โรคมะเร็ง นับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในลำดับต้นๆ ของคนทั่วโลก สามารถเกิดขึ้นได้กับอวัยวะทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นสมอง ปอด ตับ กระดูก ลำไส้ เต้านม หรือกล่องเสียง ซึ่งยังไม่สามารถระบุถึงตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคได้อย่างชัดเจน แต่ก็มีข้อมูลแน่ชัดในเรื่องของอาหารการกินว่าสามารถทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้ เนื่องมาจากพฤติกรรมการกินอาหาร เช่น กินอาหารที่ก่อมะเร็งหรือไม่ กินอาหารซ้ำซากหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงได้หากผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง
อาหารก่อมะเร็ง คืออาหารที่กินแล้วทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง ที่กล่าวถึงบ่อยๆ ว่าเป็นตัวการสำคัญให้เกิดโรคมะเร็งก็คืออาหารประเภทไขมัน ซึ่งมีข้อมูลการวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าการกินอาหารที่มีไขมันสูงมากๆ เป็นประจำทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้ โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมาก จึงไม่ควรกินอาหารที่มีไขมันสูงบ่อยๆ หรือเป็นประจำ นอกจากเสี่ยงต่อโรคมะเร็งแล้วยังทำให้อ้วนและเกิดโรคอื่นๆ เช่น ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจขาดเลือด และในปัจจุบันยังมีรายงานการวิจัยระบุว่าการกินเนื้อสัตว์ที่มีสีแดงในปริมาณมากๆ เป็นประจำจะทำให้เสี่ยงต่อโรคมะเร็งมากกว่าการกินไขมันเสียอีก ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็งด้วยสาเหตุข้างต้นจึงควรเดินทางสายกลางในการบริโภคอาหาร
อาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อรา โดยเฉพาะเชื้อราที่ชื่อ "แอสเปอจิลลัส เฟวัส" พบว่ามีอันตรายสูง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ เชื้อราชนิดนี้จะสร้างสารพิษอะฟล่าท็อกซินซึ่งทนทานต่อความร้อนสูงได้มากถึง 260 องศาเซลเซียส ดังนั้นความร้อนในอุณหภูมิที่เราใช้หุงต้มคือจุดเดือด 100 องศาเซลเซียสจึงไม่สามารถทำลายสารพิษชนิดนี้ได้ สารพิษอะฟล่าท็อกซินพบได้ในถั่วลิสง พริกแห้ง หอม กระเทียม เป็นต้น การเลือกซื้อหรือเลือกบริโภคอาหารดังกล่าวจึงต้องมั่นใจว่าอาหารนั้นๆ แห้งสนิท ไม่มีเชื้อรา ถั่วลิสงป่นหรือพริกแห้งป่นที่ป่นทิ้งไว้และเก็บรักษาไม่ดี ไม่แห้งสนิท และไม่มีฝาปิดมิดชิด มักพบว่ามีสารพิษชนิดนี้ปะปนอยู่ โดยมีงานวิจัยของสถาบันวิจัยโภชนาการได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับสารพิษอะฟล่าท็อกซินในถั่วลิสงป่นในก๋วยเตี๋ยวต้มยำ พบว่าในก๋วยเตี๋ยวต้มยำ 100 ชามมีสารพิษอะฟล่าท็อกซินเจือปนอยู่ถึง 92 ชาม ซึ่งนับว่าอันตรายมาก ฉะนั้นเมื่อกินก๋วยเตี๋ยวหากไม่มั่นใจว่าเป็นถั่วที่คั่วใหม่ๆ ก็ไม่ควรกิน แต่ถ้าเป็นคนที่นิยมกินถั่วลิสงควรเลือกซื้อถั่วเมล็ดที่สมบูรณ์และแห้ง นำมาคั่วและป่นกินเองจะปลอดภัยกว่าถั่วป่นในชุดเครื่องปรุงตามร้านก๋วยเตี๋ยว และเมื่อไม่นานมานี้ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการสำรวจน้ำผัก น้ำผลไม้ และชาเขียว ก็พบว่าในน้ำองุ่นมีสารพิษจากเชื้อราเจือปนอยู่ด้วย
