พวกราษฎรที่หลบซ่อนเร้นพม่าอยู่ ได้กิตติศัพท์การรบชนะของพระยาวชิรปราการ (สิน) ต่อทหารพม่าก็มาขอเข้าเป็นพวก และได้เป็นกำลังสำคัญในการเกลี้ยกล่อมผู้ที่ตั้งตัวเป็นหัวหน้า นายซ่องต่าง ๆ มาอ่อนน้อม ขุนชำนาญไพรสณฑ์และนายกองช้างเมืองนครนายก มีจิตใจสวามิภักดิ์ได้นำเสบียงอาหาร และช้างม้ามาให้เป็นกำลังเพิ่มขึ้น ส่วนนายซ่องใหญ่ซึ่งมีค่ายคูยังทะนงตนไม่ยอมอ่อนน้อม พระยาวชิรปราการ (สิน) ก็คุมทหารไปปราบจนได้ชัยชนะ แล้วจึงยกทัพผ่านเมืองนครนายก ข้ามลำน้ำเมืองปราจีนบุรี ไปตั้งพักอยู่ที่ชายดงศรีมหาโพธิ์ ข้างฟากตะวันตก
ขุนชำนาญไพรสณฑ์ และนายกองช้าง เมืองนครนายก
มีจิตสวามิภักดิ์ นำเสบียงอาหาร และช้าง ม้า มาถวาย
ทหารพม่าเมื่อแตกพ่ายไปจากบ้านพรานนกแล้ว กลับไปรายงานนายทัพที่ตั้งค่าย ณ ปากน้ำเจ้าโล้ เมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งกองทัพพม่ากองสุดท้ายที่รวบรวมกำลังกันทั้งทัพยกทัพเรือไปรอดักพระยาวชิรปราการ (สิน) อยู่ ณ ที่นั้น และตามทัพพระยาวชิรปราการ (สิน) ทันกันที่ชายทุ่ง พระยาวชิรปราการ (สิน) เห็นจะต่อสู้ข้าศึก ซึ่ง ๆ หน้าไม่ได้ อีกทั้งมีกำลังพลน้อยกว่า ยากที่จะเอาชนะแก่ทหารพม่าได้ จึงเลือกเอาชัยภูมิพงแขมเป็นที่กำบังแทนแนวค่าย และแอบตั้งปืนใหญ่น้อยเรียงรายไว้ หมายเฉพาะทางที่จะล่อพม่าเดินเข้ามา แล้วพระยา วชิรปราการ (สิน) ก็นำทหารประมาณ ๑๐๐ คนเศษ คอยรบพม่าที่ท้องทุ่ง ครั้นเมื่อรบกันสักพักหนึ่ง ก็แกล้งทำเป็นถอยหนีเข้ามาทางช่องพงแขม ที่ตั้งปืนใหญ่เตรียมไว้ ทหารพม่าหลงกลอุบาย รุกไล่ตามเข้าไปก็ถูกทหารไทยระดมยิงและตีกระหนาบ เข้ามาทางด้านหน้า ขวา และซ้ายจนทหารพม่าไม่มีทางจะต่อสู้ได้ต่อไป ทำให้ทหารพม่าล้มตายจำนวนมาก ที่รอดตายต่างถอยหนีอย่างไม่เป็นกระบวน ก็ถูกพระยาวชิรปราการ (สิน) นำทหารไล่ติดตามฆ่าฟันล้มตายอีก นับตั้งแต่นั้นมาทหารพม่าก็ไม่กล้าจะติดตามพระยาวชิรปราการ (สิน) อีกต่อไป
เมื่อพระยาวชิรปราการ (สิน) ได้ชัยชนะพม่าแล้ว ได้ยกทัพผ่านบ้านทองหลวง พานทอง บางปลาสร้อย บ้านนาเกลือ เขตเมืองชลบุรี ต่างก็มีแต่คนเข้ามาร่วมสมทบมากขึ้น จนมีรี้พลเป็นกองทัพ จากนั้นพระยาวชิรปราการ (สิน) ก็เดินทางไปเมืองระยอง โดยหมายจะเอาเมืองระยองเป็นที่ตั้งมั่นต่อไป
ทรงยกกองทัพผ่านบ้านทองหลาง บ้านพานทอง บ้านบางปลาสร้อย บ้านนาเกลือ เขตชลบุรี
ภายหลังจากการรบชนะพม่าที่ปากน้ำเจ้าโล้ เมืองฉะเชิงเทรา
ครั้นถึงเมืองระยอง พระยาระยองชื่อบุญ เห็นกำลังของพระยาวชิรปราการ (สิน) มีจำนวนมากยากที่จะต้านทานได้ จึงพากันออกมาต้อนรับ พระยาวชิรปราการ (สิน) จึงตั้งค่ายที่ชานเมืองระยอง ขณะนั้นมีพวกกรมการเมืองระยองหลายคน แข็งข้อคิดจะสู้รบ จึงได้ยกกำลังเข้าปล้นค่าย ในคืนวันที่สอง ที่หยุดพัก
