การพัฒนาผู้เรียนอาชีวศึกษาด้วยบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
อุดมศักดิ์ มีสุข
นิสิตปริญญาเอก สาขาอาชีวศึกษา
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
บทนำ
ในศตวรรษ21 ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ได้เริ่มเข้าสู่กระแสใหม่ของการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมฐานความรู้ และระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge – based society/economy: KBS/KBE) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ จะนำไปสู่การใช้ความรู้ (knowledge) และ
นวัตกรรม (Innovation)เป็นปัจจัยหลักในการพัฒนา และการผลิตมากกว่าที่ดิน แรงงานและเงินทุน ดังนั้นปัจจัยการพัฒนาตามแนวทางของเศรษฐกิจฐานความรู้นั้น จึงเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้นโยบายปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันเห็นได้ชัดว่ามีความสอดคล้องกับกระแสดังกล่าว เพราะพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542ได้กำหนดเป้าหมายไว้ว่า ในอนาคตคนไทยทุกคน จะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างน้อย 12 ปี และจะมีความสามารถทักษะในกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทำให้สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ดังนั้นเทคโนโลยีก็ยิ่งทวีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการศึกษา โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งมีศักยภาพสูงในการเป็นแหล่งข้อมูล ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้ ระหว่างปัจเจกบุคคล องค์กร ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้ระบุไว้ในรายงานการพัฒนาคน 2544 ว่าการลงทุนเรื่องสานสนเทศและ
การสื่อสารทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 2.2 หมื่นล้านเหรียญในปี 2543 เป็น 3 หมื่นล้านเหรียญ ในปี 2549 ดังนั้นประเทศไทยจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อผลกระทบจาการขยายตัวของเทคโนโลยีดังกล่าวทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งรูปแบบของการศึกษาและการเรียนรู้ของประชาชน
ซึ่งต้องคำนึงถึงบริบทของสภาวะโลกและก้าวหน้าให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ด้วยความตระหนักในสภาวะดังกล่าวแผนพัฒนาเศรษฐกิจ
และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) จึงมุ่งเสริมสร้างขีดความสามารถจากรากฐานของสังคมให้เข็มแข็งและรู้เท่าทันโลก
และมีแผนพัฒนาสื่อมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ และโทรคมนาคม เพื่อการพัฒนาคนและสังคม ( พ.ศ. 2542-2551) ขึ้น เพื่อกำหนดทิศทาง
ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตลอดจนการพัฒนาระบบสื่อสารมวลชน ทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง นอกจากนี้กรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศระยะที่สองมีเป้าหมายการพัฒนาอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2544-2553 ยังมุ่งเน้นการพัฒนาสารสนเทศด้านต่าง ๆ
เพื่อนำไปสู่ “สังคมบนฐานความรู้” หรือ “เศรษฐกิจบนฐาน ความรู้” (Knowledge – based society/economy : KBS/KBE) โดยได้กำหนดให้
การพัฒนา e-learning เป็นยุทธศาสตร์หลักด้านหนึ่งของการพัฒนา
การเรียนการสอนผ่านระบบอิเล็กทรอนิคส์ (e-learning) เป็นส่วนหนึ่งของ e-Education และกำลังแพร่หลายไปทั่วโลกในขณะนี้
สำหรับประเทศไทยนั้น บทบัญญัติในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่กำหนดให้รัฐต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกัน
ในการรับการศึกษาภาคบังคับเก้าปี และกำหนดให้รัฐจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ
โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ทำให้เห็นได้ชัดว่า e-learning สามารถจะเป็นแนวทางหนึ่งซึ่งช่วยสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับประชาชนได้ เนื่องจากคุณสมบัติของ e-learningทำให้ผู้เรียนเข้าถึงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ลดข้อจำกัดด้านเวลา และสถานที่ ดังนั้น แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย พ.ศ.2545-2549จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้าน e-Educationโดยเน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (Information and Communication Technology ) เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของประชาชน โดยถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน เพื่อสร้างความพร้อมของทรัพยากรมนุษย์ และพัฒนาให้เกิดสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพผลการสำรวจหลายๆแห่งพบว่าการเติบโตของ e-learning ในปัจจุบันมีอัตราที่รวดเร็วมาก เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 2000
มูลค่าผลิตภัณฑ์และการให้การบริการ e-learningมีจำนวนสูงถึง7.1พันล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 40.2พันล้านดอลลาร์ในปี ค.ศ.2005 ส่วนประเทศสิงคโปร์นั้นก็มีการคาดหมายว่ามูลค่าของe-learning ในปี ค.ศ.2005 จะเพิ่มถึง 62 ล้านดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน สำหรับประเทศไทย
แม้การพัฒนาการของ e-learning ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น แต่ก็มีการนำไปใช้ในหลายแห่ง ทั้งในระดับโรงเรียน และระดับอุดมศึกษาในรูปแบบ
ที่ต่างกันไป บทบาทของe-learning มิได้จำกัดอยู่เฉพาะ การเรียนในระบบเท่านั้น แต่สามารถนับไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างกว้างขวาง
เช่นการฝึกอบรมบุคลากรในสาขาอาชีพต่างๆ และเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับคนในทุกระดับ ดังนั้นประเทศกำลังพัฒนาเช่นประเทศไทย
ก็ควรหาแนวทางรับมือและประโยชน์จาก e-learning ให้มากที่สุด เพื่อนไปสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
อย่างไรก็ตามการรับมือดังกล่าว ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ในเรื่องของ e-learning ทั้งในอดีต ปัจจุบันและ อนาคต ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาจึงได้จัดทำโครงการวิจัยเรื่อง“พัฒนาการและทิศทางของ e-learning ในประเทศไทย” ขึ้น เพื่อประโยชน์ในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ e-learning แก่หน่วยงาน บุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการวางแผนพัฒนา e-learning ของประเทศไทยอย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไปในอนาคต