Advertisement
ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา กระแสข่าวการเปิดให้บริการโทรศัพท์มือถือยุค 3 จีในประเทศไทย ฮือฮาขึ้นมาอีกรอบ เมื่อบริษัททีโอที จำกัด(มหาชน)ที่เพิ่งได้สิทธิในการบริการ จัดการ คลื่นความถี่ 1900 MHZ
แต่เพียงผู้เดียว ได้รับไฟเขียวทั้งจากบอร์ด รวมทั้งหน่วยงานต้นสังกัดอย่างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และนายกรัฐมนตรีลุยลงทุนวางเครือข่าย 3 จี ภายใต้วงเงินร่วม 20,000 ล้านบาท
ความชัดเจนของโครงการ ถูกตอกย้ำขึ้นอีกครั้ง เมื่อบอร์ดและต้นสังกัดขีดเส้นตายให้ทีโอที เปิดให้บริการ 3 จีเชิงพาณิชย์ให้ได้ในวันที่ 5 ธ.ค.2552 เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวาระอันสำคัญยิ่งสำหรับปวงชนชาวไทยทุกคน
แม้วงเงิน รวมทั้งรายละเอียดของโครงการยังถูกถอนเข้าถอนออกจากวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี เนื่องด้วยเหตุผลด้านความรอบคอบ รัดกุมเป็นสำคัญ
แต่นับว่ายังโชคดี ที่ทีโอทีสามารถหาทางออกให้กับการลงทุนเฟสแรกด้วยการอัพเกรดเทคโนโลยีขึ้นสู่ยุค 3 จีด้วยวงเงินลงทุนเครือข่ายเดิมบวกเพิ่มอีกนิดหน่อย ที่ประมาณ 1,710 ล้านบาท จำนวน 533 สถานีฐาน
ภายใต้การให้บริการของบริษัทไทยโมบาย ซึ่งเคยเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างทีโอทีและบริษัทกสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน)ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นข้อพิสูจน์ถึงความล้มเหลวในการทำงานร่วมกันระหว่างอดีต 2 รัฐวิสาหกิจ เมื่อต้องแข่งขันในสมรภูมิรบอันดุเดือดท่ามกลางบริษัทเอกชนที่บริหารงานได้คล่องตัวกว่า
ความล้มเหลวดังกล่าว สุดท้ายได้เป็นที่มาของการเปิดเจรจาซื้อหุ้นคืนจากกสท ของทีโอที เพื่อ ชิงอำนาจบริหาร จัดการคลื่น 1900 กลับมาเป็นของตนแต่เพียงผู้เดียว จนสามารถเดินหน้าโครงการ 3 จีต่อไปได้
การเปิดให้บริการ 3 จีเชิงพาณิชย์ของทีโอที จะทำให้ทีโอทีกลายเป็นผู้ให้บริการรายแรกของประเทศ ที่ให้บริการ 3 จี บนคลื่นความถี่ที่ถูกกำหนดไว้ในการให้บริการ 3 จี โดยตรงนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ทีโอที สามารถเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ได้ทันที
เพราะแม้เอกชนผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อีก 3 รายในไทย อันประกอบด้วย บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน)หรือเอไอเอส บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน)หรือดีแทค และบริษัททรูมูฟ จำกัด จะทยอยเปิดให้บริการ 3 จีกันไปบ้างแล้ว
แต่ก็เป็นการให้บริการบนเครือข่ายเดิมที่ทั้ง 3 ค่ายให้บริการฐานลูกค้าของตัวเองอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งปกติก็มีการใช้งานหนาแน่นอยู่แล้ว เนื่องจากแต่ละรายมีลูกค้าขึ้นหลัก 10 ล้านกันแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเอไอเอสที่ ณ ปัจจุบันมีฐานลูกค้าเกือบ 28 ล้านคน ดีแทค 20 ล้านคน และทรูมูฟ เพิ่งแตะ 15 ล้านคนไปหมาดๆ
