ลานหรือไม้ลาน เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่อยู่ในตระกูลปาล์ม เป็นพันธุ์ไม้ดึกดำบรรพ์ ที่ไม่ขึ้นแพร่หลายนัก มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาและแถบเมดิเตอร์เรเนียน ส่วนใหญ่จะชอบขึ้นอยู่ในที่มีอากาศชื้นเย็น มีฝนตกมาก ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีที่สุด ในดินที่มีความชื้นสูง ดินมีการระบายน้ำได้ดี ไม่ชอบน้ำขัง ต้นลานมีความคงทนต่อภัยธรรมชาติเป็นอย่างดี ต้นเล็กถึงแม้จะถูกไฟไหม้ก็จะงอกขึ้นได้ในโอกาสต่อไป เพราะรากของต้นลาน ฝังลงในดินลึกมาก ต้นลานที่พบในประเทศไทยมี 3 ชนิดคือ
Corypha lecomtei
1.Corypha lecomtei มีชื่อสามัญเรียกว่า ลานป่า Lan pa ในธรรมชาติพบในประเทศเวียดนามและประเทศไทย แต่ไม่ใหญ่เท่าชนิดที่ 3 ในเวียดนามและไทยนิยมนำมาใช้เขียนหรือจารึกอักษร ลานชนิดนี้พบมากที่บ้านทับลาน บ้านขุนศรี บ้านวังมืด ตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี บ้านท่าฤทธิ์ ตำบลวังม่วง อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี บริเวณผานกเค้า อำเภอผานกเค้า จังหวัดขอนแก่น นอกจากนี้ยังพบ ทั่วไปบริเวณจังหวัดลพบุรี , ตาก ,พิษณุโลก,นครปฐม ลานชนิดนี้มีอยู่ในอุทยานแห่งชาติทับลาน จัดว่าเป็นพันธุ์ไม้ดั้งเดิมของไทย
Corpha utan
2.Corpha utan มีชื่อพ้องคือ Corypha elata ชื่อสามัญเรียกว่า ลานพรุ Lan phru หรือ ebang Palm ชอบขึ้นตามแนวชายฝั่งแม่น้ำหรือในพื้นที่ชุ่มน้ำมีการกระจายตั้งแต่อินเดียจนถึงฟิลิปปินส์ และทางตอนเหนือของออสเตรเลียในประเทศไทยพบมากในแถบภาคใต้เขตอำเภอเชียรใหญ่และอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอระโนด จังหวัดสงขลาและตามเส้นทางจากจังหวัดกระบี่ถึงพังงา ลานพรุมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากลานชนิดอื่น คือ ลำต้นสูงคล้ายต้นตาลขึ้นอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากตามที่ราบท้องทุ่ง แม้พื้นที่น้ำท่วมขัง
3. Corepha umbraculifera เป็นปาล์มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีชื่อสามัญว่า ลานวัดหรือลานหมื่นเถิดเทิง หรือ Fan palm, Lontar palm, Talipotpalm ลานชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในศรีลังกาและอินเดีย จนเป็นต้นไม้ประจำชาติของศรีลังกา ประเทศไทยไม่พบในธรรมชาติ แต่มีการนำเอามาปลูกในภาคเหนือของประเทศไทย
Corepha umbraculifera
ต้นลานจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นตรงและแข็ง เนื้อไม้เป็นเส้นใย ไม่มีกิ่ง มีแต่ก้านออกรอบลำต้นเป็นชั้น ๆ มีหนามเป็นฟันเลื่อยสั้น ๆ อยู่สองข้างริมขอบก้านใบ ใบยาวประมาณ 2-3 เมตร ใบใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปพัด ค่อนข้างกลมคล้ายใบตาล บางทีเรียกปาล์มพัด ความยาวของใบ 3-4 เมตร ความกว้างที่แผ่ออกไปประมาณ 4.5-6 เมตร ถือเป็นพันธุ์ไม้ที่มีใบใหญ่ที่สุดในโลก เป็นไม้ทิ้งใบตามธรรมชาติ วงจรชีวิต ของต้นลานค่อนข้างพิเศษกว่าไม้ตระกูลอื่น ๆ คือเมื่อต้นแก่ตั้งแต่อายุ 20-80 ปี ประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนจะออกดอก และผลนั่นหมายถึงชีวิตช่วงสุดท้ายของต้นลานสิ้นสุดแล้ว
