ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ข่าวการศึกษา     ความรู้ทั่วไป     งานราชการ/รัฐวิสาหกิจ/บริการสังคมสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม  ▶ ข่าว/บทความ ▶ หน้าแรก

ขนบธรรมเนียม ประเพณีของชาวสยาม


สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เปิดอ่าน : 22,853 ครั้ง
Advertisement

ขนบธรรมเนียม ประเพณีของชาวสยาม

Advertisement

บทที่หนึ่ง เครื่องนุ่งห่ม และรูปร่างหน้าตาของชาวสยาม
            ๑.  ชาวสยามนุ่งห่มผ้าน้อยชิ้น เพราะร้อนและเพราะความเป็นอยู่ง่าย ๆ  ชาวสยามไม่ค่อยหุ้มห่อร่างกายมิดชิดนัก
            ๒.  ผ้านุ่ง เครื่องนุ่งห่มของชาวสยาม  ชาวสยามไม่ใส่รองเท้า ไม่สวมหมวก พันเอวและขาอ่อน ถึงใต้หัวเข่าด้วยผ้ามีดอกดวง ยาวประมาณ ๒ โอน (๑.๑๘ เมตร) ครึ่ง บางครั้งก็ใช้ชิ้นผ้าไหมเกลี้ยง ๆ หรือทอที่ริมเป็นลายทองลายเงิน

            ๓. ใช้เสื้อคลุมผ้ามัสลินเป็นเสื้อชั้นนอก  พวกขุนนางนอกจากนุ่งผ้าแล้วยังสวมเสื้อครุยมัสลินคลุม (ถึงเข่า) เขาจะเปลื้องมันออกแล้วม้วนพันไว้กับบั้นเอว เมื่อเข้าไปหาขุนนางผู้ใหญ่ที่มียศศักดิ์สูงกว่าตน นอกนั้นบรรดาขุนนางที่เข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงสยามคงนุ่งห่มเสื้อผ้าเต็มยศตามธรรมเนียมขุนนางสยาม มีงานพระราชพิธีต้องสวมหมวกลอมพอกสูงมียอดแหลม
            ๔. ผ้าคลุมกันหนาว  ในฤดูหนาวชาวสยามใช้ผ้าตามความกว้างหรือผ้าลินินมีดอกดวงคลุมไหล่ โดยพันชายผ้าไว้กับลำแขน
            ๕. พระเจ้ากรุงสยามฉลองพระองค์อย่างไร  ทรงใช้ฉลองพระองค์ด้วยผ้าเยียรขับอย่างงาม แขนฉลองพระองค์แดงมากปรกมาถึงข้อพระหัตถ์ ทำนองเดียวกับเสื้อที่เราใช้ได้เสื้อคลุม ทรงฉลองพระองค์นั้นไว้ภายใต้ฉลองพระองค์ครุย มีการปักอย่างวิจิตรต่างแบบลวดลายกันกับในยุโรป ชาวสยามคนใดจะใช้เสื้อเปิดนี้ไม่ได้ นอกจากพระองค์จะพระราชทานให้ ซึ่งจะพระราชทานให้เฉพาะขุนนางที่มีบรรดาศักดิ์สูงเท่านั้น
            ๖. เสื้อยศทหาร พระเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานเสื้อชั้นนอกสีแดงสด  สำหรับออกงานสงครามหรือตามเสด็จ ฯ ล่าสัตว์ เสื้อชนิดนี้ยาวถึงหัวเข่า มีดุมขัดด้านหน้า ๘ - ๑๐ เม็ด แขนเสื้อกว้าง ไม่มีปักลวดลาย และสั้นมากจนปรกไปถึงข้อศอก
            ๗. สีแดงสำหรับออกศึกและประพาสป่า  เป็นธรรมเนียมทั่วไปในกรุงสยาม ที่พระเจ้าอยู่หัวและผู้ที่อยู่ในขบวนโดยเสด็จออกงานดังกล่าว จะต้องแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดสีแดง ตัดเย็บด้วยผ้ามัสลินย้อมแดง
            ๘. ลอมพอกยอดสูงและปลายแหลม  เป็นศิราภรณ์สำหรับใช้ในงานพระราชพิธี พระเจ้าอยู่หัวและขุนนางแต่งเหมือนกัน ต่างแต่ว่าพระลอมพอกประดับขอบ หรือเสวียนเกล้าด้วยพระมหามงกุฎเพชรรัตน์ ส่วนลอมพอกขุนนางประดับเสียนทองคำ เงิน หรือกาไหล่ทองมากน้อยตามยศ บางคนไม่มีเสวียนเลย เมื่อใส่ลอมพอก การแสดงความเคารพไม่ได้ถอดออก
            ๙. รองเท้าแตะ พวกแขกมัวร์เป็นผู้นำรองเท้าแตะ  อันเป็นรองเท้าปลายแหลมมาใช้ ไม่มีปีกหุ้มเท้า ไม่มีส้น เขาถอดวางไว้ที่ประตู เมื่อเจะเข้าไปในเรือน ไม่ว่าพระเจ้าอยู่หัวจะประทับอยู่ ณ ที่ใดหรือบุคคลที่เขาจะต้องให้ความเคารพอยู่ ณ ที่ใด ชาวสยามจะไม่สวมรองเท้าเข้าไป ณ ที่นั้นเป็นอันขาด
            ๑๐. ความสะอาดของพระราชวัง  ไม่มีที่ใดจะสะอาดเท่าพระบรมมหาราชวัง
            ๑๑. หมวกสำหรับสรวมไปเที่ยว  พวกขุนนางนิยมมีกัน พระเจ้าอยู่หัวตรัสให้สร้างพระมาลาเป็นสีต่าง ๆ รูปทรงคล้าย ๆ กับพระลอมพอก แต่ราษฎรสามัญจะใช้ผ้าโพกศีรษะเฉพาะเมื่อลงเรืออยู่ในแม่น้ำเท่านั้น
            ๑๒. เครื่องนุ่งห่มของสตรี  พวกผู้หญิงนุ่งห่มตามความยาวของผืน วงรอบตัวเช่นเดียวกับผู้ชาย แต่ผู้หญิงปล่อยชายทางด้านกว้าง เลียนแบบกระโปรงอย่างแคบ ๆ ให้ชายตกลงมาครึ่งแข้ง ส่วนผู้ชายชักชายผ้าข้างหนึ่งซึ่งเขาปล่อยให้ยาวกว่าอีกข้างหนึ่ง ลอดหว่างขาแล้วไปเหน็บไว้ด้านหลัง โดยคาดเข็มขัดทับ คล้ายสับเพลาโบราณของเรา ส่วนชายอีกข้างหนึ่งห้อยอยู่หน้าขา (ชายพก) ใช้ชายพกห่อล่วมหมาก บางทีก็นุ่งผ้าสองผืนซ้อนทับกัน เพื่อให้ผืนบนดูเรียบร้อย
            ๑๓. เกือบจะเปลือยหมด  นอกจากผ้านุ่งแล้ว ผู้หญิงก็ปล่อยตัวล่อนจ้อน มิได้สวมเสื้อชั้นในมัสลิม เพียงแต่คนมั่งมีจะใช้สไบห่ม ปัดชายสไบเฉียงไปคลุมต้นแขน แต่ลักษณะที่สุภาพคือใช้ตอนกลางของผืนคาดขนอง แล้วสอดรักแร้ปกถันเข้าไว้ แล้วตลบชายสไบทั้งสองด้านสพักไพล่ไปทั้งชายอยู่าทางเบื้องหลัง (ห่มตาเบงมาน)

