Advertisement
|
|
พระอุโบสถกลางน้ำวัดพระศรีโคมคำ |
|
|
เมืองผ่าน ในความคิดของหลายคน อาจเป็นเมืองที่ไม่มีความน่าสนใจ มาแล้วก็ผ่านเลยไป ไม่มีอะไรน่าค้นหา แต่ในความเป็นเมืองผ่านนั้น อาจเป็นได้ว่าเป็นที่ซุกเร้นความมหัศจรรย์ไว้อย่างเงียบเชียบ
"พะเยา" จังหวัดเล็กๆในเขตล้านนาตะวันออก ดูจะเข้าข่ายเมืองผ่านที่ว่าเสียด้วย เมืองเล็กๆที่มีวิถีการขับเคลื่อนอย่างช้าๆ ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่ ที่นี่จะถูกจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 เมืองน่าอยู่ของไทย จากผลการวิจัยของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (Local Development Institute : LDI)ในปีพ.ศ.2551
และเพราะความเงียบน่าอยู่นี้เอง ที่ทำให้ "ตะลอนเที่ยว" เมื่อมีโอกาสเหมาะ ขึ้นเหนือไปแอ่วพะเยา เราจึงไปตะลอนไหว้พระ 9 วัด ใน 3 อำเภอ เพื่อซึมซับในพระพุทธศาสนา และชื่นชมในงานพุทธศิลป์ถิ่นพะเยาอันสงบงาม ซึ่งทุกวัดมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ เหมาะกับผู้แสวงหาความสงบอย่างแท้จริง ไม่มีความวุ่นวาย แต่แฝงด้วยความขลังน่าศรัทธาเลื่อมใสและความงดงาม
|
|
หลวงพ่อพระอุบาลีคุณูปมาจารย์(ที่2จากขวา)เจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำกับภาพจิตรกรรมงดงามในพระอุโบสถกลางน้ำ |
|
|
5 วัด ใน อ.เมือง
วัดแรกที่ได้มีโอกาสแวะไปเยือน เรียกได้ว่าเป็นวัดที่ใครก็ตาม หากมาพะเยาก็ต้องแวะเข้าไปกราบไหว้ ที่ "วัดศรีโคมคำ" หรือที่คนพะเยามักนิยมเรียกขานกันว่า 'วัดพระเจ้าตนหลวง' เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี และวัดพัฒนาตัวอย่าง
วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนองค์ใหญ่ที่สุดในล้านนาไทย ขนาดหน้าตักกว้าง 16 เมตร สูง 18 เมตร สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2034-2067 เรียกกันว่าพระเจ้าตนหลวง หรือ พระเจ้าองค์หลวง อายุกว่า 508 ปี เชื่อกันว่าผู้ที่มาบนบานสานกล่าวกับพระเจ้าตนหลวง หากต้องการให้สัมฤทธิ์ผลต้องบนและแก้บนด้วย ไข่เป็ด ไข่ไก่ หรือไข่ห่าน เพราะมีตำนานผูกพันธ์กันมาตั้งแต่สมัยการสร้างพระเจ้าตนหลวง
|
|
พระเจ้าตนหลวง |
|
|
ไหว้พระเจ้าตนหลวงแล้วก็ต้องแวะมาที่ "พระอุโบสถกลางน้ำ" ตั้งอยู่ด้านซ้ายมือของพระวิหาร เป็นพระอุโบสถหลังใหม่ของวัดศรีโคมคำ อยู่ริมกว๊านพะเยา สร้างแบบศิลปะล้านนาประยุกต์ ความโดดเด่นคือการชมภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนโดย อังคาร กัลยาณพงษ์ ศิลปินแห่งชาติ และ ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ หลากสีสันและเรื่องราวงดงามมาก
ทั้งยังมีสิ่งสำคัญอื่นๆที่ตั้งอยู่ภายในวัด อย่างเหล่าพระพุทธรูปหินทรายศิลปะพะเยา พระพุทธบาทจำลองที่สมบูรณ์ที่สุดในล้านนา สวนศิลป์ ที่เกิดจากแนวคิดทางพุทธศาสนาสะท้อนเรื่องบาป-บุญ-คุณ-โทษ ด้วยการจำลองสวรรค์ และนรกภูมิ วิหารครูบาศรีวิชัยซึ่งใช้ขณะที่มาจำวัดบูรณะพระวิหารซึ่งทางวัดเก็บรักษาไว้ในสภาพคงเดิม
