Advertisement
❝ พระพุทธรูปปางต่างๆ
พระพุทธรูปปางต่าง ๆ:ปางพระพุทธรูป รวมรวบความหมายของพระพุทธรูปปางต่างๆ ที่มาของ พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ลักษณะ พระพุทธรูปปางต่างๆ ประวัติของพระพุทธรูปปางต่าง ๆ
❞
พระพุทธรูปปางปัจจเวกขณะ
พระพุทธรูปปางปัจจเวกขณะ วัดปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายประคองบาตร ที่วางอยู่บนพระเพลา ( ตัก ) พระหัตถ์ขวายกขึ้นป้องเสมอพระอุระ ( อก ) ทอดพระเนตรลงต่ำ
ความเป็นมาของปางปัจจเวกขณะ
หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะ หรือ พระบรมโพธิสัตว์ ได้บรรพชาแล้ว ได้เสด็จไปเสวยสุขจากการบรรพชา ณ ป่ามะม่วงนามว่า อนุปิยอัมพวัน โดยเว้นการเสวยพระกระยาหาร ๗ วัน ด้วยอิ่มในสุขจากการบรรพชา ในวันที่ ๘ ได้เสด็จไปบิณฑบาตในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ในเขตกรุงราชคฤห์ แล้วเสด็จมาประทับ ณ บัณฑวบรรพต ทอดพระเนตรอาหารซึ่งปะปนกันในบาตรแล้วเสวยไม่ลง เพราะเคยเสวยแต่อาหารที่ประณีต จึงได้เตือนพระองค์เองว่า "บัดนี้เราเป็นบรรพชิต ต้องอาศัยผู้อื่นเลี้ยงชีพ ไม่มีสิทธิ์เลือกอาหารตามใจชอบ การบริโภคอาหารของผู้แสวงหาสัจธรรมนั้น ก็เพียงเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด ไม่มีจุดประสงค์อื่น นอกจากแสวงหาทางหลุดพ้นเท่านั้น" แล้วจึงเสวยภัตตาหาริ
|
พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา
พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร พระพุทธรูปในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองซ้อนกันบนพระเพลา ( ตัก ) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย เป็นกิริยานั่งสมาธิ มองเห็นพระวรกายซูบผอมจนพระอัฐิ ( กระดูก ) และพระนหารุ ( เส้นเอ็น ) ปรากฏ
ความเป็นมาของปางบำเพ็ญทุกรกิริยาิ
พระบรมโพธิสัตว์ทรงศึกษาจนสำเร็จสมาบัติ ๗ จากสำนักอาฬารดาบสและสมาบัติ ๘ จากสำนักอุทกดาบส อุทกดาบสได้ตั้งพระบรมโพธิสัตว์ไว้ในตำแหน่งอาจารย์เสมอด้วยตนเอง แต่พระบรมโพธิสัตว์เห็นว่าวิชาที่ศึกษามายังมิใช่หนทางแห่งโพธิญาณ จึงอำลาออกจากสำนัก ทรงแสวงหาหนทาง ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม มีปัญจวัคคีย์ ทั้ง ๕ ได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ เป็นอุปัฏฐาก พระบรมโพธิสัตว์ทรงกระทำทุกรกิริยา เช่น ลดอาหารลงทีละน้อยจนถึงงดเสวย ร่างกายซูบผอม พระโลมา ( ขน ) มีรากเน่าหลุดออกมา แลเห็นพระอัฐิได้ชัดเจน ไปทั่วพระวรกาย จะลุกขึ้นก็เซล้มลงไปแทบสิ้นพระชนม์
|
พระพุทธรูปปางทรงพระสุบิน
พระพุทธรูปปางทรงพระสุบิน วัดปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถบรรทมตะแคงขวา พระหัตถ์ซ้ายทอดไปตามพระวรกาย พระพาหา ( ต้นแขน ) ขวาแนบกับพื้น ยกหลังพระหัตถ์ขึ้นแนบพระหนุ ( คาง ) งอนิ้วพระหัตถ์แนบกับพระปราง ( แก้ม ) หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย เป็นกิริยาบรรทมหลับในลักษณะสีหไสยาสน์
ความเป็นมาของปางทรงพระสุบิน
