ของเส้นผม ขน และเล็บ โดย นายแพทย์สร เมตติยวงศ์
ในกลุ่มนี้โรคที่พบบ่อยที่สุดคือ ผมร่วง ผมหงอก และศีรษะล้านโดยไม่เกิดเป็นแผลเป็นที่บนศีรษะ และในกรณีที่ผมร่วงหรือศีรษะล้านโดยทั่วๆ ไปก็ย่อมจะมีหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น กรรมพันธุ์เป็นมาแต่กำเนิด การบกพร่องในโภชนาการ โรคของต่อมไร้ท่อ ยา สารเคมีบางชนิด และพิษไข้ เป็นต้น
ที่จริงผมร่วงธรรมดาๆ นั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามธรรมชาติ เมื่อทารกแรกเกิดย่อมมีผมขึ้นเป็นปกติ จะหนาจะบางแล้วแต่ทารกแต่ละคน แต่ในอีก ๖-๑๒ สัปดาห์ถัดมามีผมร่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถวท้ายทอย ซึ่งชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า "ผ้าอ้อมกัด" เพราะเห็นศีรษะถูไถอยู่กับหมอนหรือเบาะอยู่เสมอและหลังจาก ๖ เดือน ไปแล้วก็จะมีเส้นผมเกิดขึ้นมาแทนที่ใหม่
ผมที่ร่วงจนศีรษะล้านตามแบบฉบับของบุรุษเพศที่เห็นๆ กันอยู่ เป็นธรรมดานั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการด้วยกันคือ อายุ เมื่อผ่านวัยหนุ่มไปสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว ส่วนใหญ่เมื่ออายุเลย ๓๐ ปีขึ้นไป ก็เริ่มเข้าสู่กลไกของความชราภาพ ซึ่งจะช้าหรือเร็วย่อมแล้ว แต่ดินฟ้าอากาศ กรรมพันธุ์ฮอร์โมนเพศชายที่เรียกว่า แอนโดรเจน และเชื้อชาติ เช่น ในชาวตะวันออก และพวกนิโกร ศีรษะจะล้านน้อยว่าชาวคอร์เคเชียน (Caucasian) ความเคร่งเครียดทางด้านจิตใจก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ศีรษะล้านเร็วขึ้น
ผมที่ร่วงทำให้ศีรษะล้านตามแบบของบุรุษเพศนี้ จะไม่ร่วงทั่วไปหมดทั้งศีรษะในโอกาสเดียวกัน แต่จะ เริ่มเป็นเฉพาะแห่งก่อน เช่น ที่หน้าผาก หรือสองข้างหน้าขมับซึ่งจะค่อยๆ เว้าเข้าไปอย่างที่เรียกกันว่า "หัวล้านง่ามถ่อหรือง่ามกีบโค" เมื่ออายุสูงขึ้นที่กลางศีรษะก็จะเริ่มล้านด้วย อย่างไรก็ดี เส้นผมจะไม่ล้านจนเกลี้ยงศีรษะเลยทีเดียว จะยังคงมีเหลืออยู่บ้างทางด้านหลังของศีรษะจากหลังหูข้างหนึ่งไปถึงอีกข้างหนึ่ง
ในสตรีเพศเองก็มีผมร่วงตามแบบฉบับนี้เช่นกันแต่จะไม่ถึงกับศีรษะล้านเหมือนในผู้ชาย เพียงแต่มักจะมีผมบางลงไปมาก เหนือเชิงผมตอนหน้าผากเข้าไปหรือตรงกลางๆ ศีรษะ ส่วนใหญ่ผู้ที่ทำผมเกล้ามวย และดึงจนตึง มักจะมีผมบางเป็นหย่อมเช่นนี้ได้ง่าย
ผมร่วงเป็นหย่อม
โรคนี้เป็นในเพศและวัยใดก็ได้ สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบ ถึงแม้จะมีผู้อ้างอิงถึงการกระทบกระเทือนทางจิต และการเกิดขึ้นพร้อมหรือร่วมกับโรคอื่นๆ อีกมากมายด้วยกัน
ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการอะไร นอกจากมีผมร่วงเป็นหย่อมอย่างชัดเจน หรือแม้แต่หนวดหรือขนคิ้วก็เป็นได้