|
|
องค์พระธาตุวัดลี |
|
|
วัดต่อมาคือ "วัดลี" ที่ตั้ง ปัจจุบันตั้งอยู่ที่บ้านหล่ายอิง ใกล้กับ โรงเรียนเทศบาล 3ต.เวียง อ.เมือง จ.พะเยา วัดลี เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญวัดหนึ่งของเมืองพะเยามาช้านาน
วัดลี เป็นชื่อแต่ดั้งเดิม ความหมายของคำว่า "ลี" เป็นคำโบราณของไทยทางภาคเหนือ หมายถึง กาด หรือ ตลาด ในความหมาย "วัดลี" นั้นก็คือ วัดที่อยู่ในย่านชุมชนตลาด
วัดลีสร้างขึ้นในปีพ.ศ.2038 โดยเจ้าสี่หมื่นพะเยา ภายหลังจากที่พม่ายึดครองล้านนาและกวาดต้อนผู้คนไป ส่งผลให้หัวเมืองต่างๆของล้านนา รวมทั้งพะเยากลายเป็นเมืองร้าง วัดลี เป็นวัดร้างมานานหลายร้อยปี จนกระทั่งในช่วงระยะเวลา พ.ศ. 2463 – 2478 ก็ได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ โดยมีพระครูบาศรีวิชัย มาเป็นผู้บูรณปฏิสังขรณ์ เมื่อแล้วเสร็จ
|
|
องค์เจดีย์วัดป่าแดงบุญนาค |
|
|
ภายใน วัดมีปูชนียสถานที่สำคัญ คือองค์พระธาตุวัดลี และยังพบโบราณวัตถุสมัยอาณาจักรพะเยาจำนวนมาก โดยเฉพาะพระพุทธรูปหินทราย นอกจากนั้นยังมีพิพิธภัณฑ์ที่เก็บสะสมของโบราณไว้อีกด้วยวัดลี มีสถูปที่เป็นแบบสถาปัตยกรรมของภาคเหนือ และโบราณวัตถุสมัยอาณาจักรพะเยาอีกมากมาย โดยเฉพาะพระพุทธรูปหินทราย ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่สำคัญอีกแห่งของพะเยา
และไม่ไกลกันนักเป็นที่ตั้งของวัดเก่าแก่ที่ชื่อว่า "วัดป่าแดงบุญนาค" ตั้งอยู่บ้านป่าแดง ต.ท่าวังทอง อ.เมือง จ.พะเยา นับว่าเป็นวัดเก่าแก่แต่โบราณ เดิมชื่อ วัดบุญนาค ตอนหลังมีการสร้างวัดใหม่เพิ่มชื่อว่า วัดป่าแดง ปัจจุบันก็เลยรวมเป็นวัดเดียวกัน
|
|
วัดติโลกอาราม วัดเก่ากลางกว๊านพะเยา |
|
|
วัดป่าแดงบุญนาค นับเป็นวัดที่แสดงถึงความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ ระหว่างล้านนากับสุโขทัยได้เป็นอย่างดี เพราะเชื่อว่ากันว่าผู้สร้างวัดคือ พญายุธิษฐิระเจ้าเมืองสองแควได้เข้ามาสวามิภักดิ์พระเจ้าติโลกราชเจ้าเมืองเชียงใหม่ คราศึกกรุงศรีอยุธยากับล้านนา พระเจ้าติโลกราชให้พญายุธิษฐิระ มาครองเมืองพะเยา และพระองค์ได้สร้างวัดอรัญญวาสี คือวัดบุญนาค ขึ้น ดังนั้นองค์เจดีย์ที่วัดแห่งนี้จึงได้รับอิทธิพลศิลปะสุโขทัย
ชมวัดโบราณกลางกว๊านพะเยา บึงใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวพะเยากันบ้างกับ "วัดติโลกอาราม" วัดโบราณที่เพิ่งถูกค้นพบอยู่ในกว๊านพะเยา เป็นวัดสำคัญที่พระยายุทธิษฐระได้สร้างขึ้น เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนาเชียงใหม่ ประมาณปีพ.ศ.2019-2030 ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวของเมืองพะเยาและยังถูกบรรจุ อยู่ในโครงการ 12 เดือน 7 ดาว 9 ตะวัน มหัศจรรย์เมืองไทยที่ต้องไปสัมผัสของททท. อีกด้วย