            ๑๔. ความละอายในการเปลือย  ชายหญิงสยามมีความตะขิดตะขวงใจเป็นอย่างยิ่งในโลก ที่จะเผยส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ซึ่งธรรมเนียมกำหนดให้ปิดบังไว้ ออกให้ใครเห็น เราต้องจ่ายผ้าขาวม้าให้ทหารฝรั่งเศสนุ่ง เมื่อลงอาบน้ำตามท่า เพื่อระงับข้อครหาของชาวเมือง ที่เห็นทหารฝรั่งเศสเปลือยกายลงอาบน้ำในแม่น้ำ
            ๑๕. ความละอายในการลงโทษ  เด็ก ๆ  จะไม่นุ่งผ้าจนอายุได้ ๔ - ๕ ขวบ และเมื่อเด็กนุ่งผ้าแล้วผู้ใหญ่จะไม่เลิกผ้าขึ้นเพื่อลงโทษเลย และคนในภาคบูรพาทิศถือกันว่า เป็นการน่าบัดสีอย่างยิ่ง ถ้าใครถูกโบยส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายอันเปลือยเปล่า
            ๑๖. เหตุใดจึงใช้ไม้เรียว  เพราะแส้หรือกิ่งไม้ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ เพียงพอที่จะแทรกเนื้อผ้าเข้าไปใด้
            ๑๗. ความละอายเวลานอนและอาบน้ำ  ชาวสยามไม่เปลือยกายเมื่อเข้านอน ทำนองเดียวกันกับที่เขาผลัดผ้าเมื่อลงอาบน้ำในแม่น้ำ ไม่มีที่ไหนในโลกที่จะว่ายน้ำกันเก่งเท่าที่นี่ ทั้งหญิงและชาย
            ๑๘. องค์พยานความละอายอย่างอื่น ๆ  ความละอาย (ต่อความสกปรก) ของชาวสยามก่อให้เกิดธรรมเนียมขัดสีฉวีวรรณกันอย่างถึงขนาด เขาเห็นว่าการเปลือยกายเป็นสิ่งที่น่าบัดสี เพลงขับที่มีเนื้องร้องเป็นคำลามกอนาจาร เป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมายสยามเหมือนกับกฎหมายในประเทศจีน
            ๑๙. ผ้านุ่งชนิดใดที่อนุญาตให้ใช้ได้  ผ้านุ่งที่มีความงดงามบางชนิดเช่น ผ้าม่วงไหมยกดอกหรือผ้าม่วงไหมอย่างไม่ยกดอก และเช่นผ้าลายเนื้อดี อนุญาตให้นุ่งได้เฉพาะบุคคลที่ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น ส่วนพวกผู้หญิงชั้นสามัญนิยมนุ่งผ้าถุงสีดำ และสไบนั้นมักเป็นผ้ามัสลินสีขาวอย่างธรรมดา
            ๒๐. แหวน กำไล ข้อมือ ตุ้มหู  ชาวสยามสวมแหวนที่นิ้วท้าย ๆ ของทั้งสองมือ พวกผู้ชายไม่รู้จักใช้สร้อยคอ พวกผู้หญิงและเด็กทั้งชายหญิงรู้จักการใช้ตุ้มหู ซึ่งมีรูปร่างเหมือนลูกบัว ทำด้วยทองคำ เงิน หรือกาไหล่ทอง เด็กหนุ่มสาวลูกผู้ดีสวมกำไลข้อมือ แต่จะสวมถึงอายุ ๖ - ๗ ขวบเท่านั้น และยังสวมกำไลที่แขน และขาอีกด้วย เป็นกำไลทำด้วยทองคำหรือกาไหล่ทอง
            ๒๑. การเปลือยกายของเขาไม่เป็นที่แปลกตา  เพราะมีผิวพรรณไม่ขาวเหมือนชาวยุโรป
            ๒๒. รูปร่างของชาวสยาม  มีรูปร่างย่อมได้สัดส่วนดี ปทุมถันของหญิงมิได้เต่งตั้งอยู่ได้เมื่อพ้นวัยสาวรุ่นไปแล้ว และยานย้อยลงมาถึงท้องน้อยในเวลาไม่นาน แต่รูปทรงร่างกายยังกะทัดรัดอยู่
            ๒๓. หน้าตาชาวสยาม  ค่อนข้างเป็นรูปขนมเปียกปูนมากกว่ารูปไข่ ใบหน้ากว้าง ผายขึ้นไปทางเหนือโหนกแก้ม ไปถึงหน้าผากอันแคบ รวมเข้าเป็นรูปมนเหมือนปลายคาง หางตาค่อนข้างสูง ตาเล็ก ไม่สู้แจ่มใสนัก ตาขาว ออกสีเหลือง ๆ แก้มตอบ ปากกว้าง ริมฝีปากหนาชัด ฟันดำ ผิวหยาบ สีน้ำตาลปนแดง
            ๒๔. สีน้ำเงินที่สักไว้ตามร่างกาย  ผู้หญิงสยามไม่ใช้ชาดทาปาก แก้มหรือแต้มไฝ ขุนนางสักที่ขาเป็นสีน้ำเงินหม่นเป็นเครื่องกำหนดความยิ่งศักดิ์ จะมีสีน้ำเงินมาก หรือน้อยสุดแต่บรรดาศักดิ์สูงต่ำ พระเจ้าอยู่หัวทรงสักสีน้ำเงิน ตั้งแต่ฝ่าพระบาทไปถึงพระนภี แต่บางคนก็บอกว่ากาสักทำไปเพราะเชื่อโชคลางของขลัง
            ๒๕. จมูกและหูของชาวสยาม  ชาวสยามมีจมูกสั้นและปลายมน ใบหูใหญ่กว่าชาวยุโรป คนมีใบหูใหญ่มากเท่าใด ก็ยิ่งเป็นที่ยกย่องกันมากเท่านั้น เป็นความนิยมของชาวตะวันออก
            ๒๖. ผมของชาวสยาม   มีสีดำ เส้นหยาบและเหยียด ทั้งชายหญิงไว้ผมสั้นมาก ยาวมาเสมอใบหูเท่านั้น  ต่ำกว่านั้นจะตัดเกือบเกรียนติดหนังศีรษะ พวกผู้หญิงหัวผมตั้งไว้บนหน้าผากโดยมิได้รวบเกล้ากระหมวด บางคนส่วนมากเป็นชาวรามัญ ปล่อยให้ผมยาวไปข้างหลังพอประมาณ เพื่อขมวดเป็นมวยไว้ที่ท้ายทอย ชายหนุ่มและหญิงสาวที่อยู่ในวัยมีเรือนได้แล้วก็ไว้ผม  แปลกไปอีกทำนองหนึ่งคือ ใช้กรรไกรหนีบตัดผมกลางกระหม่อมเสียสั้นเกรียน รอบเรือนผมเขาถอนออกมาเป็นกระจุกเล็ก ๆ กระจุกหนึ่ง ทางด้านล่างปล่อยให้ออกยาวไปเกือบประบ่า
            ๒๗.รสนิยมของชาวสยามที่มีต่อหญิงผิวขาว  ภาพวาดสตีรีงามบางคนแห่งราชสำนัก (ฝรั่งเศส) ไม่เป็นที่สบอารมณ์ของชาวสยามมาก พระเจ้ากรุงสยามได้ทรงมีหญิงสาวชาวมิลเกรเลียน หรือชอร์เชียน โดยรับสั่งให้ซื้อมาจากประเทศเปอร์เชีย (มาเป็นบาทบริจาริกา) และชาวสยามที่มาฝรั่งเศสสารภาพว่า ผู้หญิงฝรั่งเศสนั้นสวยมาก ไม่มีหญิงชาวสยามคนใดทัดเทียมได้
            ๒๘. ชาวสยามเป็นคนสะอาดสะอ้านมาก  ชาวสยามนุ่งห่มน้อย  และอบรำร่างกายด้วยสุคนธรส ริมฝีปากก็สีขี้ผึ้งหอม อาบน้ำวันละ ๓ - ๔ ครั้ง  ถือเป็นความสุภาพเรียบร้อยว่า จะไปเยี่ยมผู้ใดในรายที่สำคัญ ต้องอาบน้ำเสียก่อน และจะประแป้งให้ขาวพร้อมที่ยอดอก แสดงว่าได้อาบน้ำมาแล้ว
            ๒๙. วิธีอาบน้ำสองอย่าง  วิธีหนึ่งลงไปแช่น้ำ อีกวิธีหนึ่งใช้ขันตักน้ำรดร่างกาย
            ๓๐. การรักษาความสะอาดฟันและผม  ชาวสยามเอาใจใส่รักษาฟันมาก  แม้จะย้อมดำแล้วก็ตาม เขาสระผมด้วยน้ำ และใส่น้ำมันจันทน์ ทำนองเดียวกับชาวเสปน แล้วไม่ผัดแป้งเลย  ชาวสยามหวีผม หวีมาจากประเทศจีน ชาวสยามถอนเคราซึ่งมีอยู่หร็อมแหร็ม  แต่ไม่ทำเล็บเลย เพียงแต่รักษาให้สะอาด
            ๓๑. ชาวสยามชอบไว้เล็บยาว  เราได้เห็นนางละครชาวสยามที่จะให้งามเกินงาม สวมเล็บที่ทำด้วยทองเหลืองยาวมาก


บทที่สอง  บ้านเรือนของชาวสยาม และฝีมือการก่อสร้าง
            ๑. ชาวสยามมีความเป็นอยู่อย่างง่าย ๆ  ชาวสยามแต่งตัวอย่างเรียบ ๆ ง่าย ๆ  บ้านเรือนเครื่องเรือนและอาหารการกินก็เรียบ ๆ ง่าย ๆ  ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน  กล่าวคือ เหมือนเศรษฐีที่อยู่ในห้วงแห่งความอนาถา เสมอเหมือนกันไปหมดทุกคน เพราะพวกเขาเป็นคนสันโดษมักน้อย ที่อยู่อาศัยของชาวสยามเป็นเรือนหลังย่อม ๆ  มีอาณาบริเวณกว้างขวางพอใช้ พื้นเรือนใช้ไม้ไผ่มาสับเป็นฟาก และเรียงไว้ไม่ค่อยถี่นัก และยังจักตอกขัดแตะเป็นฝา และใช้เครื่องบนหลังคา เสาตอม่อที่ยกพื้นขึ้นสูงให้พ้นน้ำท่วม ก็ใช้ไม้ไผ่ลำใหญ่กว่าขา และสูงจากพื้นดินประมาณ ๑๓ ฟุต  เพราะบางครั้งน้ำท่วมสูงถึงเท่านั้น ตอม่อ แถวหนึ่งมีไม่มากกว่า ๔ - ๖ ต้น แล้วเอาลำไม้ไผ่ผูกขวางเป็นรอด บันได ก็เป็นกระได ไม้ไผ่ซึ่งทอดอยู่ข้างนอกตัวเรือน เหมือนกระไดโรงสีลม คอกสัตว์สยามก็อยู่กลางแจ้งและยกพื้นเหมือนกัน มีตะพานทำด้วยไม้ไผ่ฟากสำหรับสัตว์ปีนขึ้น
            ๒. เรือนสร้างแล้วเสร็จได้รวดเร็ว  การที่เรือนแต่ละหลังออกไปตั้งอยู่โดดหลังเดียวห่าง ๆ กัน อาจต้องการให้เป็นที่รโหฐาน ชาวสยามตั้งเตาหุงต้มกันกลางลานบ้าน ขณะที่เขาอยู่ในพระนคร มีเรือนถูกไฟไหม้ถึง ๓๐๐ หลังคาเรือน แต่กลับปลูกใหม่เสร็จภาายในสองวัน
            ๓. ไม่มีเรือนพักรับแขกเมือง   ที่เขาจัดให้พวกเราพักที่ชายน้ำ ชาวสยามได้จัดสร้างขึ้นโดยเฉพาะ ด้วยไม่มีเรือนหลังใดพอให้เข้าพักได้  เหมือนประเทศอื่น ๆ ในทวีปเอเซีย ระหว่างทางจากกรุงศรีอยุธยา ไปถึงเมืองละโว้ เห็นมีศาลาที่พักคนเดินทางเป็นโรงโถงขนาดใหญ่อย่างธรรมดา มีกำแพงล้อมรอบสูงพอเอื้อมถึง มีหลังคาคลุม หลังคาตั้งอยู่บนเสาไม้แก่น ซึ่งผังเรียงรายเป็นระยะลงในกำแพงนั้น บางทีพระเจ้ากรุงสยามก็ประทับเสวยพระกระยาหารที่นั่นในระหว่างเสด็จ ฯ แต่ส่วนเอกชนสามัญก็ใช้เรือที่ไปเป็นที่พักแรมไปในตัว
            ๔. เหตุใดการต้อนรับอาคันตุกะให้พักอาศัยอยู่ด้วย จึงไม่เป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาวอาเซีย  พระภิกษุไม่มีภรรยา ท่านจึงแสดงความกรุณาให้ที่พักอาศัย แก่อาคันตุกะดีกว่าพวกพลเมือง ที่สยาม (อยุธยา)  มีชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งเริ่มตั้งโรงเตี๊ยมขึ้น บางทีก็มีชาวยุโรปไม่กี่คนไปพักบ้าง
            ๕. เรือนที่สร้างขึ้นเฉพาะสำหรับรับรองคณะฑุตานุฑูตฝรั่งเศส  เจ้าพนักงานจึงสร้างเรือนแบบพื้นประเทศให้ สร้างบนเสาปูฟาก และลาดด้วยเสื่อกก รวมทั้งพื้นเฉลียงอีกด้วย ห้องโถงและห้องในนั้น แขวนผ้ามีดอกดวง เพดานผ้ามัสลินขาว ริมเฉลียงเพดานลาดลง พื้นเรือนในห้องนั้นลาดเสื่อกกสานลายละเอียด และเป็นมันลื่นกว่าที่ใช้พื้นเฉลียง และภายในห้องนอนของเอกอัครราชฑูตพิเศษนั้น  ยังลาดพรมเจียมทับเสื่อกกอีกชั้นหนึ่ง  มีความสะอาดอยู่ทั่วไป แต่มิได้โอ่โถงมีภูมิฐานอะไรที่บางกอก สยาม และละโว้ ซึ่งชาวยุโรป ชาวจีน และชาวมัวร์ สร้างบ้านเรือนเป็นตึกก่ออิฐถือปูน  เจ้าพนักงานได้จัดให้เข้าพักในตึกเช่นเดียวกัน  มิใช่เรือนสร้างขึ้นเฉพาะสำหรับพวกเรา
            ๖. ตึกสำหรับเอกอัคราชฑูตฝรั่งเศสและปอร์ตุเกศพักยังสร้างไม่เสร็จ  เรายังได้เห็นตึกสองหลัง ซึ่งเจ้ากรุงสยามโปรดให้สร้างขึ้นหลังหนึ่ง สำหรับเอกอัคราชฑูตฝรั่งเศสอีกหลังหนึ่ง  อีกหลังหนึ่งสำหรับเอกอัคราชฑูตปอร์ตุเกศ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ
            ๗. เรือนขุนนางผู้ใหญ่ในกรุงสยาม  ขุนนางผู้ใหญ่แห่งราชสำนักอยู่เรือนไม้ทั้งหลัง รูปร่างดังตู้ใบใหญ่ เป็นที่อยู่อาศัยเฉพาะเจ้าบ้าน ภรรยาหลวงกับบุตรธิดาของตน ส่วนภรรยาน้อยคนอื่น ๆ กับบุตรธิดาของตน ทาสแต่ละคนกับครอบครัว มีเรือนหลังเล็ก ๆ  แยกกันอยู่ต่างหากจากกัน  แต่อยู่ในวงล้อมรั้วไม้ไผ่ร่วมกับเจ้าของบ้าน

