เชื่อว่าทุกท่านคงจะเคยเดินบนทางเท้าเวลาสัญจรไปตามสถานที่ต่าง ๆ ภาพที่เราเห็นกันในชีวิตประจำวันก็จะเป็นภาพของผู้คนที่เดินกันขวักไขว่ไปมา หรือพ่อค้าแม่ค้าที่นำของมาวางขาย ซึ่งเรามักจะออกเสียงเรียกสิ่งนั้นว่า "ฟุด-บาด" แต่ตามหลักแล้วถ้าใช้คำนี้ต้องเขียนว่า ฟุตปาธ และออกเสียงเรียกว่า ฟุด-ปาด คำว่า ฟุตปาธ (ฟุด-ปาด) เป็นคำเรียกส่วนของถนนที่ทำไว้สำหรับให้คนเดิน ตามปกติจะยกระดับขึ้นสูงกว่าถนนฟุตปาธจะขนาบอยู่สองข้างของถนน บนฟุตปาธมักจะปลูกต้นไม้เพื่อให้มีร่มเงาและเพื่อความสวยงาม
ฟุตปาธ เป็นคำทับศัพท์คำภาษาอังกฤษ Footpath แปลว่า ทางเท้า ซึ่งในภาษาไทยมี ศัพท์บัญญัติว่า บาทวิถี เป็นคำซึ่งประกอบด้วยคำว่า "บาท" และ "วิถี" บาท แปลว่า เท้า วิถี แปลว่า ทาง บาทวิถี จึงมีความหมายตรงกับคำว่า ทางเท้า ฟุตปาธ และบาทวิถี จึงหมายถึง ทางที่ทำไว้ให้คนเดิน ซึ่งหมายเฉพาะถึงทางเดินซึ่งยกขึ้นเป็นขอบขนานไปกับถนนเท่านั้น เช่น ซอยนี้ใหญ่กว่าถนนบางสายเสียอีก แล้วยังมีฟุตปาธอีกด้วย หรือ ถนนราชดำเนินมีบาทวิถีกว้างหลายเมตร หรือ พ่อค้าแม่ค้าชอบวางของขายบนฟุตปาธ ทำให้คนเดิน ไม่สะดวก
ข้อมูลจาก: หนังสือภาษาไทยวันละคำ
ของคณะกรรมการเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยทาง
สื่อมวลชน ในคณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย