เมื่อคุณเดินเข้าไปในซูเปอร์มาร์เกต หรือร้านขายของชำ อาจสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของอาหารและเครื่องดื่ม ที่มีการโฆษณาว่าใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ให้สารอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีประโยชน์ต่อร่างกาย ประกอบกับดีไซน์บรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม พกพาสะดวก ยกตัวอย่างเช่น อุดมไปด้วยวิตามิน กากใยอาหาร ฯลฯ ซึ่งเบื้องหลังของสินค้าอาหารและเครื่องดื่มนานาสรรพคุณ น่าอร่อย น่าลองนี้ก็คือ อาหารฟังก์ชัน (Functional food)
ที่ผู้ผลิตในปัจจุบันพยายามเพิ่มหรือเติมสารอาหารที่สังเคราะห์มาจากวัตถุดิบทางธรรมชาติลงไปในอาหารหรือเครื่องดื่มธรรมดา ให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ซื้อที่วิ่งตามกระแสสุขภาพ อยากลดความเสี่ยงของการเกิดโรค จึงไม่น่าแปลกว่าธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มจะเติบโตอย่างรวดเร็ว และก็มีคนคาดการณ์ว่า ธุรกิจสายนี้มีส่วนแบ่งตลาดโลกถึง 10,000 ล้าน-20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี!
ต้นกำเนิดของเทรนด์อาหารฟังก์ชัน ประเทศแถบเอชียมีอาหารทำนองนี้มานานแล้ว แต่อยู่ในรูปแบบอาหารที่มีส่วนผสมของสมุนไพรต่างๆ เพื่อป้องกันและรักษาโรคมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น อาหารจีนที่ใช้เครื่องเทศหลากหลายชนิด แต่การเปิดเผยและใช้คำว่าอาหารฟังก์ชันมีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศญี่ปุ่นในยุค 80 เมื่อรัฐบาลเห็นชอบและสนับสนุนให้ทุนเพื่อวิเคราะห์และพัฒนาสารอาหารที่ได้จากสัตว์ พืชหรือแบคทีเรียว่าจะมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไรบ้าง ซึ่งตอนนั้นเรียกกันว่า อาหารเพื่อประโยชน์เฉพาะต่อสุขภาพ หรือ FOSHU และเมื่อ ค.ศ.1988 ประเทศแคนาดาและสวีเดนก็ออกกฎหมายแจ้งให้ผลิตภัณฑ์อาหารใดๆ ที่ใช้สารอาหารแบบนี้ต้องติดฉลากแจ้งบนสินค้า จนถึงปัจจุบันเทรนด์อาหารก็ขยายเข้าสู่การแข่งขันของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มอย่างรุนแรง ซึ่งประเด็นหลักของจุดขายใหญ่ก็คือ นำเสนอความเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด เน้นผลประโยชน์ด้านสุขภาพ ป้องกันโรคต่างๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชะลอแก่) และสุดท้ายหาซื้อได้สะดวก รับประทานหรือดื่มได้ทันที ยกตัวอย่างเช่น น้ำผลไม้ นม กาแฟ เครื่องดื่มธัญพืช เครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา เป็นต้น
ส่วนประเภทของอาหารฟังก์ชัน เราสามารถแบ่งออกตามลักษณะของแหล่งที่มาได้ 3 ประเภทใหญ่ๆ นั่นคือ สารอาหารที่มาสัตว์ แบคทีเรียและพืชผักผลไม้ต่างๆ
1. สารอาหารที่ได้จากสัตว์ สารอาหารที่ได้รับการเติมลงในผลิตภัณฑ์มากและได้รับความนิยมก็คือ
โอเมก้า-3 และโอเมก้า-6 คุณสามารถเห็นสารอาหารเหล่านี้ในผลิตภัณฑ์อาหารตลาดกลุ่มเด็ก วัยทำงานและผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นกลุ่มกรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายต้องการ นั่นคือ กรดไลโนเลอิก (linoleic acid) เป็นกรดไขมันชนิดโอเมก้า-6 (omega-6) และกรดอัลฟ่าไลโนเลนิก (-linolenic acid) ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดโอเมก้า-3 (omega-3) กรดไขมันทั้ง 2 ชนิดเป็นสารตั้งต้นของสารกลุ่ม eicosanoid ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยกรดไขมันชนิดโอเมก้า-3 มีผลลดการอักเสบเมื่อเทียบกับกรดไขมันชนิดโอเมก้า-6 จึงอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคที่เกี่ยวกับการอักเสบต่างๆ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) และกรดไขมันชนิดนี้ก็ยังช่วยลดการหลั่งสารที่เกี่ยวข้องกับภูมิแพ้ด้วย นอกจากนี้ กรดไขมันชนิดโอเมก้า-3 ที่พบมากในปลาทะเล (Eicosapentaenoic acid, EPA และ Docosahexaenoic acid, DHA) ยังช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด เป็นการลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
