ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ข่าวการศึกษา     ความรู้ทั่วไป     งานราชการ/รัฐวิสาหกิจ/บริการสังคมสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม  ▶ ข่าว/บทความ ▶ หน้าแรก

พระพิฆเนศ


สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เปิดอ่าน : 28,762 ครั้ง
Advertisement

พระพิฆเนศ

Advertisement

พระวิฆเนศวร (พิฆเณศ, พิฆเนศวร, พระคเณศ, คณปติ)
เทพแห่งศิลป์ ปัญญา และความรู้

บทบาทความสำคัญของพระพิฆเนศ คนไทยคุ้นเคยกับบรรดาเทพเจ้าทั้งหลายมาช้านาน แต่ในบรรดาเทพเจ้าทั้งหมด คนไทยรู้จักพระพิฆเนศวรมากที่สุดเพราะท่านเป็นมหาเทพที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคนไทยมากที่สุดจนกล่าวได้ว่าคนไทยยอมรับในองค์พระพิฆเนศวรเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นตราประจำกรมกองต่าง ๆ มากมาย พระพิฆเนศวรเป็นเทพแห่งปราชญ์และความรอบรู้ต่าง ๆ เป็นเทพแห่งขจัดอุปสรรคความขัดข้อง ดังนั้นหากผู้ใดเป็นผู้รู้และต้องการประสบความสำเร็จต่อกิจการทั้งปวงมักจะบูชาพระพิฆเนศวรก่อน ในอินเดียเองก็มีแนวความเชื่อในเรื่องพระพิฆเนศวรในทุกลัทธิศาสนาไม่ว่าลัทธิที่ถือองค์พระศิวะเป็นใหญ่ นับถือพระพรหมเป็นใหญ่หรือพระนารายณ์เป็นใหญ่ ทุกลัทธิล้วนให้ความสำคัญต่อพระพิฆเนศวรทั้งสิ้น ด้วยทุกตำราได้กล่าวถึงที่มาของพระพิฆเนศวรไว้สูง สำคัญและฤทธิ์มากมีความเฉลียวฉลาดมีคุณธรรม คอยช่วยเหลือปกป้องปราบปรามสิ่งชั่วร้ายและเป็นยอดกตัญญูแม้พระพิฆเนศวรจะเป็นเทพที่มีความเก่งกาจสามารถยิ่ง แต่ก็เป็นเทพที่สงบนิ่งไม่เย่อหยิ่งทรนงอันเป็นคุณสมบัติอันประเสริฐอีกประการหนึ่งของผู้ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง จึงกล่าวได้ว่า พระพิฆเนศวรเป็นมหาเทพที่ดีพร้อมครบถ้วนด้วยความดีงามสมควรแก่การยกย่องบูชาเป็นนิจ แม้แต่องค์พระศิวะมหาเทพผู้สร้างและพระบิดาแห่งองค์พระพิฆเนศวรยังกล่าวว่า ไม่ว่าจะกระทำการสิ่งใดหรือทำพิธีบูชาใด ให้ทำการบูชาพระพิฆเนศวร ก่อนกระทำการทั้งปวง “ผู้ใด ต้องการความสำเร็จ ให้บูชาพระพิฆเนศวร” “ผู้ใด ต้องการพ้นจากความขัดข้องทั้งปวง ให้บูชาพระพิฆเนศวร”