|
|
มุมหนึ่งในวัดอนาลโย วัดที่ตั้งอยู่บนม่อนสูง |
|
|
ยังอยู่ในเขตอ.เมืองพะเยาแต่ขึ้นเขาสูง มาที่"วัดอนาลโยทิพยาราม" ตั้งอยู่บนดอยบุษราคัมห่างจากตัวจังหวัด 20 กิโลเมตร สร้างโดยพระปัญญาพิศาลเถร (พระอาจารย์ไพบูลย์ฯ)เป็นอุทยานพระพุทธศาสนา มีเนื้อที่ทั้งหมด 2,800 ไร่ ขึ้นวัดนี้ใครที่แรงเหลือเฟือ ต้องขึ้นบันได แต่ถ้าใครขี้เกียจก็มีเส้นทางให้รถวัดขึ้นไป
บริเวณดอยบุษราคัม และม่อนพระนอน ประกอบด้วยพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย สูง18เมตร หน้าตักกว้าง 12เมตร ลักษณะงดงามมาก และยังมีพระพุทธรูปปางต่าง ๆอีกหลายองค์ อาทิ พระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปปาง- ลีลา พระพุทธรูปปางนาคปรก
|
|
วัดศรีปิงเมือง ในเขตโบราณสถานเวียงลอ |
|
|
มีรัตนเจดีย์ เป็นศิลปะแบบ อินเดีย-พุทธคยา เก๋งจีนประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิม หอพระแก้ว มรกตจำลอง เครื่องบูชาพระแก้วมรกต ทำด้วยทองคำและของมีค่าต่าง ๆ จากยอดเขาสามารถชมทัศนียภาพของกว๊านพะเยาและเมืองพะเยาได้อย่างชัดเจน
1 วัด เขตโบราณสถานเวียงลอ อ.จุน
ลัดเข้าสู่ถนนสายพะเยา-เชียงคำ มาอ.จุน แวะชม "วัดศรีปิงเมือง" วัดเก่าแก่แห่งเวียงลอ อดีตเมืองหน้าด่านของพะเยา ตั้งอยู่ห่างจากแนวกำแพงเมืองเก่า ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 150 เมตร โบราณสถานสำคัญของวัดนี้คือ เจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ เดิมมีร่องรอยฐานวิหารอยู่ด้านตะวันออก แต่ปัจจุบันได้สร้าง วิหารใหม่ครอบทับ
กรมศิลปากรได้บูรณะเจดีย์องค์นี้เมื่อ พ.ศ. 2536 ปัจจุบันเป็นวัดประจำหมู่บ้านลอ โดยมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ บรรยากาศเงียบสงบมากหลังวัดมีแม่น้ำอิงไหลผ่าน และในบริเวณวัดยังมีศูนย์ศึกษาข้อมูลโบราณสถานเวียงลอตั้งอยู่อีกด้วย
|
|
พระเจ้านั่งดิน อันซีนระดับประเทศ |
|
|
3 วัด 3 สไตล์ อ.เชียงคำ
จากเขตอ.จุน บนถนนสายหลักเส้นเดียวกันมุ่งหน้าสู่ อ.เชียงคำ เพื่อไปนมัสการ "พระเจ้านั่งดิน" ที่ "วัดพระเจ้านั่งดิน" ห่างจากอ.เชียงคำ 4 กม. เป็นหนึ่งใน UNSEEN THAILAND ของไทย เนื่องจากความโดดเด่นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวที่ไม่เหมือนที่ไหน ขององค์พระประธาน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่ประดิษฐานอยู่บนพื้นแทนที่จะอยู่บนฐานชุกชี กล่าวกันว่าจากประวัติในอดีต ชาวบ้านเคยสร้างฐานชุกชีแล้วอัญเชิญพระพุทธรูปไปประดิษฐานแต่ปรากฏว่าพยายามอย่างไรก็ยกไม่ขึ้น จึงเรียกสืบต่อกันมาว่า "พระเจ้านั่งดิน"
|
|
วิหารวัดนันตารามศิลปะแบบไทยใหญ่ |
|
|
