คำประกาศของสหภาพยุโรป (อียู) ให้ประเทศภาคีสมาชิกเลิกใช้ "หลอดไส้" ที่สิ้นเปลืองพลังงาน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กันยายนนี้ กลับทำให้หลอดไฟชนิดนี้ที่เป็นผลงานการประดิษฐ์ของ โทมัส อัลวา เอดิสัน ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แทนที่จะขายไม่ออก
เป็นเพราะผู้บริโภคชาวเยอรมันพากันแห่ไปซื้อหลอดไส้มาเก็บตุนเอาไว้เป็นจำนวนมาก เพราะเกรงว่าหลังจากนี้จะหาซื้อมาใช้ไม่ได้อีก เมื่อร้านค้าปลีกต่างพากันหันไปซื้อหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่ามาขายแทน
ร้านขายอุปกรณ์ทั่วเมืองเบียร์ต่างพากันรายงานว่า ยอดขายหลอดไฟที่โทมัส เอดิสัน นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน เป็นผู้ปรับปรุงขึ้นจนสมบูรณ์แบบเมื่อ 130 ปีที่แล้วนั้น เพิ่มขึ้นแบบพรวดพราด โดยลูกค้าบางรายขนซื้อหลอดไส้ชนิด 100 วัตต์ ไปเต็มรถเข็นในซูเปอร์มาร์เก็ตเลยทีเดียว
"มันน่าประทับใจมากเลยค่ะ ยอดขายหลอดไส้ขนาด 100 วัตต์ ตามร้านค้าในเมืองฮัมบูร์กของเรานั้นพุ่งขึ้นไปถึง 337% เลย" ซีโมน นอยอกส์ จากเครือข่ายร้านขายวัสดุอุปกรณ์ชื่อ แม็กซ์ บาห์ร กล่าว พร้อมแจกแจงต่อไปว่า ลูกค้าหันไปเลือกซื้อหลอดไส้บรรจุกล่องขนาดคิงไซส์ ซึ่งมีหลอดไฟอยู่ 60 หลอด หรือมากกว่านั้น ซึ่งเท่ากับว่า พวกเขาจะมีหลอดไส้ของเอดิสันใช้ต่อไปอีกเป็นเวลาหลายปีเลยทีเดียว
ที่น่าขันก็คือ แม็กซ์ บาห์ร เพิ่งจะเสร็จสิ้นการปรับปรุงแผนกไฟฟ้าและแสงสว่างของทางร้าน เพื่อให้ทันเวลาที่อียูประกาศยุคใหม่ของหลอดประหยัดพลังงาน แต่กลับกลายเป็นว่า ลูกค้าจำนวนมากไม่ได้สนใจแผนกนี้เลย
เมื่อไปถามลูกค้าคนหนึ่ง ซึ่งเป็นชายในวัยต้น 50 ถึงสาเหตุที่ว่า ทำไมเขาถึงชอบใช้หลอดไส้แบบเก่าอยู่ ก็ได้รับคำตอบมาว่า เป็นเพราะสายตาของเขาไม่ดีเหมือนเมื่อก่อนแล้ว และจากที่เคยได้ใช้มาเขาพบว่าหลอดประหยัดพลังงานนั้นใช้อ่านหนังสือไม่ได้เลย
การกำจัดหลอดไส้แบบเก่าให้หมดไปในสหภาพยุโรปนั้นจะเกิดขึ้นเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากหลอดไส้ขนาด 100 วัตต์ที่จะถูกเลิกใช้นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน เป็นต้นไป ตามมาด้วยหลอดไส้แบบขุ่นทุกประเภท หลอดฮาโลเจนแรงสูง แล้วก็หลอดฟลูออเรสเซนต์ที่ไม่ค่อยประหยัดพลังงาน
พอถึงสิ้นปี 2555 หลอดไส้ขนาด 75 วัตต์ และ 60 วัตต์ ก็จะหายไปจากร้านค้าต่างๆ เช่นกัน
"เราก็เห็นการกักตุนหลอดไฟเป็นจำนวนมากเหมือนกัน แล้วก็ดูเหมือนว่าพวกผู้สูงอายุจะวิตกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มากกว่าใครเพื่อน" อุลริก นอเกเบอร์ เจ้าของร้านขายปลีกในเมืองบาด ชเวลบาค ใกล้เมืองวิสบาเดิน บอก
ทั้งนี้ ผู้บริโภคชาวเยอรมันจำนวนมากมองว่า คำสั่งห้ามใช้หลอดไส้แบบเก่าของอียูในครั้งนี้เป็นเล่ห์กระเท่ห์ของพวกผู้ผลิตหลอดไฟที่ต้องการผลกำไรมากขึ้นจากการนำเอาหลอดซีเอฟแอล หรือหลอดคอมแพ็กฟลูออเรสเซนต์ ซึ่งเป็นหลอดแบบประหยัดพลังงานที่มีราคาแพงกว่า มาขายแทนหลอดไฟฟ้าแบบเก่าที่ถูกแสนถูก แถมยังให้แสงสว่างมากกว่าอีกด้วย
พวกที่ไม่เห็นด้วยกับอียูยังบอกด้วยว่า หลอดซีเอฟแอลสว่างไม่พอ แถมยังให้แสงที่ไม่ค่อยจะนุ่มนวลต่อสายตาอีกด้วย นอกจากนี้ พวกเขายังบอกด้วยว่าหลอดซีเอฟแอลที่ใช้พลังงานเพียง 1 ใน 3 ของหลอดไฟธรรมดานั้นติดช้า แถมยังกะพริบบ่อยกว่าหลอดแบบเก่าอีกด้วย ทำให้ปวดหัว
นอกจากนี้ยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องรังสีที่ปล่อยออกมา และการกำจัดทิ้งอย่างถูกต้องอีกด้วย เพราะหลอดซีเอฟแอลนั้นมีสารปรอทซึ่งเป็นพิษร้ายแรงอยู่ข้างใน
แต่อียูกลับบอกว่า หลอดประหยัดพลังงานจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในยุโรปลงได้ปีละ 15 ล้านตันเลยทีเดียว ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นพ้องว่า หากผู้บริโภคหันไปใช้หลอดประหยัดพลังงานก็จะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ปีละไม่น้อยเลยทีเดียว นอกจากนี้ หลอดไส้ยังทำให้โลกร้อน เพราะมีเพียง 5% ของพลังงานทั้งหมดที่หลอดไส้ใช้เท่านั้นที่แปรไปเป็นแสงสว่าง ส่วนที่เหลือนั้นเป็นการให้ความร้อน
อย่างไรก็ตาม กระแสตื่นตูมซื้อหลอดไส้แบบเก่านี้อาจเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในเมืองเบียร์เยอรมันก็ได้ เพราะหากดูจากสถิติของยอดขายในยุโรปแล้ว ยอดขายหลอดไฟทั้งหมดในเมืองเบียร์นั้นพุ่งขึ้น 17% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ในขณะที่เนเธอร์แลนด์นั้นกลับตกลงไปถึง 34.5%
ยอดขายหลอดไฟในอังกฤษช่วงเดียวกันก็ตกลง 22.5% ด้วย ส่วนที่ฝรั่งเศสนั้นตกไป 8.6%
ที่มา คมชัดลึก วันเสาร์ที่ 12 กันยายน 2552