--------------------------------------------------------------------------------

ฐานะและสถานภาพของพระพิฆเนศ

เนื่องจากพระคเณศเป็นเทพที่มีสถานภาพแห่งความเป็นสากล ศาสนิกชนและผู้คนทั่ว ๆไปต่างเคารพนับถือพระองค์ว่าเป็นเทพที่สำคัญ อันจะอำนวยพรประสิทธิ์ประสาทผลในด้านต่างๆแทบจะทุกด้าน และผู้เลื่อมใสพระองค์ก็มีตั้งแต่ชนชั้นล่างสุดจนถึงชนชั้นปกครอง ทุกสาขาอาชีพ ไม่มีขีดจำกัดหรือกฎเกณฑ์ ห้ามเหมือนอย่างมหาเทพหรือพระมหาเทวีบางพระองค์ จึงพอจะสรุปถึงฐานะของพระคเณศในด้านต่าง ๆ ได้ดังนี้ ๑. พระคเณศในฐานะเทพขจัดอุปสรรค ในสมัยก่อนพ่อค้าต่าง ๆ เวลามาเพื่อติดต่อค้าขายในแถบคาบสมุทรอินโดจีน มักจะพกพาพระคเณศติดตัวมาบูชาเพื่อคุ้มครองป้องกันภัยและช่วยอำนวยความสำเร็จในการเดินทาง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จึงมีการนิยมสร้างรูปเคารพพระคเณศขึ้นมาเพื่อประทานความสำเร็จและขจัดอุปสรรคโดยเฉพาะในด้านการค้าและการประกอบธุรกิจต่าง ๆ ในบริษัทใหญ่ ๆ หรือโรงแรมใหญ่ ๆ ในปัจจุบัน ๒. พระคเณศในฐานะเทพบริวาร ในฐานะที่พระคเณศเป็นพระโอรสของพระศิวะมหาเทพและพระอุมามหาเทวี ท่านจึงได้ฐานะเป็นเทพบริวารให้กับมหาเทพทั้งสอง ด้วยฐานะดังกล่าวจึงมีการนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ที่กองพลทหารบกที่ ๑ รักษาพระองค์ ๓. พระคเณศในฐานะเทพผู้ปกป้องคุ้มครองเด็ก พระคเณศในฐานะนี้เราจะพบเห็นได้จากภาพวาดหรือปฏิมากรรมของพระคเณศในวัยที่ยังเป็นเด็ก ขณะเป็นพระโอรสของพระนางอุมามหาเทวี ผู้คนจึงมอบฐานะแห่งเทพผู้คุ้มครองเด็กให้กับพระองค์ ๔. พระคเณศในฐานะเทพแห่งศิลปวิทยาการ ทรงเป็นเทพแห่งฉลาดรอบรู้และเป็นเทพแห่งศิลปะวิทยาการต่าง ๆ ซึ่งภาพวาดหรือรูปเคารพของพระองค์จะมี ๒ พระกร ถือ คัมภีร์และงาหัก ตามหลักฐานที่ปรากฏจะพบว่าคติการเคารพบูชาพระคเณศในฐานะเทพแห่งศิลปวิทยาการของไทยเรานั้นเริ่มตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจวบจนถึงปัจจุบัน และปรากฏฐานะนี้ที่เด่นชัด ในสมัยรัชการที่ ๖ ที่ทรงกำหนดให้ใช้รูปพระคเณศเป็นตราเครื่องหมายสัญลักษณ์ของวรรณคดีสโมสร ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๐ ก็ได้กำหนดให้ใช้รูปของพระคเณศเป็นตราสัญลักษณ์ของกรมศิลปากร ๕. พระคเณศในฐานะบรมครูช้าง ในสมัยก่อนนั้นการทำศึกสงคราม ช้างเป็นสัตว์ที่สำคัญและจำเป็นอย่างมากในการทำศึก การทำกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับช้างจึงเป็นเรื่องสำคัญถึงขนาดกลายเป็นศาสตร์ที่สำคัญแขนงหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “คชศาสตร์” ด้วยรูปแบบดังกล่าวของพระคเณศ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางคชศาสตร์ ดังนั้นเมื่อมีกิจกรรมเกี่ยวกับทางคชศาสตร์เกิดขึ้น ก็ย่อมจะต้องมีการบูชาพระคเณศด้วย ๖. พระคเณศในฐานะที่เป็นทวารบาล เป็นคติที่พบได้ทางภาคเหนือของไทยเรา เรามักพบเห็นพระคเณศประดิษฐานอยู่บริเวณหน้าประตูทางเข้าวัดในพุทธศาสนา ซึ่งคล้ายกับคตินิยมในธิเบตและพม่า ดังตัวอย่างเช่นที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ และวัดท่าสะต๋อย ที่มีรูปพระคเณศอยู่บริเวณทางเข้าในฐานะพระทวารบาล และคติการสร้างรูปพระคเณศไว้ที่บริเวณทางเข้าวัดทางภาคเหนือนั้น จะเน้นหนักไปในเรื่องที่ยกองค์พระคเณศให้เป็นทวารบาลคอยคุ้มครองสัตบุรุษผู้ไปทำบุญหรือปฏิบัติศาสนกิจ ๗. พระคเณศในฐานะบรมครูหรือเทพทางศิลปะการแสดง ปัจจุบันนี้ศิลปการแสดงต่าง ๆ โดยเฉพาะในแวดวงดาราดาราภาพยนตร์และดาราทีวีจะนับถือพระคเณศว่าเป็นบรมครูทางการแสดงของพวกเขา ซึ่งจะไปเหมือนกับคตินิยมในการบูชาพระคเณศในฐานะบรมครูทางนาฏกรรมของบรรดานาฏศิลป์ทั้งหลาย ๘. พระคเณศในเครื่องรางของขลัง ในราวพุทธศตวรรษที่ ๘ ชึ่งเป็นช่วงที่พ่อค้าวานิชและนักบวชในศาสนาฮินดูเดินทางออกจากประเทศอินเดียมาสู่แหลมอินโดจีน และมักจะพกพาเครื่องรางที่เป็นรูปพระคเณศองค์เล็ก ๆ ติดตัวมาติดต่อค้าขายและเผยแผ่ศาสนาในแหลมอินโดจีน ดังหลักฐานที่ปรากฏจากการขุดค้นพบเครื่องรางรูปพระคเณศองค์เล็ก ๆ ในบริเวณอ่าวบ้านดอน จ .สุราษฏร์ธานี ความหมายของส่วนต่าง ๆ ของพระพิฆเนศ พระคเณศ ทรงมีรูปร่างเดียวโดยทรงมีพระเศียรเป็นช้าง มีพระกรรณกว้างใหญ่ มีงวงยาว แต่ทรงมีร่างกายเป็นมนุษย์ มี ๔, ๖ หรือ ๘ กรแล้วแต่พระภาคที่จะเสด็จมา รูปร่างของพระองค์แสดงถึงสิ่งเป็นมงคลดีเยี่ยม ซึ่งทรงสั่งสอนถึงความดีและความสำเร็จ พระคเณศทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งความรู้และปัญญายิ่งใหญ่ แต่ละส่วนของท่านให้ความหมายในเชิงปรัชญาได้ดังนี้ พระเศียร - ทรงใช้เศียรอันใหญ่ที่เต็มด้วยปัญญาความรู้ เป็นที่รวมแห่งปัญญาทั้งหมด พระกรรณ - ทรงใช้รับฟังคำสวดจากพระคัมภีร์และความรู้ในรูปอย่างอื่น ๆ อันเป็นสิ่งแรกแห่งการศึกษา งวง – เราได้นำเอาความรู้ต่าง ๆ ที่ได้รับจากการเลือกเฟ้นระหว่างทวิลักษณะ ความผิด-ถูก ความดี-ความชั่ว อันมีงวงช้างที่ยาวและใหญ่ใช้ชั่งน้ำหนักต่อการกระทำหรือการค้นหาสิ่งที่ดีงามต่างๆ อันปัญญานั้นเกิดขึ้นเพื่อช่วยในการแก้ปัญหาของชีวิตให้หลุดพ้นจากอุปสรรค และพบกับความสำเร็จสมดั่งความมุ่งหมาย งา - งาข้างเดียวโดยอีกข้างหักนั้น เพื่อแสดงให้รู้ว่าจะต้องอยู่ในเหตุระหว่างความดี-ความชั่ว ซึ่งต้องทำความเข้าใจให้ดีถึงความแตกต่างกัน ดั่งเช่น ความเย็น-ความร้อน การเคารพ-การดูหมิ่นเหยียดหยาม ความซื่อสัตย์-ความคดโกง หนู - แสดงถึงความปรารถนาของมนุษย์ บ่วงบาศก์ - ทรงถือโดยทรงลากจูงคนทั้งหลายให้เดินตามรอยพระบาทของพระองค์ ขวาน - เป็นอาวุธทรงใช้ปกป้องความชั่วร้ายและคอยขับไล่อุปสรรคทั้งหลายที่มาก่อกวนต่อบริวารของพระองค์ ขนมโมทกะ - ข้าวสุกผสมน้ำตาลปั้นเป็นลูก เพื่อประทานให้เราเป็นรางวัลต่อการที่เราปฏิบัติตามรอยพระบาทของพระองค์ ท่าประทานพร - หมายถึงความยิ่งใหญ่แห่งความผาสุกและความสำเร็จให้กับสาวกของพระองค์