แต่พระยาวชิรปราการ (สิน) รู้ตัวก่อนจึงได้ดับไฟในค่ายเสีย และมิให้โห่ร้อง หรือยิงปืนตอบ รอจนพวกกรมการเมืองเข้ามาได้ระยะทางปืน พระยาวชิรปราการ (สิน) ก็สั่งยิงปืนไปยังพวกที่จะแหกค่ายด้านวัดเนิน พวกที่ตามหลังมาต่างก็ตกใจและถอยหนี พระยาวชิรปราการ (สิน) คุมทหารติดตามไปเผาค่ายและยึดเมืองระยองได้ในคืนนั้น
การที่พระยาวชิรปราการ (สิน) เข้าตีเมืองระยองได้ และกรุงศรีอยุธยายังมิได้เสียทีแก่พม่าแต่ประการใด จึงถือเสมือนเป็นผู้ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง ดังนั้น พระยาวชิรปราการ (สิน) ก็ระวังตนมิได้คิดตั้งตัวเป็นกบฎ และให้เรียกคำสั่งว่า พระประศาสน์ อย่างเจ้าเมืองเอก พวกบริวารจึงเรียกว่า “เจ้าตาก” ตั้งแต่นั้นมา
เมื่อเจ้าตากตั้งตัวเป็นอิสระที่เมืองระยอง ส่วนเมืองอื่น ๆ ทางหัวเมืองชายทะเลตะวันออก นับตั้งแต่เมืองบางละมุง เมืองชลบุรี เมืองจันทบุรี เมืองตราด ต่างก็ยังเป็นอิสระ เจ้าตากจึงมีความคิดที่ระรวบรวมเมืองต่าง ๆ เหล่านี้ไว้เป็นพวกเดียวกัน เพื่อช่วยกันปราบปรามพม่าที่ล้อมกรุงศรีอยุธยา และเล็งเห็นว่าเมืองจันทบุรีเป็นเมืองใหญ่กว่าหัวเมืองอื่น มีเจ้าปกครองอยู่เป็นปกติ มีกำลังคน และอาหารบริบูรณ์ ชัยภูมิก็เหมาะที่จะใช้เป็นที่ตั้งมั่นยิ่งกว่าหัวเมืองใกล้เคียงทั้งหลาย จึงแต่งทูตให้ถือศุภอักษร ไปชักชวนพระยาจันทบุรี ช่วยกันปราบปรามข้าศึก ในครั้งแรกได้ตอบรับทูตโดยดี และรับว่าจะมาปรึกษาหารือกับเจ้าตากที่เมืองระยอง ครั้นเมื่อทูตกลับไปแล้ว พระยาจันทบุรีกลับไม่ไว้ใจเจ้าตาก เกรงจะถูกชิงเมืองจึงไม่ยอมไปพบ
ครั้นถึงเดือน ๕ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๑๐ ข่าวกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า เมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๑๐ แล้วก็มีคนไทยที่มีสมัครพรรคพวกมาก ต่างก็ตั้งตัวเป็นใหญ่ พระยาจันทบุรียังไม่ยอมเป็นไมตรีกับเจ้าตาก ส่วนขุนรามหมื่นซ่อง กรมการเมืองระยองผู้หนึ่งที่เคยปล้นค่ายเจ้าตาก ก็ไปซ่องสุมผู้คนที่เมืองแกลง ซึ่งขณะนั้นขึ้นกับเมืองจันทบุรี และคอยปล้นชิง ช้าง ม้า พาหนะ ของเจ้าตาก เจ้าตากจึงยกกำลังไปปราบ ขุนรามหมื่นซ่องสู้ไม่ได้ หนีไปอยู่กับพระยาจันทบุรี ครั้นเจ้าตากจะยกพลติดตามไปก็พอดีได้ข่าวว่า ทางเมืองชลบุรี นายทองอยู่นกเล็ก ตั้งตัวเป็นใหญ่ ผู้ใดมาอยู่กับเจ้าตาก นายทองอยู่นกเล็กก็จะยึดเอาไว้เสีย เจ้าตากจึงรีบยกทัพไปเมืองชลบุรี และส่งเพื่อนฝูงของนายทองอยู่นกเล็กไปเกลี้ยกล่อม นายทองอยู่นกเล็ก เห็นจะสู้รบ ไม่ไหวจึงยอมอ่อนน้อม เจ้าตากจึงตั้งนายทองอยู่นกเล็กเป็นพระยาอนุราฐบุรี ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองชลบุรี แล้วก็เลิกทัพกลับ
