ในสังคมที่ต้องแข่งขัน "การเปรียบเทียบ" ถือเป็นเรื่องปกติที่จะต้องเกิด ใครก็ตามที่มีความดีและความเด่นอยู่ในตัวเอง คงไม่ต้องเกรงกลัวการเปรียบเทียบนี้ เพราะเปรียบเทียบเมื่อไหร่ ยังไงก็ "เข้าตา"
ทว่า หลายคนก็ติดกับสำนวน "ดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย" ทำให้หลายต่อหลายครั้งต้องเก็บซ่อนความโดดเด่นของตนเอาไว้ จึงส่งผลให้เสียโอกาสดีๆ ในชีวิต แต่ในทางบุคลิกภาพแล้ว ทั้งดีและเด่นเป็นสิ่งที่เราแสดงออกได้ และช่วยให้เราเข้าถึงโอกาสดีๆ ที่ควรจะได้รับ
มีศิลปะของการดีและเด่นที่ไม่เป็นภัยค่ะ
1.ดีแต่ไม่อวดดี
การมีดีไม่ได้แปลว่าเราต้อง "อวดดี" แต่ขอให้ดีตามธรรมชาติ เช่น ทำงานดี มีความรับผิดชอบที่ดี พูดจาดี คิดดี มองโลกในแง่ดี ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชีวิตประจำวัน เป็นเนื้อนาบุญเดียวกัน โดยไม่ต้องนำมาอวด หรือแสดงทำให้เป็นที่สะดุดตาสะดุดใจคนอื่น ต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่เราเป็นจริงๆ กับสิ่งที่เราแสร้งเป็น หรือพยายามแสดงออกว่าเราเป็น อย่างไรเสีย คนอื่นเขาก็ดูออกและรู้สึกได้ เพราะของไม่แท้ อย่างไรก็ต้องหลุดความไม่แท้ออกมา ฉะนั้น เมื่อมีความดีใดๆ อยู่ในตัวเอง ก็ขอให้มันเปล่งประกายความดีนั้นออกมาตามธรรมชาติ ออกมาจากความเป็นจริง และความจริงใจ ไม่ต้องไปปิดกั้นมันเพราะความกลัวหรือความกังวลหรอกนะคะ ความดีอย่างนี้ไม่น่าหมั่นไส้ เป็นความดีที่ไม่เป็นภัย และจะเป็นเครื่องคุ้มครองตัวเราเองด้วย
แต่ถึงกระนั้น ก็ให้เผื่อใจเอาไว้สักเล็กน้อยว่า โลกนี้จะหาคนที่ไม่ริษยา ไม่ง่ายเลย อย่างไรเสีย ก็ต้องมีบ้าง คนที่ไม่ชอบใจ ไม่พึงพอใจ หรือไม่เข้าใจในความดีตามธรรมชาติของเรา เขาก็ย่อมอิจฉา ริษยา จนถึงขั้นไม่ชอบหน้า ไม่คบ ชิงชัง หรือกลั่นแกล้ง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานการหล่อหลอมจากครอบครัวและสังคมที่เขาข้องเกี่ยว อย่างนี้ก็ควรจะเดินกันคนละทาง ปล่อยวาง ให้เขาอยู่ในโลกของเขา อย่าไปต่อความยาวสาวความยืด และที่สำคัญ อย่าไปเก็บมาเป็นสาระ คนทั่วไปเขาแยกแยะได้ค่ะ ว่าใครเป็นอย่างไร
2.เด่นโดยไม่อวดเด่น
เราสร้างความโดดเด่นให้แก่ตนเองได้ โดยมีหลักการใหญ่ข้อเดียวที่ต้องตระหนัก คือ "กาลเทศะ" ยกตัวอย่างเรื่องที่เขาเล่าๆ กันมา นั่นคือเรื่องของสุนทรภู่ ที่ภายหลังชีวิตราชการตกอับ เพราะในอดีตเคยแก้กลอนของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ต่อหน้าพระที่นั่ง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าที่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ท่านก็ได้ส่งกลอนทั้งหมดไปให้ตรวจแก้ก่อนแล้ว ในฐานะเป็นอาจารย์หรือที่ปรึกษา ถึงเวลากลับมาแก้ในที่ประชุม ซึ่งทำให้เกิดการเสียหน้าหรืออย่างน้อยๆ ก็เสียความรู้สึก อย่างนี้เองค่ะ ที่ทำให้ความเด่นนั้นเป็นภัย
การแสดงความโดดเด่นจึงต้องดูกาลเทศะประกอบ ว่าเวลานั้นควรจะแสดงมากน้อยแค่ไหน บทบาท โอกาส ฐานะหน้าที่ เปิดทางให้แสดงฝีมือแล้วหรือไม่ ไม่เช่นนั้นจะเป็นเช่นที่คนทั่วไปเรียกว่า "ขโมยซีน"
