สถานศึกษาที่พร้อมรับประเมินภายนอกจะพิจารณาจาก
มีระบบการประกันคุณภาพภายใน ซึ่งประกอบด้วย ระบบการพัฒนาคุณภาพ โดยเริ่มตั้งแต่การกำหนดมาตรฐานของสถานศึกษาที่ควรจะเป็น ซึ่งควรเป็น 14++ กล่าวคือ มาตรฐานการศึกษาสำหรับประเมินภายนอกจำนวน 14 มาตรฐาน ซึ่งคณะรัฐมนตรีมติอนุมัติโดยถือว่าเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่สถานศึกษาทุกแห่งพึงมีมาตรฐานดังกล่าว
บวก (+) ที่หนึ่งเป็นการเพิ่มมาตรฐานตามความต้องการของต้นสังกัดและบวก (+) ที่สอง เป็นมาตรฐานความต้องการของชุมชนและสถานศึกษา จึงกำหนดวิถีการพัฒนาสถานศึกษาสู่มาตรฐานที่กำหนด และจัดระบบการส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานตามวิถีทางที่กำหนดต่อไปกล่าวคือมีระบบการตรวจติดตามคุณภาพเพื่อแนะนำให้ดำเนินการตามแผนที่กำหนด และมีระบบประเมินคุณภาพภายใน ตามเจตนารมณ์ของการประกันคุณภาพการศึกษา จะเห็นว่าการประกันคุณภาพภายในเป็นหน้าที่ของสถานศึกษาร่วมกับชุมชนโดยการสนับสนุนส่งเสริมจากต้นสังกัด จะเห็นได้ว่าบทบาทของต้นสังกัดในการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา เปลี่ยนแปลงจากบทบาท " การควบคุมสั่งการ" เป็น"การสนับสนุนส่งเสริม"
สถานศึกษาจัดทำรายงานการประเมินตนเองในแต่ละปีการศึกษา กล่าวคือ เป็นการจัดทำรายงานประจำปีในรูปของรายงานการประเมินตนเอง ซึ่งประกอบด้วยการแนะนำสถานศึกษาอย่างลุ่มลึกทั้งในด้านความมุ่งมั่น หลักการ ภาคี ระบบ และโครงสร้างการบริหารของสถานศึกษาแผนระยะยาวและแผนระยะสั้น การรายงานกิจการของสถานศึกษาในรอบปี ผลประเมินประสิทธิผลของสถานศึกษา โดยเทียบกับมาตรฐานการศึกษาที่กำหนด ข้อเสนอแนะในการดำเนินงานของสถานศึกษาในปีการศึกษาต่อไปตลอดจนภาคผนวกเกี่ยวกับหลักฐาน สถิติ เอกสารสำคัญที่ใช้ในการประเมินตนเองของสถานศึกษา
สถานศึกษาใดที่มีการดำเนินการประกันคุณภาพภายในและมีการประเมินตนเองในรอบปีและจัดทำเป็นรายงานประจำปี ก็ถือได้ว่าสถานศึกษาแห่งนี้มีความพร้อมรับประเมินคุณภาพภายนอกแล้ว
การประกันคุณภาพภายในที่ดีจะต้องมีคุณลักษณะ ดังนี้
เป็น "ระบบ" ซึ่งมีทั้งปัจจัยนำเข้า กระบวนการและผลลัพธ์ที่คาดหลังมีทั้งระบบการพัฒนาคุณภาพระบบการตรวจติดตามคุณภาพและระบบการประเมินตนเอง
เป็นระบบที่สถานศึกษาพัฒนาขึ้นโดยดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนจากต้นสังกัด มิใช่การควบคุมสั่งการจากต้นสังกัด
ระบบประกันคุณภาพภายในต้องผสมผสานกับงานบริหารปกติ กล่าวคือ บูรณาการเชื่อมโยงกับการปฏิรูปการเรียนรู้ การสอน การพัฒนาบุคลากรและการบริหารฐานโรงเรียน ( SBM)
การประกันคุณภาพภายในเป็นเรื่องของทุกคนทั้งในสถานศึกษาและชุมชนภายใต้การนำและมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพของ "ผู้บริหาร" เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง
ทำงานทุกภารกิจอย่างครบวงจรทั้งระดับบุคคลและหน่วยงานมีการวางแผน ดำเนินการประเมิน และปรับปรุงงานอย่างสม่ำเสมอ
การทำงานของทุกคนในสถานศึกษาไม่ว่าการบริหารจัดการ การสอนและการเรียนรู้มุ่งสู่ผลประโยชน์ที่จะเกิดแก่ผู้เรียนเป็นคนดี คนเก่งมีความสุขสนุกกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต
การดำเนินการประกันคุณภาพภายในที่ควบวงจร คือเมื่อถึงปีการศึกษาจะต้องมีการประเมินตนเอง เพื่อรวมสรุปยอดแล้วจัดทำเป็นรายงานประจำปี รายงานให้หน่วยงานต้นสังกัด หน่ายงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณะทราบ
ผลประเมินจะนำไปสู่การปรับปรุงการบริหาร การเรียนรู้และการสอนโดยถือเป็นหน้าที่ของผู้บริหารต้องกำกับดูแลให้มีการประเมินคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
ศาสตราจารย์สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ (ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา)
ที่มาข้อมูล : ที่มา : จุลสาร สมศ. สำนักงานรับรองมาตรฐาน และประเมินคุณภาพการศึกษา ฉบับที่ 12 ประจำเดือน กรกฎาคม 2545
รายงานปฏิรูปการศึกษาไทย ปีที่4 ฉบับที่ 49 วันที่ 15 มกราคม 2545
สารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา ฉบับที่ 42 ประจำเดือนพฤษภาคม 2545 ที่มาเว็บ : https://www.myfirstbrain.com/