ฝ่ายพระยาจันทบุรีได้ปรึกษากับขุนรามหมื่นซ่อง เห็นว่าจะรบพุ่งเอาชนะเจ้าตากซึ่งหน้าคงจะชนะยาก ด้วยเจ้าตากมีฝีมือเข้มแข็ง ทั้งรี้พลก็ชำนาญศึก จึงคิดกลอุบายจะโจมตีกองทัพเจ้าตากขณะกำลังข้ามน้ำเข้าเมืองจันทบุรี โดยนิมนต์พระสงฆ์ ๔ รูป เป็นทูตมาเชิญเจ้าตากไปตั้งที่เมืองจันทบุรี แต่ในระหว่างเจ้าตากเดินทางจะข้ามน้ำเข้าเมืองจันทบุรีอยู่นั้น ได้มีผู้มาบอกให้เจ้าตากทราบกลอุบายนี้เสียก่อน เจ้าตากจึงให้เลี้ยวขบวนทัพไปตั้งที่ชายเมืองด้านทิศเหนือ บริเวณวัดแก้ว ห่างประตูท่าช้างเมืองจันทบุรี ๕ เส้น แล้วเชิญพระยาจันทบุรีออกมาหาเจ้าตากก่อนที่จะเข้าเมือง แต่พระยาจันทบุรีไม่ออกมาต้อนรับ พร้อมกับระดมคนประจำรักษาหน้าที่เชิงเทิน
พระสงฆ์ ๔ รูป ซึ่งพระยาจันทบุรี นิมนต์ให้เป็นทูต
มาเชิญพระเจ้าตากเข้าเมือง โดยเป็นกลลวง
เจ้าตากได้ทบทวนถึงสถานการณ์ต่าง ๆ แล้วเห็นว่า แม้ข้าศึกจะครั่นคร้ามฝีมือไม่กล้าโจมตีซึ่งหน้าก็ตาม แต่ฝ่ายพระยาจันทบุรีมีจำนวนมากกว่า ถ้าเจ้าตากล่าถอยไปเมื่อใด ทัพจันทบุรีจะล้อมตีได้หลายทาง เพราะไม่มีเสบียงอาหาร เจ้าตากจึงตัดสินใจจะต้องเข้าตีเมืองจันทบุรีในค่ำวันนี้ให้ได้ และแสดงออกถึงน้ำพระทัย อันเด็ดเดี่ยว โดยสั่งแม่ทัพนายกองว่า “เราจะตีเมืองจันทบุรีในค่ำวันนี้ และกองทัพหุงข้าวเย็นกินเสร็จแล้ว ทั้งนายไพร่ให้เททิ้งอาหารที่เหลือ และต่อยหม้อเสียให้หมด หมายไปกินข้าวเช้าด้วยกันที่ในเมืองเอาพรุ่งนี้ ถ้าตีเอาเมืองไม่ได้ในค่ำวันนี้ก็จะได้ตายด้วยกันให้หมดทีเดียว” [3]
ครั้นได้ฤกษ์เวลา ๓ นาฬิกา เจ้าตากพร้อมด้วยทหารไทยจีนเข้าโจมตีเมืองจันทบุรีอย่างเข้มแข็ง และเด็ดเดี่ยว โดยเจ้าตากขี่ช้างพังคีรีบัญชร เข้าพังประตูเมืองได้สำเร็จ พวกทหารก็กรูกันเข้าเมืองได้ ชาวเมืองต่างก็เสียขวัญละทิ้งหน้าที่แตกหนีไป ส่วนพระยาจันทบุรีพาครอบครัวลงเรือหนีไปเมืองบันทายมาศ
พระเจ้าตากขี่ช้างพังคีรีบัญชร เข้าโจมตีเมืองจันทบุรี
เมื่อเจ้าตากจัดเมืองจันทบุรีเรียบร้อยแล้ว ก็ยกทัพบกทัพเรือลงไปเมืองตราด พวกกรมการเมืองและราษฎรต่างยอมอ่อนน้อมโดยดี แต่ยังมีพ่อค้าสำเภาที่จอดอยู่ปากน้ำเมืองตราดหลายลำไม่ยอมอ่อนน้อม เจ้าตากได้ยกทัพเรือโจมตีสำเภาจีนได้ทั้งหมดในครึ่งวัน และสามารถยึดทรัพย์สิ่งของได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถนำมาจัดเตรียมกองทัพเข้ากู้เอกราช