--------------------------------------------------------------------------------

การกำเนิดของพระพิฆเนศ

เชื่อกันว่า ลัทธิการบูชาพระคเณศนั้น น่าจะมาจากชนพื้นเมืองดั้งเดิมของอินเดีย ซึ่งเป็นลัทธิการบูชาสัตว์ หรือลัทธิแห่งชัยชนะเหนือธรรมชาติ ชนพื้นเมืองของอินเดีย เชื่อกันว่าหนูเป็นสัญลักษณ์ของความมืด พระคเณศทรงขี่หนูจึงหมายถึงชัยชนะของแสงอาทิตย์ที่ขจัดความมืดให้สิ้นสุดลง พระคเณศอาจจะมีต้นกำเนิดมาจากการเป็นเทพประจำเผ่าของคนป่า ที่อาศัยอยู่ในป่าเขาอันกว้างใหญ่ของอินเดีย คนเหล่านี้ต้องเผชิญกับฝูงช้างอันน่ากลัวจึงเกิดการเคารพในรูปของช้างชึ้น เพื่อให้ปกป้องคุ้มครองและพัฒนาต่อมาเป็นเทพชั้นสูงของชาวอารยัน ต่อมาได้พัฒนาเป็นเทพผู้ขจัดซึ่งอุปสรรค มีความเฉลียวฉลาดเป็นเลิศ ทั้งยังได้รับการยกย่องให้เป็นหัวหน้าของเทพที่มีเศียรเป็นสัตว์ทั้งหลาย จนกระทั่งมีการรจนาปกรณ์ให้เป็นโอรสของพระศิวะเทพและพระนางปราวตีในเวลาต่อมา แต่ในแง่ของคัมภีร์ทางศาสนาพราหมณ์ได้บรรยายจุดกำเนิดของพระคเนศไว้หลากหลายตำนานตามความเชื่อในแต่ละลัทธิ พอจะสรุปเป็นหลัก ๆ ได้ดังนี้ ตำนานที่ ๑. วิฆเนศวรปราบอสูรและรากษส อสูรและรากษสได้ทำการบวงสรวงพระศิวะจนได้คำพรจากพระศิวะหลายประการ ยังให้เหล่าอสูรกลุ่มนี้ฮึกเหิมก่อความเดือดร้อนเป็นอันมาก พระอินทร์จึงทรงนำเทวดาทั้งหลายไปเข้าเฝ้าอ้อนวอนต่อพระศิวะ ขอให้พระองค์ทรงสร้างเทพแห่งความขัดข้องขึ้น เพื่อขัดขวางความพยายามของอสูรและรากษส พระองค์จึงทรงแบ่งส่วนกายหนึ่งให้เกิดบุรุษร่างงามจากครรภ์ของพระนาง ปราวตีและตั้งพระนามว่า “วิฆเนศวร” เพื่อทำหน้าที่ขวางทางอสูร รากษส และคนชั่วมิให้ทำการบัดพลีเพื่อขอพรจากพระศิวะ ทั้งยังเป็นผู้เปิดทางอำนวยความสะดวกต่อเทวดาและคนดีเพื่อเป็นหนทางสู่ความสำเร็จ ตำนานที่ ๒. ปราวตีนำเหงื่อไคลปั้นเป็นลูก ครั้งหนึ่ง ชยาและวิชยา พระสหายของนางปราวตีได้แนะนำว่าปกติพระนางมักจะต้องใช้บริวารของพระศิวะอยู่เป็นประจำ ถ้าหากพระนางจะมีบริวารเป็นของตนเองก็คงจะดีไม่น้อย พระนางเห็นด้วย จนวันหนึ่งขณะที่ทรงสรงน้ำอยู่ตามลำพังก็ทรงนึกถึงคำพูดของพระสหายจึงได้นำเอาเหงื่อไคลออกมาสร้างบุรุษรูปงาม สั่งให้ไปยืนเฝ้าทวาร มิให้ใครเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นอย่างนี้มาหลายเพลา จนวันหนึ่งพระศิวะได้เสด็จมา ฝ่ายลูกก็ป้องกันแข็งขัน โดยไม่รู้ว่านั่นคือพ่อพระศิวะโกรธก็เลยสั่งให้ภูติและคณะของตนเข้าสังหารทวารบาลพระองค์นั้น บ้างก็ว่าพระศิวะพุ่งตรีศูลตัดเศียรลูก บ้างก็ว่าพระวิษณุเทพที่มาช่วยรบนั้นใช้จักรตัดเศียร ความทราบถึงพระนางปราวตีจึงเกิดศึกใหญ่ระหว่างเทพและเทพีขึ้นบนสวรรค์ ฝ่ายฤาษีนารอทอดรนทนไม่ได้ จึงได้เป็นทูตสันติภาพขอเจรจากับนางปราวตีเพื่อสงบศึก นางบอกว่าจะสงบศึกก็ต่อเมื่อลูกของนางฟื้นเท่านั้น พระศิวะจึงสั่งให้เทวดาเดินทางไปทิศเหนือให้เอาศีรษะของสิ่งมีชีวิตสิ่งแรกที่พบมาต่อกับโอรสของนางปราวตี ปรากฏว่าเทวดาได้เศียรของช้างซึ่งมีงาเพียงข้างเดียวมา เมื่อพระคเณศฟื้นขึ้นมา ทราบความจริงว่า พระศิวะคือพระบิดาก็ตรงเข้าไปขอโทษเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พระศิวะพอใจมากประสาทพรให้พระคเณศ มีอำนาจเหนือเหล่ามหาเทพและภูติผีทั้งหลาย และทรงแต่งตั้งให้เป็นคณปติ ตำนานที่ ๓. ขวางทางคนชั่วไปเทวาลัยโสมนาถและโสมีศวร พระนางปราวตีทรงเอาน้ำมันที่ใช้ในการสรงน้ำมาผสมกับเหงื่อไคลปั้นเป็นรูปคนแต่มีเศียรเป็นช้างจากนั้นได้เอาน้ำจากพระคงคาปะพรมให้มีชีวิตขึ้น เพื่อทำการขัดขวางแก่คนชั่วที่จะไปบูชาศิวลึงค์ที่เทวาลัยโสมนาถและเทวาลัยโสมีศวรเพราะคนเหล่านี้หวังจะไปล้างบาปเพื่อมิให้ตกนรกทั้งเจ็ดขุม ด้วยเหตุนี้ การที่วันคเณศจาตุรถี นิยมเอารูปปั้นพระคเณศมาจุ่มน้ำหรือนำเทวรูปปูนชิ้นเล็ก ๆ มาทิ้งตามแม่น้ำคงคา ชะรอยจะมาจากความเชื่อที่ว่าน้ำจากแม่พระคงคาจะทำให้พระคเณศมีชีวิตขึ้นมานั่นเอง ตำนานที่ ๔. พระคเณศ กฤษณะอวตาร พระนางปราวตีมเหสีของพระศิวะไม่มีโอรส พระศิวะจึงทรงแนะนำให้พระนางทำพิธีปันยากพรต (พิธีบูชาพระวิษณุเทพ ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำเดือนมาฆะ) มีระยะเวลากำหนด ๑ ปีเต็มและเมื่อครบกำหนด พระนางจะได้โอรสซึ่งเป็นพระกฤษณะอวตารไปจุติ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามคำตรัสของพระศิวะ ทวยเทพทั้งหลายมาร่วมอวยพรในกลุ่มเทพเหล่านี้มีพระศนิ (พระเสาร์) รวมอยู่ด้วย เมื่อพระศนิเหลือบมองพระกุมารทันใดนั้นเศียรกุมารก็ขาดจากพระศอกระเด็นไปยังโคโลกซึ่งเป็นวิมานของพระกฤษณะพระวิษณุจึงเสด็จไปยังแม่น้ำบุษปุภัทรเห็นช้างนอนหัวไปทางทิศเหนือจึงตัดเศียรช้างกลับมาต่อให้กับเศียรกุมารที่หายไป ตำนานนี้เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่สร้างโดยกลุ่มที่นับถือพระกฤษณะเป็นใหญ่ ตำนานที่ ๕. ศิวะ-อุมาแปลงกายเป็นช้างเข้าสมสู่ ครั้งหนึ่งพระศิวะและพระนางปราวตีได้เสด็จมายังแถบภูเขาหิมาลัยได้เห็นช้างสมสู่กันก็บังเกิดความใคร่ พระศิวะจึงได้แปลงเป็นช้างพลาย ส่วนนางปาราวตีแปลงกายเป็นช้างพังร่วมสโมสรจนมีลูกเป็นพระคเณศ



--------------------------------------------------------------------------------

ฤทธิ์แห่งปัญญาของพระพิฆเนศ

มีตำนานที่กล่าวถึงความมีสติปัญญาและไหวพริบของพระคเณศไว้หลายตอน อย่างเช่นกรณี ที่ท่านเป็นผู้ลิขิตมหากาพย์ภารตะ ครั้งหนึ่ง มหาฤาษีวยาสะมีความต้องการที่จะเขียนมหากาพย์ภารตะ แต่เกรงว่าตนจะทำเองไม่สำเร็จ จึงไหว้วานให้ผู้อื่นช่วย แค่ไม่มีใครกล้าอาสาที่จะรับงานชิ้นนี้ ฤาษีนารอดเห็นว่าพระคเณศองค์เดียวเท่านั้นที่จะเขียนมหากาพย์ชิ้นนี้ได้ ในที่สุดฤาษีวยาสะจึงต้องทูลขอความช่วยเหลือจากพระคเณศ พระคเณศบอกว่า จะเขียนตามที่ฤาษีบอก แต่ทันทีที่ฤาษีหยุดบอกจะหยุดเขียนทันที ฝ่ายฤาษีบอกว่า สิ่งที่พูดออกไปจากปากของเราต้องตีความให้ถ่องแท้ก่อนที่จะลงมือเขียน ฉะนั้นเมื่อฤาษีต้องใช้การคิดสำหรับโศลกต่อไปก็จะบอกศัพท์ยาก ๆ เพื่อให้พระคเณศตีความเสียก่อนเพื่อเป็นการประวิงเวลา พระคเณศจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดอัจฉริยะในฐานะที่เป็นผู้ลิขิต มหาภารตะ ซึ่งถือว่าเป็นคัมภีร์มหากาพย์สุดยอดของฮินดู อย่างไรก็ตาม เรื่องมหากาพย์ภารตยุทธ์นี้ แน่นอน คงไม่มีใครเชื่อว่ามาจากฝีมือพระคเณศแน่ แต่นั่นเป็นภูมิปัญญาของปราชญ์โบราณที่ต้องการจะบอกกับคนในยุคสมัยต่อไปว่า การบูชาครูเพื่อขอดวงปัญญาในการทำงานให้ลุล่วงนั้น เป็นสิ่งสำคัญในลำดับแรก โดยเฉพาะการรจนางานในเชิงพระคัมภีร์ เหมือนเช่นพระมหาธีรราชเจ้า มักจะประพันธ์อักขระเพื่อถวายบูชาต่อพระคเณศก่อนที่จะเริ่มงานประพันธ์ทุกครั้ง มีอยู่หลายกรณี หลายเหตุการณ์ที่ท่านทรงแสดงความเป็นเทพแห่งปัญญาที่แท้จริง แต่กรณีที่เด่นๆก็อย่างเช่น กรณีเดินทางรอบโลกเพื่อผลมะม่วง ในคราวหนึ่ง พระนางอุมาได้นำเอาผลมะม่วงมาถวายกับพระศิวะผลหนึ่ง ปรากฏว่าลูกทั้งสองคนคือ พระพิฆเนศวรและพระขันทกุมาร ต่างก็อยากจะเสวยมะม่วงผลนี้ด้วยกันทั้งคู่ ด้วยเหตุนี้พระศิวะจึงอยากรู้ว่า ลูกทั้งสองคนนี้ใครจะเก่งกว่ากันโดยออกอุบายว่า ใครก็ตามหากเดินทางรอบโลกถึงเจ็ดรอบและกลับสู่วิมานปาวตา(วิมานของพระศิวะและพระนางอุมา) ก่อนผู้นั้นจะได้ผลมะม่วงลูกนี้ ว่าแล้วฝ่ายพระขันทกุมารก็ไม่รอช้า รีบขี่นกยูงตระเวนท่องโลกทันที ฝ่ายพระพิฆเนศวรแทนที่จะเอาอย่าง กลับเดินประทักษิณรอบพระบิดาเจ็ดรอบ และกล่าวว่า “ข้าแต่พระบิดา พระองค์คือจักรวาล และจักรวาลคือพระองค์ พระองค์ผู้สร้างโลก และทรงเป็นบิดาแห่งข้าพระองค์ ข้าพระองค์ได้ทำประทักษิณพระบิดาเจ็ดรอบ ถือว่าได้กุศลเท่ากับเดินทางรอบโลกเจ็ดรอบ” พระศิวะเทพยินดีในคำตอบและชื่นชมในสติปัญญาจึงมอบผลมะม่วงให้กับพระพิฆเนศวรทันที