ยาฆ่าแมลงที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร แล้วคนกินทุกวันๆ ร่างกายขับทิ้งไม่ทันก็เกิดการสะสม จนในที่สุดทำให้เสี่ยงต่อโรคมะเร็งได้ และในปัจจุบันการเพาะปลูกมีการใช้ยาฆ่าแมลงมาก โดยพบว่าในคะน้า พริกสด กวางตุ้ง กะหล่ำปลี ล้วนมียาฆ่าแมลงตกค้าง ดังนั้นเมื่อซื้อมาปรุงอาหารจึงควรล้างให้สะอาด ทั้งยังมีข่าวน่าตกใจที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ก็คือมีพ่อค้าขายปลาหมึกแห้งใช้ยาฆ่าแมลงฉีดพ่นปลาหมึกแห้งเพื่อป้องกันแมลงวันมาตอม ซึ่งการกระทำดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อผู้บริโภคและผิดกฎหมายด้วย สิ่งเหล่านี้เราต้องพยายามหลีกเลี่ยง โดยเลือกซื้ออาหารจากร้านที่เรามั่นใจว่ามีความสะอาดและมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค สำหรับผักและผลไม้ต้องล้างจนมั่นใจว่าสะอาดจริงๆ
อาหารที่ปนเปื้อนสารเจือปนในอาหารหรือสารที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในอาหารล้วนเป็นสารก่อมะเร็งได้ ซึ่งสารเจือปนที่อนุญาตให้ใส่ในอาหารได้ ได้แก่ ดินประสิว (ไนเตรท, ไนไตรท์) สีผสมอาหาร เป็นต้น แต่ก็ไม่อนุญาตให้ใส่มากเกินไป โดยไนเตรทและไนไตรท์เป็นสารกันบูดที่กระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้ใส่ในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ในอัตราส่วนเนื้อสัตว์ 1 กิโลกรัมต่อไนเตรทไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ส่วนไนไตรท์ใส่ได้ไม่เกิน 125 มิลลิกรัม แต่สารเจือปนนี้ให้คุณสมบัติทางอ้อม คือเนื้อที่ใส่ไนเตรทหรือไนไตรท์จะมีสีแดงน่ากินมากขึ้น จึงนิยมใส่สารนี้กันโดยเข้าใจว่าจะทำให้เนื้อมีสีแดงเพิ่มมากขึ้นซึ่งไม่เป็นความจริง อาหารที่มักใส่ดินประสิว ได้แก่ ไส้กรอก แหนม เนื้อสวรรค์ กุนเชียง เป็นต้น
สาเหตุที่ดินประสิวทำให้เกิดสารก่อมะเร็งได้เพราะในเนื้อสัตว์จะมีสารเอมีน และเมื่อเติมดินประสิวลงไปจะทำปฏิกิริยาให้เกิดสารไนโตรซามีนขึ้น ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง นอกจากนี้ไนโตรซามีนยังเกิดขึ้นได้ภายในกระเพาะอาหารของคนเราเมื่อกินอาหารที่มีไนเตรทตามธรรมชาติ เช่น ผัก และกินร่วมกับเนื้อสัตว์
สีผสมอาหารก็ไม่แนะนำให้ใช้มากเกินความจำเป็นหรือกินอาหารที่ใส่สีมากเกินไป ควรใช้สีที่ได้จากธรรมชาติจะปลอดภัย ทั้งยังได้กลิ่นหอมจากพืชหรือสมุนไพรที่เรานำมาเป็นวัตถุดิบในการให้สีเพิ่มขึ้นด้วย และถ้าผู้ผลิตขาดความรับผิดชอบ ใช้สีย้อมผ้าซึ่งให้สีเข้มและราคาถูกก็จะยิ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เพราะทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้ สำหรับสารเจือปนอื่นๆ ซึ่งไม่อนุญาตให้ใส่ในอาหาร แต่ก็มีการแอบใส่หรือแอบใช้กัน เช่น บอแรกซ์หรือผงกรอบ พบได้ในอาหารประเภทลูกชิ้นที่เด้งผิดปกติ ของทอดที่กรอบนานผิดปกติ, สารฟอกขาว พบในขิง ข่าซอย ถั่วงอก เป็นต้น สารเหล่านี้หากกินในปริมาณที่น้อยแต่บ่อยๆ ก็ทำให้เกิดการสะสม ส่งผลให้เสี่ยงต่อมะเร็งได้เช่นกัน
อาหารประเภทปิ้ง ย่าง รมควัน เป็นอีกตัวการสำคัญที่ก่อมะเร็งได้หลายชนิด อาหารปิ้ง-ย่างประเภทที่มีไขมัน เช่น หมูปิ้งหมูย่าง ไก่ปิ้ง เนื้อย่าง เวลาปิ้งหรือย่างจะมีไขมันตกลงไปในถ่านที่กำลังแดง ทำให้เกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ก่อให้เกิดสารพิษที่เรียกว่าสาร PAH หรือโพลีไซคลิก อะโรเมติก ไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbon) ทำให้เสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอด เต้านม และกระเพาะอาหาร เวลากินอาหารเหล่านี้จึงควรตัดส่วนที่ไหม้เกรียมออกให้หมด และไม่ควรกินซ้ำๆ ซากๆ ติดกันทุกวัน
