Advertisement
|
โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
|
|
ตึกยาวสวนกุหลาบด้านในโรงเรียน ตึกเรียนยาวที่สุดในเมืองไทย |
|
|
ใครรู้บ้างว่า...ตึกเรียนตึกไหนยาวที่สุดในประเทศไทย?
ใครไม่รู้ไม่เป็นไร แต่ชาวสวนกุหลาบส่วนใหญ่ต่างรู้กันดีว่า"อาคารสวนกุหลาบ"หรือที่ชาวชมพู-ฟ้าเรียกสั้นๆว่า "ตึกยาว" ที่มีความกว้าง 11.35 เมตร และมีความยาวถึง 198.35 เมตร คืออาคารเรียนที่ยาวที่สุดในประเทศไทย
ตึกยาวนี้เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2453 สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นสถาปัตยกรรมยุโรป แบบนีโอคลาสสิค ตัวตึกทอดยาวตามแนวถนนตรีเพชร ผนังอาคารด้านติดถนนชั้นล่างเป็นแนวหน้าต่างโค้ง ส่วนชั้นบนถอยร่นผนังเข้าไปอยู่หลังแนวซุ้มโค้งที่เป็นทางเดิน ช่องทางเข้าสู่โรงเรียนเป็นหลังคาจั่ว ตกแต่งด้วยปัลลาเดียนโมทิฟตามแบบของวิลล่าที่ออกแบบโดยปัลลาดิโอ ผนังด้านในโรงเรียนเป็นแนวทางเดินซุ้มโค้งยาวตลอดทั้งสองชั้น
|
|
ตึกยาวสวนกุหลาบด้านนอก |
|
|
ตัวอาคารมี 37 ห้อง ชั้นบน 19 ห้อง ชั้นล่าง 18 ห้อง มีประตู 164 บาน หน้าต่าง 166 บาน มีบันได 12 แห่ง มีช่องลูกกรงไม้ 54 แห่ง ด้วยความที่ตึกยาวแห่งนี้มีความสวยงามและเก่าแก่กรมศิลปากรจึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติในปีพ.ศ. 2530 และสมาคมสถาปนิกสยามยังยกย่องให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่นเมื่อปี 2543 อีกด้วย
นอกจากตัวตึกจะมีความสำคัญขนาดนี้แล้วภายในอาคารชั้นล่างยังเป็นที่ตั้งของ "พิพิธภัณฑ์การศึกษา" โดยภายในพิพิธภัณฑ์จะแบ่งห้องจัดแสดงทั้งหมด 14 ห้องนิทรรศการ แต่ก่อนที่ฉันจะเข้าชมภายในพิพิธภัณฑ์ ได้มีเด็กๆนักเรียน "ชุมนุมยูเนสโก้" โรงเรียนสวนกุหลาบฯ ชมรมซึ่งดูแลศิลปวัฒนธรรม โบราณสถาน ให้มีชีวิตชีวาเป็นยุวมัคคุเทศก์พาชม
|
|
อาจารย์ ยุวมัคคุเทศก์ สาธิตการเรียนการสอนสมัยก่อนในห้องภูมิปัญญาครูส.ก. |
|
|
ในส่วนของห้องแรก "ห้องสถาบันพระมหากษัตริย์โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย" ภายในห้องนี้จัดแสดงโบราณวัตถุ อาทิ จารึกศิลาที่ได้โปรดเกล้าให้จารึกความเป็นมาของโรงเรียน นาฬิกาประทับตรา จ.ป.ร. 2 เรือน พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พร้อมลายพระหัตถ์พระราชทานจากรัชกาลที่ 5 ภาพพระฉายาสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 6 ผู้ทรงทำนุบำรุงโรงเรียนสืบต่อจากพระราชบิดา ภาพพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อสวนกุหลาบองค์จำลอง เพื่อให้นักเรียนและผู้เข้าชมได้สักการะด้วย
ห้องนิทรรศการที่ 2 "จากวัง สู่ วัด" ภายในจัดแสดงเรื่องราวตั้งแต่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบได้เริ่มเคลื่อนย้ายออกจากพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2442 แบ่งเป็นโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายไทย และโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายอังกฤษ ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างเคลื่อนย้ายไปอยู่ตามที่ต่างๆจนมาสิ้นสุดรวมกันในที่ตั้งโรงเรียนสวนกุหลาบในปัจจุบัน
|
|
ตึกยาวยาวสุดสายตาที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์การศึกษาทรงคุณค่า |
|
|
ฉันเดินต่อไปยังห้องนิทรรศการที่ 3 "ห้องบูรพคณาจารย์สวนกุหลาบวิทยาลัย" จัดแสดงภาพครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการ ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนตั้งแต่เริ่มต้นจนปัจจุบัน โดยผู้บริหารโรงเรียนในอดีตได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้มีบทบาทในการจัดการเรียนการสอนวางรากฐานการศึกษาจนเป็นที่ยอมรับ กระทรวงศึกษาธิการคัดสรรผู้บริหารที่มีคุณภาพมาบริหารโรงเรียนแห่งนี้ เพราะเชื่อว่าจะเป็นแบบอย่างของครูอาจารย์และศิษย์ต่อไป
เข้าสู่ห้องนิทรรศการถัดไป "ห้องภูมิปัญญาครูสวนกุหลาบวิทยาลัย" ซึ่งข้อมูลการจัดทำเป็นห้องภูมิปัญญาครูนี้ได้มาจากงานวิจัยภูมิปัญญาครูสวนกุหลาบ จากความร่วมมือของครูเก่า ครูปัจจุบัน ศิษย์เก่า ในสมัย ผอ.สมหมาย วัฒนคีรี ในห้องนี้จัดแสดงสื่อการสอน แบบเรียน วารสารสวนกุหลาบ หนังสือพิมพ์พิมพ์สวน เครื่องมือวิทยาศาสตร์ต่างๆ เครื่องดนตรี ห้องเรียนโบราณจำลอง ระฆังตีบอกเวลา คอมพิวเตอร์เครื่องแรก และไม้เรียวที่ใช้สั่งสอนคุณธรรมนักเรียนในสมัยก่อน
|
|
ยุวมัคคุเทศก์เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับไม้เรียวและการใช้ในสมัยก่อน |
|
|
ห้องนิทรรศการที่ 5 "ห้องเกียรติยศและเกียรติภูมิชาวสวนฯ" ในห้องนี้จะจัดแสดงรายชื่อศิษย์เก่าที่ได้สร้างคุณงามความดีและเกียรติประวัติไว้มากมายในหลากหลายสาขา อันเป็นเกียรติยศและเกียรติภูมิของชาวสวนกุหลาบทุกคน ความทรงจำที่ปรากฏในห้องนี้จะสร้างเจตคติที่ดีต่อผู้เข้าชมในการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมต่อวิชาชีพที่หลากหลายอันมีคุณต่อสังคมประเทศชาติ และสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีของเยาวชนและผู้คนที่เข้าชมเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังมีการจัดแสดงการแต่งกายชุดนักเรียนของโรงเรียนสวนกุหลาบตั้งแต่ในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบจนถึงปัจจุบันอีกด้วย
ต่อมาเป็นห้องนิทรรศการห้องที่ 6 "ห้องเกียรติยศ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์" ฉันเข้าไปในห้องนี้แล้วก็ได้รู้ว่า ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยหมายเลขประจำตัว 7587 จบรุ่น 2480 ท่านได้รับความสำเร็จสูงสุดทั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษของไทย ท่านเป็นแบบอย่างของการประพฤติดี มีความซื้อสัตย์สุจริต กตัญญู รักชาติ ศาสนา เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ดำรงชีวิตอยู่อย่างสมถะและนิยมความเป็นไทย
|
|
ห้องเกียรติยศ ฯพณฯ พลเอกเปรม ศิษย์เก่าร.ร.สวนกุหลาบ |
|
|
ห้องถัดไป "ห้องเกียรติภูมิชาวสวนกุหลาบวิทยาลัย" ห้องนี้จัดแสดงความภาคภูมิใจเกียรติประวัติของบุคคลสำคัญที่เป็นศิษย์เก่า และผู้มีคุณูปการที่สำคัญ อาทิ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ผู้อำนวยการก่อตั้งโรงเรียนหลวงสวนกุหลาบ และทรงเป็นกำลังสำคัญในการบริหารประเทศหลายด้าน, มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล), เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน), หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นต้น
ห้องที่ 8 "ห้องจาริกานุสรณ์" ซึ่งในสมัยอาจารย์ใหญ่นอร์แมน ซัดตัน ได้มีการจารึกชื่อนักเรียนที่ได้ทุนออกไปศึกษาต่อต่างประเทศไว้บนป้ายไม้ที่เรียกว่า จาริกานุสรณ์ นักเรียนที่สามารถสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงคนแรกของประเทศไทยในปีพ.ศ.2439 คือ นายพุ่ม สาคร นักเรียนโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ไปศึกษาต่อที่ประเทศรัสเซียพร้อมกับพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ จนได้เป็นเสนาธิการทหารรัสเซีย ในสมัยต่อๆมาได้จารึกชื่อนักเรียนที่ได้รับรางวัลจากการแข่งโอลิมปิกวิชาการ
|
|
ห้องจัดแสดงวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ภายในพิพิธภัณฑ์การศึกษา |
|
|
นิทรรศการห้องที่ 9 "ห้องกิจกรรมนำเกียรติภูมิ" ภายในห้องชื่อเก๋ไก๋นี้จัดแสดงกิจกรรมต่างๆอาทิ กีฬาแห่งชาติ กรีฑาแห่งชาติ งานลูกเสือแห่งชาติ งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน งานวิทยาศาสตร์สัมพันธ์ งานสังคมนิทรรศน์ งานนิทรรศสวนฯ เป็นต้น มีการจัดทำโครงงาน เอกสาร หนังสือพิมพ์ การออกร้าน การอภิปราย การโต้วาทีต่างๆ กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เยาวชนรุ่นนั้นเป็นนักคิดและผู้นำสังคมรุ่นใหม่
