Advertisement
❝ Child Centered ❞
กระบวนท่าเก่าที่ยังคงคุณค่าทุกสถานการณ์
เล่าโดย ประเสริฐ ยอดสร้อย
ปัจจุบันวงการศึกษาโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้เรียนโดยตรงก็คือ สถานศึกษา ครู อาจารย์ ได้มีการพัฒนาวิธีการสอนใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง บ้างก็นำวิธีการเดิม ๆ มาลองประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการสอนและประสิทธิผลแก่ผู้เรียน บ้างก็คิดกระบวนท่าใหม่ ๆ ที่ดูแปลก และเป็นที่กล่าวขวัญกันทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นแบบใด เป้าหมายสุดท้ายของวิธีการหรือกระบวนท่าทั้งหลายก็คือให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ ตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง หรือจะกลายเป็นตัวชี้วัด นั่นเอง
ในฐานะเป็นครูผู้สอนคนหนึ่ง ประมาณว่าเป็นครูบ้านนอก จำเป็นที่จะต้องพัฒนา หาความรู้เพิ่มศักยภาพกระบวนท่าการสอนของตนเองให้เท่าเทียมกับคนอื่นในยุทธจักรแห่งวงการศึกษา สำนักใดที่ว่ามีตำราพิชัยสงครามที่ดี โดเด่น แปลกใหม่ น่าสนใจ ก็ไม่เคยพลาดโอกาสที่จะเข้าร่วมศึกษา อบรม ประชุมเชิงปฏิบัติการ ทั้งเต็มใจหรือจำใจก็แล้วแต่ ทำให้เกิดภาพรวม ๆ ในความคิดว่า แก่นแท้ของกระบวนท่าทั้งหลายดูไม่แตกต่างกันเท่าไร จนกระทั่งจะเป็นด้วยวาสนาหรือเคราะห์กรรมกันแน่ ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ครูสอนวิชาภาอังกฤษ ในช่วงชั้นที่ 1 ชั้น ป.1-3 และช่วงชั้นที่ 3 ชั้น ม.1-3 ดูวัตถุดิบที่จะต้องสอนแล้วรู้สึกหนักใจ ต้องสอนผู้เรียนประเภทไม่รู้เรื่องให้รู้ และสอนที่รู้บ้างไม่รู้บ้างให้รู้มากขึ้น เริ่มค้นหากระบวนการที่ควรนำมาใช้ ให้สามารถปรับใช้ได้ทั้งกลุ่มผู้เรียนที่มีความแตกต่างกันในหลายประเด็นให้ได้ จึงค้นคว้า ขอคำปรึกษาจากผู้ที่มีประสบการณ์ ในที่สุดก็พบว่ากระบวนท่าเก่าที่เราเคยใช้ในการขอเลื่อนหรือมีวิทยฐานะอาจารย์ 3 ระดับ 8 ในสมัยนั้น ก็คือ การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หรือ Child Centered นั่นเอง ที่มีความเหมาะสมในทุกสถานการณ์
การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นพัฒนาการของแนวคิดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนาน มีการอ้างเหตุผลสนับสนุนแนวคิดการศึกษาเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมานานแล้ว ย่างน้อยที่สุดก็มีอายุเท่ากับแนวคิดของ พลาโต(Plato) ที่ว่า “จงจัดการศึกษาให้กับเด็ก ๆ ของท่านในรูปแบบของการเล่นสนุก(Let’s your children’s education take from play) (อ้างจาก Entwistle 1970:11) ขณะที่ รุสโซ(Jean-Jacques Rousseau) เขียนไว้ในหนังสือ เอมีล(Emile) ว่า “ธรรมชาติกำหนดให้เด็กเติบโตและพัฒนาตามแบบฉบับของตนเอง และแบบฉบับนี้ไม่ควรถูกขัดขวางหรือทำลาย(Nature provides for the child’s growth in her own fashion and this should never be thwarted) (อ้างจาก Darling 1994:2) หรือที่ ดิวอี้(Dewy) เปรียบเทียบแนวความคิดดังกล่าวนี้เหมือนกับการค้นพบของ โคเปอร์นิคัส ในเรื่องโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ และดวงอาทิตย์เป็นจุดศูนย์กลางของดวงดาวอื่น ๆ ในจักรวาล นั่นคือการจัดการศึกษาต้องเปลี่ยนการจัดศูนย์กลางของความสำคัญ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่อยู่ที่ตัวครู แบบเรียน หรืออยู่ที่ความพอใจของผู้มีอำนาจ แต่ต้องอยู่ที่ธรรมชาติของเด็ก เด็ก ๆ ต้องเป็นดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นศูนย์กลางของดวงดาวอื่น ๆ ซึ่งจะสอดคล้องความเชื่อศรัทธาของ แบรนเดส และกินนิส(Brandes and Ginnis 1988:1) ที่ว่า “ความคาดหวังและความสำเร็จของกระบวนการจัดการศึกษาจะอยู่ที่ตัวผู้เรียนเท่านั้น”