ต่อมาพระบรมโพธิสัตว์ทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา เพราะทรงเห็นว่ามิใช่หนทางแห่งพระโพธิญาณ ทรงเปลี่ยนมาใช้มัชฌิมาปฏิปทา หรือ การปฏิบัติโดยทางสายกลาง จึงเสด็จออกบิณฑบาตดังเดิม ปัญจวัคคีย์ ทั้ง ๕ เข้าใจว่า บัดนี้ พระบรมโพธิสัตว์ได้ละความเพียรแล้วหันมาบริโภคอาหารดังเดิม ไหนเลยจะพบธรรมวิเศษได้ จึงพากันเดินทางจากไป พระบรมโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตมาจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ขณะบรรทมทรงปัญจมหาสุบิน ( ฝัน ) เป็นบุพนิมิตรมหามงคล ๕ ประการ เมื่อตื่นบรรทมพระบรมโพธิสัตว์ทรงทำนายมหาสุบินนิมิตรด้วยพระองค์เอง ทรงทราบว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงเบิกบานพระทัยเป็นอย่างยิ่ง
|
พระพุทธรูปปางเสี่ยงบารมีลอยถาด
พระพุทธรูปปางเสี่ยงบารมีลอยถาด วัดปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) คุกพระชานุ ( เข่า ) ทั้งสองกับพื้น พระหัตถ์ซ้ายวางที่พระเพลา ( ตัก ) ข้างซ้าย เป็นอาการค้ำพระวรกายให้ตั้งมั่น ทอดพระเนตรลงต่ำ พระหัตถ์ขวาอยู่ในพระอิริยาบถยื่นถาดไปข้างหน้า
ความเป็นมาของปางเสี่ยงบารมีลอยถาด
หลังจากที่พระบรมโพธิสัตว์เสวยข้าวมธุปายาสแล้ว ทรงลอยถาดลงในแม่น้ำเนรัญชรา พร้อมกับทรงอธิษฐานเสี่ยงพระบารมีว่า "ถ้าจะได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ขอให้ถาดทองลอยทวนกระแสน้ำ แม้นว่าไม่ได้สำเร็จสมประสงค์ ขอให้ถาดลอยล่องไปตามกระแสน้ำ" พุทธประวัติกล่าวว่า ถาดนั้นได้ลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป จนถึงวังน้ำวนแห่งหนึ่ง จึงจมลงสู่นาคพิภพ ไปกระทบกับถาดสามใบของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตสามพระองค์พญานาคราชซึ่ง กำลังนอนหลับอยู่ในนาคพิภพได้ยินเสียงถาดกระทบกัน จึงทราบว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบังเกิดขึ้นในโลกมนุษย์อีกพระองค์หนึ่งแล้ว ( ในกัปปัจจุบัน หรือที่เรียกว่าภัทรกัป มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๕ พระองค์ เจ้าชายสิทธัตถะ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๔ ทรงพระนามว่า "พระสมณโคดมพุทธเจ้า" )
|
พระพุทธพระพุทธรูปปางรับหญ้าคา
พระพุทธพระพุทธรูปปางรับหญ้าคา วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระวรกาย พระหัตถ์ขวายื่นออกมาข้างหน้า เป็นกิริยาทรงรับหญ้าคา บางแบบทำเป็นพระอิริยาบถทรงถือหญ้าคาก็มี บางแบบมีรูปพราหมณ์กำลังยื่นหญ้าคาถวายด้วย
ความเป็นมาของปางรับหญ้าคา
พระบรมโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นถาดทองลอยทวนกระแสน้ำดังอธิษฐานจึงทรงโสมนัส ( ดีใจ ) เสด็จสู่ร่มสาละ ครั้นถึงเวลาบ่ายได้เสด็จกลับไปยังอัสสัตถโพธิพฤกษ์มณฑล ( ร่มโพธิ์ ) ระหว่างทางได้พบกับโสตถิยพราหมณ์ ถือหญ้ากุสะ ( หญ้าคา ) ๘ กำ เดินสวนทางมา โสตถิยพราหมณ์เลื่อมใสในพระสิริที่งามสง่าของพระบรมโพธิสัตว์ จึงน้อมถวายหญ้ากุสะทั้ง ๘ กำ
|
|
|
พระพุทธรูปปางสมาธิเพชร
พระพุทธรูปปางสมาธิเพชร วัดนิเวศธรรมประวัติ ราชวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิไขว้พระชงฆ์ ( แข้ง ) หงายฝ่าพระบาททั้งสองข้าง ฝ่าพระหัตถ์วางหงายซ้อนกันบนพระเพลา ( ตัก ) พระหัตถ์ขวาทับบนพระหัตถ์ซ้าย
ความเป็นมาของปางสมาธิเพชร
หลังจากที่พระบรมโพธิสัตว์รับหญ้าคาจากโสตถิยพราหมณ์แล้ว ทรงนำไปปูต่างบัลลังก์ ณ ควงไม้อัสสัตถโพธิพฤกษ์ แล้วประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิ อธิษฐานว่า "เนื้อและเลือดในสรีระนี้ แม้จะเหือดแห้งไปหมดสิ้น จะเหลือแต่หนังเอ็นและกระดูกก็ตามที ถ้าเรายังไม่บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณก็จักไม่ทำลายบัลลังก์นี้"
