ทีฆายุโก ....ทีฆายุกา สองคำนี้มีคนสงสัยกันมาก ใกล้จะถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษา คราวใดต้องถูกถามทุกที เพราะกลัวเขียนผิด เกรงจะทำให้อับอายขายหน้าประชาชี ที่อ่านป้าย...วีนนี้ค้นคำตอบจากผู้รู้มาให้แลวค่ะ
คำว่า "ทีฆายุโก" เป็นภาษาบาลี ใช้ ท ทหาร แปลว่า "มีอายุยืน" เมื่อรวมข้อความที่ว่า "ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา" ตามอักษรก็แปลว่า "ขอพระมหาราชจงทรงมีพระชนมายุยั่งยืนนาน" และ "ทีฆายุกา" สำหรับพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถนั้น ก็เป็นการเปลี่ยนรูปตามไวยากรณ์ เพราะ คำว่า "มหาราชา" คือเพศชาย จึงต้องใช้ "ทีฆายุโก" ส่วน "มหาราชินี" คือ เพศหญิง จึงใช้ "ทีฆายุกา"
เหตุที่บางคนเขียนเป็น ฑ นางมณโฑนั้น คงเป็นเพราะตัว ฑ อยู่ใกล้กับ ฆ (ระฆัง) ซึ่งมีหัวหยัก เลยทำให้ ท (ทหาร) มีหัวหยัก เลยกลายเป็น ฑ (นาง มณโฑ) ตามไปด้วย
คำไทยบางคำมาจากภาษาบาลีที่เดิมใช้ ท (ทหาร) แล้วมีผู้เขียนเป็น ฑ (นางมณโฑ) ในสมัยก่อนๆ นั้นมีอยู่หลายคำ เช่นคำว่า "ทูต" ซึ่งเป็นภาษาบาลี ใช้ ท (ทหาร) ก็มีเห็นได้อยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะในหนังสือเก่าเขียนเป็น "ฑูต" โดยใช้ ฑ (นางมณโฑ) หรือคำว่า "มนเทียรบาล" หนังสือเก่า ๆ เช่นในเรื่อง "กฎมณเฑียรบาล" หรือ "หมู่พระราชมณเฑียร" ก็ดี ที่คำว่า "มณเฑียร" ก็ใช้ ฑ (นางมณโฑ) แต่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้เขียนเป็น "มนเทียร" ใช้ ท (ทหาร) เพราะคำนี้มาจากคำบาลีว่า "มนฺทิร" ซึ่งแปลว่า "เรือน" เมื่อแผลง อิ เป็น เอีย คำว่า "มนฺทิร" จึงกลายเป็น "มนเทียร" ทำนองเดียวกับแผลงคำว่า "วชิร" เป็น "วิเชียร" หรือ "พาหิร" เป็น "พาเหียร" และ "ปกีรณกะ" เป็น "ปเกียรณกะ" นั่นเอง
ในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะหน่วยงานราชการเอง หรือตามหนังสือ สื่อ สิ่งพิมพ์ ตลอดจนทีวีโทรทัศน์ ต่างก็เขียนกันถูกบ้าง ผิดบ้าง หนังสือบางเล่มถึงกับมีเขียนทั้ง ท (ทหาร) และ ฑ (นางมณโฑ) ปะปนกันอยู่ฉบับเดียวกันอีกต่างหาก
เพราะฉะนั้นในฐานะที่เป็นคนไทย ไม่ว่าจะเป็นเด้กหรือผู้ใหญ่ ที่มีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงไม่ควรที่จะใช้ข้อความใด ๆ ที่เกี่ยวกับพระองค์ท่านให้ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงค่ะ
อ้างอิง - เว็บไซต์ ชีวิตและงานอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต, ภาษาไทย 5 นาที