รศ.กาญจนา อินทรสุนานนท์ อาจารย์ดุริยางคศาสตร์ศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยว่า มีคนจำนวนหนึ่งที่วิตกกังวลเรื่องสุภาษิต-คำพังเพยของเด็กรุ่นใหม่ ที่ไม่สนใจศึกษา แต่เท่าที่มีประสบการณ์ในการสอนเด็กมานั้น พบว่า สุภาษิต คำพังเพยไทยยังใช้สอนเด็ก และเยาวชนได้อยู่ เพียงแต่ผู้ใหญ่อาจจะคิดว่าเด็กสมัยนี้ไม่ค่อยสนใจ และมักจะสรุปว่าเด็กไทยยุคนี้ไม่สนใจคำสอนสุภาษิต และคำพังเพยไทย
แต่กระนั้น ถ้าพ่อแม่-ครูพยายามใช้สุภาษิต-คำพังเพยมาพูดในชีวิตประจำวันบ่อยๆ จะทำให้เด็กซึมซับเรื่องเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น เพราะธรรมชาติของคนไทย เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนอยู่แล้ว เพียงแต่พ่อแม่ และครูต้องพูด หรือหยิบสุภาษิต-คำพังเพยมาพูดกับเด็กบ้างก็เท่านั้น ที่สำคัญไม่ควรกลัว หรือวิตกว่าจะหายไปจากสังคมไทย เพราะถ้าเมื่อไรที่บ้านเมืองยังใช้ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติอยู่ สุภาษิต และคำพังเพยก็ไม่หายไปไหน
“การใช้ภาษาของเด็ก และเยาวชนไทยยุคนี้เขามีวิธีการนำเสนอที่อาจจะไม่เหมือนคนสมัยก่อน ซึ่งครู พ่อแม่ ควรเปิดโอกาส และฟังเด็กบ้าง ทั้งนี้ควรยอมรับในสิ่งใหม่ที่เด็กนำเสนอ ถึงแม้จะเป็นสิ่งใหม่ หากแต่อยู่บนรากฐานของเรื่องเก่าๆ ก็คงไม่ผิดอะไร ดังนั้นการเปิดโอกาสให้เด็กรู้จักถ่ายทอดความคิดที่มีต่อสุภาษิต และคำพังเพยไทย จะทำให้เด็กรุ่นใหม่รู้จักใช้คำสัมผัส คำคล้องจอง และมีวิธีคิด พร้อมกับสามารถสร้างเป็นคำสอน ที่สามารถนำมาใช้เตือนใจคนในยุคสมัยนี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่พบเห็นเป็นประจำ
สิ่งสำคัญ ครู พ่อแม่สามารถสอนเด็ก และเยาวชนด้วยสุภาษิต-คำพังเพยได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ต้องเชื่อมโยงให้เด็กด้วยเห็นว่า สุภาษิต และคำพังเพยไทย เป็นเรื่องจริง และมีอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน” อาจารย์ดุริยางคศาสตร์ศึกษา มศว กล่าว
รศ.กาญจนา กล่าวด้วยว่า ครูควรจะจัดการประกวดให้เด็กคิดสุภาษิต และคำพังเพยไทยใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า การที่เด็กจะคิดสิ่งใหม่ได้นั้น เขาต้องเรียนรู้ และศึกษาสุภาษิต และคำพังเพยเก่าๆ มาก่อนแล้ว ซึ่งครูต้องเปิดใจยอมรับความคิดใหม่ๆ และเข้าใจเด็กด้วย นั่นถึงจะทำให้การถ่ายทอด และเชื่อมโยงความรู้ ความเข้าใจเรื่องสุภาษิต-คำพังเพยไทยเข้าถึงหัวใจเด็กรุ่นใหม่มากขึ้น
ข้อมูลโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์