ต้นลานจะออกดอกเป็นช่อใหญ่คล้ายรูปปิรามิด ตรงส่วนยอดของลำต้น ช่อดอกหนึ่งจะมีดอกเป็นจำนวนล้าน ๆ ดอก สีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม นับตั้งแต่เริ่มออกช่อดอกและบานกลายเป็น ผลกินเวลาประมาณ 1 ปีขึ้นไป ผลมีลักษณะกลมรี สีเขียว ผลหนึ่งมีเมล็ดเดียว เมล็ดกลมสีดำ เนื้อในคล้ายลูกชิด หรือลูกจาก รับประทานได้ เมื่อผลแก่ร่วงหล่นลงสู่พื้นดินจะงอกเป็นต้นลานเล็ก ๆ มากมาย เนื่องจากลานมีลำต้นเดียว ไม่มีหน่อ ดังนั้นเมล็ดจากผลเท่านั้นเท่านั้นที่จะทำหน้าที่สืบพันธุ์ได้ สามารถใช้เพาะขยายพันธุ์ แต่การเจริญเติบโตของต้นลานเป็นไปอย่างช้ามาก ส่วนการย้ายปลูกกล้าไม้ลาน หาก มีการกระทบกระเทือนทางราก กล้าไม้จะไม่รอดตาย ประโยชน์ของต้นลาน
ลานถือได้ว่าเป็นไม้เศรษฐกิจประเภทหนึ่งของไทย โดยอาศัยผลผลิตที่ได้จากต้นลาน นำมาใช้ประโยชน์เพื่อการดำรงชีวิต ทั้งด้านอุปโภคและบริโภค นับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ส่วนต่าง ๆ ของต้นลานที่นำมาใช้ประโยชน์ได้แก่
1. ยอดลานอ่อน (ใบลานอ่อน) เป็นที่จารึก หนังสือพระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา โดยการใช้เหล็กแหลมจารบนใบลานแล้วใช้ยางรักทา เอาทรายลบยางรักจะแทรกในตัวหนังสือที่จารเป็นเส้นดำ หรือจะใช้เขม่าไฟแทนก็ได้ เรียกหนังสือใบลานเหล่านี้ว่า "คัมภีร์ใบลาน" นอกจากนี้ ยังนิยมนำมาพิมพ์เป็นการ์ด นามบัตร ที่คั่นหนังสือต่าง ๆ ใช้จักสานทำผลิตภัณฑ์ของใช้ อาทิ เช่น หมวก งอบ พัด กระเป๋า เสื่อ ภาชนะในครัวเรือน เครื่องประดับตกแต่งบ้าน เช่น โมบายรูปสัตว์ ปลาตะเพียน ฯลฯ ส่วนภาคใต้นำยอดลานพรุ มาฉีกเป็นใบ สางออกเป็นเส้น ปั่นเป็นเส้นยาวคล้ายด้าย นำไปทอเป็นแผ่น เรียกว่า ห่งอวนหรือหางอวน ทำเป็นถุงรูปสามเหลี่ยมสำหรับไว้ต่อปลายอวน ใช้เป็นถุงจับกุ้งและเคยสำหรับทำกะปิ สานเป็นถุงใส่เกลือ วองใส่ยาเส้นและซองใส่แว่นตา
2. ใบลานแก่ ใช้มุงหลังคาและทำผนังหรือฝาบ้าน บางแห่งใช้ใบลานเผาไฟเป็นยาดับพิษอักเสบฟกช้ำบวมได้เป็นอย่างดี ซึ่งเรียกทั่วไปว่า "ยามหานิล"
3. ก้านใบ ใช้ทำโครงสร้าง ไม้ขื่อ ไม้แป และผนัง บางแห่งใช้มัดสิ่งของแทนเชือกเหนียวมาก ส่วนกระดูกลาน (ใกล้กับบริเวณหนามแหลม) มีความแข็ง และเหนียวมากกว่าส่วนอื่นของก้านใบ ใช้ทำคันกลดพระธุดงค์ นอกจากนี้ยังใช้ทำขอบภาชนะจักสานทั่วไป เช่น ขอบกระด้ง ตะแกรง กระบุง ตะกร้า เป็นต้น
4. ลำต้น นำมาตัดเป็นท่อน ๆ สำหรับนั่งเล่นหรือใช้ตกแต่งประดับสวน ทำฟืนเป็นเชื้อเพลิงหุงต้ม ภาคใต้บางแห่งใช้ทำครกและสาก
5. ผล ลูกลานอ่อนนำเนื้อในมารับประทานแบบลุกชิดหรือลูกจาก ส่วนเปลือกรับประทานเป็นยาขับระบายดี บางแห่งใช้ลูกลานทุบทั้งเปลือก โยนลงน้ำทำให้ปลาเมา แต่ไม่ถึงตาย สะดวกแก่การจับปลา
6. ราก ใช้ฝนรับประทานแก้ร้อน ขับเหงื่อ แก้ไข้หวัด เป็นต้น