Advertisement
|
วารสาร NeuroReport ตีพิมพ์บทความ ว่าด้วยคุณประโยชน์ ของ ‘คำสบถ' ผลงานของนักจิตวิทยาจาก Keele University แห่งสหราชอาณาจักร ที่พบว่า การสบถออกมาด้วยดีกรีความหยาบคายอย่างไม่บันยะบันยัง มีส่วนช่วยลดทอนความเจ็บปวดทางกายได้ นอกเหนือไปจากการบ่นระบายอารมณ์
|
|
ทำให้นึกย้อนกลับมามองเมืองไทยของเรา ยิ่งทุกวันนี้ ภาวะวิกฤติทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองไม่มีทีท่าว่าจะทุเลา จึงทำให้อดคิดไม่ได้ว่า การที่ได้ยินคนรอบข้าง สบถกันถี่ขึ้นๆ นั้น อาจเป็นดังที่งานวิจัยเขาว่าไว้ว่าการสบถออกมา ช่วยได้ทั้งระบายความอัดอั้นตันใจและลดทอนความเจ็บปวด
ฉิบหาย, เชี่ย แม่ง, สัตว์ เอ๊ย! เชื่อเถอะน่า ว่า ในแต่ละวัน ต้องได้ยินคำพวกนี้ลอยผ่านหูบ้างไม่มากก็น้อย เมื่อคำสบถเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่เราไม่อาจหนีพ้น ก็น่าจะลองมาสำรวจหลากทัศนะ ที่มีต่อ ‘คำสบถ' กันดูสักหน่อย ว่าวัยรุ่นจอมเฮี้ยว, แรปเปอร์ชื่อดัง, และจอมสบถตัวพ่อ มีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร
1- สบถ คือ อะไร?
"สำหรับผม การสบถ คือการระบายอารมณ์อย่างหนึ่ง เรียกได้ว่า เป็นการระบายอารมณ์ออกมาแบบง่ายๆ เช่น ตอนที่ผมเตะบอลกับเพื่อน แล้วยิงไม่เข้ากรอบประตู แทนที่จะมาปลอบใจกัน บ่นเสียดายกัน ว่า ‘เฮ้ย! ไม่เป็นไรๆ นะ เล่นใหม่ๆ เอ้า ! ปรบมือกันหน่อย เริ่มใหม่ๆ' มันก็ยาวไป เราก็สบถออกมาแค่สั้นๆ ง่ายๆ ‘แม่ง...เอ๊ย!' แบบนี้ มันเข้าใจง่ายกว่า"
เป็นนิยามความหมายง่ายๆ จาก เกรียงศักดิ์ ทะโนลัพ หนุ่มผิวเข้มที่ยอมรับว่า ปล่อยคำสบถออกมาอยู่เสมอ เปรียบเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
ก่อนที่ สุรเดช ยิ้มละมัย เพื่อนซี้จอมเฮี้ยว ยกตัวอย่างเสริมว่า "ลองนึกภาพดูสิครับ เวลาเล่นฟุตบอลกัน ถ้าเราเตะบอลออกนอกกรอบ แล้วถ้าไม่ได้พูดอะไรออกมา เราก็จะแบบว่า...(ทำท่าอึดอัด ทรมาน) เพราะฉะนั้น คำสบถมันก็ต้องหลุดออกมา เช่น ‘เชี่ย เอ๊ย!'"
ก่อนที่เกรียงศักดิ์จะเสริมว่า "เหมือนพวกนักฟุตบอลต่างประเทศแหละครับ เวลาดูถ่ายทอดสด แล้วเห็นเขายิงไม่เข้า เราก็เห็นเขาสบถ อ่านปากเขา เราก็รู้ว่าเขาพูดว่า ‘ฟัค ฟัค' ฟัค นู่น ฟัคนี่ ก็ว่ากันไป เราเข้าใจ ว่ามันเป็นอารมณ์เสียดาย เพราะยิงประตูไม่เข้า มันเป็นคำหยาบ เราก็เข้าใจ แต่มันคือการระบายออกมาอย่างเต็มที่ มัน ‘ถึงใจ' กว่า"
นั่นคือความหมายแบบง่ายๆ เช่นเดียวกับที่คนไม่น้อย เข้าใจว่าเป็นลักษณะของคำสบถ ที่พ่นบ่นระบายอารมณ์ออกมาอย่างรวดเร็ว กระชับ อาจสาแก่ใจนิดๆ หรือสะใจสุดๆ ก็ว่ากันเป็นกรณีไป
อย่างไรก็ดี นับว่าเป็นความหมายที่มีความคลาดเคลื่อนและคล้ายคลึง กับที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ระบุไว้ว่า สบถ หมายถึง การเปล่งถ้อยคำ เพื่อเน้นให้คนเชื่อ โดยอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ลงโทษตนหรือให้ภัยพิบัติต่างๆ เกิดกับตน หากตนไม่ปฏิบัติตาม หรือไม่เป็นไปอย่างที่พูดไว้
ชวนให้นึกถึงคำพูดแต่ก่อนเก่าที่เคยคุ้นหู เป็นต้นว่า ‘ให้ฟ้าผ่าตาย', ‘ให้ตายห่าเถอะ' ‘ให้สวรรค์ลงโทษ' เป็น ‘คำสบถสาบาน' ที่คล้ายจะค่อยๆ เลือนหายไปจากยุคมิลเลนเนียม
ลองนึกภาพ นักฟุตบอลยิงลูกโทษพลาดอย่างน่าเสียดาย คู่แข่งมีสกอร์ขึ้นนำ นักเตะยก 2 มือ กุมขมัยอย่างเจ็บปวดกับความผิดพลาด ก่อนหลุดปาก ‘โอ...ขอสวรรค์ลงโทษ' อาจไม่รวดเร็วฉับไว ถึงใจได้เท่าสบถแบบง่ายๆ ‘เชี่ยเอ๊ย!'