ทรงยกทัพ ทั้งทัพบก และทัพเรือ เข้ายึดเมืองตราด
เจ้าตากได้จัดการเมืองตราดเรียบร้อยก็ย่างเข้าสู่ฤดูฝนพอดี จึงยกกองทัพกลับเมืองจันทบุรีเพื่อตระเตรียมกำลังคน สะสมเสบียงอาหาร อาวุธ ยุทธภัณฑ์ และต่อเรือรบได้ถึง ๑๐๐ ลำ [4] รวบรวมกำลังคนเพิ่มได้อีก เป็นคนไทย จีน ประมาณ ๕,๐๐๐ คนเศษ กับมีข้าราชการในกรุงศรีอยุธยาได้หลบหนีพม่ามารวมด้วยอีกหลายคน และที่สำคัญก็คือ หลวงศักดิ์นายเวรมหาดเล็ก นายสุดจินดาหุ้มแพรมหาดเล็ก [5]
พอถึงเดือน ๑๑ พ.ศ. ๒๓๑๐ หลังสิ้นฤดูมรสุมแล้ว เจ้าตากยกกองทัพเรือจากเมืองจันทบุรีเพื่อมากอบกู้เอกราช ระหว่างทางได้หยุดชำระความพระยาอนุราฐบุรีที่เมืองชลบุรี ซึ่งประพฤติตัวเยี่ยงโจร เข้าตีปล้นเรือลูกค้า ชำระได้ความเป็นสัตย์จริง จึงให้ประหารชีวิตพระยาอนุราฐบุรีเสีย แล้วยกทัพเรือเข้าปากแม่น้ำเจ้าพระยาในเดือน ๑๒
กองทัพเรือภายใต้การบังคับบัญชาของเจ้าตากได้เข้าโจมตีเมืองธนบุรีเป็นครั้งแรก มีนายทองอิน คนไทยที่พม่าตั้งให้รักษาเมืองอยู่ พอนายทองอินทราบข่าวว่าเจ้าตากยกกองทัพเรือเข้ามาทางปากน้ำเจ้าพระยา ก็ให้คนรีบขึ้นไปบอกข่าวแก่สุกี้พระนายกองแม่ทัพพม่า ที่ค่ายโพธิ์สามต้น แล้วเรียกระดมพลขึ้นรักษาป้อม
วิชเยนทร์ และหน้าแท่นเชิงเทินกรุงธนบุรี คอยที่จะต่อสู้กับกองทัพเรือของพระเจ้าตาก ครั้นกองทัพเรือเจ้าตากเดินทางมาถึง รี้พลที่รักษาเมืองธนบุรีกลับไม่มีใจสู้รบ เพราะเห็นเป็นคนไทยด้วยกันเอง ดังนั้นกองทัพเรือของเจ้าตากเข้ารบพุ่งเพียงเล็กน้อย ก็สามารถตีเมืองธนบุรีได้ เจ้าตากให้ประหารชีวิต นายทองอินเสียแล้วเร่งยกกองทัพเรือไปตีกรุงศรีอยุธยา
ยึดกรุงธนบุรีได้ และให้ประหารนายทองอิน
สุกี้แม่ทัพพม่า ได้ข่าวเจ้าตากตีเมืองธนบุรีได้แล้ว ก็ส่งมองญ่า นายทัพรองคุมพลซึ่งเป็นมอญและไทย ยกกองทัพเรือไปสกัดกองทัพเรือเจ้าตากอยู่ที่เพนียด เจ้าตากยกทัพเรือขึ้นไปถึงกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลาค่ำ สืบทราบว่ามีกองทัพข้าศึก ยกมาตั้งรับคอยอยู่ที่เพนียด ไม่ทราบว่ามีกำลังเท่าใด ฝ่ายพวกไทยที่ถูกเกณฑ์มาในกองทัพมองญ่า รู้ว่ากองทัพเรือที่ยกมาเป็นคนไทยด้วยกัน ก็คิดจะหลบหนีบ้าง หาโอกาสเข้าร่วมกับเจ้าตากบ้าง มองญ่าเห็นพวกคนไทยไม่เป็นอันจะต่อสู้เกรงว่าจะพากันกบฏขึ้น จึงรีบหนีกลับไปค่ายโพธิ์สามต้นในคืนวันนั้น
ส่วนหนึ่งของคนไทยที่ถูกเกณฑ์มาอยู่ในกองทัพมองญ่า
ซึ่งได้หนีมาสวามิภักดิ์ พระเจ้าตาก