แคลเซียม เป็นสารอาหารที่คนส่วนใหญ่รู้จักอย่างดี เพราะช่วยในการสร้างเสริมกระดูกและฟันให้แข็งแรง ส่วนใหญ่ผลิตภัณฑ์อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีแคลเซียมมักจะเสริมวิตามินดี และวิตามินเค เพื่อช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและสร้างเนื้อเยื่อกระดูก ลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุน
กลุ่มวิตามินบี ได้แก่ วิตามินบี 1 บี 2 ไนอาซิน บี 6 บี 12 แพนโธทีนิก และกรดโพลิค (Pholic) มีผลต่อสมาธิ ความคิด ความจำและความฉลาด อาหารในกลุ่มนี้ช่วยป้องกันสมองเสื่อม โดยเฉพาะกรดโพลิค วิตามินบี 6 บี 12 จะช่วยกันทำงานป้องกันการลดระดับของฮอร์โมนซีสเตอีนในเลือด ทำให้ความจำ การเรียนรู้ ไม่ล่าถอยลง มีในอาหารประเภทนมและผลิตภัณฑ์นม และอาหารทะเล
กรดไลโนเลอิค และกรดไลโนเลนิค เป็นกรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายได้จากอาหารเท่านั้น ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นเองได้ จึงต้องหามาจากอาหารซึ่งมีจำนวนน้อย นอกจากจะพบในพืชแล้วยังมีในปลาทะเล มีประโยชน์ในการควบคุมระบบความดันโลหิต ควบคมระดับไขมันในเลือด ระบบฮอร์โมนต่าง ๆ ลดการอักเสบที่เกิดจากการบาดเจ็บหรือติดเชื้อ ทางด้านสุขภาพจึงนำมาใช้ควบคุมด้านสุขภาพของระบบเส้นเลือด แล้วยังใช้ในสุขภาพผิวอีกด้วย ซึ่งกรดไขมันชนิดนี้จะทำให้ผิวสดชื่น ไม่แห้งหยาบ คัน หรือลดการเป็นจุดด่างดำ โดยเฉพาะสตรีที่มีอายุมากขึ้น
กรดอะมิโนและโปรตีนเวย์ มีผลในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โปรตีนจากนมในส่วนที่เรียกว่า โปรตีนเวย์ (whey protein) ซึ่งประกอบไปด้วยกรดอะมิโนจำเป็น ช่วยในการสร้างกลูตาไธโอน (glutathione) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระธรรมชาติในร่างกาย ในน้ำนมแม่มีโปรตีนเวย์อยู่ในปริมาณสูง จึงอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทารกที่กินนมแม่มักไม่ค่อยเจ็บป่วยง่าย กรดอะมิโนอาร์จินีนและกลูตามีนมีบทบาทต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยกลูตามีนเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน การให้กลูตามีนเสริมในผู้ป่วยหนักที่ต้องให้อาหารทางหลอดเลือดดำเป็นเวลานาน พบว่าช่วยให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในทางเดินอาหารดีขึ้นและลดการติดเชื้อได้
2. แบคทีเรีย เป็นแบคทีเรียสุขภาพที่ดีพิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหาร และขับถ่ายของมนุษย์
พรีไบโอติก (Prebiotics) คือ ส่วนของอาหารที่ไม่ถูกย่อยในทางเดินอาหาร ซึ่งมีผลทำให้กระตุ้นการเจริญของแบคทีเรียบางชนิดในลำไส้ใหญ่หรือโพรไบโอติกนั่นเอง การหมักพรีไบโอติกจะได้กรดไขมันชนิดสายสั้น เช่น อินูลิน ฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์ กาแลกโตโอลิโกแซกคาไรด์ ช่วยปรับสมดุลการขับถ่ายและด้วยคุณสมบัติเหมือนใยอาหารพรีไบโอติกก็จะช่วยบรรเทาอาการท้องผูก เนื่องจากผลของการเพิ่มน้ำหนักของอุจจาระและผลต่อการเคลื่อนไหวของลำไส้จึงช่วยให้ขับถ่ายง่ายขึ้น และยังช่วยดูดซึมแร่ธาตุบางชนิดได้ เช่น แคลเซียม เหล็ก แมกนีเซียม และสังกะสี
โพรไบโอติก (Probiotics) กลุ่มของจุลินทรีย์ที่มีชีวิตซึ่งเข้าไปอยู่ในระบบของร่างกายมนุษย์และสัตว์ แล้วก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ โดยจุลินทรีย์สุขภาพนั้นทำหน้าที่ช่วยปรับสมดุลของสภาพแวดล้อมในระบบลำไส้เสริมสร้างภูมิคุ้มกันและช่วยปรับสมดุลของสภาพแวดล้อมในระบบลำไส้ ช่วยป้องกันไม่ให้จุลินทรีย์ชนิดก่อโรคมาเกาะติดผนังลำไส้ และหลั่งสารพิษที่มีผลทำให้เยื่อบุลำไส้อักเสบได้ เพิ่มความแข็งแรงของผนังลำไส้ ช่วยลดความรุนแรงของอาการท้องเสีย โดยลดระยะเวลาของโรคและเพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยบรรเทาอาการไม่ทนต่อแลคโตส (Lactose intolerance) เนื่องจากแลคโตสไม่สามารถถูกย่อย ดังนั้นหลายคนที่ดื่มนมแล้วจึงเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเดิน ปวดท้อง โพรไบโอติกในอาหารประเภทนมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ตสามารถช่วยบรรเทาอาการนี้ได้ เนื่องจากโพรไบโอติกได้ช่วยย่อยแลคโตสไปแล้วในระหว่างการหมัก จึงทำให้มีแลคโตสเหลือน้อยกว่าหรือไม่มีเลย
แลคโตบาซิลลัส และเสต็ปโตคอกคัส เป็นแบคทีเรียยอดนิยมในอาหารประเภทนมเปรี้ยวและโยเกิร์ตต่าง ๆ บางสายพันธุ์อาจช่วยให้ระบบลำไส้แข็งแรงขึ้น และลดความเสี่ยงโรคมะเร็งบางชนิด อีกทั้งยังช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลในคนบางกลุ่ม แต่จะทำงานได้ดียิ่งขึ้นถ้าได้รับแคลเซียม วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินบี 2 ฟอสฟอรัส และโพรไบโอติกร่วมด้วย
3. จากพืช ผักและผลไม้ ได้แก่ กากใยอาหาร วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่คนเราต้องการในแต่ละวัน แม้จะต้องการปริมาณไม่มากแต่ก็ขาดไม่ได้ และกลุ่มวิตามินป้องกันการเสื่อมสลายของเซลล์ เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี หรือศาสตร์ชะลอแก่ พวกแอนติออกซิแดนซ์ ก็กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในขณะนี้ ยกตัวอย่างเช่น
คอลลาเจน เป็นโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบของผิวหนัง ทำหน้าที่ป้องกันอวัยวะภายในและเป็นตัวเชื่อมอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย และช่วยให้ผิวพรรณชุ่มชื่น นุ่มนวล ยืดหยุ่นได้ดี ไม่เหี่ยวย่น จึงได้รับความสนใจในการใช้เสริมอาหารเพื่อเสริมสุขภาพผิว การได้รับเสริมในอาหารอาจจะช่วยหรือกระตุ้นกระบวนการสังเคราะห์ คอลลาเจนในร่างกายจึงเป็นกระบวนการฟื้นฟูสภาพผิวที่ต้องทำการวิจัยเพิ่มเติม
ฟลาโวนอยด์ เป็นสารที่ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและอาจช่วยป้องกันมะเร็ง ลดการอักเสบของข้อ ชะลอภาวะหลงลืมง่าย
โคเอนไซม์คิว 10 เป็นสารที่ทำหน้าที่กับสารตัวอื่นๆ ในการรักษาอาการผิดปกติมานานแล้วในวงการแพทย์ มีคุณสมบัติช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดและหัวใจ ส่งเสริมภูมิต้านทาน ทำให้สดชื่นกระฉับกระเฉง ป้องกันโรคสมองเสื่อมและลดความดัน แต่ช่วงหลังได้รับความสนใจมากจากในเรื่องยับยั้งการสร้างสารอนุมูลอิสระ เราสามารถรับโคเอนไซม์คิว 10 ได้จากการรับประทานตับ เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล เป็นต้น
ไลโคปีน สารอาหารที่พบมากในผักหรือผลไม้ที่มีสีสันแดง-ส้ม หรือผลไม้จำพวกที่ขึ้นต้นด้วย มะ ทั้งหลาย เช่น มะเขือเทศ มะม่วง มะปราง มะละกอ ป้องกันเซลล์ระบบภูมิต้านทานจากการทำลายของอนุมูลอิสระ ป้องกันภาวะจอตาเสื่อม โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็ง เป็นต้น