การให้บริการบนเครือข่ายเดิมของเอกชน 3 ราย จึงมีข้อจำกัดอย่างยิ่งยวด สามารถให้บริการได้เพียงในขั้นตอนของการทดสอบ และอยู่ภายใต้กรอบจำกัด เนื่องจากต้องจัดสรรเครือข่ายให้เหมาะสม
เพื่อไม่ให้รบกวนการให้บริการลูกค้าโดยรวม
เนื่องจากบริการ 3 จีนั้น เป็นบริการที่รองรับการส่งข้อมูลผ่านเครือข่าย ไม่ใช่การสื่อสารผ่านเสียงเพียงอย่างเดียว การใช้งานเครือข่ายจึงจะหนาแน่นหนักหน่วงกว่าการใช้บริการเสียง โอกาสที่จะทำให้เครือข่ายเกิดสภาวะแออัดจึงมีสูงตามไปด้วย
และที่สำคัญ ผู้ให้บริการเอกชนทั้ง 3 ราย ยังไม่ได้รับใบอนุญาตเพื่อให้บริการ 3 จี จากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ขณะที่ทีโอทีและกสท นั้น ได้สิทธิจากการเป็นรัฐวิสาหกิจเจ้าของสัมปทาน ได้รับใบอนุญาตผู้ประกอบการครบวงจร ซึ่งทำให้สามารถประกอบกิจการ 3 จี บนเครือข่ายที่มีอยู่ได้ทันที
การเปิดให้บริการ 3 จีของเอกชนในช่วงที่ผ่านมา จึงเป็นเพียงการให้บริการแบบ ขอไปที เพื่อช่วงชิงภาพลักษณ์ทางการตลาด และใช้เป็นกระแสกดดันกทช.ให้เร่งออกใบอนุญาต 3 จีให้เร็วขึ้น ด้วยการหันไปให้บริการบนคลื่นที่มีอยู่แล้ว
การประกาศเปิดตัวรุกเข้าสู่เทคโนโลยียุค 3 จีในครั้งนี้ จึงมีความหมายและกลายเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญ ไม่เพียงแต่เฉพาะกับทีโอที แต่ยังเป็นก้าวกระโดดของพัฒนาการด้านโทรคมนาคมของประเทศเลยทีเดียว
นั่นเป็นเพราะที่สุดแล้ว ประชาชนชาวไทยจะได้มีโอกาสลิ้มลองเทคโนโลยีแห่งความศิวิไลซ์ในโลก 3 จี กับเขากันสักที หลังจากที่ได้ปล่อยให้ประเทศเพื่อนบ้านรอบข้าง เปิดให้บริการไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ลาว เขมร หรือล่าสุดเวียดนาม
หากจะถามว่า 3 จีมีความสำคัญอย่างไร คำตอบก็คือ 3 จี มีความสำคัญเทียบเท่ากับการเปิดโอกาสในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของผู้คนในพื้นที่ห่างไกล เพราะตราบใดที่การแพร่หลายของอินเตอร์เน็ตผ่านสาย (FIXED LINE) ยังมีข้อจำกัด ด้วยคุณภาพของสายไฟเบอร์ ที่เก่า ตกยุครวมทั้งเงินลงทุนของผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน ซึ่งมีจำกัดจากสภาพธุรกิจหดตัว
การให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงบนเครือข่าย 3 จี ไร้สาย จึงจะเป็นทางเลือก หรือเป็นแม้กระทั่งทางออกที่จะช่วยแก้ปัญหาการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของผู้คนในพื้นที่ห่างไกล (REMOTE AREA)
เนื่องจากในยุคปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น ครอบคลุมในวงกว้าง ทะลุทะลวงสู่ผู้ใช้ในทุกหย่อมหญ้า ในป่า บนเขา หรือแม้กระทั่งเชิงดอย
ความนิยมในการใช้โทรศัพท์มือถือ นำไปสู่รายรับจำนวนมหาศาลของแต่ละค่ายมือถือ อันหมุนเวียนกลับคืนสู่ลูกค้า ในรูปแบบของการขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมบริการได้กว้างขวางเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น หมุนเวียนเช่นนี้เป็นวัฏจักรปีแล้วปีเล่า แตกต่างจากภาพธุรกิจขาลงของบรรดาผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน อย่างสิ้นเชิง