เจ้าตากทราบจากพวกคนไทย ที่หนีพม่ามาเข้าด้วยว่าพม่าถอยหนีจากเพนียดไปหมดแล้ว ก็รีบยกกองทัพขึ้นไปตีค่ายพม่า ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ๒ ค่ายพร้อมกันในตอนเช้า สู้รบกันจนเที่ยง เจ้าตากก็เข้าค่ายพม่าได้ สุกี้ตายในที่รบ จึงถือว่า เจ้าตากได้กอบกู้เอกราชชาติไทยกลับมาได้แล้ว หลังจากที่ไทยต้องสูญเสียเอกราชในครั้งนี้เพียง ๗ เดือน
เมื่อเจ้าตากมีชัยชนะพม่าแล้ว ได้ตั้งพักกองทัพอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้นเพื่อจัดการบ้านเมือง บรรดาเจ้านายที่ถูกพม่าจับตัวไว้แต่ยังไม่ถูกส่งไปพม่า เจ้าตากก็จัดที่ประทับตามสมควร และปลดปล่อยผู้คนที่พม่าคุมขังไว้เป็นอิสระ พร้อมทั้งแจกจ่ายทรัพย์สิ่งของ เครื่องอุปโภคบริโภคโดยทั่วหน้ากัน แล้วให้ขุดพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์นำมาตั้ง การพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างสมเกียรติ แล้วก็คิดปฏิสังขรณ์ กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีใหม่ แต่เมื่อได้ตรวจความเสียหายแล้ว เห็นว่ากรุงศรีอยุธยาได้รับความเสียหายเป็นอันมาก ยากที่จะบูรณะให้เหมือนดังเดิมได้ และประกอบกับรี้พลของเจ้าตากไม่พอที่จะรักษากรุงศรีอยุธยาที่เป็นเมืองใหญ่ได้ จึงเลือกเมืองธนบุรีเป็นราชธานี และได้อพยพผู้คนลงมาตั้งมั่นที่ เมืองธนบุรี
ทรงปลดปล่อยผู้คน ที่พม่าคุมขังเอาไว้ให้เป็นอิสระ
ภายหลังจากทรงกอบกู้เอกราชกลับคืนมาได้
เจ้าตาก ทรงทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ ครองกรุงธนบุรี เมื่อวันพุธ เดือนอ้าย แรม ๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๐ ปีชวด สัมฤทธิศก ตรงกับวันที่ ๒๘ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๓๑๑ ขณะมีพระชนมายุได้ ๓๔ พรรษา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ แต่ประชาชนทั่วไปยังนิยมขนานพระนามพระองค์ว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ทรงปราบดาภิเษกพระองค์เองขึ้นเป็นกษัตริย์ ปกครองกรุงธนบุรี
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จสวรรคตเมื่อวันเสาร์ เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๔ ปีขาล ตรงกับวันที่ ๖ เมษายน ๒๓๒๕ พระชนมายุ ๔๘ พรรษา รวมสิริราชสมบัติ ๑๕ ปี
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชครองราชสมบัติ ๑๕ ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ชาติบ้านเมืองต้องการความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ ไหนจะต้องเรียกขวัญและกำลังใจของประชาชนให้กลับคืนอยู่ในสภาพปกติโดยเร็วที่สุด ภายหลังจากสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด ไหนจะต้องปกป้องศัตรูจากภายนอกประเทศที่คอยหาโอกาสจะเข้ารุกราน ไหนจะต้องรวบรวมคนไทยที่แบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่าถึง ๕ ก๊กคือ.-