คาเตชิน ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง มีส่วนช่วยลดโคเลสเตอรอล และช่วยลดการแข็งตัวของเลือด ช่วยเพิ่มการเผาผลาญไขมัน และช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 200 มก. เรามักพบสารนี้ในเครื่องดื่มประเภทชาหรือกาแฟ ข้อควรระวังคือ สตรีที่ให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการดื่มชาเขียว
เพกติน มาจากใยอาหารชนิดละลายน้ำ ช่วยป้องกันหลอดเลือดจากการทำลายของโคเลสเตอรอลชนิดร้าย มีประโยชน์ต่อการรักษาโรคอุจจาระร่วงและโรคเบาหวาน
ลูเตอินและซีแซนทิน เป็นสารอาหารที่จัดอยู่ในกลุ่มต้านอนุมูลอิสระเช่นกัน ได้มาจากผักและผลไม้ที่มีสีเหลือง ส้มและเขียวสด ช่วยบำรุงสายตา ช่วยในการมองเห็น
กรดไฮยาลูโรนิค เป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่ร่างกายสังเคราะห์ได้ในชั้นหนังแท้ มีคุณสมบัติสำคัญคือ สร้างความยืดหยุ่นและชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง เพราะสามารถดูดและอุ้มน้ำได้ถึง 1,000 เท่า สารชนิดนี้เป็นส่วนประกอบสุดฮิตที่เติมลงในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง แต่ปัจจุบันได้แผ่ขยายความนิยมมาในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบ้างเพื่อสร้างจุดขาย แต่เนื่องจากปริมาณที่เติมมีสัดส่วนน้อย ดังนั้นจึงเป็นการรับประทานตามแฟชั่นมากกว่าหวังผล 100%
ดังนั้นไม่ว่าอาหารหรือเครื่องดื่มจะผ่านกระบวนการคิดค้น วิจัยหรือพัฒนาให้อุดมไปด้วยสารอาหารอย่างครบครันแค่ไหน คุณก็ยังต้องรับประทานอาหารที่ปรุงสดๆ ใหม่ๆ ทั่วไปเป็นหลัก เพราะร่างกายคนเราต้องการสารอาหารที่หลากหลายจากอาหารหลากชนิด การหวังพึ่งหรือยึดติดกับอาหารแห่งอนาคตมากไปไม่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงอย่างยั่งยืน พูดง่ายๆ คือ ต้องเดินสายกลาง ถ้าคุณคิดว่ารับประทานอาหารครบ 5 หมู่เป็นประจำอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องดิ้นรนหามารับประทานมากนัก แต่ถ้าคิดว่าชีวิตประจำวันยุ่งจนไม่มีเวลารับประทานอาหารให้ครบได้ ก็รับประทานอาหารหลักคู่กับอาหารที่เติมสารอาหารพิเศษร่วมด้วยก็ได้ แต่ต้องอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมแก่ความต้องการและถูกกับโรคของตัวเองนะคะ
เราชวนคุณให้เป็นคนหูหนักและจู้จี้! กรณีผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มฟังก์ชันที่โฆษณาอ้างเกินจริง
เทคโนโลยีที่ทันสมัย ช่วยอำนวยความสะดวกให้ทางเลือกแก่ผู้ซื้อให้ได้รับสารอาหารที่หลากหลาย และครบถ้วนจากการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มนั้นๆ แต่การเติมสารอาหารทุกอย่างก็มีข้อควรระวังเช่นกัน โดยเฉพาะสารอาหารที่เติมลงไปนั้นต้องปลอดภัยต่อสุขภาพจริง ได้รับมาตรฐานและตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว และที่สำคัญคุณยังจำเป็นต้องศึกษาและใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อก่อนนำมารับประทานเสมอ ไม่ตกเป็นเหยื่อของการอ้างอิงหรือโฆษณาที่เกินจริง ซึ่งล่าสุดมีตัวอย่างให้เห็นทางหน้าหนังสือพิมพ์ว่า กาแฟสำเร็จรูปยี่ห้อหนึ่งได้ลักลอบใส่สารซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ยาที่ใช้รักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งผลข้างเคียงคือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน หากผู้ที่เป็นโรคหัวใจดื่มก็อาจอันตรายถึงเสียชีวิตได้ เช่นเดียวกับการโฆษณาว่า อาหารหรือเครื่องดื่มนั้นมีสรรพคุณในเชิงป้องกันรักษาโรค เช่น ลดความอ้วน ลดน้ำหนัก ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง เป็นต้น
ที่มาข้อมูล : นิตยสาร Health Today