--------------------------------------------------------------------------------

วิธีการพิชิตศัตรู

พระพิฆเนศนั้นเป็นเทพที่มีลักษณะโดดเด่นกว่าเทพพระองค์อื่น นอกเหนือจากเรื่องมีพระเศียรเป็นช้างแล้ว นั่นคือ การนิยมการนำศัตรูเอามาเป็นพวก พระคเณศนั้นไม่นิยมที่จะล้างผลาญศัตรูให้ตายไปเหมือนเทพองค์อื่น ๆ แต่มักจะใช้ปัญญาที่มีอยู่เป็นทุนเดิมในการดำเนินกุสโลบาย เพื่อให้ศัตรูมีโอกาสกลับใจมาเป็นคนดี หรือเรียกง่าย ๆ ก็คือเมื่อยอมสวามิภักดิ์แล้วก็จะให้เป็นเทพบริวารไล่เรียงกันไป บรรดาเหล่ารายชื่ออสูรที่ยอมสวามิภักดิ์ต่อพระคเณศประกอบด้วย มัตสระ (ที่มาของคเณศปางวักระตุณฑะ) มะทะ เกิดจากฤาษีโจวะนะสร้างขึ้น (ที่มาของปางเอกทันตะ) ยานาริลูกของอสูรทุระพุทธ (ที่มาของปาง ปุระณานันมโหกระซึ่งอวตารมาเป็นลูกพระลักษมี) โลภาสูร กำเนิดจากความโลภของท้าวกุเบธ(ที่มาของปางคชนันท์) โกรธาสูร เกิดจากความลุ่มหลงของพระศิวะที่เห็นพระวิษณุแปลงรูปเป็นสาววัย 16 (ที่มาของปางลัมโพทระ) กามาสูร เกิดจากความลุ่มหลงของวิษณุเทพต่อชายาอีกพระองค์หนึ่ง ชื่อ พระแม่วฤนทา (ที่มาของปางวิกฎะ) มมตาสูร เกิดจากเสียงหัวเราะของพระนางอุมา (ที่มาของวิฆนราช) อหัมอสูร เกิดจากเสียงจามของสุริยเทพ (ที่มาของปางธูมรวรรณ)



--------------------------------------------------------------------------------

การอภิเษกสมรส

อันที่จริงเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เสริมแต่งให้ความเป็นพระพิฆเนศวรมีความสมบูรณ์ขึ้นเท่านั้นเอง เพราะพระชายาทั้งสองพระองค์ซึ่งเป็นธิดาของประชาบดีอิศวรรูปนั้นแทบจะไม่บทบาทอะไรเลยนอกจากคอยอยู่ปรนนิบัติพัดวี นวดแขน เกาขาไปตามเรื่อง พระชายาทั้งสองมีโอรสกับพระคเณศด้วย นางพุทธิให้กำเนิดลาภะ ส่วนนางสิทธิให้กำเนิด เกษม ซึ่งคุณสมบัติทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นพุทธิ สิทธิ ลาภะ เกษม แต่ตำนานที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคือ พระคเณศเป็นเทพที่ถือพรหมจรรย์ เรื่องการอภิเษกนั้น เรื่องราวดำเนินละม้ายคล้ายกับการชิงผลมะม่วง เพราะเมื่อถึงวัยที่โอรสทั้งสองพระองค์ของพระศิวะเทพและนางปราวตีเจริญเติบโตพอที่จะมีเหย้ามีเรือน แต่มีเงื่อนไขว่า พระศิวะจะจัดพิธีวาหะให้ต่อเมื่อลูกคนใดคนหนึ่งสามารถผ่านการเดินรอบโลกได้เจ็ดรอบด้วยเวลาอันรวดเร็ว พระคเณศก็ทรงใช้การประทักษิณรอบพระศิวะเจ็ดรอบ แล้วให้คำอธิบายเหมือนกับเหตุการณ์ในตอนที่แย่งชิงผลมะม่วงกับพระขันทกุมาร พระศิวะพอใจในคำอธิบายของพระคเณศมาก และตรัสสรรเสริญในภูมิปัญญาของโอรสในพระองค์ว่า “โอ…ลูกรักเจ้าเป็นบุคคลที่ยอดเยี่ยมยอดและมีปัญญาเป็นที่สุดสิ่งที่เจ้าได้กล่าวมาเป็นจริงทั้งสิ้น ถ้าบุคคลหนึ่งได้มีปัญญาเป็นคุณสมบัติติดตัว แม้เมื่อโชคร้ายมาถึงเขาความอับโชคนั้นย่อมถูกกำจัดด้วยปัญญา” ว่าแล้วในคราวนั้นพระคเณศจึงได้พระชายาคราวเดียวกันถึง ๒ คนคือนางพุทธิและสิทธิอย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้น



--------------------------------------------------------------------------------

เหตุแห่งการเสียงาของพระพิฆเนศ

มีหลายตำนานมาก พอจะแบ่งได้ดังนี้ ตำนานแรก ปรศุรามใช้ขวานจาม ปรศุรามนั้นเป็นอวตารของวิษณุเทพ กล่าวว่า ปรศุรามได้ยืมขวานจากพระศิวะไปทำลายเหล่ากษัตริย์ เมื่อเสร็จภารกิจจะเข้าเฝ้าที่เขาไกรลาส ระหว่างนั้นบริเวณพระตำหนักชั้นใน พระศิวะเทพกำลังสนทนาอยู่กับนางปารวตี พระคเณศไม่ยอมให้ปรศุรามเข้าพบ ปรศุรามโมโหเลยใช้ขวานของพระศิวะขว้างไปยังพระคเณศ พระองค์จำใจต้องใช้ใช้งาข้างซ้ายรับขวานนั้น ด้วยเหตุที่ท่านทรงมีความกตัญญูเป็นอย่างยิ่งในตัวพระบิดา ครั้นจะต่อสู้กันไปก็อาจทำได้ แต่จะมีประโยชน์อะไรกับการทำลายฤทธิ์เดชของอาวุธซึ่งเป็นของบิดาตนเอง ตำนานสอง ได้เศียรช้างงาเดียว เมื่อคราวที่พระศิวะได้ทำพิธีโสกันต์และพระวิษณุเทพพลั้งเผลอเปล่งวาจา ยังผลให้เศียรของกุมารหายไปนั้น ได้มีเทวะโองการให้หาเศียรของมนุษย์ที่เสียชีวิตมาต่อให้ แต่ปรากฏว่าในวันอังคารนั้นไม่มีมนุษย์ผู้ใดถึงฆาต มีเพียงช้างงาเดียวที่นอนตายอยู่ทางทิศเหนือ จึงตัดเศียรมาต่อให้ ตำนานสามโดนพระศิวะใช้ขวานจาม เมื่อคราวที่กุมารน้อยถือกำเนิดใหม่ ๆ และเฝ้าปากทวารห้องสรงน้ำของพระแม่ปราวตีนั้นพระศิวะไม่ทราบว่าเป็นลูก เลยเกิดการต่อสู้กันพระศิวะโมโหจึงใช้ขวานขว้างไปโดนงาของพระคเณศหัก ตำนานสี่ งาถอดได้เองตามธรรมชาติ เมื่อคราวที่พระคเณศต่อสู้กับอสูรอสุรภัค พระคเณศแสดงเดชโดยการถอดงาของตัวเองขว้างไปที่อสูร