สำหรับคำว่า “ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง(Learner Centered)” “เด็กเป็นศูนย์กลาง(Child Centered)” หรือ “นักเรียนเป็นศูนย์กลาง(Student Centered)” และในปัจจุบันได้กลายเป็น “เด็กเป็นสำคัญ” หรือ “ผู้เรียนเป็นสำคัญ” ไปแล้ว มักมีคำที่นักการศึกษาใช้ในความหมายเดียวกัน อันหมายถึงการจัดประสบการณ์เรียนรู้ที่ต้องพิจารณาให้ความสำคัญกับผู้เรียนเหนือสิ่งอื่นใด โดยมี โรเจอร์(Rogers) เป็นผู้ใช้คำว่านักเรียนเป็นศูนย์กลาง(Student Centered) เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1965 (อ้างจาก Brandes and Ginnis 1988:1)
การจัดประสบการณ์ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางได้รับการยอมรับและเห็นความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากอิทธิพลของปรัชญาการศึกษาที่เกิดขึ้นภายหลัง คือ ปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม(Progressivism) และปรัชญาอัตถิภาวนิยม(Existentialism) ที่ตระหนักถึงความเป็นเอกัต-บุคคลของเด็ก(Children as individual) และธรรมชาติของเด็ก
แนวคิดของนักการศึกษาเกี่ยวกับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีนักการศึกษาไทยที่ให้ความสนใจกับแนวคิดเรื่องนี้และได้ให้ทัศนะไว้ดังนี้
ดร.สงบ ลักษณะ กล่าวถึงการเรียนการสอนที่ควรจะเป็นไว้ว่า ควรเป็นการเรียนการสอนที่นักเรียนได้รับการยอมรับนับถือในการเป็นเอกัตถบุคคล ได้เรียนในวิธีที่เหมาะสมกับความสามารถ ได้เรียนในสิ่งที่สนใจ ต้องการหรือมีประโยชน์ ได้ปฏิบัติการตามกระบวนการเพื่อการเรียนรู้ ได้รับการเอาใจใส่ ประเมิน และช่วยเหลือเป็นรายบุคคล ได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ และสำเร็จตามอัตภาพ
ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ กล่าวว่า การเรียนการสอนที่พึงประสงค์ หมายถึง กระบวนการพัฒนาให้ผู้เรียนคิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น
ดร.โกวิท ประวาลพฤกษ์ อธิบายไว้ว่า กระบวนการเรียนรู้ตามหลักสูตร หมายถึงกระบวนการใด ๆ ที่ผู้เรียนได้เรียนรู้กระบวนการ เช่น กระบวนการกลุ่ม ทักษะกระบวนการ 9 ขั้น กระบวนการสร้างความตระหนัก กระบวนการสร้างเจตคติ ฯลฯ
ดร.อัจฉรา วงศ์โสธร กล่าว่า การเรียนที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของกระบวนการเรียนการสอนนั้น ครูผู้สอนจะเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ ช่วยเอื้อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ขึ้นได้ โดยการเตรียมการด้านเนื้อหา วัสดุอุปกรณ์ สื่อการเรียนต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับผู้เรียน ตลอดจนเป็นผู้คอยเป็นผู้สอดส่อง สำรวจในขณะผู้เรียนฝึก และให้ข้อมูลป้อนกลับ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถแก้ไขปรับปรุงตนเองและเกิดพัฒนาการขึ้น
ดร.ทิศนา แขมมณี ได้เสนอหลักการจัดการเรียนการสอนที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนควรมีคุณสมบัติดังนี้
1. ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนเป็นผู้สร้าง(Construct)ความรู้ด้วยตนเอง ทำความเข้าใจ สร้างความหมายของสาระ ข้อความให้แก่ตนเอง ค้นพบข้อความด้วยตนเอง
2. ช่วยให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์(Interaction) ต่อกันและกัน และได้เรียนรู้จากกันและกัน ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ ความคิดและประสบการณ์แก่กันและกันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
3. ช่วยให้ผู้เรียนมีบทบาท มีส่วนร่วม(Participation) ในระบบการเรียนรู้มากที่สุด
4. ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ “กระบวนการ” (Process) ควบคู่ไปกับ “ผลงาน” (Product)