ก๊กที่ ๑ เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ตั้งตัวเป็นเจ้า ที่เมืองพิษณุโลก
ก๊กที่ ๒ เจ้าพระฝาง (เรือน) อยู่ที่วัดพระฝาง เมืองสวางคบุรี ตั้งตัวเป็นเจ้าทั้งที่ยังเป็นพระ
ก๊กที่ ๓ เจ้านคร (หนู) เดิมเป็นปลัดผู้รั้งเมืองนครศรีธรรมราช
ก๊กที่ ๔ กรมหมื่นเทพพิพิธ ตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองพิมาย
ก๊กที่ ๕ คือก๊กพระยาตาก ตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองจันทบุรี
ซึ่งก๊กต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นพระราชภาระที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะต้องทรงกระทำโดยเร็ว ดังจะได้จำแนกพระราชกรณียกิจของพระองค์ ออกเป็น ๒ ด้าน คือ การสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง และการฟื้นฟูบ้านเมือง ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ
ก. การสร้างชาติ ให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง
ทรงทำตลอดรัชกาลของพระองค์นับตั้งแต่ การปราบปรามชาติไทยที่แบ่งเป็นก๊กต่าง ๆ การปราบ หัวเมืองที่กระด้างกระเดื่อง ตลอดจนการทำสงครามกับพม่าทำให้พม่าลบคำดูหมิ่นไทย เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ แก่ชาวไทยที่ยังไม่หายครั่นคร้ามพม่าได้มีกำลังใจดีขึ้นดังนี้.-
๑. การปราบปรามก๊กต่าง ๆ
- พ.ศ. ๒๓๑๑ ยกกองทัพไปปราบปรามหมื่นเทพพิพิธได้สำเร็จ
- พ.ศ. ๒๓๑๒ ยกทัพบก และทัพเรือไปปราบปรามเจ้านครศรีธรรมราชได้สำเร็จ เมืองตานี และไทรบุรี ขอยอมเข้ารวมเป็นขัณฑสีมาด้วยกัน
- พ.ศ. ๒๓๑๓ ยกทัพไปตีเมืองสวรรคบุรี ขณะที่เจ้าพระฝาง ตีได้เมืองพิษณุโลกแล้ว จึงยกทัพล้อมเมืองพิษณุโลก เจ้าพระฝางฝ่าแนวล้อมไปได้
ตีนครศรีธรรมราช
๒. การทำสงครามกับพม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงทำศึกกับพม่าถึง ๙ ครั้ง
แต่ละครั้งแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ทางด้านยุทธศาสตร์อย่างดีเยี่ยม พร้อมด้วยน้ำพระทัย
ที่เด็ดเดี่ยว ฉับไว สงครามกับพม่าดังกล่าวได้แก่.-
- สงครามครั้งที่ ๑ รบพม่าที่บางกุ้ง พ.ศ. ๒๓๑๐
- สงครามครั้งที่ ๒ พม่าตีเมืองสวรรคโลก พ.ศ. ๒๓๑๓
- สงครามครั้งที่ ๓ ไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก พ.ศ.๒๓๑๓ - ๒๓๑๔
- สงครามครั้งที่ ๔ พม่าตีเมืองพิชัย ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๓๑๕