--------------------------------------------------------------------------------

ความหมายของหนูกับช้าง

ความหมายของหนูกับช้างหนูกับช้างเป็นสัญลักษณ์ของการพึ่งพาและปรองดอง ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงอำนาจและความมีชัยของฝ่ายที่อยู่เหนือกว่าในทางมนุษยวิทยาแล้วมีผู้วิเคราะห์ไว้ว่าหนูกับช้างเป็นสัญลักษณ์ของชนเผ่าสองกลุ่ม เผ่าที่มีชัยเหนือกว่าอาจจะเป็นชนกลุ่มที่นับถือช้างอยู่แต่เดิม จึงได้สร้างและยึดเอาประเพณีการนับถือช้างเป็นเทพเจ้ามาเป็นตัวแทนกลุ่มหรืออีกอย่างที่เป็นไปได้คือ คนสมัยดั้งเดิมนั้นประกอบอาชีพทางด้านกสิกรรม และแน่นอน หนูย่อมเป็นศัตรูอันร้ายกาจของไร่นา ภาพที่แสดงออกในรูปของช้างและงูที่เป็นสังวาลนั้น ได้แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้ทำลายหนูอันเป็นศัตรูสำคัญของผลิตผลทางการเกษตรอย่างชัดเจน ทั้งการนำหนูมาเป็นบริวารนั้น เนื่องจากหนูขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วเพราะหนูได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ที่มีความฉลาดและกัดทุกอย่างให้ขาดได้ ดังนั้นจึงเป็นความเหมาะสมสำหรับการเป็นพาหนะของเทพเจ้าแห่งปัญญา อันมีคุณสมบัติในการขจัดซึ่งอุปสรรค วันคเณศจตุรถี การบูชาพระคเณศเรียกว่า “พิธีคเณศจตุรถี” มีความหมายว่า “พิธีอุทิศต่อพระคเณศ” จะกระทำวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ภัทรบท หรือเดือน ๑๐ ในช่วงเดือนกันยายน (พ.ศ.๒๕๓๘ ) ที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่ฮือฮากันมากที่สุดก็คือปรากฏการณ์ที่เทวรูปดื่มนมสดก็ปรากฏขึ้นมาทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วยซึ่งตรงกับเทศกาลประกอบพิธีคเณศจตุรถี หรือพิธีอุทิศต่อพระคเณศพอดีทำให้ปรากฏการดังกล่าวได้รับความสนใจไปทั่วโลก หนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์เรื่องราวดังกล่าวขายดีเป็น เทน้ำเทท่า ผู้คนแตกตื่นพากันไปดูเทวรูปดื่มน้ำนมกันอย่างแพร่หลาย ในวันที่ประกอบพิธีคเณศจตุรถีนั้น ประชาชนทั้งหลายต่างพากันมาทำสักการะบูชารูปเคารพของพระคเณศที่ปั้นด้วยดิน (เผา ) เครื่องบูชาจะประกอบไปด้วยดอกไม้ (โดยเฉพาะดอกไม้สีสดใส เช่น สีแดง, สีเหลือง, สีแสด) ขนมต้ม, มะพร้าวอ่อน, กล้วย, อ้อย, นมเปรี้ยว,(แบบแขก) ขณะทำการบูชา ผู้บูชาจะท่องพระนาม ๑๐๘ ของพระองค์ หลังจากการบูชาแล้วก็จะเชิญพวกพราหมณ์ ผู้ประกอบพิธีมาเลี้ยงดูกันให้อิ่มหนำสำราญและมีข้อห้ามในวันพิธีคเณศจตุรถีนี้คือ ห้ามมองพระจันทร์อย่างเด็ดขาด และถือกันว่าถ้าผู้ใดได้มองพระจันทร์ (เห็นพระจันทร์) โดยพลาดพลั้งเผลอเรอไป พวกชาวบ้านก็จะพากันแช่งด่าผู้นั้นทันที่ (ถือว่าซวยมาก) และที่ชาวบ้านด่านั้น ก็เป็นความหวังดี มิได้ด่าด้วยความโกรธแค้น แต่ด่าเพราะเชื่อกันว่าการด่าการแช่งนั้นจะทำให้คน (ซวย) นั้นพ้นจากคำสาปไปได้ ความเชื่อนี้ มีเรื่องเล่าที่มาอยู่ ๒ เรื่อง คือสืบเนื่องมาจากการที่พระคเณศพลัดตกจากหลังหนูจนท้องแตก (เพราะหนูตกใจที่มีงูเห่าเลื้อยผ่านหน้า และพระคเณศเสวยขนมต้มมามาก) ขนมต้มทะลักออกมาพระคเณศ ก็รีบเก็บขนมต้มยัดกลับไปในพุง และจับงูเห่าตัวนั้นมารัดพุงขณะเดียวกันพระจันทร์ ก็เผอิญมาเห็นเข้าก็อดขำไม่ได้หัวเราะออกมาดังสนั่นพระคเณศโกรธยิ่งนัก เอางาขว้างไปติดพระจันทร์จนแน่น ทำให้โลกมืดลงทันที่ เพราะไฟดับ (เหมือนราหูอมจันทร์) พระอินทร์และทวยเทพทั้งหลายทราบเรื่อง ก็ต้องพากันไปอ้อนวอน พระคเณศจึงยอมถอนเอางาออก แต่พระจันทร์ก็ต้องได้รับโทษอยู่คือ จะต้องเว้า ๆ แหว่ง ๆ เป็นเสี้ยว ๆ ไม่เต็มดวงทุกคืน จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำและแรม ๑ ค่ำ จึงจะเต็มดวง ส่วนอีกเรื่องหนึ่งเล่าว่าพระคเณศสาปคนที่มองดูพระจันทร์ในวันที่บูชาพระองค์คือ หากใครมองดูพระจันทร์ในวันนี้ ผู้นั้นก็จะต้องกลายเป็นคนจัณฑาลไปเลย และคนจัณฑาลในสังคมอินเดียจะเป็นที่รังเกียจของคนวรรณะอื่น ๆ ทุกวรรณะ (เพราะถือว่าคนจัณฑาล ไม่มีชนชั้น เป็นชนชั้นต่ำ) ดังนั้นคำสาปให้เป็นจัณฑาลจึงเป็นโทษร้ายแรงยิ่งนัก