5. ช่วยให้ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง(Application)
การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง(Child Centered) เป็นกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ โดยเน้นให้ผู้เรียนได้คิดค้น สร้าง และสรุปข้อความรู้ด้วยตนเอง สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้
แผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
ตามทฤษฎีการเรียนรู้วิธีการเรียน(Learning How to Learn) มี 6 ขั้นตอน คือ
1) ขั้นเกริ่นนำ(Introduction) คือ การนำเข้าสู่บทเรียน
2) ขั้นประสบการณ์(Experience) คือ การให้นักเรียนทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยการปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการเรียนรู้ในเรื่องนั้น ด้วยความเชื่อว่า วิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ การให้ผู้เรียนลงมือทำในสิ่งนั้น ในแผนการเรียนรู้แต่ละครั้งมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามเนื้อหาวิชา แล้วบันทึกผลการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เป็นชิ้นงาน(Folio) เพื่อเก็บสะสมในแฟ้มผลงานของนักเรียน(Student Portfolio) ใช้ในการประเมินผลระหว่างเรียน ปลายภาคเรียน เรียกว่า การประเมินผลตามสภาพจริง(Authentic Assessment)
3) ขั้นสะท้อนความคิด(Reflection) คือ ให้นักเรียนสร้างความรู้เองจากการทำกิจกรรมว่า นักเรียนได้ความรู้อะไรบ้างจากการทำกิจกรรมนั้น โดยจัดทำเป็นชิ้นงาน แล้วรายงานผลหน้าชั้นเรียน
4) ขั้นทฤษฎี(Theory) คือ ให้นักเรียนสรุปความรู้เป็นความคิดรวบยอด หลักการ หรือทฤษฎี
5) ขั้นนำไปใช้(Action) คือ ให้นักเรียนนำความรู้ที่ได้ไปใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ ในสถานการณ์จำลองหรือสถานการณ์จริง
6) ขั้นสรุป(Conclusion) คือ ให้นักเรียนสรุปกิจกรรมการเรียนรู้ สรุปบทเรียนและซักถามข้อสงสัยก่อนจบบทเรียนนั้น แล้วประเมินผลการเรียนรู้ร่วมกัน
ในการจัดการเรียนรู้ควรมีการบูรราการกับกลุ่มสาระอื่น ๆ อีกด้วย โดยมีกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ภาอังกฤษ) เป็นวิชาแกนแล้วนำกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ มาบูรณาการตามความเหมาะสม หรือเรียกว่า Cross Curricular
การสอนแบบ Child Centered และการประเมินผลด้วย Portfolio เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกัน หมายความว่า Child Centered เป็นกระบวนการเรียนรู้(Process) ส่วน Portfolio เป็นผลผลิตที่เกิดจากการเรียนรู้ของนักเรียน(Product) ถ้าครูผู้สอนเปลี่ยนวิธีการสอนเป็นแบบ Child Centered ก็ต้องเปลี่ยนวิธีการประเมินผลเป็นแบบ Portfolio Assessment ให้สอดคล้องกันด้วย
วันที่ 25 ก.ย. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,162 ครั้ง เปิดอ่าน 7,148 ครั้ง เปิดอ่าน 7,154 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,147 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,159 ครั้ง เปิดอ่าน 7,146 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,138 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,149 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,138 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,148 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,138 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,140 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 867,442 ครั้ง |
เปิดอ่าน 13,014 ครั้ง |
เปิดอ่าน 1,957 ครั้ง |
เปิดอ่าน 14,674 ครั้ง |
เปิดอ่าน 2,493 ครั้ง |
|
|