            ๘. เรือนชาวสยามมีเพียงชั้นเดียว   วิธีสร้างเรือน น่าอยู่กว่าตามแบบของเรามาก ไม่ต้องกังวลในเรื่องพื้นที่ สร้างขึ้นจากวัสดุที่ไม่ค่อยแข็งแรงนัก  ไปตัดไม้จากป่าตามชอบใจ หรือไม่ก็หาซื้อมาด้วยราคาถูก ๆ จากผู้ที่ไปตัดชักมา กล่าวกันว่าเรือนของชาวสยามที่มีเพียงชั้นเดียว ก็เพื่อมิให้ผู้ใดอยู่สูงกว่าพระเจ้ากรุงสยาม ในขณะที่พระองค์ทรงช้างเสด็จ ฯ ไปในท้องถนน  ไม่ว่าพระองค์เสด็จ ฯ ทางชลมารคหรือสถลมารค  พวกราษฎรจะต้องปิดหน้าต่างเรือนแล้วลงมาสู่ถนน หรือลงมาสู่เรือของตนเพื่อถวายบังคม  ข้อที่ราษฎรระวังกันนักคือ เรือนของตนจะต้องไม่ใหญ่โตงดงามเทียบเท่าพระราชมณเฑียร  อนึ่งปราสาทราชมณเฑียรก็มีเพียงชั้นเดียวทั้งสิ้น
            ๙. ตึกสำหรับชาวต่างประเทศ   ชาวยุโรป ชาวจีน และชาวมัวร์ ต่างสร้างบ้านเรือนของตนเป็นตึก ตามแบบนิยมและศิลปของชาติตน

            ๑๐. หอที่เรียกว่าดีวัง  ผนังสามด้าน ด้านที่สี่เปิดโล่งไว้ ด้านนี้มีพะไลยื่นออกไปบัวสูงเท่าตัวหลังคา ภายในหอมักจะประดับตั้งแต่ข้างบน จนถึงข้างล่างด้วยกุฎิเล็ก ๆ ที่แขวนอยู่หรือเจาะเป็นช่องเข้าไปในผนัง เพื่อตั้งถ้วย โถ ขาม และแจกะนกระเบื้อง
            ๑๑. พระที่นั่งและพระวิหารก่ออิฐแต่เตี้ย ๆ  พระราชมณเฑียรในพระบรมมหาราชวังที่สยาม (อยุธยา) กับที่ละโว้กับโบสถ์ หรือวิหารหลายแห่งก็สร้างด้วยอิฐเหมือนกัน  โบสถ์วิหารมีลักษณะคล้ายกับหอพระของเรา คือ ไม่มีโค้งหลังคา ไม่มีเพดาน มีแต่เสาไม้แก่น ค้ำเครื่องบนมุงกระเบื้อง ล่องชาด และวาดลายทองเล็กน้อย
            ๑๒. ตึกในสยามยังเป็นของริเริ่มใหม่   อาคารก่ออิฐถือปูนยังเป็นของริเริ่มใหม่ของสยามอยู่มาก ชาวยุโรปเป็นผู้นำเอาแบบอย่างการสร้างตึกเข้ามาใช้
            ๑๓. ชาวสยามยังไม่รู้จักองค์การก่อสร้าง ๕ ประการ  ชาวสยามไม่รู้จักการประดับภายนอกราชมณเฑียร หรือโบสถ์วิหารเลย นอกจากเครื่องหลังคาซึ่งมุงด้วยแผ่นดีบุกอย่างธรรมดา เรียกว่า กะลิน  หรือกระเบื้อง  เคลือบสีเหลือง เหมือนอย่างหลังคาพระราชมณเฑียนพระเจ้ากรุงจีน  ส่วนที่เกี่ยวกับองค์ ๕ ของสถาปัตยกรรมอันประกอบด้วยเสา ลวดลายประดับคานบนยอดเสา และการประดิดประดอยอื่น ๆ นั้น ชาวสยามไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย
            ๑๔. บันไดและประตู  เป็นบันไดอย่างธรรมดา มี ๑๐ - ๑๒ ขั้น  ความกว้างไม่ถึง ๒ ฟุต  ก่อด้วยอิฐถือปูนติดผนังเบื้องขวา เบื้องซ้ายก็ไม่มีรางกั้น  แต่ขุนนางสยามไม่จำเป็นต้องใช้ราวบันไดแต่อย่างใด  เพราะเขาคลานขึ้นไปด้วยมือและเข่า และคลานอย่างเงียบกริบ  ทวารท้องพระโรงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสแต่ต่ำและแคบ
            ๑๕. การวางศักดิ์ในพระราชมณเฑียรนั้นคืออย่างไร  แม้พื้นเรือนจะมีอยู่เพียงชั้นเดียว แต่พื้นเรือนมิได้อยู่ในระดับเดียวกันหมดทั้งหลัง มีการลดหลั่นกันไปโดยลำดับ  จึงมีบันไดสำหรับก้าวจากห้องหนึ่งไปสู่อีกห้องหนึ่ง ด้วยพื้นห้องและชานของแต่ละห้องนั้น ยกอยู่ในระดับเดียวกันทั้งสิ้น  เป็นเหตุให้หลังคาของแต่ละห้องสูงต่ำไม่เท่ากัน  หลังคาเป็นรูปหลังลาทั้งสิ้น  แต่ตอนหนึ่งนั้นต่ำกว่าอีกตอนหนึ่ง ลดหลั้นตามระดับพื้นห้องที่ต่ำกว่ากัน  หลังคาค่อนที่ต่ำกว่านั้นดูคล้ายแลบออกมา จากหลังคาตอนชั้นสูง และหลังคาชั้นสูงนั้นครอบทับชายหลังคาชั้นต่ำกว่าไว้ เหมือนอานม้า ซึ่งหัวอานที่งอนขึ้นมาซ้อนท้ายอานอีกอันหนึ่งไว้
            ๑๖. ที่เมืองจีนก็เช่นกัน