--------------------------------------------------------------------------------

พระมหากษัตริย์ไทยกับพระพิฆเนศ

ภารตวิทยามาแพร่หลายอย่างจริงจังในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ (รัชกาลที่ ๖) ทั้งนี้เนื่องจากพระองค์ได้ศึกษาที่ประเทศอังกฤษ และทรงสนใจภารตวิทยาอยู่มาก ดังนั้นพระองค์จึงทรงมีความเข้าใจถ่องแท้ในพิธีกรรมต่าง ๆ ของฝ่ายพราหมณ์หรือฮินดูเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงได้นำรูปเคารพของพิฆเนศวรมาใช้ในรัชสมัยของพระองค์ ตามอย่างที่ปฏิบัติกันมาแต่โบราณ พระองค์ท่านได้กำหนดให้พระคเณศเป็นดวงตราเครื่องหมายวรรณคดีสโมสร โดยดวงพระราชลัญจกรรูปกลมองค์นี้ตามตำแหน่งคือ ดวงพระราชลัญจกรรูปกลม ศูนย์กลางกว้าง ๓ นิ้ว ๓ อนุกระเบียด (๗ เซนติเมตร) ลายเป็นรูปพระคเณศนั่งแท่น แวดล้อมด้วยลายกนกสวมสังวาลนาคหัตถ์ขวาเบื้องบนถือวัชระเบื้องล่างถืองาหัตถ์ซ้ายเบื้องบนถือบ่วงบาศก์ เบื้องล่างถือครอบน้ำ (ขันน้ำมนต์หรือ หม้อน้ำ) เมื่อปี ๒๔๘๐ พระพิฆเณศได้กลายเป็นดวงตราประจำกรมศิลปากรโดยลายกลางเป็นพระคเณศรอบวงกลมมีลวดลายเป็นดวงแก้ว ๗ ดวง อันมีความหมายถึง ศิลปวิทยาทั้ง ๗ แขนงคือ ช่างปั้น, จิตรกรรม, ดุริยางค์ศิลป์, นาฏศิลป์, วาทศิลป์, สถาปัตยกรรม, อักษรศาสตร์ ฉะนั้นชนทั้งหลายจึงนับถือพระคเณศเป็นบรมครูทางศิลปะ ในสมัยอยุธยานั้น ลัทธิพราหมณ์ฮินดูยิ่งชัดเจนขึ้น เพราะไม่ว่าจะเป็นชื่อราชธานี (อยุธยา) หรือพระนามของกษัตริย์ที่ขึ้นต้นด้วย “สมเด็จพระรามาธิบดี” ก็คืออิทธิพลที่ได้มาจากมหากาพย์รามเกียรติ์นั่นเอง สมัยพระเจ้าปราสาททอง ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระราชหัตถเลขา มีเรื่องเกี่ยวกับการรื้อย้าย เทวสถานพระอิศวรและพิธีลบศักราช ซึ่งเป็นพิธีของพราหมณ์ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการจัดพิธีตรียัมปวายและมีบันทึกว่า เคยจัดข้าวของจากอยุธยาไปทำพิธีที่เทวสถานเมืองนครศรีธรรมราช และทรงโปรดให้มีการหล่อรูปพระพิฆเนศวร และทรงนับถือเป็นบรมครูช้าง นอกจากนี้ยังได้เกิดวิทยาการแขนงต่าง ๆ อันมีพื้นฐานจากแขนงวิชาอุปเวทและอาถรรพ์เวท การอวตารและพระนามของพระพิฆเนศ แต่ละองค์ที่อวตารก็มักมีลักษณะที่แตกต่างกันในด้านรูปลักษณ์ พระนาม พระกร อาวุธ และพลังอำนาจในแต่ละช่วงเวลา พอจะรวบรวมได้ดังนี้ ๑. บัล คณปติ (ภาคเด็ก) สีโลหิต ๔ กร ๒. พระ ตรุน คณปติ (ภาคเป็นหนุ่ม) สีแดงส้ม ๘ กร ๓. พระ ภักตะ คณปติ (แห่งความรัก) สีบริสุทธิ์ ๔ กร ๔. พระ วีระ คณปติ (แห่งนักรบกล้า) สีโลหิต ๑๐ กร ๕. พระ ศักติ คณปติ (แห่งพระพลังอำนาจ) สีแป้งจันทร์ ๔ กร ๖. พระ ทวิช คณปติ (แห่งผู้เกิดสองหน) สีขาว ๔ กร ๗. พระ สิทธ คณปติ (แห่งความสมบูรณ์) สีน้ำตาล ๔ กร ๘. พระ อุจฉิต คณปติ (แห่งอาหาร บวงสรวง) สีฟ้า ๔ กร ๙. พระ วิฆณะ คณปติ (ผู้ทรงขจัดความยุ่งเหยิง) สีทองคำ ๑๐ กร ๑๐. พระกษิประ คณปติ (พระผู้รวดเร็วในการแบ่งภาค) สีแดงโลหิต ๔ กร ๑๑. พระเฮรัมพะ คณปติ (พระผู้เป็นปฐมแห่งการกราบไหว้บูชา ทรงมี ๕ พักตร์ (มีสิงโตเป็นพาหนะ) สีขาวสว่าง ๘ กร ๑๒. พระ ลักษมี คณปติ (แห่งทรัพย์สมบัติ) สีขาว ๑๐ กร ๑๓. พระ มหา คณปติ (แห่งความยิ่งใหญ่) สีแดงโลหิต ๑๐ กรและ ๓ เนตร ๑๔. พระ วิชัย คณปติ (แห่งความชนะ) สีแดง ๔ กร ๑๕. พระ นฤตะ คณปติ (แห่งการร่ายรำ) สีเหลือง ๔ กร ๑๖. พระ อุรทวะ คณปติ (แห่งผู้ให้การช่วยเหลือ) สีทองคำ ๖ กร ๑๗. พระ เอกสร คณปติ (แห่งอักษรพยางค์เดียว) สีโลหิต ๔ กร ๑๘. พระวรัท คณปติ (แห่งผู้ประทานพรทั้งหมด) สีแดง ๔ กร ๑๙. พระ ตระยักศร คณปติ (แห่งตัวอักษร) สีทองคำ ๔ กร ๒๐. พระ กศิปร ปรสัท คณปติ (ผู้ทรงให้พรที่รวดเร็ว) สีแดงผงจันทร์ ๖ กร ๒๑. พระ ฮริทรา คณปติ (แห่งสีสรรพ) สีเนื้อ ๔ กร ๒๒. พระ เอกทันตะ คณปติ (แห่งผู้มีงาข้างเดียว) สีฟ้า ๔ กร ๒๓. พระ สริสติ คณปติ (แห่งส่วนโค้งงอ) สีแดงส้ม ๔ กร ๒๔. พระ อุททานทะ คณปติ (แห่งพลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุด) สีแดง ๑๒ กร ๒๕. พระ รีนา โมจัน คณปติ (พระผู้ขจัดหนี้สิน) สีแดง ๑๒-๑๖ กร ๒๖. พระ ทุนทิ คณปติ (พระผู้มีรูปร่างเตี้ย) สีแดงส้ม ๔ กร ๒๗. พระ ทวีรมุข คณปติ (พระผู้มี ๒ พักตร์) สีเนื้อ ๔ กร ๒๘. พระ ตรีมุข คณปติ (พระผู้มี ๓ พักตร์) สีแดงส้ม ๖ กร ๒๙. พระ สิงห คณปติ (พระผู้มีเศียรเป็นสิงห์) สีขาว ๘ กร ๓๐. พระ โยคะ คณปติ (แห่งกรรมฐานสมาธิ) สีทองคำ ๘ กร ๓๑. พระทุรคา คณปติ (แห่งอำนาจความคิด) สีทองคำ ๘ กร ๓๒.พระ สันกัสตหร คณปติ (พระผู้ทำลายอุปสรรค) สีแดงส้ม ๔ กร แต่ลักษณะเด่นสำคัญของพระคเณศในทุก ๆ ภาคอวตารทรงมีรูปร่างเป็นมนุษย์ที่มีเศียรเป็นช้าง แต่มีเพียงภาคเดียวที่ทรงมีเศียรเป็นสิงห์ที่เรียกว่า ภาค สิงหะคณปติ