- สงครามครั้งที่ ๕ พม่าตีเมืองพิชัย ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๖
- สงครามครั้งที่ ๖ ไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๗
- สงครามครั้งที่ ๗ รบพม่าที่บางแก้ว เมืองราชบุรี พ.ศ. ๒๓๑๗
- สงครามครั้งที่ ๘ อะแซหวุ่นกี้ ตีหัวเมืองเหนือ พ.ศ. ๒๓๑๘
- สงครามครั้งที่ ๙ พม่าตีเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๓๑๙
|
|
ทรงปรึกษากับพระยาสุรสีห์ ในศึกอะแซหวุ่นกี้
|
อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวพระยาจักรี
|
|
สำหรับสงครามพม่าที่บางแก้วเมืองราชบุรี พ.ศ.๒๓๑๗ เป็นสงครามที่ทำให้พม่าครั่นคร้าม และเข็ดหลาบไม่กล้ามารุกรานไทยอีกต่อไป
|
|
เหตุการณ์ การรบกับพม่าที่บางกุ้ง
|
รบกับพม่าที่บางแก้ว เมืองราชบุรี
|
๓. การขยายราชอาณาเขต ไปหลวงพระบางและเวียงจันทร์
- พ.ศ. ๒๓๒๑ พระเจ้านครหลวงพระบางขอสวามิภักดิ์เข้ารวมในราชอาณาจักร
- พ.ศ. ๒๓๒๒ ทรงโปรดให้ยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทร์ได้ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) และพระบางจากเวียงจันทร์ มาประดิษฐาน ณ กรุงธนบุรี
๔. การขยายราชอาณาเขต ไปยังกัมพูชา
พ.ศ. ๒๓๑๒ ทรงโปรดให้ยกทัพไปตีกรุงกัมพูชา เนื่องจากเจ้าเมืองกัมพูชาไม่ยอมส่งเครื่องราชบรรณาการดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง ตามราชประเพณีที่เคยปฏิบัติมา ทัพไทยตีได้เมืองเสียมราฐ และพระตะบอง
พ.ศ. ๒๓๑๔ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงยกทัพไปตีเมืองกัมพูชาได้สำเร็จ สาเหตุขณะไทยทำศึกกับพม่า อยู่ที่เมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระเจ้านารายณ์ราชา กษัตริย์กรุงกัมพูชาได้ถือโอกาสมาตีเมืองตราด และเมืองจันทบุรี เมื่อตีกัมพูชาได้แล้ว ทรงมอบให้นักองค์นนท์ ปกครองต่อไป
พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาอนุชิตราชา และพระยาโกษาธิบดี กราบลาไปตีเขมร
พ.ศ. ๒๓๒๓ กัมพูชาเกิดการจลาจลแย่งชิงราชสมบัติกันเอง จึงเหลือนักองค์เองที่มีพระชนม์เพียง ๔ ชันษา ปกครองโดยมีฟ้าทะละหะ (มู) ว่าราชการแทนและเอาใจออกห่างฝักใฝ่ญวน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงโปรดให้ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์ไปปราบปราม และมีพระราชโองการ ให้อภิเษกสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ พระราชโอรส องค์ใหญ่ขึ้นครองราชย์กัมพูชา ทัพไทยตีเมืองรายทางได้จนถึงเมืองบัณฑายเพชร พอดีกับกรุงธนบุรีเกิดจลาจล จึงเลิกทัพกลับ
