คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการวางแผนล่วงหน้าให้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นแผนระยะยาวหรือแผนประจำวัน เป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อให้เราสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างราบรื่นและได้ทำอะไรๆ
อย่างที่อยากทำ เช่น ถ้าเราไม่วางแผนก่อนออกจากบ้านในแต่ละวัน เราอาจจะไม่ได้ใช้เวลาที่มีให้คุ้มค่าเพราะไปเสียเวลารถติดอยู่บนถนน หรืออาจจะไม่สามารถทำภารกิจที่จำเป็นครบได้ทุกสิ่ง เป็นต้น
เรื่องการเงินก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราไม่ได้โชคดีเกิดมาบนกองเงินกองทองที่สามารถใช้เงินมากเท่าที่เราอยากจะใช้ การวางแผนการเงินก็ย่อยเป็นเรื่องจำเป็น ที่จะช่วยให้เราทราบถึงรายรับ-รายจ่าย รวมไปถึงจำนวนเงินที่ให้เราได้มีใช้ในแต่ละวัน แต่ละเหตุผล และสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข แต่หลายๆ คนพอพูดถึงการวางแผนการเงินอาจจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องตัวเลขที่ยาก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สามารถทำได้ง่ายๆ เพียง 5 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้
1) รู้จักสุขภาพทางการเงินของตนเอง เหมือนตรวจสุขภาพร่างกายประจำปี ที่จะทำให้รู้สภาพร่างกายและสิ่งที่ควรระวัง การตรวจสอบว่าปัจจุบันเรามีทรัพย์สินสุทธิอยู่เท่าไร (ทรัพย์สินหักออกด้วยหนี้สิน - ทั้งนี้ ทรัพย์สินรวมทั้งเงินสด และอื่นๆ เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ ทองคำ ฯลฯ ในมูลค่าเงินสด) รวมไปถึงทราบถึงรายรับ-รายจ่ายในแต่ละเดือนโดยการทำบัญชีรับ-จ่าย
2) ตั้งเป้าหมายทางการเงิน ที่ควรแบ่งเป็นระยะสั้น กลาง และยาว เช่น ระยะสั้นหมายถึงในแต่ละเดือนมีรายการอะไรที่จำเป็นต้องใช้บ้าง ระยะกลางอาจหมายถึงการผ่อนรถยนต์หรือเก็บเงินศึกษาต่อ ระยะยาวหมายถึงการผ่อนบ้าน หรือการออมเงินเพื่อใช้ยามเกษียณ
3) เปรียบเทียบสุขภาพทางการเงินกับเป้าหมาย ว่าทำได้จริงและสมเหตุสมผลหรือไม่ ประเด็นคือ คนเรามักจะรู้สึกว่าเงินไม่พอใช้เนื่องจากตั้งเป้าหมายทางการเงินไม่เหมาะสมกับทรัพย์สินสุทธิและระดับรายรับ-รายจ่ายของตน หากจำเป็นควรปรับเป้าหมายทางการเงินให้เหมาะสม หรืออาจหาแนวทางในการเพิ่มรายรับ/ลดรายจ่ายด้วยวิธีอื่นๆ
4) วางแผนการออมเพื่อให้มีเงินตามเป้าหมาย หลักการสำคัญคือ “ออมก่อนใช้” ที่จำเป็นต้องหักเงินมาออมก่อนที่จะนำเงินไปใช้หรือไปชำระหนี้ การออมอย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้จะปริมาณน้อย ก็ยังเป็นการสร้างวินัยให้ตนเอง และสามารถทำให้เราบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้
5) ลงมือปฏิบัติจริงตามแผนที่วางไว้ พร้อมทบทวนแผนเป็นระยะและปรับเป้าหมายหากจำเป็น การวางแผนทางการเงินควรยืดหยุ่นให้เหมาะสมกับสุขภาพทางการเงินหรือเป้าหมายทางการเงินของเรา ที่อาจเปลี่ยนไปได้ตามสภาพแวดล้อมในแต่ละช่วงเวลา
|