รายงานผลการวิจัย เรื่อง ผลการพัฒนาทักษะการผันวรรณยุกต์
ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ด้วยแบบฝึกเสริมทักษะการผันวรรณยุกต์
โดย นางอัญชลี มีทรัพย์
ตำแหน่ง ครูชำนาญการ
............................................................................................................................................................
ที่มาและความสำคัญ
จากการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์การใช้ภาษาไทยในปัจจุบันพบว่า ภาษาไทยกำลังถูกลืมไปในบางส่วนโดยเฉพาะวัฒนธรรมการใช้ภาษาที่ดีงามสำเนียง เสียงพูดโดยเฉพาะเสียงวรรณยุกต์ พยัญชนะบางตัว เช่น ช ท ถ ส ที่มีการออกเสียงกันเพี้ยนไป สำนักราชบัณฑิตยสถาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันเด็กไทยผันวรรณยุกต์ไม่ได้ ย่อความไม่ได้ จึงได้มีการเร่งสร้างแบบทดสอบวัดความรู้ครู นักเรียนเพื่อประเมินตัวเอง เน้นปลูกฝังตั้งแต่ 3 ขวบ ด้วยการ์ตูน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนองความห่วงใยภาษาไทยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ที่ทรงให้พระบรมราโชวาทแก่เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทย ที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเกี่ยวกับคนไทยไม่เห็นความสำคัญของภาษาไทย ทรงเสียดายที่คนไทยเห็นภาษาไทยเป็นสิ่งล้าสมัยและคนไทยแสดงพฤติกรรมเป็นฝรั่ง จีน ญี่ปุ่น ทำให้ชาวต่างชาติมองคนไทยเป็นสัตว์ประหลาดนั้นในโอกาสเดียวกันนี้เอง นางจินตนา พันธุฟัก เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสห่วงภาษาไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะการกระตุ้นให้คนไทยเห็นความสำคัญของภาษาไทย จึงทำให้รัฐบาลจัดให้การรณรงค์ความสำคัญของภาษาไทยเป็นโครงการระดับชาติ เพราะปัจจุบันปัญหาการใช้ภาษาไทยที่พบในเด็กไทย คือ ผันเสียงวรรณยุกต์ สามัญ เอก โท ตรี จัตวา ไม่ได้ สะกดคำผิดๆ ถูกๆ ที่สำคัญเด็กทุกวันนี้ จับประเด็นสำคัญ และย่อความไม่เป็น ในฐานะผู้วิจัยเป็นครูผู้สอนวิชาภาษาไทยมาเป็นเวลานานกว่าสิบปี พบว่าปัญหาในการเรียนรู้หลักภาษาไทย การอ่าน การเขียนสะกดคำที่สำคัญและยุ่งยากสำหรับเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 คือเรื่องการผันเสียงวรรณยุกต์ในการอ่านและเขียนสะกดคำ ดังนั้นผู้วิจัยจึงได้สร้างแบบฝึกทักษะการผันวรรณยุกต์ขึ้น โดยยึดแนวคิดที่สำคัญว่าการให้โอกาสให้เด็กได้ฝึกฝนในเรื่องของทักษะบ่อย ๆ ย่อมทำให้เกิดความชำนาญและเกิดการเรียนรู้ที่คงทน
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1.เพื่อสร้างแบบฝึกทักษะการผันวรรณยุกต์ ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน
2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ภาษาไทย ด้านการผันวรรณยุกต์ก่อนและหลังการใช้แบบฝึกทักษะการผันสียงวรรณยุกต์
ประชากร
กลุ่มประชากร ได้แก่ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวน 204 คน
กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1/ 7 โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวน 29 คน ซึ่งได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ประกอบด้วย
1.แบบฝึกเสริมทักษะการผันเสียงวรรณยุกต์
2.แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังการเรียนรู้ดังนี้
ขั้นตอนการดำเนินการวิจัย
1 ทดสอบก่อนการเรียนรู้ โดยใช้แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังการเรียนรู้
2 ดำเนินการจัดการเรียนรู้ตามลำดับที่เขียนไว้แผนการจัดการเรียนรู้ และให้นักเรียนทำแบบฝึกทักษะการผันวรรณยุกต์ ตามที่ระบุไว้ในแผนการจัดการเรียนรู้