|
|
พระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปปางมารวิชัย วัดพระเชตุพน วิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา ( ตัก ) พระหัตถ์ขวาวางบนพระชานุ ( เข่า ) นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงพื้นธรณี บางแห่งทำรูปแม่พระธรณีนั่งบีบมวยผมประกอบ นิยมสร้างเป็นพระประธานในพระอุโบสถ
ความเป็นมาของปางมารวิชัย
ขณะที่พระบรมโพธิสัตว์ประทับ ณ โพธิบัลลังก์ พญามารวสวัตตีประทับบนหลังช้างคีรีเมฃล์สูง ๑๕๐ โยชน์ ยกทัพมาหมายจะทำลายความเพียรของพระองค์ พญามารเนรมิตร่างสูงใหญ่มีมือนับพันถือศัสตราวุธพร้อม นำเหล่าเสนามารมากมายมืดฟ้ามัวดิน เหล่าเทวดาทั้งหลายหนีไปหมด แต่พระบรมโพธิสัตว์มิได้หวาดกลัว พวกมารซัดศัสตราวุธเข้าใส่พระบรมโพธิสัตว์ แต่ศัสตราวุธเหล่านั้นกลายเป็นบุปผามาลัยไปสิ้น พญามารยังกล่าวทึกทักว่า รัตนบัลลังก์เป็นของตน พระบรมโพธิสัตว์ ทรงกล่าวว่า รัตนบัลลังก์นี้เกิดมาด้วยบุญที่พระองค์สั่งสมมาแต่ปางก่อน โดยอาศัยแม่พระธรณีเป็นพยาน แม่พระธรณีได้ปล่อยมวยผมบีบน้ำ กรวดอุทิศผลบุญจากการทำทานของพระบรมโพธิสัตว์ให้ไหลพัดพาเหล่ามารไปจนสิ้น
|
|
วันที่ 8 ก.ย. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,145 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,149 ครั้ง เปิดอ่าน 7,150 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,150 ครั้ง เปิดอ่าน 7,218 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,208 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,167 ครั้ง เปิดอ่าน 7,149 ครั้ง เปิดอ่าน 7,145 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,143 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,145 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,141 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,140 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,156 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,135 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 15,279 ครั้ง |
เปิดอ่าน 1,048 ครั้ง |
เปิดอ่าน 11,378 ครั้ง |
เปิดอ่าน 20,495 ครั้ง |
เปิดอ่าน 38,320 ครั้ง |
|
|
|
|
|
ครูบ้านนอกดอทคอม
เว็บไซต์เพื่อครู ข่าวการศึกษา ความรู้ การศึกษาไทย
|
|
|
|
kroobannok.com |
© 2000-2020 Kroobannok.com
All rights reserved.
Design by : kroobannok.com
ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory
|
วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
|
ครูบ้านนอกดอทคอม
เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง
ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร
แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร
ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู
ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย
เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา
และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ |
เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548
Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
| | |