ตอนที่ 1 เริ่มต้นชีวิตครูดอย
ในช่วงปี 2542 เป็นปีที่ผมเรียนจบมาใหม่ๆ จากราชภัฏเพชรบูรณ์ และได้สอบบรรจุไว้ที่ จังหวัดเชียงใหม่ ผมก็ไม่รู้หรอกว่าจังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างไร รู้แต่ว่าเป็นจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเท่านั้น กลางปี 2543 ผมได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครู ตำแหน่ง อาจารย์ 1 ระดับ 3 โรงเรียนบ้านแม่โขง อำเภออมก๋อยตอนแรกๆ วันปฐมนิเทศครูใหม่ ก็ยังไม่รู้ว่าโรงเรียนที่จะได้ไปทำงานนั้นเป็นไง ก็คงคิดว่าไม่กันดารเท่าไรหรอก แต่ก็ตะหงิดๆใจกับคำพูดของเจ้าหน้าฝ่าย ก.จ. ของ สปจ. ที่ว่า "ขอแสดงความดีใจกับครูบรรจุใหม่ทุกท่านทั้งที่ได้สวมไฟเลี้ยวและไม่ได้สวมไฟเลี้ยว" แต่ก็ไม่ได้สนใจอะไรนัก แต่พอขึ้นโรงเรียนเท่านั้นแหละ เข้าใจเลยว่ามันมีความหมายอย่างไร ผมจัดอยู่ในพวกไม่ได้สวมไฟเลี้ยว เพราะว่า ไม่มีโอกาสแต่งชุดข้าราชการในวันจันทร์ ใส่ชุดกางเกงผ้าร่ม รองเท่าโฟรวิน ที่เขาเรียกกัน นี่ขนาดไม่ค่อยกันดารนะ ที่เพชรบูรณ์ที่ว่ากันดารสุดแล้ว ก็ยังได้สวมไฟเลี้ยว เดียวค่อยมาต่อ.....
ตอนที่ 2 ไปรายงานตัวที่สปอ.
วันที่ไปรายงานตัว ที่สปอ.อมก๋อย ออกจากที่ สปจ.ประมาณ 7 โมง กว่าๆ ไปกับกลุ่มครูยอดดอยด้วยกัน ลืมบอกไปโรงเรียนแม่โขง อยู่กลุ่มโรงเรียนยอดดอยสามัคคี เป็นโรงเรียนกันดารสุดๆ เป็นโรงเรียนสุดท้ายในเส้นทางยอดดอย ห่างจาก สปอ. ประมาณ 45 กม. ถ้าจำไปผิด เพราะไม่เคยจำเลยว่ากี่กิโล เส้นทางไปโรงเรียน ก็เป็นทางลูกรังประมาณ 30 กว่ากิโลลัดเลี้ยวไปตามเขาและดอยต่าง ๆ เป็นเส้นทางธรรมชาติ(ลงโทษ)อีก ประมาณ 17 กิโล ไฟฟ้ามีใช้บ้างตามอารมณ์ หน้าฝนฝนตกตลอดวัน ระหว่างไปรายงานตัวที่ สปอ.ก็บ่นอยู่ในใจว่าเมื่อไรจะถึง ขนาดไปรถยนต์แล้วนะ ใช้เวลาเกือบ 4 ชั่วโมง ไกลมากๆ เส้นทางก็สุดแสนจะตรงโค้งไปโค้งมาตลอด ต้องคอยกลั้นหายใจบ่อยๆ กลัวจะอ้วกออกมาเพราะว่าเมารถ ไปถึงสปอ.ก็รายงานตัวกับหัวหน้า เสร็จก็รู้ว่าครูกลุ่มยอดดอยจะขึ้นโรงเรียนอีก 3 วันข้างหน้า กลุ่มยอดดอยเขาใช้ปฏิทินดอยกัน คือ ขึ้น 25 ลง 5 วัน ก็ต้องคอยอีก 3 วันจึงจะได้ขึ้นโรงเรียน เขาบอกว่าอย่าพึ่งขึ้นไปโรงเรียนรอให้ขึ้นไปพร้อมกันก่อน ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าอะไร คิดในใจว่า "อะไรวะทำไมต้องรอให้พร้อมกันด้วย" แต่พอถึงวันขึ้นโรงเรียนก็รู้เลยว่าทำไม รายงานตัวเสร็จก็กลับมาบ้านที่เพชรบูรณ์ สรุปว่าวันนั้นเหนื่อยสุดๆ อยู่แต่บนรถ