--------------------------------------------------------------------------------



ลักษณะทางประติมากรรมของพระพิฆเนศ

พระคเณศนั้นมีหลายปาง และมีให้เลือกสรรการบูชาตามความเหมาะสม แต่ภาพโดยสรุป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศียรก็ดี พาหนะตลอดจนถึงเครื่องประดับและอิริยาบทต่าง ๆ ก็ดี พอจะแยกได้ดังนี้ พระเศียร พระคเณศมีตั้งแต่ ๑ เศียรหรือพระพักตร์เดียว ไปจนถึง ๒-๕ เศียร ซึ่งปาง ๕ เศียรนี้นิยมใช้ในปางเหรัมภะซึ่งแพร่หลายในอินเดียและเนปาล ส่วนพระคเณศในแบบของคนไทยนั้นจะมีเพียงเศียรเดียวเท่านั้นส่วนใหญ่แล้วพระคเณศจะมีเพียงสองตาเท่านั้น ส่วนตาที่ ๓ บริเวณหน้าผาก (บ้างใช้เปลวไฟเป็นสัญลักษณ์แทน ) นิยมใช้ในลัทธิตันตระที่ชัดเจนมากเห็นจะเป็นพระพิฆเณศในศิลปะแบบธิเบต นอกจากนี้บริเวณหน้าผากทั่วไป อาจจะเป็นรูปจันทร์เสี้ยว หรือเส้น ๓ เส้นตามลักษณะของไศวะนิกาย หรือพระเศียรอาจจะสวมมงกุฎชนิดแบบราบ (กรัณฑมุกุฎ) หรือสวมชฎาทรงสูงก็ได้ ส่วนงานั้น จะมีเพียงงาเดียวข้างขวาเท่านั้นส่วนงาข้างซ้ายนิยมทำหักไว้ งวง มีลักษณะที่ห้อยตรงแต่ส่วนปลายไปทางซ้ายหรือขวาแต่ที่นิยมคือหันงวงไปทางซ้าย และหยิบขนม บตะสะ (โมทกะ) จากถ้วยขนมที่ถืออยู่ในซ้ายมือหรือบางทีก็เป็นพวกผลไม้ป่า กร มีจำนวนกรตั้งแต่ ๒-๔ เรื่อยขึ้นไปถึง ๑๐ กว่ากรหรือมากกว่านั้น สัญลักษณ์ที่ถือตามพระกรต่าง ๆ เช่น งาหัก,ผลมะนาว, ผลไม้ป่า,มะขวิด,ลูกหว้า,หัวผักกาด,ขนมโมทกะ,ผลทับทิม,ส่วนอาวุธนั้นมีมากมายอาทิ ขวาน,บ่วงบาศก์,ดาบ,ตรีศูล ฯลฯ สิ่งอันเป็นมงคล เช่น สังข์,แก้วจินดามณี,ครอบน้ำ ฯลฯ ลักษณะท่าทาง พระคเณศในยุคแรกนั้นจะเป็นพระคเณศในรูปแบบของการยืนเสียเป็นส่วนใหญ่ จากนั้นจึงได้พัฒนาเป็นการนั่ง ซึ่งมีการนั่งถึง ๔ ลักษณะด้วยกันคือ ๑. ท่ามหาราชลีลา หรือเข่าข้างหนึ่งยกขึ้น อีกข้างหนึ่งงอพับบนอาสนะ (ซึ่งมีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒) ๒. นั่งขาไขว้กัน ๓. นั่งห้อยพระบาทข้างใดข้างหนึ่งส่วนอีกข้างวางพับอยู่บนอาสนะ ๔. นั่งโดยขาทั้งสองพับอยู่ทางด้านหน้า ฝ่าเท้าทั้งสองอยู่ชิดกัน (ศิลปชวา,บาหลี) เครื่องประดับ ในยุคแรกไม่นิยมการทรงเครื่องประดับต่อมาจึงเริ่มมีเครื่องทรงมากขึ้น เริ่มจากสาย ยัชโญปวีต (สายศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาพราหมณ์ บางทีก็เป็นงูธรรมดา ส่วนผ้าที่นุ่งนั้น จะแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่นที่สร้างรูปเคารพส่วนเครื่องทรงนั้นมีการเพิ่มเติมมากขึ้นเช่นมงกุฏ ,สร้อยคอ,สร้อยข้อมือ,สร้อยข้อเท้า,สร้อยกระดิ่ง พาหนะ เท่าที่พบในปัจจุบันมีเพียง หนู นกยูงและสิงโตเท่านั้น



--------------------------------------------------------------------------------

ปางของพระพิฆเนศ

แม้ว่าพระคเณศจะมีพระนามมากมายถึง ๑๐๘ พระนามไปจนถึง ๑๐๐๘ พระนาม แต่ในแง่เทวะประติมานั้นมีอยู่เพียง ๘ ถึง ๙ ปางเท่านั้นที่คนนิยมบูชา โดยการบูชาในแต่ละปางก็ให้คุณที่แตกต่างกันออกไป เชิญเลือกบูชาได้ตามอัธยาศัยเลยครับ ปางพาลคเณศ เป็นพระคเณศในวัยเด็กรูปลักษณ์ที่เห็น มักจะเป็นพระคเณศยังคลานอยู่กับพื้น หรือยังอยู่ในอิริยบถไร้เดียงสาอย่างเด็ก ๆ ถ้าโตขึ้นมาหน่อย จะนั่งขัดสมาธิเพชรบนดอกบัวมี ๔ กร ถือขนมโมทกะ กล้วย รวงข้าว ซึ่งหมายถึงความเป็นสุขภาพดีของเด็ก ๆในครอบครัวรวมความหมายถึงให้เด็ก ๆได้ระลึกถึงการเคารพรักในบิดา มารดา ปางนี้นิยมบูชากันในบ้านที่มีเด็กเล็กและเด็กในวัยเรียน ปางนารทคเณศ ปางนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นพระคเณศมักจะอยู่ในอิริยาบถยืน มี ๔ กร ในคัมภีร์และหม้อน้ำกมัลฑลุ ไม้เท้า และร่ม ซึ่งถ้าเป็นศาสนาพุทธแล้ว คงเปรียบได้กับพระสีวลี ซึ่งเป็นพระธุดงค์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ผู้มีลาภมาก แต่สัญลักษณ์ของพระคเณศนั้น หมายถึงการเดินทางไกล แต่มักจะเป็นการเดินทางไปเพื่อการศึกษาต่อ หรือเป็นปางที่เหมาะสมกับวิชาชีพของคนที่เป็นครูบาอาจารย์เท่านั้น ปางลักษมีคเณศ ปางนี้พระคเณศจะประทับนั่งห้อยพระบาทบนแท่นมี ๖ กร และพระหัตถ์หนึ่งโอบพระลักษมีเทวีไว้ การบูชาปางนี้เสมือนหนึ่งได้บูชาเทพทีเดียวกันถึง ๒ พระองค์ในลักษณะของทวิภาคี (คเณศ -ลักษมี) กล่าวคือ ลักษมีคเณศ ย่อมมีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ พูนสุข ความมั่งคั่ง มั่งมีอย่างหาที่สิ้นสุดมิได้ ปางวัลลยภาคเณศ ปางนี้พระคเณศจะอุ้มพระชายาทั้ง ๒ ไว้บนตักทั้งซ้ายและขวา ซึ่งชายาทั้งคู่คือคือนางพุทธิและสิทะ ดังที่ตำนานได้กล่าวไว้ ปางนี้ให้ความหมายในลักษณะของความสมบูรณ์ของการเป็นครอบครัวมีทรัพย์สินและบริวารมากมาย ปางมหาวีระคเณศ เป็นพระคเณศที่มีจำนวนของพระกรมากเป็นพิเศษ อาจจะ ๑๒, ๑๔, ๑๖ กรแต่ละพระหัตถ์นั้นถือศาสตราวุธหลากหลายชนิดแตกต่างกันไปอาทิลูกศร คันธนู ดาบยาว ตะบอง ขวาน จักร บ่วงบาศก์ งูใหญ่ หอก ตรีศูล ปางนี้ถือกันว่าเป็นปางออกศึกเพื่อปราบศัตรูหมู่อมิตรทั้งหลาย ดังนั้นจึงเป็นความเหมาะสมพิเศษกับบรรดานักรบ แม่ทัพนายกอง ทหาร ตำรวจและข้าราชการ ปางเหรัมภะคเณศ เป็นปางพระคเณศที่ห้อยพระบาทอยู่บนพญาราชสีห์ พระคเณศปางนี้จะมีอยู่ห้าเศียร หรืออาจจะเป็นเศียรตามปกติก็ได้ เพราะสัญลักษณ์ที่แท้จริงของปางนี้ก็คือ สิงโตเท่านั้น เพราะสิงโตเป็นเจ้าป่า ดังนั้นจึงเหมาะสมที่ผู้ใหญ่ที่ต้องมีบริวารในการปกครองมาก นอกจากนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ที่บรรดดากษัตริย์ทั้งหลายแต่โบราณนิยมบูชากัน เรียกว่าเป็นสุดยอดปางของพระคเณศก็ว่าได้ ปางสัมปทายะคเณศ เป็นพระคเณศที่เราพบเห็นกันบ่อยคือ มีอาวุธอยู่ในสองพระหัตถ์บน ส่วนพระหัตถ์ล่างด้านซ้ายนั้นถือขนม และด้านขวาอยู่ในท่าประทานพร ซึ่งความหมายของปางนี้คือ การอำนวยพรให้ประสบความสำเร็จนั่นเอง ปางตรีมุขคเณศ เป็นพระคเณศที่มี ๓ พระพักตร์ ๔ กร บ้างก็ว่ามีความหมายถึง ๓ โลก บ้างก็ว่าหมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา ปางปัญจคฌณศ บางคนเรียกปางนี้ว่า พระคเณศเปิดโลก ปางวิชัยคเณศ เป็นปางที่พระคเณศทางขี่หนูเป็นพาหนะมี ๔ กร พระหัตถ์ขวาด้านล่างอยู่ในท่าประทานพร ซึ่งมีความหมายถึงการอยู่เหนือบริวารนั่นเอง

