ชื่อเรื่อง รายงานผลการสร้างและพัฒนาหนังสือเรียนเล่มเล็กเชิงวรรณกรรม
เรื่องระบบจำนวนเต็ม กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ผู้ศึกษา นางสำลี คำเมือง
สถานที่ทำงาน โรงเรียนกุสุมาลย์วิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสกลนคร เขต 1
ปีที่พิมพ์ 2552
บทคัดย่อ
หนังสือเรียนเล่มเล็กเชิงวรรณกรรมเป็นสื่อการศึกษาหนึ่งที่เอื้ออำนวยความสะดวก แก่ผู้เรียน เน้นความแตกต่างระหว่างบุคคลโดยเฉพาะเรื่องความรู้ ความเข้าใจ ความมีวินัย ในตนเอง และความสามารถในการแก้ปัญหา ซึ่งผู้เรียนที่ได้เรียนด้วยหนังสือเรียนเล่มเล็ก เชิงวรรณกรรมหลังจากที่ได้เรียนเสร็จจะสามารถทราบทันทีว่าตนเองตอบถูกต้องหรือไม่ ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา โดยการศึกษาในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย เพื่อพัฒนาหนังสือเรียนเล่มเล็กเชิงวรรณกรรม เรื่องระบบจำนวนเต็ม กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ระหว่างคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยหนังสือเรียนเล่มเล็กเชิงวรรณกรรม เพื่อหาค่าดัชนีประสิทธิผลของหนังสือเรียนเล่มเล็กเชิงวรรณกรรม เรื่องระบบจำนวนเต็ม และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อหนังสือเรียนเล่มเล็กเชิงวรรณกรรม เรื่องระบบจำนวนเต็ม กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551 โรงเรียนกุสุมาลย์วิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสกลนคร เขต 1 จำนวน 45 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ที่คละระดับความสามารถคือ เก่ง ปานกลาง อ่อน ใช้เวลาทดลองทั้งหมด 24 ชั่วโมง เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ หนังสือเรียนเล่มเล็กเชิงวรรณกรรม เรื่องระบบจำนวนเต็ม กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 แผนการจัดการเรียนรู้ หนังสือเรียนเล่มเล็กเชิงวรรณกรรม เรื่องระบบจำนวนเต็ม แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่องระบบจำนวนเต็ม เป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ ซึ่งมีค่าอำนาจจำแนก (B) ตั้งแต่ 0.49 – 0.83 มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.95 และแบบวัดความพึงพอใจ ในการเรียนด้วยหนังสือเรียนเล่มเล็กเชิงวรรณกรรม จำนวน 10 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.41 – 0.79 และค่าความเชื่อมั่นของข้อสอบทั้ง 12 ชุด มีค่าเท่ากับ 0.87, 0.79, 0.88, 0.67, 0.89, 0.95, 0.78, 0.81, 0.80, 0.92, 0.87 และ 0.87 ตามลำดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและดัชนีประสิทธิผลและ t –test (Dependent Samples)
ผลการศึกษา พบว่า หนังสือเรียนเล่มเล็กเชิงวรรณกรรม เรื่องระบบจำนวนเต็ม กลุ่มสาระการเรียนรู้ คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีประสิทธิภาพ 87.04/89.93 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 และค่าดัชนีประสิทธิผล 0.8323 แสดงว่านักเรียนมีความก้าวหน้าทางการเรียนสูงขึ้นร้อยละ 83.23 นักเรียนที่เรียนด้วยหนังสือเรียนเล่มเล็กเชิงวรรณกรรมมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และนักเรียนมีความพึงพอใจในการเรียนด้วยหนังสือเรียนเล่มเล็กเชิงวรรณกรรมอยู่ในระดับมาก
โดยสรุป หนังสือเรียนเล่มเล็กเชิงวรรณกรรมที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพสูง จึงนับเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ควรส่งเสริมให้ครูพัฒนาหนังสือเรียนเล่มเล็ก เชิงวรรณกรรม สำหรับการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ และสามารถนำไปใช้สอนร่วมกับกิจกรรมการเรียนการสอนกลุ่มสาระอื่นที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น