3. ทดสอบหลังเรียน โดยใช้แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังการเรียนรู้ ซึ่งเป็นแบบทดสอบชุดเดียวกับแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังการเรียนรู้ ใช้เวลา
60 นาที โดยดำเนินการหลังจากได้จัดการเรียนการสอน
4. เก็บรวบรวมข้อมูลและบันทึกผลคะแนนที่ได้จากการทดสอบ
การวิเคราะห์ข้อมูล
ผู้วิจัยได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลดังนี้
1. การหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการผันวรรณยุกต์ โดยคำนวณจากสูตร E1 / E2
2. การวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องการผันวรรณยุกต์ โดยแจกแจงคะแนนของนักเรียนเป็นรายคนลงในตารางบันทึกผล แล้ววิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของข้อมูล พร้อมทั้งเปรียบเทียบความแตกต่างของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังการเรียนรู้ ด้วย
t – test เพื่อศึกษาความสามารถทางการเรียนรู้เรื่องการผันวรรณยุกต์ในภาพรวม
สรุปผลการดำเนินงาน
การวิจัย เรื่อง ผลการพัฒนาทักษะการผันวรรณยุกต์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ด้วยแบบฝึกทักษะการผันวรรณยุกต์
มีการดำเนินการวิจัยซึ่ง สามารถสรุปผลการดำเนินงาน ดังนี้
1.ประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการผันวรรณยุกต์เท่ากับ 87.72 /83.27 ซึ่งผลการดำเนินงานสูงกว่าสมมติฐานที่ผู้วิจัยตั้งไว้ที่ระดับ 87.72 /83.27
2. คะแนนการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนวิเคราะห์ด้วย t-test ปรากฏค่า t-test = 32.29 ซึ่งมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 จึงกล่าวได้ว่า คะแนนก่อนเรียนและหลังเรียนมีความแตกต่างกัน นั่นคือ คะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน แสดงให้เห็นว่าแบบฝึกทักษะการผันวรรณยุกต์ มีประสิทธิภาพ สามารถพัฒนาและแก่ไขปัญหาด้านการผันวรรณยุกต์ของนักเรียนได้จริง
อภิปรายผล
จากผลการดำเนินงานที่ปรากฏ ผู้วิจัยสามารถอภิปรายผลได้ตามประเด็นต่อไปนี้
1. จากผลการหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการผันวรรณยุกต์ และพบว่าแบบฝึกดังกล่าวมีประสิทธิภาพที่ระดับ 87.72 /83.27 ซึ่งสูงกว่าสมมติฐานที่ตั้งไว้ ผู้วิจัยมีความคิดเห็นว่า การนำแนวคิดทฤษฎีทางจิตวิทยา และหลักการสร้างแบบฝึกที่ดีมาใช้ในการสร้างแบบฝึกเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของ สุจริต เพียรชอบและสายใจ อินทรัมพรรย์ ( อ้างอิงจาก ชัยวัฒน์ สุทธิรัตน์ , 2550 : 157 ) ที่กล่าวว่าการสร้างแบบฝึกต้องยึดตามหลักทฤษฎีการเรียนรู้ทางจิตวิทยาดังนี้ 1. กฎการเรียนรู้ของธอร์นไดค์ เกี่ยวกับกฎแห่งการฝึกหัด คือสิ่งใดที่ได้ทำบ่อย ๆ จะทำได้ดี แต่ถ้านาน ๆ ทำทีก็จะลืม 2. ความแตกต่างระหว่างบุคคลคือ ต้องไม่ยากไม่ง่ายเกินไป 3. การจูงใจผู้เรียนทำแบบฝึกจากง่ายไปสู่ยาก และ 4. ใช้แบบฝึกสั้น ๆ เพื่อไม่ให้เบื่อหน่าย นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับแนวคิดของ วรสุดา บุญยไวโรจน์ ( อ้างอิงจาก สุนันทา สุนทรประเสริฐ , 2543 : 57-58 ) ที่ได้แนะนำให้ผู้สร้างแบบฝึกยึดลักษณะการสร้างแบบฝึกที่ดี กล่าวคือ แบบฝึกที่ดี ควรมีความชัดเจนทั้งคำสั่งและวิธีการ คำสั่งหรือตัวอย่าง มีความเหมาะสมกับผู้ใช้ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนสามารถศึกษาได้ด้วยตนเองเมื่อต้องการ และมีกิจกรรมหลายรูปแบบ เพื่อเร้าให้นักเรียนเกิดความสนใจ และไม่เบื่อหน่ายจะกระทำ และเพื่อฝึกทักษะใดทักษะหนึ่งจนเกิดความชำนาญ ตลอดจนควรตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียนแต่ละคน เช่น ความแตกต่างด้านความต้องการ ความสนใจ ความพร้อม ระดับสติปัญญา และประสบการณ์ ฉะนั้นการจัดทำแบบฝึกควรจัดทำให้มากพอ และมีทุกระดับ ตั้งแต่ ง่าย ปานกลาง และยาก เพื่อว่าทั้งเด็กเก่ง ปานกลาง และอ่อน สามารถเลือกทำได้ตามความสามารถ และเพื่อให้นักเรียนทุกคนประสบความสำเร็จในการทำแบบฝึก ดังนั้นผู้วิจัยจึงสรุปว่า แบบฝึกทักษะการผันวรรณยุกต์ มีลักษณะของแบบฝึกที่ดี คือ