            ๑๗. โบสถ์วิหารก็เช่นเดียวกัน  ส่วนโบสถ์นั้น ได้สังเกตเท่าที่เห็นแต่เฉพาะพะไล ที่ยื่นออกมาเป็นมุขด้านหน้า และอีกอันหนึ่งทางด้านหลังเท่านั้น  ตอนใต้เป็นที่ประดิษบานพระพุทธรูป ส่วนหลังคามุขหน้า และมุขหลังนั้น ดูเหมือนจะมีไว้ให้ประชาชนเข้าไปนั่งเท่านั้น
            ๑๘. เจดีย์  เครื่องประดับสำคัญของอุโบสถ ต้องมีเป็นธรรมดาทุกวัดคือ เจดีย์ปูนขาว หรือก่อด้วยอิฐมากมายหลายองค์ สร้างด้วยฝีมือประดิดประดอยอย่างหยาบ ๆ เจดีย์ทั้งหลายนั้นทรงกลมและยิ่งสูงขึ้นไปก็ยิ่งลดเรียวลง  ตอนปลายคล้ายโดม เมื่อเป็นเจดีย์ทรงต่ำ ตอนปลายที่ทำเป็นโดมนั้น มีก้านดีบุกเล็ก ๆ ปลายแหลมปักอยู่  และสูงมากพอใช้เมื่อเทียบส่วนกับเจดีย์ทั้งองค์  เจดีย์บางองค์มีลักษณะคอดเข้า แล้วเลื่อมออกขึ้นไปตามส่วนสูงถึง ๔ - ๕ ชั้น  ดูเป็นลูกคลื่น  โดยรอบทรงกลมนี้ประดับลวดลายแวง ตั้งเป็นมุมฉากอยู่ ๓ - ๔ แห่ง  ทั้งที่ตามรอยคอดและส่วนที่สูงขึ้นไป ลายนี้ค่อยเรียวลงตามส่วนเรียวขององค์เจดีย์ ไปสิ้นสุดลงที่ยอด ตอนเริ่มเม็ดทรงมันอันมีลายประดับอีก
            ๑๙. ลักษณะห้องบางห้องในพระราชมณเฑียร  ได้เห็นแต่เพียงหัองชั้นนอก ห้องแรกอันเป็นท้องพระโรงที่สยาม (กรุงศรีอยุธยา) กับที่เมืองละโว้ เท่านั้น กล่าวกันว่าไม่มีใครจะล่วงล้ำเกินกว่านั้นไปได้ แม้พวกมหาดเล็ก ยกเว้นพระสนมนางใน และะพวกขันทีเท่านั้น ได้เห็นห้องประชุมองคมนตรีในพระราชวังที่เมืองละโว้ แต่ก็เป็นห้องนอกแรกเข้าไปถึง ในอาคารหลังนี้ยังมีห้องชั้นใน ๆ เข้าไปอีก หมายความว่า ไม่มีห้องพักคอย (Anti chambre) ที่ด้านหน้าและด้านข้างทั้งสองข้าง ห้องประชุมมีชานเฉลียงแลออกไปเห็นอุทยานล้อมอยู่โดยรอบ บนชานเฉลียงนี้เป็นกลางแจ้ง เจ้าพนักงานได้จัดขึงผ้ากันแดดทางด้านเหนือ  เพื่อให้เป็นที่คณะเอกอัครราชฑูตฝรั่งเศสเข้าเฝ้าเป็นส่วนพระองค์ พระเจ้ากรุงสยามเสด็จประทับพระราชอาสน์ ณ สีหบัญชร ช่องหนึ่งในห้องประชุมนั้น ในท่ามพระราชอุทยานและลานสนามนั้น มีทิมโถงหลายห้องเรียกว่า ศาลา ตั้งอยู่ห่าง ๆ กัน ล้อมรอบด้วยกำแพงสูงมีหลังคาปก มีแต่เสาลอยรับเป็นระยะ ๆ  ในกำแพงนั้น ศาลาเหล่านี้ทำขึ้นสำหรับขุนนางผู้ใหญ่ ในตำแหน่งสำคัญ ๆ เข้าไปนั่งขัดสมาธิเพื่อปฎิบัติหน้าที่ราชการของตน หรือประชุมหารือกัน มาคอยรับพระบรมราชโองการในตอนสาย ๆ ระยะหนึ่ง และตอนเย็นจนค่ำอีกระยะหนึ่ง และจะลุกกลับออกไปไม่ได้ จนกว่าจะได้อาณัติให้กลับไปได้แล้ว ขุนนางชั้นผู้น้อยนั่งอยู่ที่สนามหญ้า หรือในอุทยาน และเมื่อได้อาณัติสัญญาณว่า พระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรมาเห็นตัวแล้ว ก็จะหมอบลงทันที
            ๒๐. สถานที่ในพระบรมมหาราชวังที่เราได้รับพระราชทานเลี้ยง   เป็นสถานที่อันน่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง ภายใต้ต้นไม้ใหญ่ และใกล้ขอบสระ ในพระราชวังที่เมืองละโว้ พวกเราได้รับพระราชทานเลี้ยงในพระราชอุทยาน ภายในห้องโถงแห่งหนึ่ง ซึ่งผนังสูงขึ้นไปจนจรดหลังคา และรองรับตัวหลังคาไว้ ผนังโบกปูนสีขาว เรียบเป็นมันวับ มีประตูด้านสะกัดด้านละช่อง มีคูกว้าง ๒ - ๓ ตัวซ์  ลึกประมาณ ๑ ตัวซ์  ล้อมรอบ ภายในคูมีน้ำพุสายเล็ก ๆ เรียงรายประมาณ ๒๐ แห่ง สายน้ำพุพุ่งขึ้นมาเหมือนจากฝักบัวรดน้ำ น้ำพุ่งขึ้นมาเสมอระดับขอบคู
            ๒๑. พระราชอุทยานที่เมืองละโว้  ไม่สู้กว้างขวางเท่าไร  แปลงปลูกต้นไม้ต่าง ๆ มีน้อย ก่อด้วยอิฐตั้งซ้อนกันขึ้นไปเป็นขอบคัน ช่องทางเดินระหว่างแปลงต้นไม้นั้น แปลงต้นไม้นั้นปลูกพันธุ์ไม้ดอกไว้ กับต้นไม้จำพวกปาลม์ และพรรณอื่น ๆ
            ๒๒. พลับพลาไม้ไผ่ในป่า  ทำขึ้นอย่างง่าย ๆ เรียบ ๆ

 


บทที่สาม  เครื่องเรือนของชาวสยาม
            ๑. เครื่องเรือนชิ้นใหญ่ ๆ ของชาวสยาม   เตียงนอนเป็นแคร่ไม้แคบ ๆ  และลาดเสื่อไม่มีพนักหัวเตียง และเสาเตียง  บางทีก็มีหกขา แต่ไม่มีเดือยติดกับแม่แคร่ บางทีก็ไม่มีขาเลย แต่คนส่วนใหญ่มิได้ใช้แคร่นอน คงใช้เพียงเสื่อกกผืนเดียว โต๊ะอาหารเป็นโตก หรือถาดยกขอบ แต่ไม่มีขา ที่กินอาหารไม่มีผ้าปูรอง ไมมีผ้าเช็ดปาก ไม่มีช้อน ไม่มีส้อม ไม่มีมีด กับข้าวจะหั่นมาเป็นชิ้น ๆ ไม่ใช้เก้าอี้ แต่จะนั่งบนเสื่อกก ไม่มีพรมรองนั่ง จะมีแต่ของพระราชทานเท่านั้น  ผู้ที่มีสันถัตรองนั่งถือว่า มีเกียรติยศมาก คนมั่งมีมีหมอนอิง สิ่งที่ทางบ้านเมืองเราทำด้วยผ้าหรือไหม หรือแพรไหม ในประเทศนี้ทำด้วยผ้าฝ้ายสีขาว หรือมีดอกดวงเป็นพื้น
            ๒. ภาชนะของชาวสยาม  ถ้วยชามเป็นเครื่องกระเบื้องก็มี เครื่องดินเผาก็มี กับขันทองแดง บางชิ้นภาชนะทำด้วยไม้อย่างเกลี้ยง ๆ หรือขัดมันกะลามะพร้าว และกระบอกไม้ไผ่ ก็เป็นภาชนะสำหรับใช้กระจุกกระจิกได้หมด มีภาชนะของใช้ที่ทำด้วยทองคำ และเงินอยู่บ้างแต่ก็มีน้อย เกือบจะมีแต่เครื่องยศที่พระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน ให้เป็นของประจำตำแหน่งเท่านั้น  ครุที่ใช้ตักน้ำก็ใช้ไม้ไผ่สานอย่างประณีต ในท้องตลาดจะเห็นราษฎรหุงข้าวกันในกะลามะพร้าว และข้าวจะสุกก่อนที่กะลาจะไหม้
            ๓. เครื่องมือของชาวสยาม  ถ้าไม่ใช่พวกทาส ชาวสยามก็สร้างบ้านเรือนของตนอยู่เอง เหตุนี้เลื่อย และกบไสไม้ จึงเป็นเครื่องมือของทุกคน
            ๔. เครื่องราชูปโภค  เกือบจะอย่างเดียวกันกับราษฎร แต่เป็นของดีมีค่ากว่าของสามัญชน ท้องพระโรง ณ สยาม และ ณ เมืองละโว้ ก็กรุฝา และเพดานด้วยไม้กระดาน ไม่ที่กรุนั้น ล่องชาด และเขียนกนกทองลายกระดาน และลายก้านขด พื้นปูพรม ท้องพระโรงที่เมืองละโว้ ประดับไว้รอบด้านด้วยกระจกเงา ซึ่งเรือกำปั่นของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสบรรทุกมาสู่เมืองสยาม หอประชุมองคมนตรีก็ตกแต่งไว้ทำนองเดียวกัน ทางด้านลึก มีบัลลังก์ ราชอาสน์ ทำอย่างแท่นไม้ขนาดใหญ่คล้ายเตียงนอน มีเสาฐาน พื้น และวิสูตร ล้วนหุ้มด้วยแผ่นทองคำ พระราชอาสน์ปูพรม แต่ไม่ได้ดาษเพดาน กั้นวิสูตร หรือมีเครื่องประดับอย่างอื่นอีก ที่หัวพระแท่นมีพระเขนยอิง ไม่ได้ประทับบนพระยี่ภู่ แต่ประทับบนพรมเท่านั้น ในหอประชุมที่ผนังด้านขวาของพระบัลลังก์ มีกระจกเงาบานหนึ่ง ซึ่งพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสโปรดให้ มร.เดอะ โชมองต์ นำมาน้อมเกล้า ฯ ถวาย พระเจ้ากรุงสยาม ยังมีพระราชอาสน์ไม้ปิดทองอีกองค์หนึ่ง ที่ทรงประทับในวาระที่ให้คณะฑูต พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์  มีเตียบ หรือพานพระศรี องค์หนึ่งสูง ๒ ฟุต ตั้งไว้ด้วย ทำด้วยเงินและลงทองบางแห่ง ฝีมือประณีต
            ๕. ชาม จาน เครื่องโต๊ะอาหารในพระราชวัง   ได้เห็นจานเงินเป็นจำนวนมากพอใช้ โดยเฉพาะถาดกลม และก้นลึก มีขอบสูงราวหนึ่งนิ้วฟุต  ในถาดวางโถขนาดใหญ่กลม เส้นผ่าศูนย์กลางหนึ่งนิ้วฟุตครึ่งไว้ หลายใบ มีฝาปิด มีเชิงเท้าได้ขนาดกับสัดส่วนของมัน ใช้ใส่ข้าวให้บริโภค  ส่วนจานผลไม้นั้นเป็นจานทองคำ เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระมหากษัตริย์ ชาวสยามนิยมใช้ภาชนะทรงสูงตั้งเครื่องต้นถวาย และภาชนะที่ใช้เป็นปกติในการเสวยนั้น ก็เป็นเครื่องกระเบื้อง มิได้ใช้ภาชนะทองคำหรือเงิน ดังธรรมเนียมทั่วไปในราชสำนักทั้งหลาย ทางภาคพื้นอาเซีย และแม้ที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล


บทที่สี่ สำรับกับข้าวของชาวสยาม
            ๑. ชาวสยามกินอาหารน้อย และอาหารของเขามีอะไรบ้าง  สำรับกับข้าวของชาวสยามไม่สู้ฟุ้มเฟือยนัก เนื่องด้วยมีฤดูร้อนติดต่อกันอยู่ตลอดเวลา อาหารหลักคือ ข้าวกับปลา ทะเลได้ให้หอยนางรม ตัวเล็ก ๆ มีรสชาดดีมาก เต่าขนาดย่อมเนื้อรสดี กุ้งทุกขนาด ปลาเนื้อดีอีกมาก แม่น้ำสมบูรณ์ด้วยปลา ส่วนใหญ่เป็นปลาไหลตัวงาม ๆ แต่ชาวสยามไม่สู้นิยมกินปลาสด
            ๒. ความประหลาดของปลาสองชนิด   มีปลาน้ำจืดอยู่สองชนิดเรียกว่า ปลาอุต และปลากระดี่  เมื่อจับปลาได้แล้ว นำมาหมักเกลือใส่รวมไว้ในตุ่ม หรือไหดินเผาดองไว้ ปลาจะเน่าในไม่ช้า
            ๓. การหมักเค็มของชาวสยาม  พวกเขาชอบบริโภคของที่หมักเค็มไว้ยังไม่ได้ที่ และปลาแห้งยิ่งกว่าปลาสด ธรรมชาติคงจะแต่งให้ชาวสยามกินอาหารประเภทที่ย่อยง่าย
            ๔. ชาวสยามคนหนึ่งกินวันละเท่าใด  เขาจะอิ่มด้วยข้าววันละ ๑ ปอนด์ ราคาประมาณ ๑ ลิอาร์ด และมีปลาแห้งอีกเล็กน้อย หรือไม่ก็ปลาเค็ม ซึ่งไม่แพงกว่าข้าวนัก เหล้าโรงหรือเหล้าที่ทำจากข้าว ขนาด ๑ ไปน์ ตกประมาณ ๒ ซู ก็พอแล้ว  ฉะนั้นจึงไม่สงสัยว่าทำไมชาวสยามจึงไม่สู้ สนใจกับการทำมาหากินนัก พอตกค่ำก็ได้ยินแต่เสียงร้องรำทำเพลงไปทั่ว ทุกบ้านเรือน
            ๕. น้ำจิ้มของชาวสยาม   ทำกันอย่าง่าย ๆ ใช้น้ำนิดหน่อยกับเครื่องเทศ กระเทียม หัวหอมกับผักบางชนิด เช่น กะเพรา พวกเขาชอบกินน้ำจิ้มเหลวชนิดหนึ่ง คล้ายกับมัสตาร์ด ประกอบด้วยกุ้งเคยเน่า เรียกว่า กะป
            ๖. ชาวสยามทาตัวเด็กให้เป็นสีเหลือง  สิ่งที่เขาให้แทนหญ้าฝรั่น เป็นหัวไม้ชนิดหนึ่งมีรสและสีอย่างเดียวกัน เมื่อตากให้แห้ง และป่นให้เป็นผงแล้ว เหง้าชนิดนี้เขาเห็นว่าเป็นการรักษาสุขภาพให้เด็ก
            ๗. ชาวสยามบริโภคน้ำมันอะไร  เขาไม่มีน้ำมันผลนัต น้ำมันผลมะกอก หรือน้ำมันอย่างอื่น นอกจากน้ำมันผลมะพร้าว ใช้บริโภคได้ดีเมื่อเคี่ยวออกมาใหม่ ๆ ถ้าทิ้งไว้นานจะมีกลิ่นหืน
            ๘. เรื่องที่เขียน (ผู้อ่าน)  ต้องเข้าใจความนึกคิดของผู้แต่ง
            ๙. ข้อคิดอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องเดียวกันนี้
            ๑๐. ข้อคิดอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องเดียวกันนี้
            ๑๑. น้ำนมที่กรุงสยาม  เขามีน้ำนมจากควาย ซึ่งมีครีมมากกว่านมวัว
            ๑๒. การแต่งกับข้าวชาวสยาม  ใช้ปลาแห้งแต่งเป็นกับข้าวได้หลายรูปแบบ
            ๑๓. อาหารจีน  กับข้าวมากกว่า ๓๐ ชนิด  ตามตำรับจีนที่นำมาเลี้ยงนั้น เขาไม่อาจกินได้สักอย่างเดียว
            ๑๔. ชาวสยามไม่ชอบกินเนื้อสัตว์และไม่มีโรงฆ่าสัตว์   จะกินบ้างแต่ลำใส้และเครื่องใน  ในตลาดมีตัวแมลงต่าง ๆ ปิ้ง ย่าง วางขายอยู่ พระเจ้ากรุงสยามพระราชทานเป็ด ไก่ และสัตว์อื่นที่ยังเป็น ๆ อยู่ให้ เราต้องมาทำอาหารเอง เนื้อสัตว์ทุกชนิดเหนียว ไม่ค่อยฉ่ำและย่อยยาก  ในที่สุดชาวยุโรปที่เข้ามาอยู่ในเมืองสยาม ก็ค่อย ๆ เว้นกินเนื้อสัตว์
            ๑๕. เป็ด ไก่  ชาวสยามไม่สนใจตอนไก่  เขามีแม่ไก่อยู่สองพันธุ์ พันธุ์หนึ่งเหมือน ๆ กับเรา อีกพันธุ์หนึ่งมีหนัง และหงอนสีดำ แต่เนื้อและกระดูกขาว ส่วนเป็ดมีอยู่มาก และรสดีมาก
            ๑๖. สัตว์นก  ชาวสยามบริโภคนก ซึ่งมีขนสีต่าง ๆ
            ๑๗. สัตว์ที่เป็นเหยื่อล่าในป่า   เขาไม่นิยมฆ่า หรือจับเอาตัวมากักขังไว้ พวกแขกมัวร์ชอบเลี้ยงเหยี่ยวไว้จับนกอื่น
            ๑๘. นกพันธุ์แปลก ๆ ในสยาม  นกแทบทุกชนิดในสยาม มีสีสันงามตามาก และขันได้ไพเราะมีอยู่หลายพันธุ์ พูดเลียนเสียงมนุษย์ได้  กากับแร้ง มีชุม และเชื่องมาก เพราะไม่มีใครทำอันตราย คนให้อาหารมันกิน
            ๑๙. สิ่งที่เราเรียกว่า เนื้อสัตว์ไม่มีราคาในสยาม  แพะกับแกะ หาได้ยาก ตัวเล็ก เนื้อไม่สู้ดีนัก หาซื้อได้จากชาวมัวร์เท่านั้น พระเจ้ากรุงสยามให้เลี้ยงแพะ แกะไว้จำนวนหนึ่งสำหรับพระองค์เอง  ส่วนวัวกับควายผู้นั้น เขาเลี้ยงไว้ใช้ไถนา และขายแม่วัวเสีย
            ๒๐. หมูเป็นของดี  หมูนั้นตัวเล็ก และมีมันมากจนไม่น่ากิน
            ๒๑. ราคาเนื้อสัตว์  แม่วัวราคาตามหัวเมืองไม่เกิน ๑๐ ซอล ในพระนครตัวละ ๑๐ เอกิว  แกะตัวละ ๔ เอกิว แพะตัวละ ๒ - ๓ เอกิว  หมูตัวละ ๗ ซอล  เพราะพวกมัวร์ไม่กินหมู  ไก่ตัวเมียโหลละ ๒๐ ซอล เป็ดโหลละ ๑ เอกิว
            ๒๒. สัตว์ปีกขยายพันธุ์มากในกรุงสยาม  สัตว์จำพวก กวาง เก้ง มีชุม ชาวสยามฆ่ากวาง หรือสัตว์จำพวกนี้เพียงเพื่อถลกหนังเอาไปขาย ให้พวกฮอลันดาซึ่งกว้านซื้อไปขายเป็นสินค้าสำคัญในญี่ปุ่น
            ๒๓. โรคภัยไข้เจ็บ   ต้องตำหนิการดื่ม (สุรา)  น้อยของชาวสยามแต่เมื่อเทียบส่วนสมดุล กับไฟธาตุของเขาแล้ว ก็พออนุมานว่าเขาไม่ได้ดื่มน้อยกว่าพวกเราเลย  เขามีอายุไม่ยืนนัก โรคที่เป็นกันมากคือ โรคป่วงและโรคบิด บางทีเป็นไข้ตัวร้อน (จับสั่น) ซึ่งพิษอาจขึ้นสมองได้ง่าย และอาจคล้ายเป็นโรคปอดบวมได้ โรคปวดตามข้อ ลม อัมพาต ลมบ้าหมู วัณโรคปอด ปวดวท้องทุกชนิด และโรคไตอักเสบมีน้อย ส่วนมะเร็ง ฝีโพรงหนองและปรวตมีมาก ไฟลามทุ่งเป็นกันมาก ไม่มีโรคลักกะปิดลักกะเปิดและโรคท้องมาน
            ๒๔. อะไรคือโรคห่าในกรุงสยาม  โรคห่าแท้จริงคือ ฝีดาษ เคยสังหารชีวิตมนุษย์เป็นอันมากอยู่เสมอ