2-สบถฮิปฮอป
หลังจากรับฟังความเห็นของ 2 หนุ่ม จอมสบถไปแล้ว ลองมาฟังความเห็นของ ฮิปฮอปสุดซ่าคนหนึ่งของเมืองไทยดูบ้าง ในฐานะที่เพลงฮิปฮอป นั้น มักถูกมองว่า มีคำสบถ คำหยาบ ปนอยู่ในเนื้อหา และเหล่านี้ คือความเห็นของ ‘ฟักกลิ้งฮีโร่' หรือ กอล์ฟ-ณัฐวุฒิ ศรีหมอก ที่มีต่อคำสบถในเพลงฮิปฮอป
"การใช้คำสบถในเพลงฮิปฮอป ไม่ใช่การปลอดปล่อยหรือระบายความเครียดของนักร้องหรอกครับ แต่คือการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา คิดเห็นอย่างไรก็พูดออกมาอย่างนั้นมากกว่า เพลงฮิปฮอปที่ใช้ภาษาสุภาพๆ ก็ทำให้ผู้ถ่ายทอดรู้สึกปลดปล่อยได้เหมือนกัน"
‘ฟักกลิ้ง ฮีโร่' เจ้าของเพลง ‘ราตรีสวัสดิ์' ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในตอนนี้กล่าวด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลต่างกับตอนที่เขาร้องเพลงอยู่บนเวทีคอนเสิร์ตราวฟ้ากับเหว
เขาแจงให้ฟังว่า คำสบถในเพลงฮิปฮอป เป็นความตรงไปตรงมา เนื่องจากภาษามีหลายระดับ คือ ภาษาที่ใช้กับพ่อแม่ ใช้กับเพื่อนฝูง ใช้กับผู้ใหญ่ หรือใช้กับคนรัก ซึ่งไม่เหมือนกันอยู่แล้ว โดยคำสบถ คำไม่สุภาพ หรือคำหยาบในเพลงฮิปฮอป เป็นการสื่อสารกันระหว่างนักร้องกับผู้ฟังในฐานะเพื่อนกับเพื่อนที่มีความสนิทสนมกัน ซึ่งคำเหล่านี้ไม่ได้มีที่มาที่ไปจากเพลงฮิปฮอป เป็นคำที่หลายคนใช้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เพียงแต่นักแต่งเพลงนำไปใช้ในเพลงฮิปฮอป
ในความเห็นของกอล์ฟ การใช้คำสบถในเพลงฮิปฮอป ไม่ได้ทำให้นักร้องฮิปฮอปที่เป็นผู้ชายมีความเป็นชายชาตรีมากขึ้นอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่การเป็นสุภาพบุรุษที่แท้จริง วัดจากการกระทำและการแสดงออก มากกว่าการพ่นคำสบถหยาบคาย กักขฬะ ออกมาตอนร้องเพลง
ก่อนจะทิ้งท้าย ว่า "เวลาอยู่บนเวทีแล้วนักร้องฮิปฮอปร้องคำสบถออกมา ไม่ได้ทำให้นักร้องเกิดความฮึกเหิม ห้าวหาญ เข้มแข็ง หรือรู้สึกปลดปล่อย"
ตรงกันข้าม เวลาร้องเพลงฮิปฮอปที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิต ชาติ หรือการให้กำลังใจ การจะทำให้เกิดอารมณ์ฮึกเหิมและซาบซึ้งใจ จำเป็นต้องดูองค์ประกอบหลายๆ อย่างร่วมด้วย เช่น ท่วงทำนองของดนตรี ว่าปลุกเร้าผู้ฟังได้มากแค่ไหน ทัศนะของ ‘ฟักกลิ้งฮีโร่' อาจสรุปได้ง่ายๆ ว่า คำสบถ อาจเป็นส่วนหนึ่งของฮิปฮอป แต่ไม่ใช่แกนหลัก
3- จอมสบถตัวพ่อ !?!
