มวลดอกไม้นานาพรรณ อันอยู่ประดับโลก บ้างก็มีสีสันฉูดฉาด บาดตา บ้างก็มีกลิ่นหอมหวนชวนดม แต่ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้เช่นใด ไม่ว่าจะเป็นไม้ดอกหรือไม้ใบ ต่างก็มีเสน่ห์ ของตัวเองแตกต่างกันไป สร้างความชุ่มชื่นให้แก่อารมณ์ของผู้พบเห็นอย่างที่เรียกว่า “อาหารตา อาหารใจ ” ช่วยคลายความเครียดได้ทางหนึ่ง ซึ่งไม่เป็นเรื่องแปลกที่จิตกวี หรือนักประพันธ์ทุกยุคทุกสมัยต้องนำเอาพันธ์ไม้ไปเป็ฯส่วนหนึ่งประกอบไว้ในวรรณกรรมของตนด้วย
จิตกวีของไทยก็เช่นกัน ต่างก็สนใจนำเอาพันธ์ไม้มาเรียบเรียงคำให้เป็นร้อยกรองที่มีความไพเราะเพราะพริ้ง สอดแทรกเข้าไปในบทประพันธ์ ในบทชมสวนบ้าง เดินทางกลางป่าไพรบ้าง บทเกี้ยวพาราสีบ้าง การอ่านวรรณคดีจึงได้ทั้งรสหนังสือ ความรู้เรื่องพันธุ์ไม้ที่บ้างครั้งเรายังไม่รู้จัก ไม่เคยพบเห็นด้วยซ้ำไป อีกทั้งยังใช้สำหรับค้นคว้าทางด้านวิชาการ
เราจะพบญาณทัศนะของกวีต่อต้นไม้ ที่นำมาใช้ในบทประพันธ์ต่างๆ กัน เช่น
- จะเห็นได้ว่าคนไทยตั้งแต่สมัยโบราณอยู่กับต้นไม้ด้วยความรัก มีความสุขตามอัตภาพ สภาพดั้งเดิมของคนไทยปลูกบ้านยกพื้นปล่อยใต้ถุนโล่ง เนื่องจากป้องกันน้ำท่วม บางแห้งพื้นที่ลุ่มไม่เหมาะต่อการปลูกพรรณไม้ชนิดที่ไม่สามารถทนแรงของน้ำเมื่อถึงเวลาน้ำท่วมได้ ก็ใช้ชานเรือนทำสวนกระถาง เช่น วรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง ได้พรรณนาต้นไม้ไว้หลายชนิดภายในบริเวณบ้านของขุนช้าง
- ใช้ชื่อไม้แสดงความคร่ำครวญถึงนางอันเป็นที่รัก เป็นแบบแผนคลาสสิค
เช่น กาพย์ห่อโครง “ นิราศธารโศก ” ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ( เจ้าฟ้ากุ้ง ) ลิลิตตะเลงพ่าย ของสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นต้น
- ใช้ไม้ชนิดนั้นๆ แสดงปรัชญา สุภาษิต และคำพังเพย
- แสดงประวัติพันธ์ไม้ เช่น “ มณฑามาแต่แขก ”
จากการศึกษาจะเห็นได้ว่าดอกไม้ในวรรณคดีส่วนใหญ่มักเป็นไม้ดอกที่มีสีสัน สวยงาม และมีชื่อเป็นมงคล จะพบมากในวรรณคดีเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระเลิศหล้านภาลัย ( รัชกาลที่ ๒ ) และวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน พระราชนิพนธืในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ( รัชกาลที่ ๑ ) ส่วนใหญ่มักจะแต่งเป็นคำประพันธ์ประเภทนิราศ อันได้แก่ บทประพันธ์ นิราศธารโศก ของ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ( เจ้าฟ้ากุ้ง ) นิราศพระบาท ของ พระสุนทรโวหาร ( สุนทรภู่ ) เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีบทประพันธ์ประเภท โคลง ฉันท์ กาพย์ ลิลิต อีกด้วย เช่น บทละครนอกเรื่องคาวี พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระเลิศหล้านภาลัย ( รัชกาลที่ ๒ ) บทละครเรื่องเงาะป่า พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ ๕ ) มัทนะพาธา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ ๖ ) โคลงนิราศนรินทร์ ของ นายนรินทร์ ธิเบศร์ ( อิน ) บทละครเรื่องพระอภัยมณี ของ พระสุนทรโวหาร ( สุนทรภู่ ) ลิลิตพระลอ โคลงโลกนิติ ขุนช้างขุนแผน กาพย์พระไชยสุริยา บุณโณวาทคำฉันท์ กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง ลิลิตตะเลงพ่าย เป็นต้น
|