ตำนานพื้นบ้านอีสาน
สาระสำคัญ
ตำนานเป็นเรื่องเล่าแสดงกิจการอันมีมาแต่ปางหลัง เรื่องราวนมนานที่เล่าสืบ ๆ มา
เพื่อทำให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา และน่าเชื่อถือของโบราณสถาน โบราณวัตถุ หรือ ปูชนียบุคคลที่สำคัญ ๆ ทั้งที่ปรากฏในประเทศและมาจากต่างประเทศ รวมทั้งตำนานในท้องถิ่น
เนื้อหาสาระ
ความหมายของตำนาน
ตำนานในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้คำนิยามของตำนานไว้ว่า “เรื่องเล่าแสดงกิจการอันมีมาแต่ปางหลัง เรื่องราวนมนานที่เล่าสืบ ๆ มา เช่น ตำนานพุทธเจดีย์สยาม”
จาคอบ กริมม์ ให้ความหมายของตำนานว่าตำนานเป็นเรื่องราวที่เป็นจริง มีสถานที่อ้างอิงจริง เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์
ตำนานหรือเทวปกรณ์หรือเทวตำนาน มาจากภาษาอังกฤษว่า Myth คือ นิทานที่เล่าเรื่องอธิบายกำเนิดของจักรวาล กำเนิดเทพ กำเนิดมนุษย์และสัตว์ และอธิบายความสัมพันธ์และกฎเกณฑ์ ตลอดจนคุณและโทษของพฤติกรรมต่าง ๆ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา และพิธีกรรมโบราณ เช่น เทวปกรณ์ของฮินดู ขุนบรมของลาว และพญาคันคากของอีสาน เป็นต้น
ตำนานเป็นเรื่องเล่าถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณเป็นเรื่องราวของบุคคลสำคัญของชนชาติต่าง ๆ เช่น กษัตริย์ เจ้าผู้ครองนคร ตลอดจน
การสร้างบ้านแปงเมืองในสมัยโบราณ เรื่องเกี่ยวกับปูชนียวัตถุ หรือโบราณสถาน เป็นต้น เรื่องราวเหล่านี้ถูกถ่ายทอดทางมุขปาฐะมาก่อน จนกระทั่งการพิมพ์เจริญขึ้นจึงได้มีผู้รู้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เรื่องราวที่บันทึกเนื่องจากมีระยะเวลาห่างไกลกับเหตุการณ์จึงทำให้เนื้อหาสาระของตำนานมีทั้งข้อเท็จจริงปะปนกับเรื่องราวคล้ายนิทานปรัมปรา ในพื้นบ้านอีสาน มีตำนานที่น่าสนใจอยู่มากมาย เช่น ตำนานท้าวฮุ่งหรือเจือง ตำนานอุรังคธาตุ ตำนานพญาคันคาก ตำนานหนองหานหลวง และในจังหวัดยโสธร มีตำนานที่น่าสนใจ หลายเรื่อง เช่น ตำนานพระธาตุก่องข้าวน้อย ที่บ้านตาดทอง ตำบลตาดทอง ตำนานพระธาตุพระอานนท์ ที่ตำบลในเมืองยโสธร ตำนานพระธาตุองอาจกระบาลหลวงหรือพระธาตุกุ้น ที่บ้านสิงห์ ตำบลสิงห์ ตำนานพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ที่บ้านสะเดา ตำบลตาดทอง เป็นต้น
รูปที่ 4 พระธาตุก่องข้าวน้อย
ที่บ้านตาดทอง จังหวัดยโสธร
รูปที่ 5 พระธาตุอานนท์ ที่วัดมหาธาตุ
(พระอารามหลวง) จังหวัดยโสธร
สรุปได้ว่า ตำนานเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมานานแล้ว เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ
โบราณสถาน โบราณวัตถุ และปูชนียบุคคล ตำนานเป็นเรื่องราวที่มีสถานที่ วัตถุ และบุคคลอ้างอิงจริง
ลักษณะของตำนาน
หากจะพิจารณาเนื้อเรื่องของตำนานแล้ว จะพบว่ามีลักษณะเด่น ๆ ดังนี้
1. ขนาดของเรื่อง มีขนาดยาวหลายตอน
2. ฉาก มีสถานที่จริงปรากฏ
หลักฐานชัดเจน
3. ตัวละคร มีมนุษย์ อมนุษย์ และ
สัตว์ อาจเป็นวีรบุรุษ
ของท้องถิ่นหรือเทพเจ้า
ตัวอย่างเช่น ปู่สังกะสาย่าสังกะสี ขุนบรม พญาคันคาก พระมนูกับน้ำท่วมโลก
4. โครงเรื่อง ประกอบด้วยอนุภาค
หลายอนุภาค ว่าด้วย
กำเนิดจักรวาล กำเนิด
โลก กำเนิดมนุษย์และ
สัตว์ และความเป็นมา
ของสถานที่สำคัญเก่าแก่
ที่มีมาแต่โบราณ
เรื่องและถ่ายภาพ : สมปอง จันทคง