อีกหนึ่งวัดหนึ่งสไตล์ "วัดนันตาราม" ที่สร้างด้วยศิลปะไทยใหญ่ อยู่ที่บ้านดอนไชย ในเขตสุขาภิบาลเมืองเชียงคำ เป็นวัดที่มีศิลปะแบบไทยใหญ่ ตัววิหารสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง ตกแต่งลวดลายฉลุไม้อย่างสวยงามตามส่วนประกอบต่างๆ เช่น หน้าต่าง หน้าบัน ระเบียง เป็นต้น ภายในวัดมีพิพิธภัณฑ์ใช้เก็บของเก่ามากมาย อาทิ ธนบัตรเก่า เครื่องใช้โบราณ ผ้าลายโบราณ ภาพวาดโบราณ
ทั้งยังมีพระพุทธรูปสำคัญอยู่หลายองค์ อาทิ พระพุทธปฏิมาประธาน เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ สมัยเชียงแสน ปางมารวิชัย ทรงเครื่องแบบไทใหญ่ แกะสลักด้วยไม้สักทองขนาดใหญ่ทั้งองค์ คาดว่าสร้างที่ประเทศพม่า ขนาดหน้าตักกว้าง 51 นิ้ว สูง 9 ศอกประดิษฐานบนสิงหบัลลังก์ไม้ และยังมีพระพุทธรูปหยกขาว พระเจ้าแสนแส้ พระพุทธรูปเกสรดอกไม้ ประดิษฐานอยู่ภายในวัดอีกด้วย
|
|
องค์พระธาตุวัดพระธาตุสบแวน |
|
|
วัดสุดท้ายในเมืองพะเยาที่ "ตะลอนเที่ยว" แวะเวียนไหว้ในครั้งนี้คือ "วัดพระธาตุสบแวน" สร้างราวปีพ.ศ. 2447 อยู่ห่างจากที่ว่าการอ.เชียงคำ 4 กม.เป็นที่ประดิษฐานองค์พระธาตุเจดีย์ที่มีอายุเก่าแก่มาก คาดว่าอายุราว 800 ปี ภายในบรรจุเส้นพระเกศา และกระดูกส่วนคางของพระพุทธเจ้า องค์พระธาตุได้รับการบูรณะมาหลายครั้ง แต่ยังคงรักษาสภาพศิลปะแบบล้านนาไทยไว้ได้ เชื่อว่าสร้างโดยชาวไทยลื้อสิบสองปันนา
นอกจากพระธาตุสบแวนแล้ว ภายในบริเวณวัด ยังมีต้นจามจุรีใหญ่ อายุกว่า 100 ปี สูง 17 ม. แผ่กิ่งก้านเป็นพุ่มสวยงามกว้าง ประมาณ 43 ม. ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นต้นจามจุรีที่สวยที่สุดในเมืองไทยตั้งอยู่อีกด้วย
เยือนพะเยาคราวนี้ ที่นี่จึงไม่ใช่เมืองผ่านในสายตาของ "ตะลอนเที่ยว" แต่เป็นเมืองที่ตั้งใจมา และพะเยาก็ได้ให้ความคุ้มค่าทั้งความสุข ทางกายและทางใจ ได้อย่างครบครัน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท. เชียงราย(เชียงราย พะเยา) โทร. 0-5374-4674-5,0-5371-7433
|
|
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9520000100305
วันที่ 3 ก.ย. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,136 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,168 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,136 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,147 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,137 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,141 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,146 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,140 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,140 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 18,865 ครั้ง |
เปิดอ่าน 10,979 ครั้ง |
เปิดอ่าน 9,452 ครั้ง |
เปิดอ่าน 58,681 ครั้ง |
เปิดอ่าน 24,977 ครั้ง |
|
|