โดยมากจะเป็นหย่อมเดียวขนาดกว้างประมาณ ๒-๓ เซนติเมตร และอาจขยายกว้างขึ้นหรือมีหย่อมใหม่เกิดขึ้นติดๆ กัน และขยายออกมารวมกันกับหย่อมแรก และในเวลาเพียง ๒-๓ สัปดาห์อาจร่วงเป็นบริเวณกว้างใหญ่ได้
ในระยะแรกๆ หนังศีรษะบริเวณนั้นอาจบวมและเจ็บได้เล็กน้อย แต่ต่อๆ ไปจะยุบลง และเห็นผิวหนังเรียบเกลี้ยงเกลาทีเดียว
ในบางราย โรคนี้อาจเกือบหายได้เองในระยะเวลาอันรวดเร็ว ตอนแรกมักจะมีเส้นผมละเอียดอ่อนขึ้นมาก่อน แล้วจึงมีเส้นผมที่หยาบและใหญ่อย่างปกติขึ้นมาแทนที่
สตรีบางคนอาจมีผมดกผิดธรรมดาในตำแหน่งที่บุรุษเขามีกัน เช่น ที่ใบ หน้า แขนขา และลำตัว ทำให้รู้สึกน่าเกลียด และเป็นผลให้กระเทือนทางจิตใจได้
ส่วนใหญ่จะไม่พบอะไรผิดปกติในผู้ป่วยเหล่านี้แต่มีบ้างที่มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยทางฮอร์โมน เช่น ภายหลังการหมดประจำเดือนแล้ว หรือภายหลังการผ่าตัดเอารังไข่ออก ในการใช้ยาบางชนิดโดยเฉพาะพวกสตีรอยด์
ในรายที่เป็นไม่รุนแรงนักจะมีแต่เพียงขนเส้นหยาบหนา สีเข้มที่เหนือริมฝีปากบน หรือคางด้านข้างของใบหน้า เต้านม และหน้าอก
ที่เหมือนบุรุษเพศทีเดียวนั้น นอกจากมีขนขึ้นดกในบริเวณดังกล่าวแล้ว ยังมีขึ้นที่ขอบสะดือ โคนขา หน้าแขน และแขนด้วย
การที่จะหาสาเหตุของสภาพเช่นนี้เป็นของยากมาก และก็มีเพียงน้อยรายเท่านั้นที่ต้องรับการรักษาโดยเฉพาะ
เส้นผมที่มีสีซีดขาวหรือเรียกกันว่า "หงอก" นั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาในผู้สูงอายุจากการเสื่อมของเซลล์ที่ผลิตเม็ดสีเมลาโนไซต์ (melanocyte) แต่ถ้าผมหงอกก่อนวัยสมควร เช่น เกิดขึ้นเมื่ออายุต่ำกว่า ๒๐ ปี อาจต้องนึกถึงโรคบางโรคที่เป็นร่วมด้วยเช่น โรคด่างขาวและเลือดจาง เป็นต้น
เล็บ
ในผู้ที่มีสุขภาพปกติ เล็บจะงอกยาวออกมาประมาณ ๐.๑ มิลลิเมตรต่อวัน ฉะนั้นเมื่อเล็บถูกถอดออกหรือเป็นอันตรายเสียไป จะใช้เวลาประมาณ ๑ ปีที่จะงอกออกยาวสู่สภาพเดิม และจะงอกช้าลงตามอายุที่สูงขึ้น
เด็กบางคนหรือแม้แต่ผู้ใหญ่มักมีนิสัยชอบกัดเล็บเป็นประจำจนกุดกร่อน เด็กๆ มักจะเลิกไปเองในสองหรือสามปี
สตรีที่ให้มือเปียกน้ำอยู่เป็นประจำ เช่น ซักผ้าล้างจาน มักจะมีเล็บเปราะแล้วแตกหรือแยกออกได้เช่นเดียวกับผู้ที่ต้องสัมผัสกับเคมีวัตถุบางชนิดบ่อยๆ
การที่มือเปียกอยู่เสมอเช่นนี้ จะทำให้เชื้อโรคเกิดขึ้นที่ผิวหนังบริเวณรอบๆ เล็บได้ง่าย โดยเฉพาะเชื้อแคนดีดา อัลบิชแคนส์ ทำให้เกิดการอักเสบ บวม และเล็บขรุขระ
นอกจากนี้การผิดปกติของเล็บยังอาจเกิดขึ้นในโรคผิวหนังอีกหลายชนิด เช่น เอ็กซีมา โซริอาซิส และโรคเชื้อราอื่นๆ เป็นต้น
ที่มา สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 10