นี่คือข้อได้ปรียบของอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สายผ่านเครือข่าย 3 จี เมื่อเปรียบเทียบกับอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสาย ในแง่ของการเข้าถึงประชาชน ผ่านปัจจัยด้านวงเงินลงทุนและประสิทธิภาพโครงข่าย
แต่ก็ใช่ว่า อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสายจะมีแต่ข้อเสียเปรียบ เพราะหากเทียบในแง่ของราคาและความเร็วในการให้บริการ อินเตอร์เน็ตผ่านสายจะมีราคาที่ย่อมเยาว์กว่า บนความเร็วเดียวกัน
หรือแม้แต่บนความเร็วที่มากกว่า นั่นเป็นเพราะเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นก่อนเทคโนโลยีไร้สายหลายปี
ด้วยเหตุผลนี้ ผู้ใช้ในเมืองซึ่งมีทางเลือก จึงนิยมติดตั้งอินเตอร์เน็ตแบบใช้สาย ADSL เป็นหลักเนื่องจากราคาและความเร็วที่คุ้มค่ากว่า
อย่างไรก็ตาม เชื่อกันว่า หากเทคโนโลยี 3 จีเติบโตเต็มที่และพัฒนาไปสู่ยุค 4 จี LTE (LONG TERM EVOLITION) ซึ่งพูดกันถึงความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่ 140 เมกะบิตต่อวินาทีเมื่อไร เมื่อนั้นต้นทุนในการให้บริการและความเร็วบนเครือข่ายไร้สายก็จะสามารถแข่งขันกับอินเตอร์เน็ตผ่านสายได้
ถึงจะมีข้อจำกัดด้านราคาที่สูงกว่า แต่ในสภาพแวดล้อมการลงทุนโครงข่ายเช่นในไทย 3 จี ได้กลายเป็นทางเลือกสำคัญที่จะทำให้ผู้ใช้ สามารถท่องโลกอินเตอร์เน็ตด้วยความเร็วสูงได้ทุกที่ทุกแห่งที่มีเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปถึงย่อโลกไว้เพียงในมือหรือบนจอคอมพิวเตอร์ แล้วแต่ว่าจะไปเชื่อมต่อไปยังอุปกรณ์ใด ด้วยความเร็วเบื้องต้นเมื่อครั้งเปิดตัวสู่ตลาดเมื่อ 4-5 ปีก่อนที่ 384 กิโลบิตต่อวินาที
ปัจจุบันเทคโนโลยี 3 จี HSPA (HIGH SPEED PACKAGE ACCESS)ยุคล่าสุด พูดกันที่ความเร็ว สูงถึง 14.4 เมกะบิตต่อวินาที ขณะที่ในไทย ซึ่งบรรดาเอกชนทดลองให้บริการแบบทีเล่นทีจริงอยู่ขณะนี้
ทำความเร็วได้ดีที่สุดที่ประมาณ 3.6 เมกะบิตต่อวินาที
ซึ่งแน่นอน หากใช้บริการจริง ความเร็วดังกล่าวจะถูกลดทอนลงมา เนื่องจากเป็นการแบ่งใช้เครือข่ายร่วมกับผู้อื่น นอกจากนั้นยังอยู่ที่ประสิทธิภาพเครื่องลูกข่ายด้วย
ส่วนในญี่ปุ่นและเกาหลี ก้าวกระโดดไปที่ความเร็ว 21.1 เมกะบิตต่อวินาทีแล้ว แต่ยังอยู่ในขั้นทดลองผ่านอุปกรณ์ต้นแบบ เนื่องจากยังไม่มีใครพัฒนาเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์มือถือเพื่อรองรับความเร็วในระดับดังกล่าว ซึ่งต้องประกอบด้วยโปรเซสเซอร์ทรงประสิทธิภาพและเสาสัญญาณที่มีสมรรถนะดีเยี่ยม
หากยังนึกภาพไม่ออก ให้จินตนาการไปถึงการดาวน์โหลดไฟล์เพลง 1 เพลง ที่ขนาดประมาณ 3 เมกะไบท์ในเวลาไม่ถึงเศษเสี้ยววินาที ไวกว่ากระพริบตา เปรียบเทียบกับการให้บริการปัจจุบันบนเทคโนโลยี EDGE หรือที่เรียกกันว่าเป็นยุคก่อน 3 จี ที่ประมาณ 2.75 จี นั้นไฟล์เพลงขนาดเดียวกันต้องใช้เวลาโหลดประมาณ 6- 10 นาที