1. ยึดหลักจิตวิทยาเป็นพื้นฐาน เช่น ด้านความแตกต่างระหว่างบุคคล กฏแห่งกระทำซ้ำ
2. มีความหมายต่อชีวิต และตรงจุดประสงค์
3. ปลุกเร้าความสนใจ มีความหลากหลาย
4. เหมาะสมกับวัย
5. ผู้เรียนสามารถศึกษาได้ด้วยตนเอง
2. จากข้อมูลด้านคะแนนการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน แล้วทำการทดสอบสมมติฐานวิเคราะห์ด้วย t-test ปรากฏค่า t-test = 32.29 ซึ่งมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ซึ่งกล่าวได้ว่า คะแนนก่อนเรียนและหลังเรียนมีความแตกต่างกัน นั่นคือ คะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน แสดงให้เห็นว่าแบบฝึกทักษะการผันวรรณยุกต์ มีประสิทธิภาพ สามารถพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการผันวรรณยุกต์ของนักเรียนได้จริง ทั้งนี้ผู้วิจัยมีความคิดเห็นว่าการใช้แบบฝึกเพื่อพัฒนาการเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งหลังที่ได้เรียนรู้เรื่องนั้น ๆ จบไปแล้ว ทั้งนี้เพราะการให้นักเรียนได้ฝึกย้ำคิดย้ำทำ เป็นการสร้างความเชี่ยวชาญประการหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดและผลการวิจัยของนักการศึกษาหลายท่านที่ได้ใช้แบบฝึกสำหรับพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาด้านการเรียนการสอนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่นอานงค์ ใจรังกา (2547 : 58 ) สรุปผลการพัฒนาทักษะการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำ ร ล ว ไว้ดังนี้ หลังการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำ ร ล ว นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางด้านการอ่านไม่ต่ำว่าร้อยละ 78.86 และสูงขึ้นกว่าก่อนการเรียนรู้ด้วยแบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำ ร ล ว อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ประสิทธิภาพของแบบฝึกที่ได้จากการวิจัยเท่ากับ 87.71 / 87.49 ซึ่งสูงกว่าสมมติฐานของงงานวิจัยที่ตั้งไว้ จุฑามาศ ศีวิลัย ( 2549 : 56 ) ศึกษาเรื่อง การพัฒนาแบบทักษะการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำ ร ล ว โดยใช้ภาพประกอบสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 พบว่านักเรียนสามารถพัฒนาการอ่านสูงขั้นร้อยละ 70 และมีความคงทนต่อการเรียนรู้ภาษาไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 สอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ นอกจากนี้นักเรียนยังมีความพึงพอใจต่อกระบวนการจัดการเรียนรู้ อยู่ในระดับดี
ข้อเสนอแนะ
หลังเสร็จสิ้นการดำเนินงานวิจัย ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมดังนี้
1. ในการนำแบบฝึกทักษะการผันวรรณยุกต์ไปใช้กับนักเรียนนั้นครูผู้สอนควรศึกษาลำดับขั้นตอนและคู่มือการใช้ให้เข้าใจ
2. ในกรณีที่ครูแบบฝึกทักษะการผันวรรณยุกต์ไปใช้กับนักเรียน ครูผู้ควรควรจัดเตรียมสื่อการเรียนการสอนที่กำหนดไว้ในแผนการจัดการเรียนรู้ให้พร้อม อีกทั้งควรให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม
3. การจัดการเรียนการสอนโดยใช้แบบฝึกนั้น ครูควรให้ความสนใจนักเรียนอย่างใกล้ชิด และวางบทบาทของตนเองเป็นผู้แนะนำแก่นักเรียน ไม่ใช่ผู้บอก รวมทั้งครูควรคำนึงว่าการทำกิจกรรมในแบบฝึกไม่ใช่การทดสอบ ดังนั้นเมื่อนักเรียนยังไม่บรรลุเป้าหมายของการทำแบบฝึก ครูผู้สอนอาจช่วยเหลือเป็นรายบุคคล และย้ำคิดย้ำทำกิจกรรมในแบบฝึกจนกว่านักเรียนจะเกิดความรู้ความชำนาญในที่สุด