การกินอาหารดิบๆ สุกๆ ก็มีความไม่ปลอดภัย เพราะเสี่ยงต่อการได้รับพยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งพบมากในปลาน้ำจืดประเภทปลาเกล็ดขาว ปลาตะเพียน พยาธิชนิดนี้จะเข้าสู่ร่างกายได้เมื่อเรากินปลาที่มีพยาธิและปรุงไม่สุก พยาธิจะทำให้ท่อน้ำดีและขั้วตับเกิดการอักเสบ ส่งผลให้เป็นมะเร็งที่ท่อน้ำดีในตับได้ นอกจากนี้ยังมีพยาธิใบไม้ชนิดอื่นๆ ที่ทำให้เกิดมะเร็งในกระเพาะอาหารได้ ซึ่งวิธีป้องกันคือกินอาหารที่ปรุงสุกทุกครั้ง
นอกจากนี้การกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์มากเกินไปก็ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้ คือความเสี่ยงของมะเร็งจะเพิ่มขึ้นเมื่อกินเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเนื้อที่มีสีแดง ดังนั้นนักโภชนาการจึงแนะนำให้กินเนื้อสัตว์ที่มีสีขาว ซึ่งได้แก่เนื้อปลา มากกว่าเนื้อหมูหรือเนื้อวัว
เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ และบุหรี่ ก็เป็นตัวการส่งเสริมให้เกิดมะเร็งได้ ซึ่งได้แก่มะเร็งตับ และมะเร็งปอด ดังนั้นหากหลีกเลี่ยงหรือลดปริมาณการดื่มหรือการสูบลงก็จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้
เห็นได้ว่าอาหารที่เรากินประจำก็เป็นอาหารก่อมะเร็งได้โดยที่เราคิดไม่ถึง แต่คุณผู้อ่านไม่ควรกังวล เพราะอาหารบางอย่างเราสามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรืออาหารสุกๆ ดิบๆ แต่บางอย่างที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ก็คงต้องมีวิธีปฏิบัติเพื่อไม่ให้อาหารเหล่านั้นอยู่ในร่างกายเรานานเกินไปจนเกิดอันตรายได้ นั่นคือจะต้องกินผักและผลไม้ให้มากเพื่อให้ขับถ่ายเป็นประจำ ผลไม้ที่เลือกกินควรเป็นผลไม้ที่มีเส้นใยสูง รสไม่หวานมากเกินไป ซึ่งเส้นใยในผักและผลไม้จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำหน้าที่เหมือนไม้กวาดคอยปัดกวาดลำไส้ไม่ให้สารพิษทำอันตรายต่อร่างกายได้ นอกจากนี้ในผักและผลไม้ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงที่ช่วยป้องกันมะเร็งหลายชนิด
ต่อมาคือการเลือกกินอาหารที่มีความเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด ไม่กินอาหารที่มีการดัดแปลงหรือใช้สารเคมี หากคุณเป็นคนที่อ่านฉลากทุกครั้งก่อนตัดสินใจซื้ออาหาร จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์อาหารอย่างเดียวกัน แต่ยี่ห้อต่างกัน เช่น น้ำปลา จะมีหลากหลายยี่ห้อ เมื่ออ่านฉลากจะพบว่าบางยี่ห้อไม่ใส่สารกันบูด บางยี่ห้อก็ไม่ใส่ผงชูรส เราจึงควรเลือกยี่ห้อที่ไม่ใส่สารกันบูดหรือไม่ใส่ผงชูรสจะดีกว่า
สิ่งที่สำคัญในการหลีกเลี่ยงมะเร็ง คือการดูแลร่างกายให้แข็งแรง จะทำให้เรามีภูมิต้านทานดี โรคภัยต่างๆ ก็มากล้ำกรายยาก และก่อนที่กระทรวงสาธารณสุขจะระบุว่าสารเคมีบางอย่างสามารถใส่ในอาหารได้ในปริมาณหนึ่งๆ ซึ่งปลอดภัยต่อผู้บริโภค ก็ต้องมีการทดลองในสัตว์ทดลองจนมั่นใจว่าปลอดภัยแล้วจึงนำมาใช้กับคน โดยนักวิจัยจะทำการวิจัยในสัตว์ที่แข็งแรงเท่านั้น แต่โดยปกติเรากินอาหารในทุกสภาพของร่างกาย ถ้าเรากินในช่วงที่เจ็บป่วย ปริมาณที่กำหนดว่าปลอดภัยจึงอาจไม่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ก็เป็นได้ ดังนั้นถ้าหลีกเลี่ยงได้จึงเป็นสิ่งดีและปลอดภัยที่สุด
การที่ร่างกายจะแข็งแรงได้ก็ต้องกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ไม่กินอาหารซ้ำซาก ไม่กินอาหารรสจัด และต้องหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ ก็เป็นคาถาที่น่าจะป้องกันมะเร็งได้ผล
ที่มา : http://www.gourmetthai.com/