Advertisement
❝ ตามชื่อเรื่องแล้ว หลายคนจะคิดว่า ชื่อของ โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) มันคืออะไร อาการของมันเป็นอย่างไร ตัวเองมีโอกาสเป็นโรคที่ว่านี้ได้หรือไม่ ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่โอกาสการเกิดนั้นน้อยมาก ส่วนรายละเอียดของโรคเชื่อว่า อ่านในบรรทัดถัดไปก็คงจะทราบทันทีว่าเป็นโรคเกี่ยวกับอะไร ❞
คำว่า “ไบโพลาร์” แปลตรงตัวได้ว่า ไบ (สอง) โพลาร์ (ขั้ว) โรคไบโพลาร์เป็นโรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ ผู้ที่เป็นจะมีอารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน ลักษณะอารมณ์และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปมีสองแบบ แบบแรกมีลักษณะอารมณ์และพฤติกรรมแบบซึมเศร้า แบบที่สองมีลักษณะคึกคัก พลุ่งพล่าน ซึ่งเรียกว่า เมเนีย (mania) จะอธิบายความได้จากภาพกราฟอารมณ์จะเห็นว่าผู้ที่เป็นโรคนี้ จะมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปจากปกติเป็นช่วง ๆ โดยเป็นแบบซึมเศร้า ตามด้วยช่วงเวลาที่เป็นปกติดี จากนั้นปล่อยระยะเวลาไว้อาจเกิดอาการแบบเมเนียขึ้นมา หรือบางคนอาจเริ่มต้นด้วยอาการแบบเมเนียก่อนก็เป็นได้ และไม่จำเป็นต้องตามด้วยอาการด้านตรงข้ามเสมอไป เช่น อาจมีอาการแบบ ซึมเศร้า-ปกติ–ซึมเศร้า-เมเนีย
สาเหตุของโรคไม่ได้เกิดจากผู้ป่วยมีจิตใจอ่อนแอหรือคิดมาก แต่เกิดจากความผิดปกติทางสมอง ซึ่งพบว่าผู้ป่วยโรคนี้มีการสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทของสมองและสารเคมีใน สมองแปรปรวนไป อนึ่ง ผู้ที่เป็นโรคไบโพลาร์มักมีประวัติญาติป่วยเป็นโรคทางอารมณ์ ซึ่งบุตรที่เกิดมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไปถึง 8 เท่า เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค เมื่อผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็น พบเหตุกดดันทางจิตใจ เช่น ตกงาน ญาติเสีย ชีวิต หรือมีการเสพยาใช้สารต่าง ๆ ก็จะไปกระตุ้นให้แนวโน้มการเกิดโรคแฝงนี้แสดงอาการออกมา อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้ป่วยบางคนเป็นโดยไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์ก็มี เหมือนกันกับโรคความดัน โรคเบาหวาน ที่บางครั้งก็เป็นกรรมพันธุ์ บางครั้งก็ไม่ เพราะฉะนั้นทางการแพทย์จะไม่ถือว่าโรคนี้เป็นโรคทางพันธุกรรม
แม้ว่าโรคนี้จะไม่ใช่โรคจิตที่มีอาการหลัก ๆ อย่างเช่น หูแว่ว หลงผิด หวาดระแวง แต่อาการเด่นของโรคไบโพลาร์นั้นกลับเป็นอาการทางอารมณ์ ซึ่งในทางจิตเวชจัดว่าเป็นโรคทางอารมณ์ ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการหลงผิดประสาทหลอนได้ แต่พบไม่บ่อยและเป็นไม่นาน
การแสดงอาการสามารถจำแนกได้เป็น 2 ระยะ ดังนี้
1. ระยะซึมเศร้า ผู้ป่วยจะรู้สึกเบื่อหน่ายไปหมด จากเดิมชอบอ่านหนังสือพิมพ์ ติดละคร หรือดูข่าว ก็ไม่สนใจติดตาม บางคนจะซึมเศร้า อ่อนไหว ร้องไห้บ่อย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ความจำแย่ลง หลง ๆ ลืม ๆ ใจลอย ไม่มั่นใจในตนเอง จะมองสิ่งต่าง ๆ ในแง่ลบไปหมด คิดว่าตัวเองเป็นภาระของคนอื่น ไม่มีใครสนใจตนเอง บางครั้งอาจคิดถึงเรื่องการตาย