ตามติดด้วยห้องที่ 10 "ห้องกิจกรรมหล่อหลอมความเป็นสวนกุหลาบ" โดยโรงเรียนมุ่งส่งเสริมกิจกรรมประเพณีที่สำคัญต่างๆ ที่กลายมาเป็นยุทธศาสตร์ในการหล่อหลอมความรู้ ความคิด ความสามารถ และปลูกจิตสำนึกในด้านคุณธรรม จริยธรรม เช่น งานวันละอ่อน งานวันรับขวัญเสมา วันสมานมิตร งานเชียร์และแปลอักษร งานฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี อันเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่สำคัญที่สุด
|
|
ตู้จัดแสดงกิจกรรมต่างๆของชาวสวนกุหลาบ |
|
|
ต่อมาคือ "ห้องบูรณาการ วิชาการ พลานามัย ศิลปะ ดนตรี สุนทรียศาสตร์" ผลของการส่งเสริมนักเรียนทั้งวิชาการ และกิจกรรม ได้ปรากฏผลการเรียนรู้ในทุกด้าน ทั้งด้านกีฬา ด้านดนตรีไทย การแสดงละคร โขน ด้านดนตรีสากล ด้านศิลปหัตถกรรม คหกรรม เป็นต้น ในห้องนี้จะมีสัญลักษณ์วงกลมล้อมรอบตราโรงเรียนแสดงโซนสี ซึ่งแบ่งคุณภาพต่างๆของนักเรียนเป็น 4 สีซึ่งเมื่อบูรณาการเข้าด้วยกันก็จะเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพต่อไป
ห้องนิทรรศการที่ 12 "ห้องสวนกุหลาบฯ ในปัจจุบัน" ในห้องนี้ได้จัดแสดงเหรียญ ถ้วย โล่รางวัลต่างๆที่นักเรียนได้มากจากการไปแข่งขันต่างๆ อันเป็นผลสำเร็จทางการศึกษาของนักเรียนสวนกุหลาบ ถัดมาคือ "ห้องสัญลักษณ์ชาวสวนกุหลาบวิทยาลัย" โรงเรียนได้ใช้ยุทธศาสตร์บริหารจัดการสถาบันให้มีเอกลักษณ์ ความเป็นหนึ่งเดียว เช่น รัชกาลที่ 5 ผู้โปรดเกล้าสถาปนาโรงเรียน, ตึกยาว อาคารพระราชทานเป็นตึกเรียนแรก, หลวงพ่อสวนกุหลาบ, พ่อปู่สวนกุหลาบ, ตราและสีประจำโรงเรียน เป็นต้น
|
|
ห้องจัดแสดงถ้วยรางวัลมากมายของนักเรียนสวนกุหลาบ |
|
|
และห้องสุดท้ายห้องนิทรรศการที่ 14 "ห้องเอกสารโบราณและจดหมายเหตุสวนกุหลาบ”"ที่รวบรวมเอกสาร สิ่งพิมพ์ หลักฐานประวัติสาสตร์ของชาติและของสถาบันไว้มากมาย รวมถึงเอกสารพระราชหัตถเลขาที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งโรงเรียนด้วย
เมื่อฉันชมครบทั้ง 14 ห้องแล้วนอกจากจะรู้เรื่องราวต่างๆของการศึกษาไทยและของโรงเรียนแห่งนี้ ยังรู้สึกประทับใจเหล่ายุวมัคคุเทศก์ที่บรรยายรายละเอียดและพาชมพิพิธภัณฑ์อย่างสนุกสนาน นับว่าการมาเยือนถิ่นชมพู-ฟ้าครั้งนี้คุ้มค่าอย่างยิ่ง
|
|
ห้องเกียรติภูมิชาวสวนกุหลาบ |
|
|
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
พิพิธภัณฑ์การศึกษา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ถ.ตรีเพชร พระนคร กรุงเทพฯ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ฟรี ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-16.00 น. สำหรับผู้เข้าชมเป็นหมู่คณะโปรดแจ้งล่วงหน้า หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ งานพิพิธภัณฑ์ โทร.0-2225-5605-8 ต่อ 105
|
|
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9520000099881
วันที่ 2 ก.ย. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,145 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,159 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,155 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,160 ครั้ง เปิดอ่าน 7,134 ครั้ง เปิดอ่าน 7,148 ครั้ง เปิดอ่าน 7,154 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,143 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,138 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,140 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,145 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,137 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,137 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 14,187 ครั้ง |
เปิดอ่าน 25,290 ครั้ง |
เปิดอ่าน 79,348 ครั้ง |
เปิดอ่าน 71,365 ครั้ง |
เปิดอ่าน 16,913 ครั้ง |
|
|