อักษรขอมบรรจง
อักษรมอญ
ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ไทยเข้ามามีอำนาจ ครอบครองดินแดนทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนพม่า เมื่อได้ตั้งมั่นอยู่ในดินแดนลุ่มแม่น้ำอริวดีแล้ว ก็ได้แผ่อิทธิพล เข้าครอบครองดินแดนทางตอนเหนือของสุวรรณภูมิ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖ และได้พยายามแผ่อิทธิพล เข้ามาในดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ถูกไทยยับยั้งไว้ แต่อิทธิพลของพม่า ได้ครอบคลุมไปถึงล้านนาไทยและไทยใหญ่ ทำให้ชาวไทยหลายเผ่า ได้รับเอาตัวหนังสือของพม่า ไปดัดแปลงใช้
จะเห็นว่าตัวหนังสือของไทยใหญ่ และกลุ่มคนไทยทางภาคเหนือหลายเผ่า มีลักษณะคล้ายตัวหนังสือมอญ และพม่า
อักษรพม่า
ชาวไทยที่อยู่นอกราชอาณาจักรไทยหลายเผ่า ต่างได้ดัดแปลงสร้างตัวหนังสือไทยขึ้น ใช้เขียนภาษาของตน ซึ่งภาษาไทยเท่านั้น เป็นสิ่งสำคัญที่เชื่อมโยงให้รู้ว่า กลุ่มคนเหล่านี้เป็นคน ที่มีเชื้อสายไทยด้วยกัน ถ้าจะแบ่งเผ่าไทย ที่อยู่นอกราชอาณาจักรไทย อาจจะแบ่งได้เป็นกลุ่มต่าง ๆ ได้ ๔ กลุ่มด้วยกันคือ
๑. กลุ่มไทยน้อย ที่อยู่ในล้านนาไทย สิบสองปันนา ซึ่งอยู่ทางเหนือของไทย ได้แก่ ไทยลื้อ ไทยเขิน ไทยยอง เป็นต้น
๒. กลุ่มไทย ที่อยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอินโดจีน บริเวณอ่าวตังเกี๋ย พวกที่อยู่ในล้านช้าง หัวพันทั้งห้าทั้งหก ได้แก่ ลาว ไทยดำ ไทยขาว และอื่น ๆ
๓. กลุ่มไทยใหญ่ ที่อยู่ในแคว้นฉาน ทางภาคเหนือของพม่า มีเมืองเชียงรุ้ง เมืองเชียงตุง เป็นต้น และพวกที่อพยพ เข้าไปในแคว้นอัสสัมของอินเดีย ได้แก่ ไทยอาหม ไทยขำตี่ และพวกอื่น ๆ
๔. กลุ่มไทย ที่ยังคงอยู่ในดินแดนตอนใต้ และตะวันตกของจีน ได้แก่ พวกไทยโท้ ไทยนุง ไทยทุงเจีย และอื่น ๆ
ตัวหนังสือของกลุ่มพวกไทยน้อย
พวกล้านนาไทย และสิบสองปันนา อยู่ใต้อิทธิพลของพม่า รูปแบบตัวหนังสือของพวกไทยกลุ่มนี้ จึงมีลักษณะใกล้เคียงกับตัวอักษรมอญ การเรียงคำควบกล้ำ ก็ใช้ตัวพยัญชนะเรียงซ้อนกันทางด้านตั้ง คือตัวหนึ่งอยู่บนอีกตัวหนึ่ง ลักษณะแบบเดียวกับอักษรมอญ และอักษรขอม แต่ก็ได้รับอิทธิพล ของตัวหนังสือไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชไปด้วย จึงมีรูปตัวหนังสือบางตัว มีรูปแบบผสมผสาน ระหว่างอักษรมอญ กับอักษรไทยสมัยสุโขทัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ตัวอักษรไทยลื้อและไทยลานนา ได้รับเอาวรรณยุกต์ เอก โท ของไทยไปด้วย
ตัวหนังสือไทยน้อยในแคว้นสิบสองปันนาหรือตัวหนังสือไทยลื้อ
พวกไทยน้อย อยู่ในดินแดนทางเหนือ ห่างไกลจากกัมพูชา ไม่ได้ถูกอิทธิพลของขอมครอบงำ ภาษาจึงไม่มีคำเขมรแทรกเข้ามาแม้แต่คำเดียว และตัวหนังสือที่ใช้ ก็เป็นเชื้อตัวหนังสือไทยเดิม ตัวหนังสือได้แบบมาจากมอญโบราณ ซึ่งมักเขียนเป็นตัวกลม โดยมิได้แปลงผ่านมาจากอักษรพม่า ตัวหนังสือไทยน้อยนี้ ได้เป็นต้นแบบของหนังสือธรรม ในภาคพายัพและภาคอิสานของไทย อักษรและสระของไทยลื้อ มีดังนี้
พยัญชนะมีพยัญชนะ ๒๗ ตัว คือ ก ข ค ง จ ช ญ ฏ ฑ ณ ต ถ ท ธ น บ ป ผ พ ฟ ม ย ร ล ว ส ห
สระ มีอยู่ ๑๖ รูป ด้วยกันคือ ะ ๆ ิ ี ึ ื ุ ู เ แ โ อ เ ือ ำ ไ เ า
ตัวหนังสือไทยล้านนา
กลุ่มคนไทยในดินแดนล้านนาไทย ได้แก่ เมืองเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และบริเวณทางเหนือขึ้นไป เป็นกลุ่มคนไทยที่ตั้งเป็นบ้านเมือง มีพระมหากษัตริย์ปกครองเป็นปึกแผ่นอยู่แล้ว ก่อนที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ทรงตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี และสร้างราชอาณาจักรสุโขทัยขึ้น ไทยล้านนา จึงมีประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของตนเองโดยเฉพาะ มีศิลาจารึกหลายแผ่น ที่พบทางแคว้นล้านนา และมีคัมภีร์ที่จารลงบนใบลาน เป็นจำนวนมาก แสดงว่าไทยล้านนา ได้สร้างตัวอักษรไทยล้านนาขึ้น และได้ใช้อยู่ก่อนลายสือไท ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แต่ภายหลัง เมื่อมีลายสือไทขึ้นแล้ว ไทยล้านนาก็รับเอาลายสือไทเข้าไปใช้ด้วย แต่วิธีเขียน ยังคงอาศัยแบบอักษรมอญ
พยัญชนะตัวหนังสือล้านนา
มีอยู่ ๔๓ ตัว ด้วยกัน คือ ก ข ค ต ฆ ง จ ฉ ช ซ ฌ ญ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ต ถ ท ด ธ น บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ศ ษ ส ห ฬ
อ ฮ ยิ
สระลอย
มีอยู่ ๘ ตัว คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ
สระจม
มีอยู่ ๒๘ ตัว คือ ะ า ิ ี ึ ื ุ ู เ-ะ เ- แ-ะ แ- โ-ะ โ เ-าะ -อ เ-อะ เ-อ เ-ียะ เ-ีย เ-ือะ เ-ือ -ัวะ -ัว -ำ ไ- ไย เ-า
ที่มา หอมรดกไทย