สมัยหนึ่งการเคี้ยวหมากของคนไทยรุ่นย่ารุ่นยายกลายเป็นเรื่องน่ารังเกียจไป เพราะถือว่าการที่จะพัฒนาประเทศให้ทันสมัยเทียบกับอารยชนชาติตะวันตกได้นั้น ประชาชนคนไทยต้องกระทำตนให้ทันสมัยตามไปด้วย และสิ่งหนึ่งก็คือ ต้องไม่กินหมากแต่อารยชนชาติตะวันตกก็เคี้ยวหมากเหมือนกัน เพียงแต่เป็นหมากคนละชนิดกัน
ฝรั่งถือว่าการเคี้ยวหมาก (ฝรั่ง) เป็นการออกกำลังกล้ามเนื้อกราม ช่วยลดการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบนใบหน้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการผ่อนคลายร่างกาย เพราะบ้านเมืองเขาเป็นเมืองหนาวร่างกายส่วนอื่น ๆ ยังหาอะไรให้ความอบอุ่นได้ แต่บริเวณใบหน้านี่ต้องทนเอา
หมากฝรั่งเป็นที่นิยมในหมู่ทหารอเมริกันมาก พวกเขาบริโภคหมากฝรั่งเป็น ๕ เท่าของอัตราเฉลี่ยของคนอื่น นอกจากนี้การเคี้ยวหมากฝรั่งก็ยังมีที่มาจากทหารด้วย
ทหารผู้นั้นมียศเป็น นายพลชื่อ อันโตนิโอ โลเปซ เอก ซานตาอันนา แห่งกองทัพเม็กซิโก เมื่อเข้ามาอยู่ในอเมริกาเขานำยางของต้นไม้จากป่าในเม็กซิโกมาด้วย ยางชนิดนี้รู้จักกันในหมู่พวกอาซเท็กว่า ชิคลิ (Chicli) นายพลซานตา อันนา ชอบเคี้ยวยางไม้ไร้รสนี้มาก ต่อมาโทมัส อดัมส์ นักถ่ายภาพและนักประดิษฐ์ก็ได้รู้จักยางไม้นี้จากนายพลชานตา และได้สั่งเข้ามาเป็นจำนวนมาก โทมัสพยายามเปลี่ยนยางไม้ให้เป็นยางเทียม แต่ก็ล้มเหลวเสียหลายครั้ง เมื่อหวนคิดว่าหลานของเขาและนายพลชานตาชอบเคี้ยวยางไม้นี้จึงเกิดความคิดที่จะเปิดตลาดด้านนี้แทน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ
หมากฝรั่งยุคแรก ๆ ของโทมัส อดัมส์ ทำเป็นเม็ดกลมเล็ก ๆ ยังไม่มีรสชาติ วางขายในร้านขายยาแห่งหนึ่งในเมืองโฮโบเค็นรัฐนิวเจอร์ซี่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๗๑ โดยขายราคาเม็ดละ ๑ เพนนี ต่อมาจึงได้ดัดแปลงทำเป็นรูปแผ่นสี่เหลี่ยมแบน ๆ
บุคคลแรกที่เติมรสชาติให้หมากฝรั่งคือ เภสัชกรจากหลุยส์วิล รัฐเคนตักกี้ ชื่อ จอห์น คอลแกน ในราวปี ค.ศ. ๑๘๗๕ เขาไม่ได้เติมรสแบบลูกอมรสเชอร์รี่ รสเปปเปอร์มินต์ หรืออื่น ๆ อย่างในสมัยนี้ รสชาติที่เขาเติมให้หมากฝรั่งคือตัวยาทางการแพทย์ เป็นขี้ผึ้งหอมทูโล ทำจากยางไม้ต้นทูโลในอเมริกาใต้ รสชาติคล้ายกับยาแก้ไอน้ำเชื่อมของเด็กในยุคเมื่อร้อยกว่าปีก่อน คอลแกนเรียกหมากฝรั่งของเขาว่า แทฟฟี-ทูโล เป็นหมากฝรั่งที่ประสบความสำเร็จกว่าหมากฝรั่งอื่น ๆ ที่เติมรสชาติแล้วในสมัยนั้น
ต่อมาโทมัส อดัมส์ ใช้รสชะเอมเติมในหมากฝรั่ง เรียกชื่อสินค้าของเขาว่า แบลคแจค ซึ่งเป็นหมากฝรั่งเติมรสที่เก่าแก่ที่สุดที่มีขายอยู่ในท้องตลาด (ของอเมริกา) ส่วนรสเปปเปอร์มินต์ซึ่งเป็นรสยอดนิยมเริ่มมีในปี ค.ศ. ๑๘๘๐
หมากฝรั่งที่วางขายอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่ยางไม้ที่ทำเลียนแบบทอฟฟี่อย่างหมากฝรั่งของนายพลซานตา แต่เป็นยางสังเคราะห์นุ่ม ๆ ซึ่งโดยตัวมันเองแล้วไม่มีรส ไม่มีกลิ่น ชื่อก็ไม่ชวนกิน แต่คนอเมริกันก็เคี้ยวเจ้ายางสังเคราะห์นี้กันถึงปีละ ๑๐ ล้านปอนด์
สำหรับหมากฝรั่งที่ใช้เป่าเป็นลูกโป่งได้ ผู้คิดค้นคือ สองพี่น้อง แฟรงค์ และ เฮนรี ฟลีเออร์ แต่คุณภาพของหมากฝรั่งที่แฟรงค์ผลิตให้เป่าได้ในตอนนั้นยังมีปัญหา คือไม่ยืดหยุ่นพอลูกโป่งยังไม่ทันโตก็แตก และเมื่อแตกแล้วจะติดแก้มติดจมูก จนปีค.ศ. ๑๙๒๘ แฟรงค์ก็สามารถผลิตหมากฝรั่งที่เป่าเป็นลูกโป่งได้ขนาดโตเป็น ๒ เท่าของที่ทำได้ในช่วงแรก ๆ
หมากฝรั่งไม่ได้แพร่หลายเฉพาะแต่ในอเมริกาเท่านั้น ในหมู่ชาวเอสกิโมก็เคี้ยวหมากของฝรั่งแทน 'หมาก' จากไขปลาวาฬ ซึ่งใช้เคี้ยวมานานหลายศตวรรษ โดย จี.ไอ. สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นผู้นำไปเผยแพร่... ผลงานของทหารอีกนั่นแหละ
“ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี”
ขอบคุณที่มาจาก สนุกดอทคอม