บทที่ห้า รถและยานพาหนะทั่วไปของชาวสยาม
            ๑. สัตว์เลี้ยงใช้งาน  นอกจากวัวควายแล้วยังมีช้างซึ่งใช้เป็นสัตว์พาหนะ การล่าช้างเปิดเสรีแก่ทุกคน งานธรรมดาใช้ช้างพัง ช้างพลายใช้ออกศึก เมืองสยามไม่เหมาะกับการเลี้ยงม้า ไม่มีลาและล่อ แต่ชาวมัวร์บางคนที่มาอยู่ในเมืองสยามมีอูฐไว้ใช้โดยส่งเข้ามาจากที่อื่น
            ๒. ม้าพระที่นั่งของพระเจ้ากรุงสยาม  โปรดให้เลี้ยงม้าไว้ ๒,๐๐๐ ตัว มีม้าจากเปอร์เซียราวโหลตัว แต่เสื่อมพันธุ์หมดแล้ว เป็นอภินันทนาการจากพระเจ้ากรุงเปอร์เซีย โดยอัครราชทูตเปอร์เซียมาน้อมเกล้า ฯ ถวาย ธรรมดาจะ .....ส่งทรงเจ้าพนักงานไปหาซื้อม้าที่เมืองปัตตาเวีย ซึ่งเป็นม้าพันธุ์เล็ก เปรียวพอใช้ แต่มีพยศจัด
            ๓. ทหารม้าและทหารราบที่เมืองปัตตาเวีย  กองพันทหารที่เมืองปัตตาเวียเป็นหน่วยทหารราบ มีคนชาติฝรั่งเศสรวมอยู่หลายคน หน่วยทหารม้ามีแต่ชาวเมืองที่เป็นชนชั้นกลาง
            ๔. พระเจ้ากรุงสยามไม่ค่อยได้ทรงม้า  เมื่อเราไปถึง (เมืองปัตตาเวีย) มีคนสยามสองนายไปหาซื้อม้า ๒๐๐ ตัว สำหรับพระมหากษัตริย์ และได้ส่งไปที่กรุงสยามแล้ว ๑๕๐ ตัว ทั้งนี้ใช่ว่าพระองค์จะโปรดม้า อาจรู้สึกว่าเตี้ยเกินไป ส่วนช้างเห็นว่าเหมาะแก่การรบมาก
            ๕. ช้างพระที่นั่งประจำซองในวังหลวง  มีอยู่เชือกหนึ่งประจำอยู่เสมอพร้อมใช้ขับขี่ได้ทุกขณะ และไม่มีม้าพระที่นั่งยืนโรงอยู่เลย
            ๖. ไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้ากรุงสยามเสด็จ ฯ  เสมอระดับพื้นดินเลย  ในวังหลวงตรงที่ตั้งโรงช้างมีเกยเล็ก ๆ ตั้งอยู่ เพื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงช้างได้สะดวก หากจะเสด็จโดยพระราชยานคานหาม ก็จะเสด็จมาประทับพระราชยาน  ซึ่งเทียบรอรับเสด็จอยู่ในระดับสูงทางช่องพระบัญชร หรือไม่ก็ทางพระเฉลียง
            ๗. พระราชยานคานหาม  เสลี่ยงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และพื้นนั่งแบนราบ ยกสูงขึ้นไปมากบ้างน้อยบ้างเอาตัวขึ้น และตรึงไว้ให้แนบกับคานหาม ใช้คนสี่หรือแปดคน บางทีที่นั่งก็มีพนัก และเท้าแขนเหมือนเก้าอี้ บางทีก็มีเพียงลูกกรงสูงประมาณครึ่งฟุตล้อม เว้นช่องไว้ด้านหน้า แต่คนสยามมักนั่งขัดสมาธิ บางทียานนี้ก็โถง บางทีก็มีประทุนซึ่งมีอยู่หลายแบบ
            ๘. ยานมีหลังคาไม่มีเกียรติเสมอเครื่องสูง  ได้เห็นพระเจ้ากรุงสยามประทับช้างพระที่นั่งไม่มีหลังคา เป็นพระที่นั่งโถง ทางด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลังมีเครื่องสูงรูปเหมือนใบไม้ใหญ่ ๆ หรือช่อนนภทาทองรวมสามชิ้น ปลายงอนออกมาทางด้านนอกเล็กน้อย ตั้งอยู่เสมอพระอังสะ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จหยุด เจ้าพนักงานจะเชิญบังสูรย์คันยาวรูปร่างเหมือนหอกใบพายมากั้นแสงแดดให้ ตัวใบหอก กว้าง ๓ - ๔ ฟุต เรียกว่าพัดโบก (ที่จริงคือบังสูรย์)
            ๙. ชาวสยามขี่ช้างกันอย่างไร  จะขี่คร่อมคอเหมือนคอม้า แต่ไม่มีเครื่องอานบังเหียนแต่อย่างใด ถือแต่ขอทำด้วยเหล็กหรือเงิน ใช้สำหรับสับที่หัวช้างทางซีกขวาบ้าง หรือตรงกลางตะบองหน้าผาก พร้อมกับร้องบอกช้างว่าควรจะไปทางไหน หรือว่าให้หยุด เมื่อไม่ขี่ด้วยตนเองก็ขึ้นนั่งลูบหลังช้าง แล้วมีคนขับนำช้างที่คอช้าง บางทีก็มีอีกคนหนึ่งนั่งท้ายช้างไปด้วย เรียกควาญท้ายช้างว่าหัวสิบ คือนายสิบ หรือผู้คุมคน ๑๐ คน คนที่นั่งคอช้างเรียกว่า นายช้าง เป็นผู้บังคับบัญชาบรรดาคนที่ดูแลช้างทั้งหมด
            ๑๐. ยานพาหนะเรือยาว  คนในเมืองนี้เดินทางเรือมากกว่าทางบก พระเจ้ากรุงสยามมีเรือยาวพระที่นั่งอย่างงดงามไว้เป็นอันมาก ลำเรือทำจากซุงท่อนเดียว บางลำยาว ๑๖ - ๒๐ วา คนสองคนนั่งขัดสมาธิเดียวขนานกันไปบนกระทงเรือ พอต็มพื้นที่ด้านกว้างของเรือพอดี คนหนึ่งพายทางกราบขวา อีกคนพายทางกราบซ้าย คนถือท้ายหันหน้าไปทางหัวเรือ ฝีพายหันหลังให้หัวเรือ

            ๑๑.รูปร่างที่ถูกต้องของเรือยาว  เรือยาวลำหนึ่ง บางทีมีฝีพาย ๑๐๐ - ๑๒๐ คน นั่งขัดสมาธิเรียงคู่กันไปบนแผ่นกระดาน ขุนนางชั้นผู้น้อยมีเรือขนาดสั้นกว่า และมีฝีพายน้อยลงเพียง ๑๖ - ๒๐ คน พวกฝีพายจะร้องเพลง หรือออกเสียงให้จังหวะ เพื่อให้พายพร้อมกัน ดูสง่างามมาก เรือแล่นฉิวน่าดูนัก หัวเรือและท้ายเรือสูงมาก รูปร่างเหมือนคอและหางนาค หรือปลาขนาดมหึมาชนิดใดชนิดหนึ่ง ใบพายทั้งสองกราบดูคล้ายปีกหรือครีบ ตรงหัวเรือมีฝีพายอยู่คนเดียวที่แถวหน้า ขาซ้ายกับขาขวาทั้งสองข้างจำเป็นต้องเหยียดขาข้างหนึ่งออกไปนอกลำเรือ เอาเท้ายื่นไม้ขวางหัวเรือไว้ คนชักหัวเรือฝีพายต้นนี้เป็นผู้ให้จังหวะแก่ฝีพายทั้งลำ พายของเขาเบากว่าของคนอื่น ๆ เล็กน้อย เพราะนั่งอยู่ตรงหัวเรือที่เชิดสูงขึ้น ฝีพายจ้ำพายลงทุกครั้งที่ให้จังหวะ ถ้าต้องการให้ไปเร็วขึ้นก็จ้ำสองครั้งนาน ๆ ที นายท้ายยืนอยู่ท้ายเรือตลอดเวลา ท้ายเรือเชิดสูงไปมาก หางเสือนั้นเป็นพายขนาดยาวมิได้ขันติดอยู่กับเรือ เขาจะกดพายดิ่งลงไปในน้ำแนบกับกราบเรือ ทางขวาบ้างทางซ้ายบ้าง นางทาสีทำหน้าที่เป็นฝีพายประจำเรือท่านผู้หญิง

