่อมมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงาน…และมีผลต่อกำไรที่เกิดขึ้นกับองค์กร…..เนื่องจากความต้องการในผลประโยชน์ต่าง ๆ ของคนที่อยู่ในองค์กร ซึ่งอาจทำให้เกิดคนบางประเภทที่คอยเอาอกเอาใจ ไม่ชอบทำงาน เอาแต่ประจบ หัวหน้าไปวัน ๆ เพราะกลัวว่าเก้าอี้ (ตำแหน่ง) ของตนจะหายไป…..โดยไม่สนใจในการพัฒนาปรับปรุงระบบงาน…..ซึ่งดิฉันเชื่อแน่ว่าถ้าหากมีคนประเภทนี้อยู่มากในองค์กร ย่อมจะมีผลทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานและผลกำไรขององค์กรลดลง และในที่สุดย่อมมีผลต่อเนื่องกับการจ่ายค่าตอบแทนให้กับพนักงานไม่ว่าจะเป็นในรูปของเงินเดือน หรือโบนัสที่ลดลง
จากผลของการเมืองที่เกิดขึ้น….ดิฉันอยากให้คุณเตรียมพร้อมเสมอ….เพราะเชื่อว่าคุณคงไม่สามารถควบคุมหัวหน้าหรือคนอื่น ๆ ให้คิดหรือกระทำในสิ่งที่คุณต้องการได้ เพราะนั่นเป็นปัจจัยภายนอกที่คุณไม่สามารถควบคุมได้…แต่สิ่งที่คุณสามารถควบคุมได้ นั่นก็คือ ตัวเราเอง….ดังนั้นดิฉันขอแนะเคล็ดลับง่าย ๆ เมื่อคุณต้องอยู่ในองค์กรที่เผชิญกับปัญหาทางการเมืองในทุกระดับ ดังนี้
- หลักปฏิบัติของ "ความฉลาดทางอารมณ์ : Emotional Quotient (EQ)" : การเข้าใจและยอมรับกับสภาพปัญหา การควบคุมอารมณ์และความรู้สึกของตนเอง และการนำหลักพรหมวิหารสี่มาประยุกต์ในการทำงานเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาทางการเมือง ได้แก่ ความเมตตา : ความเข้าใจในสาเหตุของพฤติกรรมและความคิดของผู้อื่น …ความกรุณา : มีน้ำใจและความช่วยเหลือสนับสนุน การประสานงานกับผู้อื่นด้วยดี …มุทิตา : มีความยินดีกับสมาชิกในและนอกทีมเสมอเมื่อประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และสุดท้าย อุเบกขา …ความมีใจเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยไม่ควรแบ่งพรรคแบ่งพวก….ควรคิดว่าเราทุกคนอยู่ในบ้าน (องค์กร) เดียวกัน…..เราควรสร้างบ้านให้แข็งแรง…เพื่อว่าคนที่อยู่ในบ้านทุกคนจะได้มีความสุขร่วมกัน……
- เรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ : คุณควรมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะ และความสามารถในการทำงานของตนอยู่ตลอดเวลา …..โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบงานของตนให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล การพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องจะเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับตัวคุณเองเสมอ…… เพราะไม่มีใครรู้ว่าสักวันหนึ่งคุณอาจเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับ ผลจากปัญหาการเมืองในองค์กร…ซึ่งอาจทำให้คุณต้องออกจากงาน…และเมื่อถึงเวลานั้น….คุณไม่ต้องกลัวเลยว่า คุณจะต้องตกงาน…. …(มีความสามารถอยู่กับตัว จะกลัวอะไร….จริงไหมคะ?)
มาถึงตรงนี้….ดิฉันไม่อยากให้ทุกท่านหนีปัญหาเมื่อเผชิญกับการเมืองในองค์กรโดยวิธีการลาออก….การอยู่ในองค์กรใหม่ใช่ว่าจะหนีปัญหาการเมืองได้ ดีไม่ดีอาจเข้าทำนองว่า "หนีเสือ ปะจระเข้" …..ดังนั้นดิฉันอยากให้ทุก ๆ ท่านเผชิญกับปัญหาการเมืองด้วยความมั่นใจ… การคิดไตร่ตรองให้รอบคอบ และหาทางแก้ไขปัญหาด้วยการมีสติ คิดและพิจารณาก่อน….ลองเผชิญปัญหาการเมืองในองค์กรด้วยสติ…..แล้วคุณจะพบว่าคุณสามารถฟันฝ่ากับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไปด้วยดี
|