 

ข้อมูลจาก http://www.devalai.com


พระพิฆเนศ พระพิฆเนศ

Advertisement

≡ เรื่องอื่นๆ ที่น่าอ่าน ≡

เพลงประจำอาเซียน

เพลงประจำอาเซียน


เปิดอ่าน 16,084 ครั้ง
พระพุทธรูปปางต่างๆ

พระพุทธรูปปางต่างๆ


เปิดอ่าน 30,318 ครั้ง
ประวัติ มหาตมะ คานธี

ประวัติ มหาตมะ คานธี


เปิดอ่าน 64,915 ครั้ง
ลักษณะของช้างดี

ลักษณะของช้างดี


เปิดอ่าน 20,855 ครั้ง
 วันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา


เปิดอ่าน 14,324 ครั้ง
พระสยามเทวาธิราช

พระสยามเทวาธิราช


เปิดอ่าน 21,584 ครั้ง
10 กิจที่ต้องทำ วันตรุษจีน

10 กิจที่ต้องทำ วันตรุษจีน


เปิดอ่าน 15,187 ครั้ง
อาณาเขตประเทศไทย

อาณาเขตประเทศไทย


เปิดอ่าน 296,628 ครั้ง
ธนบัตรไทยรุ่นแรก

ธนบัตรไทยรุ่นแรก


เปิดอ่าน 35,279 ครั้ง
"ประกาศสงกรานต์" ปี 2556

"ประกาศสงกรานต์" ปี 2556


เปิดอ่าน 27,201 ครั้ง

:: เรื่องปักหมุด ::

กาลามสูตร

กาลามสูตร

เปิดอ่าน 79,668 ☕ คลิกอ่านเลย

Advertisement

≡ เรื่องน่าสนใจในหมวดหมู่นี้ ≡
ทำไมพระเรียกผู้หญิงว่า "สีกา"
ทำไมพระเรียกผู้หญิงว่า "สีกา"
เปิดอ่าน 37,196 ☕ คลิกอ่านเลย

พระกฤษณะ
พระกฤษณะ
เปิดอ่าน 26,810 ☕ คลิกอ่านเลย

กษัตริย์อาร์เธอร์ กับอัศวินโต๊ะกลม
กษัตริย์อาร์เธอร์ กับอัศวินโต๊ะกลม
เปิดอ่าน 59,874 ☕ คลิกอ่านเลย

ความเชื่อเกี่ยวกับแมวดำ
ความเชื่อเกี่ยวกับแมวดำ
เปิดอ่าน 49,284 ☕ คลิกอ่านเลย

ตำนานเมืองสุรินทร์
ตำนานเมืองสุรินทร์
เปิดอ่าน 32,928 ☕ คลิกอ่านเลย

"เมียนมาร์" "เบอร์มา" ชื่อนั้นสำคัญไฉน
"เมียนมาร์" "เบอร์มา" ชื่อนั้นสำคัญไฉน
เปิดอ่าน 15,001 ☕ คลิกอ่านเลย

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

อึ้ง! คลิปเด็กรัสเซียเตะครู
อึ้ง! คลิปเด็กรัสเซียเตะครู
เปิดอ่าน 13,525 ครั้ง

"สาสน์" "สาส์น" และ "สาร"
"สาสน์" "สาส์น" และ "สาร"
เปิดอ่าน 35,343 ครั้ง

ดื่มน้ำแค่ไหนจึงจะพอ?
ดื่มน้ำแค่ไหนจึงจะพอ?
เปิดอ่าน 16,224 ครั้ง

จิตวิทยาการเรียนรู้ภาษา
จิตวิทยาการเรียนรู้ภาษา
เปิดอ่าน 56,529 ครั้ง

ดูคลิปนี้จบแล้วคุณจะเข้าใจ  "ครูผู้สอนด้วยหัวใจ (From The Heart)" : หนังครู 7- Eleven
ดูคลิปนี้จบแล้วคุณจะเข้าใจ "ครูผู้สอนด้วยหัวใจ (From The Heart)" : หนังครู 7- Eleven
เปิดอ่าน 29,912 ครั้ง

เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
สนามเด็กเล่น

แหล่งรวมเกมส์ เกมส์ให้เล่นมากมาย ศูนย์รวมเกมส์สนุกๆ เกมส์ความรู้ เกมส์ลับสมอง เกมส์ประลองยุทธ แหล่งรวบรวมข้อมูล เกมส์ เกมส์ออนไลน์ เกมส์มันๆ เกมส์ตัดผม ไว้มากมายที่นี่ ให้เด็กๆได้เลือกเล่นมากมาย คลิกเลย

 
หมวดหมู่เนื้อหา
เนื้อหา แยกตามหมวดหมู่ สามารถเลืออ่านได้ตามหมวดหมู่ที่นี่


· Technology
· บทความเทคโนโลยีการศึกษา
· e-Learning
· Graphics & Multimedia
· OpenSource & Freeware
· ซอฟต์แวร์แนะนำ
· การถ่ายภาพ
· Hot Issue
· Research Library
· Questions in ETC
· แวดวงนักเทคโนฯ

· ความรู้ทั่วไป
· คณิตศาสตร์
· วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· ภาษาต่างประเทศ
· ภาษาไทย
· สุขศึกษาและพลศึกษา
· สังคมศึกษา ศาสนาฯ
· ศิลปศึกษาและดนตรี
· การงานอาชีพ

· ข่าวการศึกษา
· ข่าวตามกระแสสังคม
· งาน/บริการสังคม
· คลิปวิดีโอยอดนิยม
· เกมส์
· เกมส์ฝึกสมอง

· ทฤษฎีทางการศึกษา
· บทความการศึกษา
· การวิจัยทางการศึกษา
· คุณครูควรรู้ไว้
· เตรียมประเมินวิทยฐานะ
· ผลงานวิชาการเล่มเต็ม
· เครื่องมือสำหรับครู

ครูบ้านนอกดอทคอม

เว็บไซต์เพื่อครู ข่าวการศึกษา ความรู้ การศึกษาไทย

      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