ได้กัมพูชาเป็นประเทศราช และทรงให้พระรามาธิบดีไปปกครอง
อาณาเขตกรุงธนบุรี ได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง ดังนี้.-
ทิศเหนือ - ตลอดอาณาจักรลานนา
ทิศใต้ - ตลอดเมืองไทรบุรี และเมืองตรังกานู
ทิศตะวันออก - ตลอดกัมพูชาจรดญวนใต้
ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ - ตลอดนครเวียงจันทร์ หัวเมืองพวน และนครหลวงพระบาง หัวพัน ทั้งห้า ทั้งหก
ทิศตะวันออกเฉียงใต้ - ตลอดเมืองพุทธไธมาศ
ทิศตะวันตก - ตลอดเมืองมะริด และเมืองตะนาวศรี ออกมหาสมุทรอินเดีย
ข. การฟื้นฟูบ้านเมือง และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ
๑) ด้านการปกครอง ยังใช้ระบบการปกครองแบบกรุงศรีอยุธยา ส่วนด้านกฎหมายเมื่อครั้ง กรุงแตก กฎหมายบ้านเมืองกระจัดกระจายหายสูญไปมาก ก็โปรดให้ทำการสืบเสาะค้นหามารวบรวมไว้ ได้ประมาณ ๑ ใน ๑๐ และโปรดให้ชำระกฎหมายเหล่านั้น
๒) ด้านเศรษฐกิจ เนื่องในสมัยกรุงธนบุรีเป็นระยะเวลาที่สร้างชาติบ้านเมืองกันใหม่ การค้าเจริญรุ่งเรืองทั้งของหลวงและราษฎร สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงทำนุบำรุงการค้าขายทางเรืออย่างเต็มที่ ทรงแต่งสำเภาหลวงออกไปค้าขาย ทางด้านตะวันออก ไปถึงเมืองจีน ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือถึงอินเดียตอนใต้ เป็นต้น
๓) ด้านการคมนาคม ในยามว่างจากสงคราม จะโปรดให้ตัดถนนและขุดคลองขึ้นมาก เพื่อประโยชน์ทางค้าขาย ซึ่งผิดจากแนวความคิดเก่า ๆ เมื่อมีถนนหนทางแล้วจะอำนวยประโยชน์ให้ข้าศึกศัตรู และพวกก่อการจลาจล
๔) ด้านศิลปกรรม ในสมัยนี้แม้จะมีการทำศึกสงคราม แทบจะมิได้ว่างเว้นก็ตาม แต่ก็ทรงหาโอกาสฟื้นฟูและบำรุงศิลปกรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางด้านนาฏดุริยางค์และวรรณกรรม
๕) ด้านการช่าง โดยให้รวบรวมช่างฝีมือและฝึกงานช่างทุกแผนก เช่น ช่างต่อเรือ ช่างก่อสร้าง ช่างรัก ช่างประดับ ช่างเขียน เป็นต้น สำหรับงานช่างต่อเรือได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะมีการต่อเรือรบ และเรือสำเภาค้าขายเป็นจำนวนมาก
๖) ด้านการศึกษา โปรดให้บำรุงการศึกษาตามวัดต่าง ๆ และโปรดให้ตั้งหอหนังสือหลวงขึ้นเช่นเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยา
๗) ด้านการศาสนา ทรงโปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ ที่รกร้างปรักหักพัง ตั้งแต่ครั้งพม่าเข้าผลาญทำลาย และกวาดต้อนทรัพย์สินไปพม่า โปรดให้อาราธนาพระภิกษุสงฆ์เข้าจำวัดต่าง ๆ ส่วนพระไตรปิฎกยังเหลือตกค้างอยู่ที่ใด ก็โปรดให้คัดลอกสร้างเป็นฉบับกลางแล้วส่งคืนไปที่เดิม