เมื่อเอ่ยถึงคำสบถ คำหยาบ เพียงความเห็นของวัยรุ่นจอมสบถ หรือนักร้องเพลงฮิปฮอป คงยังไม่สาแก่ใจพอ หากไม่ตบท้ายด้วยความเห็นของ บุรนิจน์ รัตนวิเชียร หรือ บ.บู๋ คอลัมนิตส์และนักจัดรายการที่ทั้งปากจัด และปาก (กา) จัดอย่างเหลือร้าย เป็น จอมสบถ ‘ตัวพ่อ' ก็ว่าได้ แต่เนื่องด้วย ลีลาฝีปากอันเผ็ดร้อนของเขา มีกิตติศัพท์เล่าลือกันไปทั่วร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำแล้ว เราจึงมิอยากขยายความเพิ่มเติม แต่ลองเปลี่ยนมุมมอง ให้เขาเล่าถึงคำสบถในงานเขียนของตัวเองบ้าง
บ.บู๋ บอกกับเราว่า การที่เขาสบถในตัวหนังสือ ถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนอารมณ์ จากที่ดำเนินเรื่องมาอย่างเรียบง่ายก็เปลี่ยนมาใช้คำสบถเพื่อเปลี่ยนอารมณ์ตัวหนังสือให้มีความน่าสนใจขึ้นมาบ้าง ส่วนอีกทางหนึ่งก็เป็นการขยายข้อความที่เขียนมาก่อนหน้านั้น หรือขยายข้อความที่จะเขียนตามมาหลังคำสบถ เพื่อแสดงให้รู้ถึงอารมณ์ของผู้เขียนในขณะนั้น อย่างที่ตัวเขาบอกว่า "เพื่อแสดงให้รู้ว่ามันน่าเบื่อ มันน่ารำคาญ หรือกูไม่พอใจ"
หากในมุมมองของนักภาษาศาสตร์บางคน อาจไม่เห็นด้วยต่อการใช้คำสบถในงานเขียนนั้น บ.บู๋ แสดงความคิดเห็นอย่างเผ็ดร้อนว่า "พวกนี้มันดัดจริต!!"
"พวกนี้จะบอกว่ามันหยาบคาย เดี๋ยวเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี มันดัดจริต...เด็กมันไม่ต้องมาดูสบถจากตัวหนังสือหรอก มันไปโรงเรียนมันก็เจอ ครูมันก็สบถ เพื่อนมันก็สบถ คือคนไทยนี่แบบว่าดัดจริต มือถือสากปากถือศีลไง ใครที่มาเป็นห่วงนี่ด่ากลับไปเลยว่าอย่ามาดัดจริต ไอ้สบถนี่บางทีมันต้องดูบริบทด้วย เวลาคนเขาเขียนหนังสือไม่ใช่ว่ามันสบถทุกบรรทัด อย่าง 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เขาก็สบถในตัวหนังสือ แต่เขามีจังหวะจะโคนมีชั้นเชิงในการใช้คำสบถ มันอยู่ที่ชั้นเชิง มันอยู่ที่บริบทด้วย ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ทุกคนมาสบถเต็มหน้ากระดาษ อย่างนั้นมันไม่เรียกว่างานเขียนหรอก"
คอลัมนิสต์ฝีปาก (กา) จัด ยืนยันว่าการใช้คำสบถในงานเขียนไม่ใช่เรื่องหยาบคายหรือกักขฬะ "มันอยู่ที่คนใช้ ถ้าคนใช้เป็นมันจะไม่หยาบ ยกตัวอย่างอย่าง 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เขาใช้เป็น อ่านยังไงก็จะไม่หยาบ แถมสนุกแถมตลก บางทีผมอ่านๆ อยู่เขาโพล่งสบถขึ้นมา ผมหัวเราะก๊ากเลย หรืออย่างคึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านอยู่ดีๆ เหมือนแกโยนระเบิดตูมขึ้นมาบนบรรทัดเลย เราแบบว่า ‘โห..แม่งเจ็บว่ะ บรรทัดนี้แสบว่ะ บรรทัดนี้แดกถึงกึ๋นว่ะ' แต่พอคนอ่านไม่เป็น มันจะไม่สนใจหรอกว่าคนใช้สบถนเป็น หรือไม่เป็น พอมันเห็นคำที่ดูแบบไม่สุภาพอยู่บนบรรทัดหนังสือ มันก็จะดัดจริตไว้ก่อนแล้ว"
แต่ทั้งนี้ บ.บู๋ ยังขอยืนยันทิ้งท้ายว่า การใช้คำสบถในงานเขียนต้องมีจังหวะที่เหมาะสม เพราะหากใช้พร่ำเพรื่อเกินไปก็จะไม่ใช่งานเขียนที่เป็นศิลปะ