ส่วนหากจะถามว่า 3 จี เป็นทางเลือกเดียวต่ออินเตอร์เน็ตไร้สายหรือคำตอบคือไม่ เพราะเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สายยังครอบคลุมไปถึงเทคโนโลยี WIFI ซึ่งให้บริการกันอยู่บนคลื่นความถี่ 2400 MHZ ด้วยความเร็วสูงสุดประมาณ 10 เมกะบิตต่อวินาที หรือจะเป็นเวอร์ชั่นอัพเกรดของ WIFI ที่เรียกกันว่า WIMAX ที่ให้บริการด้วยความเร็วที่สูงขึ้น บนคลื่นความถี่ 2400 MHZ 2600 MHZ และ
5000 MHZ
ขณะที่ 3 จี ให้บริการอยู่บนคลื่นความถี่ 2100 MHZ ครอบคลุมไปยังความถี่ใกล้เคียงที่ 1900 MHZ ที่ทีโอทีเป็นเจ้าของและกำลังเปิดบริการในไทยด้วย
ที่จริงแล้ว 3 จี และ MIMAX ก่อกำเนิดในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่สุดท้าย 3 จี ได้รับความนิยมสูง ถูกนำไปให้บริการมากกว่า เมื่อมีคนใช้เป็นจำนวนมากต้นทุนการผลิตจึงต่ำลง ทำให้ผู้ให้บริการทั่วโลกพุ่งเป้าไปที่การให้บริการบนเทคโนโลยี 3 จี
ส่วน WIFI และ WIMAX ถูกนำไปให้บริการในรูปแบบจำกัด โดยนำไปเข้ารหัสเพื่อให้บริการอินเตอร์เน็ตไร้สายในพื้นที่ครอบคลุมไม่กว้างนัก 2 เทคโนโลยีดังกล่าวจึงถูกนำไปให้บริการอินเตอร์เน็ตไร้สายภายในบ้าน อาคารสำนักงานเป็นหลักและเป็นบริการทางเลือกของบรรดาผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานในไทยหลายราย
การเปิดให้บริการ 3 จีของทีโอทีที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้จึงน่าจะเป็นก้าวย่างอันชาญฉลาดของทีโอที ที่จะฉกฉวยโอกาสจากความได้เปรียบที่มีอยู่ สร้างตลาดผู้ใช้ 3 จีล่วงหน้า ซึ่งเชื่อว่ามีจำนวนไม่น้อย ที่สำคัญรายได้จากลูกค้ากลุ่มนี้การันตีว่าสูง
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ บุคลากรของทีโอที ส่วนใหญ่เชี่ยวชาญในธุรกิจโทรศัพท์พื้นฐาน อันถือเป็นธุรกิจดั้งเดิม จะสามารถฟันฝ่า เรียนรู้ และยืนหยัด ต่อสู้บนสังเวียนการแข่งขันอันดุเดือดเผ็ดร้อน ของผู้ให้บริการมือถือหรือไม่
คำตอบอยู่ที่พนักงานทีโอทีทั้ง 19,000 ชีวิต
ขอบคุณที่มา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 31 สิงหาคม 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 12,815 ครั้ง เปิดอ่าน 38,787 ครั้ง เปิดอ่าน 2,850 ครั้ง เปิดอ่าน 30,852 ครั้ง เปิดอ่าน 8,182 ครั้ง เปิดอ่าน 10,938 ครั้ง เปิดอ่าน 20,325 ครั้ง เปิดอ่าน 10,673 ครั้ง เปิดอ่าน 10,323 ครั้ง เปิดอ่าน 13,992 ครั้ง เปิดอ่าน 10,299 ครั้ง เปิดอ่าน 9,110 ครั้ง เปิดอ่าน 13,714 ครั้ง เปิดอ่าน 9,620 ครั้ง เปิดอ่าน 2,078 ครั้ง เปิดอ่าน 20,123 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 11,287 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 16,357 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 16,299 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 34,313 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 14,755 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 2,123 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 12,476 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 85,162 ครั้ง |
เปิดอ่าน 14,325 ครั้ง |
เปิดอ่าน 38,067 ครั้ง |
เปิดอ่าน 9,267 ครั้ง |
เปิดอ่าน 16,071 ครั้ง |
|
|