ในสังคมที่ไม่รู้จักมักคุ้น ไม่ต้องอยู่ด้วยกันในชีวิตประจำวัน พบกันเพียงชั่วประเดี๋ยวประด๋าวคงไม่เป็นอะไรมาก แต่ในสังคมที่ต้องเจอกันทุกวัน และอยู่ด้วยกันเช่นนั้นไปอีกแรมเดือนแรมปี เช่น บ้าน ที่ทำงาน หรือในองค์กรใดองค์กรหนึ่ง การจะเด่นโดยลำพัง โดยไม่นึกถึงหน้าตาหรือความรู้สึกของคนอื่นๆ นั้น นับเป็นความเด่นที่เป็นภัยค่ะ
ต้องไม่ลืมว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ถือเรื่อง "หน้าตา" เป็นสำคัญ ซึ่งในที่นี้ไม่ขอวิจารณ์ว่าดีหรือไม่อย่างไร แต่ฝากไว้ให้เป็นข้อควรระวังหรือเป็นเงื่อนไขที่เราจะต้องเข้าใจ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน อยู่กับใคร การทำความเข้าใจโอกาสและข้อจำกัดเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ดังนั้น หากเรารู้กาลเทศะ รู้ว่าใครชอบให้เราแสดงความสามารถหรือไม่ชอบ เราก็จะได้แสดงออกได้ถูกต้อง คือ ถูกที่ถูกทางและถูกจังหวะด้วย
นอกจากนี้แล้ว "ความพอดี" ก็เป็นเรื่องสำคัญ บางทีการแสดงออกที่โดดเด่นหรือความรู้ความสามารถที่โดดเด่นมันปิดกั้นกันไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะแสดงออกไปในระดับที่ "ไม่มากเกินไป" ก็ได้ จริงไหมคะ คือสื่อสารความเป็นตัวเราหรือความคิด ความสามารถของเราออกไปในระดับที่พอดีๆ ประเมินแล้วว่าเป็นระดับที่คนปกติเขายอมรับได้ เช่น แต่งตัวให้พอดีๆ กับกาลเทศะ แม้เราจะเป็นคนรูปร่างดี มีอก มีเอว ก็ใช่ว่าจะเปิดเนินอกแสดงออกให้คนทั่วไปได้เห็นว่าเนินอกของเราสวยผุดผาดบาดตาอย่างไรเสมอไป บางวาระ บางโอกาส ก็สมควรแต่งตัวมิดชิด เพื่อให้เกียรติแก่สถานที่ หรือบุคคลสำคัญที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในสถานที่นั้นๆ รวมถึงการเป็นเยี่ยงอย่างต่อเด็กและเยาวชนด้วย
ฉะนั้น โดยสรุป ไม่ว่าดีหรือเด่น เราก็จะไม่เป็นภัยเลย หาก
ความดีนั้นเป็นความดีที่แท้จริง
ความดีนั้น มิได้มีเจตนาจะข่มหรือแข่ง
ความดีนั้น ดีทั้งแก่ตนเองและดีต่อผู้อื่น
ความเด่นนั้น มีกาลเทศะ
ความเด่นนั้น มีความพอดีๆ
ความเด่นนั้น มีคุณ ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น หรือต่อองค์กร
ความดีและความเด่นมิได้มีไว้อวดอ้างหรือแข่งขัน แต่เป็นคุณลักษณะและคุณสมบัติเฉพาะตัวคน ที่สามารถสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นได้อย่างหลากหลาย ทั้งต่อตนเองและต่อส่วนรวม
ดิฉันยังเห็นด้วยว่า ทุกๆ สังคมควรจะส่งเสริมให้ทรัพยากรบุคคลในสังคมของตนเองมีความดีและความเด่น เพื่อจะเป็นต้นทุนในการพัฒนาและแข่งขันกับสังคมอื่นๆ อย่าเลือกอยู่แบบสังคม "ไม่มีอะไร" เพราะจะทำให้เราต้องตกอยู่ในสภาพของ "ผู้ซื้อ" หรือ "ผู้บริโภค" เช่น ซื้อเอกลักษณ์ ซื้อสินค้า ซื้อแฟชั่น ซื้อสมอง ฯลฯ จากสังคมอื่นอยู่ร่ำไป
สังคมที่มีคนดีและเด่น ไม่ใช่สังคมที่มีโทษภัย หากรู้จักดีและรู้จักเด่นดังที่ได้กล่าวมา ทั้งจะเป็นสังคมที่มีต้นทุนด้านทรัพยากรมนุษย์สูง ส่งผลให้พัฒนาง่ายและก้าวหน้าได้เร็ว หยุดกลัวคำว่า "ดีและเด่นจะเป็นภัย" ทำความเข้าใจกับคำกล่าวนี้เสียใหม่ แล้วมาพัฒนาความดีกับความเด่นด้วยกันนะคะ
ที่มา http://www.posttoday.com/