2. ระยะเมเนีย ผู้ป่วยจะอารมณ์ดีเกินกว่าปกติ รู้สึกมั่นใจในตัวเอง มาก มองว่าตัวเองเก่ง มีความคิดมากมาย คิดเร็ว พูดมาก พูดเก่งคล่องแคล่ว มนุษยสัมพันธ์ดี ชอบช่วยเหลือคนอื่น ในระยะนี้ผู้ป่วยมักใช้เงินเก่ง ใช้จ่ายเกินตัว ขยันขันแข็ง อยากทำโน่นนี่ นอนดึกตื่นเช้า เพราะมีเรื่องให้ทำเยอะแยะไปหมด และด้วยความที่ตัวผู้ป่วยเองสนใจสิ่งต่าง ๆ มากมาย ทำให้เกิดอาการวอกแวกมาก ไม่สามารถอดทนทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นาน ๆ สิ่งที่ตามมาก็คือ ความยับยั้งชั่งใจของผู้ป่วยจะมีน้อยมาก เช่น นึกอยากจะทำอะไรต้องทำทันที หากมีใครมาห้ามจะโกรธรุนแรง อาการในระยะนี้หากเป็นมาก ๆ อาจถึงขั้นอาละวาดได้ถ้ามีคนขัดขวาง
อาการระยะซึมเศร้าจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป มักเป็นหลังจากมีเรื่องกระทบกระเทือนใจ เช่น สอบตก เปลี่ยนงาน มีปัญหาครอบครัว แต่จะต่างจากปกติคือ มีอาการซึมเศร้าเป็นเวลานาน งานการทำไม่ได้ ขาดงานบ่อย ๆ ส่วนอาการระยะเมเนียมักเกิด ขึ้นเร็ว และเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนภายใน 2-3 สัปดาห์ อาการจะเต็มที่ อารมณ์รุนแรง ก้าวร้าว จนต้องพามาโรงพยาบาล อาการในครั้งแรก ๆ จะเกิดขึ้นหลังมีเรื่องกดดัน แต่หากเป็นหลาย ๆ ครั้งก็มักเป็นขึ้นมาเองโดยไม่มีสิ่งใดมากระตุ้น
หากสงสัยว่าคนรอบข้างเป็นโรคไบโพลาร์หรือไม่ ให้สังเกตว่ามีอาการอยู่ในระยะเมเนีย ซึ่งผู้ป่วยเองจะไม่คิดว่าตัวเองผิดปกติ แต่จะมองว่าช่วงนี้ตัวเองอารมณ์ดีหรือใคร ๆ ก็ขยันกันได้ ขณะที่หากเป็นระยะซึมเศร้าคนที่เป็นจะพอบอกได้ว่าตนเองเปลี่ยนไปจากเดิม
ในระยะซึมเศร้าหากคนใกล้ชิดสนใจมักสังเกตได้ไม่ยาก เพราะผู้ป่วยจะดูซึม ๆ อมทุกข์ ซึ่งอาการแบบเมเนียจะบอกได้ยากโดยเฉพาะในระยะแรก ๆ ที่อาการยังแสดง ไม่มาก เพราะดูเหมือนเป็นแค่คนขยัน อารมณ์ดีเท่านั้นเอง แต่ถ้าสังเกตจริง ๆ จะเห็นว่าลักษณะแบบนี้ไม่ใช่ตัวตนของเขา
เมื่อถามถึงอุบัติการณ์ของการพบผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ จะพบว่าคนมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ได้ประมาณร้อยละ 1 และพบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ส่วนมากมีอาการครั้งแรกระหว่างอายุ 15-24 ปี บางรายอาจมีอาการได้เมื่ออายุ 50-60 ปี
นอกจากสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หากจะไม่กล่าวถึงวิธีการรักษาก็คงไม่ได้ เพราะการรักษาถือเป็นสิ่งที่สำคัญ และยาก็เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาหลัก โดยแพทย์จะจ่ายยาร่วมกับการช่วยเหลือให้คำปรึกษาทางจิตใจ เพื่อช่วยผู้ป่วยในการปรับตัวให้เข้ากับสังคม และจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตได้มากขึ้น