            ๑๒. เรือชนิดต่าง ๆ  เรือที่ใช้กันตามธรรมดา มีผู้พายน้อยคน ที่กลางลำมีประทุนจัดแตะด้วยไม้ไผ่หรือเก้งไม้อย่างอื่น ไม่ทาสีหรือทาน้ำมันชักเงาแต่อย่างใด ภายในอยู่ได้ทั้งครอบครัว บางทีประทุนก็มีกันสาดยื่นออกไปข้างหน้า สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของพวกทาส ชาวสยามเป็นอันมากอยู่แต่ในเรือ ในเรือยาวสำหรับพระราชพิธี หรือเรือพระที่นั่งต้น หรือเรือหลวง ตรงกลางลำมีที่นั่งที่เดียว กินพื้นที่เกือบเต็มความกว้างของลำเรือ ที่นั่งสำหรับคนเดียวกับสาตราวุธ ถ้าเป็นขุนนางธรรมดาก็มีร่มธรรมดาคันเดียว ถ้าเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ขึ้นไปนอกจากที่นั่งบจะสูงขึ้นแล้วยังมีหลังคาเรียกว่ากูบ เป็นซุ้มที่นั่งวทึบ เปิดด้านหน้าและด้านหลัง ทำด้วยไม้ไผ่ จักและสานทาด้วยรักสีดำหรือสีแดง ทั้งภายนอกและภายใน รักสีแดงสำหรับขุนนางฝ่ายขวา รักสีดำสำหรับขุนนางฝ่ายซ้าย ขอบกูบปิดทองด้านนอกเป็นแถบกว้าง ๓ - ๔ นิ้วฟุต อ้างกันว่าการทาแถบทอง โดยวาดเป็นลวดลายประดับนั้น เป็นเครื่องหมายแสดงยศศักดิ์ของขุนนาง รูปกูบบางอันก็ใช้หุ้มด้วยผ้า แต่ไม่ได้ใช้ในฤดูฝน ถ้าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จผ่านไป ขุนนางจะลงจากที่นั่งลงสู่พื้น และหมอบกราบบังคม บรรดาคนในเรือก็หมอบทั้งสิ้น จะเดินทางต่อไปได้ก็ต่อเมื่อพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลับสายตาไปแล้วเท่านั้น
            ๑๓. เรือหลวง  หลังคาเครื่องยอดของขบวนเรือหลวงนั้นปิดทองทั่ว พายก็ปิดทอง หลังคามีเสารับและประดับด้วยลวดลายจำหลัก เป็นลายกระจังอย่างวิจิตร หลังคาบางหลังมีสันสาดบังแสงแดด เรือหลวงต้นลำที่พระเจ้าอยู่หัวทรงนั้น มีกรรมการหรือเจ้าพนักงานสี่นายเป็นผู้บังคับฝีพายทั้งลำ อยู่ข้างหน้าสองคน ข้างหลังสองคน นั่งขัดสมาธิ
            ๑๔. ความเร็วของเรือยาว  เรือแล่นได้เร็ว แม้จะทวนน้ำ และเมื่อหมู่เรือยาวแล่นไปพร้อม ๆ กันก็น่าดูมาก
            ๑๕. เมื่อคณะอัครราชทูตพิเศษเข้าสู่พระนครทางชลมารค  เขาสารภาพว่าเมื่อคณะอัครราชทูตฝรั่งเศส เคลื่อนสู่ลำแม่น้ำ ความสง่างามของริ้วขบวนแห่แหน ลำน้ำกว้างพอดู แม้จะคดเคี้ยวแต่ก็มีร่องกลางน้ำใหญ่ พอที่เรือจะผ่านได้สะดวก สองฝั่งแม่น้ำมีสวนผลไม้ เขียวชะอุ่มต่อกันไม่ขาดระยะ มีผู้คนเกือบ ๓,๐๐๐ คน ในเรือยาว ๗๐ - ๘๐ ลำ มาร่วมขบวนแห่ ลอยลำขนาบไปเป็นสองแถว
เสียงกึกก้องแต่ไพเราะด้วยเสียงเห่ เสียงโห่ เสียงกระจับปี่สีซอ
            ๑๖. ความสง่างามแต่โบราณของราชสำนักสยาม  มีผู้ยืนยันว่า ที่กรุงสยามนั้น (แต่ครั้งบ้านเมืองดี) ราชสำนักสง่างามรุ่งเรืองยิ่ง พระราชวงศ์ข้าทูลละอองธุลีพระบาทล้วนแต่งกายด้วยเสื้อราคาแพง ประดับอัญมณีแพรวพราว และข้าทาสบริวารติดตาม ๑๐๐ - ๒๐๐ คน  ใช้ช้างเป็นพาหนะก็มาก แต่บัดนี้ไม่เป็นเช่นนั้นแล้วนับแต่พระราชบิดาของพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันได้ทรงพิฆาตเจ้านาย ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ เสียแทบไม่เหลือ  ปัจจุบันมีเจ้านายอยู่ ๓ - ๔ องค์เท่านั้น ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้ยวดยานคานหาม ส่วนชาวยุโรปที่อยู่ในกรุงสยามยังได้รับอนุญาตให้ใช้ได้อยู่
            ๑๗. ร่มกันแดด  ใช้ได้แต่ไม่ทั่วไปในบรรดาไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน อนุญาตให้ชาวยุโรปใช้ได้ทุกคน เป็นร่มชั้นเดียว เป็นเครื่องแสดงเกียรติอย่างต่ำ ซึ่งพวกขุนนางส่วนมากใช้กันอยู่ ร่มที่มีหลายชั้นในก้านเดียวกัน ใช้ได้เฉพาะพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น ร่มที่เรียกว่า กลดมีตัวร่มชั้นเดียวแต่ติดระบายมีลวดลายรอบ ๒ - ๓ ชั้น เลื่อนกันลงมา เป็นร่มที่พระเจ้ากรุงสยามถวายแด่พระสังฆราช หรือพระสังฆนายก ร่มที่พระราชทานแด่คณะอัครราชทูตพิเศษ ก็เป็นอย่างเดียวกันนี้มีระบายสามชั้น
            ๑๘. ร่มของพระสงฆ์และที่มาของคำว่าตาละปวง  พระสงฆ์ใช้ร่มเป็นแผงซึ่งถือติดมือไปไหนมาไหน ทำด้วยใบลานเจียนเป็นรูปกลมและจีบ ปลายจีบร้อยด้วยลวดมามัดไว้ที่ใกล้ก้าน ก้านดัดเป็นด้ามถือเรียกว่า ตาลปัตร  นามพระสงฆ์เรียกกันว่า เจ้ากู
            ๑๙. ช้างกับเรือ  อนุญาตให้ราษฎรใช้ได้ทั่วไป
            ๒๐. พระเจ้ากรุงสยามแสดงพระองค์เมื่อใดและอย่างใด  ตามโบราณราชประเพณีแห่งราชสำนักกำหนดให้ปรากฏ พระองค์ให้ไพร่ฟ้าประชาราษฎร เฝ้าถวายบังคมเพียงปีละ ๕ - ๖ วันเท่านั้น และประกอบเป็นพระราชพิธีใหญ่  สมัยก่อนพระเจ้ากรุงสยามเสด็จออกทรงทำพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญทุกปี ต่อมาได้ทรงมอบให้ออกญาข้าว  พระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกในวันพระราชพิธีทางชลมารค เพื่อให้พระแม่คงคาไหลคืนลงสู่ท้องน้ำในยามฤดูกาลเพาะปลูก พระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันเป็นพระองค์แรกที่ทรงเลิกพิธีนี้เสีย
            แฟร์นังค์ เมนเดช ปินโต เล่าว่าในสมัยของเขา พระเจ้ากรุงสยามเคยเสด็จออกวันหนึ่งในปีหนึ่ง โดยประทับบนหลังพระเศวตคชาธาร เสด็จไปบนถนนเก้าสายในพระนคร และพระราชทานข้าวของเป็นอันมากแก่พสกนิกร บัดนี้เลิกไปแล้ว พระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกแสดงพระองค์ต่อพสกนิกร ในพระนครเพียงปีละสองครั้งคือ ตอนต้นเดือนหก และเดือนสิบสอง เพื่อไปถวายนิตยภัต ผ้าไตรจีวร และผลหมากรากไม้แด่พระสงฆ์ในวัดสำคัญ ๆ ในวันสำคัญทางศาสนา พระองค์ประทับช้างพระที่นั่งไปสู่อารามต่าง ๆ แล้วเสด็จทางชลมารคไปสู่อารามอีกแห่งหนึ่ง อยู่ห่างจากพระนครไปทางใต้ประมาณ ๒ ลี้
            ๒๑. พระเจ้ากรุงสยามไว้พระเกียรติที่เมืองละโว้น้อยกว่าที่อยุธยา  ที่เมืองละโว้ พระองค์เสด็จประพาสไปในที่ต่าง ๆ ได้บ่อย เช่น ล่าเสือ หรือโพนช้าง เมื่อเสด็จไปพระตำหนักน้อยที่ทะเลชุบศร พร้อมฝ่ายในโดยพระบาท
            ๒๒. ขบวนแห่เสด็จ ฯ ของพระเจ้ากรุงสยาม  ขบวนแห่เสด็จ ฯ โดยเสด็จทั้ง ๒๐๐ - ๓๐๐ คน ทั้งเดินเท้าและขี่ม้า ขบวนหน้ามีพลเดินเท้าถือพลอง หรือหลอดไม้ซางสำหรับเป่าเมล็ดถั่วนำไปเป็นเหล่า ๆ เพื่อไล่คนให้พ้นทางเสด็จ ฯ โดยเฉพาะเมื่อขบวนพระสนมจะโดยเสด็จผ่านไป และก่อนจะถึงเวลาเสด็จ ฯ ก็มีการประกาศเตือนชาวยุโรปที่เพิ่งเข้ามาสู่เมืองสยามมิให้ตัดหน้าฉาน ผู้ทำหน้าที่นำเสด็จ ฯ เรียกว่า นครบาล และแขวง นครบาลรักษาสถลมารคทางเบื้องขวา แขวงรักษาทางเบื้องซ้าย แขวงเป็นตำแหน่งเจ้ากรมพระตำรวจ มีเจ้าพนักงานตำรวจ ๑ นายในเหล่าอาสาเขมร และลาว ขี่ม้าแซงสองข้างทาง ห่างจากราชพาหนะ ๕๐ - ๖๐ ก้าว เหล่าข้าราชบริพารนำเสด็จ ฯ ถึงจุดหมายปลายทางก่อนหรือบางครั้งก็เดินตามเสด็จโดยพนมมือแค่อกไปตลอดทาง บางทีขี่ม้า บางทีขี่ช้างตามเสด็จ ฯ ไป  เมื่อพระเจ้าอยู่หัวหยุดราชพาหนะ เหล่าเดินเท้าจะทรุดลงหมอบเข่าและศอกจรดดิน ส่วนเหล่าม้า และเหล่าช้าง จะหมอบกราบอยู่บนหลังสัตว์พาหนะที่ขี่อยู่  เจ้าพนักงานที่เรียกว่าชาวหมู่ เดินเท้าตามเสด็จ ฯ เป็นเหล่ามหาดเล็กเด็กชา บางคนก็เชิญพระแสงศาตราวุธ บางคนก็เชิญหีบพระศรี
            ๒๓.  การเคารพต่อองค์พระมหากษัตริย์อย่างแปลก ๆ