"งานศิลปะมันกำหนดไม่ได้ มันไม่ใช่ฟอร์แมตว่าหนึ่งหน้ากระดาษ ห้ามสบถเกินห้าคำพูด มันอยู่ที่อารมณ์ตอนเราเขียน เราเขียนถึงเรื่องการเมือง เราเขียนถึงไอ้หน้าเหลี่ยม มันก็อาจจะต้องสบถมากกว่าเดิมหน่อย มันกำหนดไม่ได้ มันอยู่ที่อารมณ์คนเขียน"
4- สบถวันละนิด จิตแจ่มใส
จบบทสนทนากับนักร้องและคอลัมนิสต์ กลับมาสู่ความเรียบง่ายในชีวิตธรรมดา ของคนธรรมดา ที่สบถทุกวันเป็นปรกติธรรมดา อย่าง เกรียงศักดิ์ และ สุรเดช คู่หูจอมสบถ ที่บอกเล่าถึงวิถีการสบถของพวกเขาว่า "ถ้าเราอยู่กับเพื่อนๆ เราก็จะสบถออกมาเลย แต่ถ้าอยู่ตามสถานที่เป็นทางการ อยู่ตามสถานที่ราชการ ก็ยับยั้งไว้ได้บ้าง แต่สรุปแล้ว สำหรับผม คำสบถเป็นคำที่ใช้อยู่ทุกวัน บ่อยมาก แบบว่า ‘มาถี่ ถี่' เลยครับ แล้วตัวผมเป็นคนมีหลายอารมณ์ คำสบถก็จะต่างกันไป ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์ เช่น ถ้าอารมณ์เสียดายอย่าง เล่นฟุตบอลแล้วยิงออกนอกกรอบประตู ก็มักจะหลุดว่า ‘แม่ง เอ๊ย!' มันจะมีสอดแทรกอยู่ในทุกจังหวะชีวิต
"เราจะหลุดออกมาเรื่อยๆ แม้แต่เวลาเห็นผู้หญิงสวยเดินผ่าน ก็ ‘แม่ง สวยโคตร' หรือถ้าเป็นกะเทยสวยๆ เดินผ่าน ก็ ‘แม่งเอ๊ย เสียดาย' แล้วถ้าถามว่า สบถเป็นคำหยาบคายไหม พวกเราไม่ถือว่าเป็นคำหยาบนะครับ แต่คนสูงวัย หรือ ส.ว.ทั้งหลาย เขาฟังแล้วมักจะรู้สึกว่าหยาบคาย"
เกรียงศักดิ์อธิบายอย่างละเอียด ก่อนที่ สุรเดช จะเพิ่มเติม ว่า "ผู้ใหญ่หลายๆ คน เวลาเขาสบถ ผมได้ยินอวัยวะเพศร่วงออกมาเต็มเลยนะ สำหรับผม คำสบถ มันเป็นสิ่งจำเป็น คือ ผมว่ามันมีความจำเป็นที่ต้องใช้ ส่วนเสน่ห์ของมัน ผมมองว่า มันตลกดีนะ แต่ที่สำคัญ เวลาที่ผมสบถออกมา เหมือนเป็นการพูดกับตัวเองมากกว่า ผมไม่ได้ด่าใครออกไป อยู่คนเดียวก็พูดได้ พูดแล้วก็ปล่อยไป เป็นคำปล่อยทิ้ง ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน"
ตราบใดที่มนุษย์ยังคงมีความรู้สึก... คำบ่นระบายอารมณ์และอีกสารพัดคำสบถ ก็คงจะยังอยู่เคียงคู่มนุษยชาติไปอีกเนิ่นนาน เพราะมันคล้ายอยู่ในดีเอ็นเอหรือสายพันธุกรรมไปแล้ว
|
ที่มา http://www.manager.co.th/
|
วันที่ 27 ก.ย. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,135 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,148 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,146 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,145 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,138 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,153 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,140 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,138 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 9,869 ครั้ง |
เปิดอ่าน 8,875 ครั้ง |
เปิดอ่าน 1,661 ครั้ง |
เปิดอ่าน 7,913 ครั้ง |
เปิดอ่าน 14,484 ครั้ง |
|
|