สำหรับอาการระยะเมเนีย ยาที่นิยมใช้ได้แก่ ลิเทียม (lithium) วาลโปร เอท (valproate) และคาร์บามาซีปีน (carbamazepine) โดยยา 2 ชนิดหลังเป็นยากันชักที่พบว่าสามารถใช้รักษาโรคนี้ได้ดี ส่วนการออกฤทธิ์ของยาอาจต้องใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ขึ้นไป ในบางคนที่มีอาการทางจิตหรือวุ่นวาย จิตแพทย์อาจให้ยารักษาเพื่อคุมอาการ ซึ่งยารักษาอาการทางจิตขนานใหม่ ๆ สามารถใช้รักษาโรคนี้ได้เช่นกันแม้ว่าผู้ป่วยจะไม่มีอาการทางจิต ส่วนอาการระยะซึมเศร้า แพทย์จะรักษาด้วยยาแก้ซึมเศร้าร่วมกับยาป้องกันอาการเมเนีย เนื่องจากผู้ป่วยบางคนหากกินแต่ยาแก้ซึมเศร้าขนานเดียว อาการอาจพลิกกลับไปเป็นแบบเมเนียได้ โดยทั่วไปจะให้ผู้ป่วยกินยานานประมาณ 2 ปี เพราะหากหยุดยาเร็วจะมีโอกาสกลับเป็นซ้ำสูง ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงแพทย์อาจให้ยานาน 5 ปี บางคนที่ มีประวัติทางพันธุกรรมหรือเป็นหลาย ๆ ครั้งอาจต้องกินยาไปตลอดชีวิต
การปฏิบัติตัวที่สำคัญในโรคนี้ได้แก่การกินยาอย่างสม่ำเสมอ และการรักษาความสม่ำเสมอในการดำเนินกิจวัตรประจำวัน ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือเรื่องการนอน จากการศึกษาพบว่าการนอนน้อยติดต่อกันหลายวันทำให้อาการแกว่งไกวได้ จึงควรเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา และหลีกเลี่ยงการนอนดึก หรือดื่มสุรา
เชื่อว่าถึงบรรทัดนี้แล้ว คงจะมีการสำรวจอารมณ์ตัวเองกันพอสมควร แต่ไม่ต้องตกใจไป เพราะอาการของโรคไบโพลาร์นี้ อย่างที่ได้กล่าวไว้ว่าโอกาสเกิดค่อนข้างน้อย แต่หากมีคนในครอบครัวหรือญาติเป็นแล้วละก็ ให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที.
รศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
หนาวแล้ว ออกแคมป์กันเถอะ! ⛺ เตาแก๊สปิคนิค พกพาสะดวก ออก Outdoor ได้สบายๆ รุ่น KJ-101 แถมฟรี!!กล่องเก็บเตา ในราคา ฿244https://s.shopee.co.th/7fJQKGPCjr?share_channel_code=6
Advertisement
เปิดอ่าน 17,108 ครั้ง เปิดอ่าน 4,765 ครั้ง เปิดอ่าน 15,812 ครั้ง เปิดอ่าน 13,742 ครั้ง เปิดอ่าน 13,952 ครั้ง เปิดอ่าน 21,791 ครั้ง เปิดอ่าน 28,109 ครั้ง เปิดอ่าน 15,408 ครั้ง เปิดอ่าน 14,258 ครั้ง เปิดอ่าน 9,713 ครั้ง เปิดอ่าน 12,018 ครั้ง เปิดอ่าน 4,310 ครั้ง เปิดอ่าน 13,715 ครั้ง เปิดอ่าน 13,778 ครั้ง เปิดอ่าน 15,387 ครั้ง เปิดอ่าน 13,474 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 15,812 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 10,249 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 9,911 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 28,503 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 14,039 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 44,715 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 30,819 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 26,416 ครั้ง |
เปิดอ่าน 42,278 ครั้ง |
เปิดอ่าน 14,198 ครั้ง |
เปิดอ่าน 14,366 ครั้ง |
เปิดอ่าน 1,835 ครั้ง |
|
|