บทที่หก การแสดงการละเล่นอย่างอื่นของชาวสยาม
            ๑. วิธีจับช้างเถื่อน  สถานที่จัดให้ช้างอยู่เพื่อเลือกจับคล้ายสนามเพลาะขนาดกว้างและยาวพอใช้ ใช้ในการพูนดินเป็นพนังขึ้นมา เกือบจะตรงเป็นทางดิ่งทุกด้าน บนเนินดินเป็นที่นั่งชมของคนดู ที่ตรงกลางวงล้อมเนินดินปักเสาไม้รายรอบสองแถวสูง ๑๐ ฟุต ลงในดิน เสามีขนาดใหญ่พอที่จะทานกำลังช้างดันได้ และห่างกันพอที่คนจะลอดช่องเสาได้สะดวก  ระหว่างเสาเพนียดสองชั้นนี้ ใช้เป็นที่ช้างพังเชื่อง ซึ่งเขาส่งเข้าไปในป่าเพื่อล่อช้างพลายเถื่อนมา หมอช้างที่ขี่ไปนั้น ใช้ใบไม้บังไพรกำบังตนเพื่อกันมิให้ช้างเถื่อนในป่าหวาดตื่น  เมื่อช้างพลายเข้าไปในฉนวนแล้ว ประตูที่มันใช้งวงเปิดผลักผ่านเข้าไปก็กลับปิดลง  ส่วนประตูด้านหน้าทางที่ช้างเถื่อนออกไปได้ เขาก็ปิดกั้นให้แน่นหนา คนที่แฝงอยู่ตามรอบนอกริมเสาเพนียดโดยช้างเถื่อนเข้าไม่ถึงตัวก็จะเข้าช่องเสารุมล้อม
กันทุกด้านเพื่อล่อกวนผัดช้างให้ไล่  เมื่อช้างไล่ คนก็หนีลอดหลบออกมานอกเสาเพนียด  คนอื่น ๆ ก็เอาเชือกบาศก์เหวี่ยงทอดไปอย่างชำนาญ คล้องตีนหลังช้างตีนใดตีนหนึ่งไว้ ดึงปลายเชือกบาศก์รัดข้อตีนช้างไว้  เชือกบาศก์นี้เป็นเชือกเส้นใหญ่ผูกเป็นบ่วงเชือกกระทบ เมื่อเชือกบาศก์รัดข้อตีนช้างแล้วก็ปล่อยผ่อนเชือกไป  เมื่อช้างเถื่อนคืนสู่สภาพปกติ เขาก็ใช้ถังตักน้ำเย็นราดตัวมันให้ชุ่มเย็น จัดการผูกปลายเชือกบาศก์เข้ากับเสาเพนียด แล้วนำช้างพลายที่ฝึกไว้ดีแล้วเดินถอยหลังเข้าไปในซองฉนวน ผูกล่ามคอมันกับคอช้างเถื่อน ปลดเชือกบาศก์ออกจากเสาเพนียดแล้วใช้ช้างต่ออีกสองเชือกเข้ามาช่วยผนึกกำลัง สองเชือกเข้าขนาบช้าง เชือกที่สามเข้ารุนด้านหลัง ขะโลงช้างเถื่อนไปสู่ปะรำใกล้ ๆ กันนั้น ผูกล่ามมันไว้และผูกคอผนึกแน่นกับเสาปะโคมใหญ่ ผูกอยู่เพียง ๒๔ ชั่วโมง ระหว่างนี้จะนำช้างต่อมาอยู่เป็นเพื่อน และปลอบใจ ๒ - ๓ เที่ยว จากนั้นนำมันไปยังโรงที่จัดไว้ให้อยู่ ๘ วันก็จะเชื่อง
            ๒. ชาวสยามคิดเห็นช้างเป็นอย่างไร
            ๓. ชาวสยามลาช้างสารเชือกที่พระเจ้ากรุงสยามพระราชทานส่งไปเมืองฝรั่งเศส
            ๔. ช้างเป็นสัตว์น่ากลัวอันตรายมาก
        &n

ขายดีมากครับคุณครู (พร้อมส่ง) เครื่องเคลือบบัตรA4 รุ่นSL200 เครื่องเคลือบกระดาษA4 A3 A5 ABSป้องกันการ์ด ในราคา ฿368 - ฿999 ที่ Shopee

https://s.shopee.co.th/4VLvxbi7ho?share_channel_code=6


ขนบธรรมเนียม ประเพณีของชาวสยามขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวสยาม

Advertisement

≡ เรื่องอื่นๆ ที่น่าอ่าน ≡

หนังตะลุง

หนังตะลุง


เปิดอ่าน 37,394 ครั้ง
ประวัติศาสนาพุทธ

ประวัติศาสนาพุทธ


เปิดอ่าน 34,231 ครั้ง
พระพรหม (พระธาดา)

พระพรหม (พระธาดา)


เปิดอ่าน 18,527 ครั้ง
เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว


เปิดอ่าน 17,149 ครั้ง
คุณสมบัติของรัฐมนตรี

คุณสมบัติของรัฐมนตรี


เปิดอ่าน 48,247 ครั้ง
คำอธิษฐานวันลอยกระทง

คำอธิษฐานวันลอยกระทง


เปิดอ่าน 29,605 ครั้ง
ตำนานพระโกศ

ตำนานพระโกศ


เปิดอ่าน 21,554 ครั้ง
พระศิวะ

พระศิวะ


เปิดอ่าน 20,126 ครั้ง

:: เรื่องปักหมุด ::

บุญบั้งไฟ

บุญบั้งไฟ

เปิดอ่าน 25,023 ☕ คลิกอ่านเลย

Advertisement

≡ เรื่องน่าสนใจในหมวดหมู่นี้ ≡
พระกฤษณะ
พระกฤษณะ
เปิดอ่าน 27,040 ☕ คลิกอ่านเลย

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับทะเบียนบ้านกลาง
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับทะเบียนบ้านกลาง
เปิดอ่าน 119,509 ☕ คลิกอ่านเลย

เหรียญชัยสมรภูมิ
เหรียญชัยสมรภูมิ
เปิดอ่าน 20,299 ☕ คลิกอ่านเลย

อริยสัจ 4
อริยสัจ 4
เปิดอ่าน 1,319,003 ☕ คลิกอ่านเลย

รายนามศิลปินแห่งชาติ 2559 จำนวน 12 ท่าน
รายนามศิลปินแห่งชาติ 2559 จำนวน 12 ท่าน
เปิดอ่าน 25,227 ☕ คลิกอ่านเลย

อาหรับ มาจากไหน?
อาหรับ มาจากไหน?
เปิดอ่าน 32,046 ☕ คลิกอ่านเลย

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

ทั้งซาบซึ้ง-สะเทือนใจ หนูน้อย 7 ขวบสละชีวิต บริจาค"ไต"เพื่อช่วยชีวิตแม่
ทั้งซาบซึ้ง-สะเทือนใจ หนูน้อย 7 ขวบสละชีวิต บริจาค"ไต"เพื่อช่วยชีวิตแม่
เปิดอ่าน 13,738 ครั้ง

วิธีตรวจเช็คระบบไฟฟ้า-อาคาร หลังน้ำลด
วิธีตรวจเช็คระบบไฟฟ้า-อาคาร หลังน้ำลด
เปิดอ่าน 10,903 ครั้ง

พื้นฐานการรับรู้ของมนุษย์
พื้นฐานการรับรู้ของมนุษย์
เปิดอ่าน 13,230 ครั้ง

ดวงตา กับพัฒนาการของลูกน้อย
ดวงตา กับพัฒนาการของลูกน้อย
เปิดอ่าน 9,861 ครั้ง

ภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ทำไมเป็นกันมากขึ้น
ภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ทำไมเป็นกันมากขึ้น
เปิดอ่าน 12,278 ครั้ง

เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
สนามเด็กเล่น

แหล่งรวมเกมส์ เกมส์ให้เล่นมากมาย ศูนย์รวมเกมส์สนุกๆ เกมส์ความรู้ เกมส์ลับสมอง เกมส์ประลองยุทธ แหล่งรวบรวมข้อมูล เกมส์ เกมส์ออนไลน์ เกมส์มันๆ เกมส์ตัดผม ไว้มากมายที่นี่ ให้เด็กๆได้เลือกเล่นมากมาย คลิกเลย

 
หมวดหมู่เนื้อหา
เนื้อหา แยกตามหมวดหมู่ สามารถเลืออ่านได้ตามหมวดหมู่ที่นี่


· Technology
· บทความเทคโนโลยีการศึกษา
· e-Learning
· Graphics & Multimedia
· OpenSource & Freeware
· ซอฟต์แวร์แนะนำ
· การถ่ายภาพ
· Hot Issue
· Research Library
· Questions in ETC
· แวดวงนักเทคโนฯ

· ความรู้ทั่วไป
· คณิตศาสตร์
· วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· ภาษาต่างประเทศ
· ภาษาไทย
· สุขศึกษาและพลศึกษา
· สังคมศึกษา ศาสนาฯ
· ศิลปศึกษาและดนตรี
· การงานอาชีพ

· ข่าวการศึกษา
· ข่าวตามกระแสสังคม
· งาน/บริการสังคม
· คลิปวิดีโอยอดนิยม
· เกมส์
· เกมส์ฝึกสมอง

· ทฤษฎีทางการศึกษา
· บทความการศึกษา
· การวิจัยทางการศึกษา
· คุณครูควรรู้ไว้
· เตรียมประเมินวิทยฐานะ
· ผลงานวิชาการเล่มเต็ม
· เครื่องมือสำหรับครู

ครูบ้านนอกดอทคอม

เว็บไซต์เพื่อครู ข่าวการศึกษา ความรู้ การศึกษาไทย

      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