ฮีตสิบสอง เป็นจารีตสิบสองรายการ คือ ประเพณีประจำสิบสองเดือนนั่นเอง ฮีตสิบสอง หรือ ประเพณี สิบสองเดือนของชาวอีสาน ได้แก่
เดือนที่ ๑ เดือนเจียง (เดือนอ้าย) นิมนต์สังฆเจ้าเข้ากรรมฯ เป็น
พิธีกรรมที่ให้พระภิกษุผู้กระทำความผิดได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์ชาวบ้านเลี้ยงผีแถน(ผีบรรพบุรุษ) ดังผู้รู้ได้เขียนไว้ว่า
ฮีตหนึ่งนั้น เถิงเมื่อเดือนเจียงเข้ากลายมาแถมถ่าย
ฝูงหมู่สังฆเจ้าก็เตรียมเข้าอยู่กรรม
มันหากธรรมเนียมนี่ถือมาตั้งแต่ก่อน
อย่าได้ละห่างเว้นเข็ญสิข่องแหล่นนำ แท้แล้ว
เดือนที่ ๒ เดือนยี่ (เดือนสอง) ทำบุญ “คูณข้าว” นิมนต์พระสงฆ์
มาสวดมนต์เย็นฉันภัตราหารตอนเช้า เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ข้าวเปลือก เมื่อพระสงฆ์ฉันเช้าแล้วก็ทำพิธีสู่ขวัญข้าว นอกจากนั้น ในเดือนนี้ชาวบ้านจะต้องเตรียมหาฟืนและถ่านมาไว้เป็นเชื้อเพลิงในบ้าน
ฮีตหนึ่งนั้น พอแต่เดือนยี่ได้ล้ำล่วงมาเถิง
ให้พากันหาฟืนสู่คนโฮมไว้
อย่าได้ไลคองนี้มันสิสูญเสียเปล่า
ข้าวและของหมู่นั้นสิหายเสี่ยงบ่ยัง
จงให้ฟังคองนี้แนวกลอนเขาบอก
อย่าเอาใจออกแท้เข็นฮ้ายสิแหล่นเถิงเจ้า
เดือนที่ ๓ เดือนสาม ในวันเพ็ญ ให้ทำบุญข้าวจี่และบุญมาฆบูชา เริ่ม
พิธีทำบุญข้าวจี่ในตอนเช้า โดยใช้ข้าวเหนียวปั้นหุ้มน้ำอ้อย นำไปปิ้งหรือจี่ พอเกรียมแล้วชุบด้วยไข่ ย่างไฟจนสุก จึงนำไปตักบาตรพร้อมด้วยอาหารอื่น เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วมีการเทศนา ข้าวจี่ที่เหลือนำมาแบ่งกันรับประทาน
ฮีตหนึ่งนั้นเถิงเมื่อเดือนสามได้พากันจี่ข้าวจี่ ไปถวายสังฆเจ้าเฮาแท้หมู่บุญ
กุศลยังสินำค้ำตามเฮามื้อละคาบ หากธรรมเนียมจั่งซี้มีแท้แต่นาน
ให้ทำบุญทุกบ้านทุกที่เอาบุญพ่อเอย คองหากเคยมีมาแต่ปางปฐมพุ้น
อย่าพากันไลถิ่มประเพณีตั้งแต่เก่า บ้านเมืองเฮาสิเศร้าภัยฮ้ายสิแหล่นตำ
เดือนที่ ๔ เดือนสี่ ทำบุญพระเวสฟังเทศน์มหาชาติ โดยมีมูลเหตุมาว่า
ถ้าผู้ใดปรารถนาที่จะได้พบพระศรีอริยเมตไตย์ หรือเข้าถึงศาสนา
ของพระพุทธองค์แล้ว ให้ฟังพระธรรมเทศนาเรื่องพระเวสสันดรชาดกให้จบสิ้นภายในวันเดียว ในเดือนนี้นอกจากมีบุญพระเวสแล้ว ยังมีการทำบุญโดยหาดอกไม้มาตากแดดให้แห้งไว้ด้วย
ฮีตหนึ่งพอเถิงเดือนสี่ได้เก็บดอกบุปผา หามาลาดวงหอมสู่คนเก็บไว้
อย่าได้ไลคองนี้เสียศรีสูญเปล่า หาเอาตากแดดไว้ให้ทำแท้สู่คน
อย่าได้ไลหนีเว้นแนวคองตั้งแต่เก่า ไฟทั้งหลายสิแหล่นเข้าเผาบ้านสิเสื่อมสูญ
ให้ฝูงชาวเฮาแท้อย่าไลคองตั้งแต่ก่อน มันสิหมองหม่นเศร้าเมืองบ้าน
สิทุกข์จน แท้แล้ว
เดือนที่ ๕ เดือนห้า ทำบุญขึ้นบ้านใหม่หรือตรุษสงกรานต์ มีการสรงน้ำ
พระพุทธรูป ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บิดามารดาและญาติที่ล่วงลับไปแล้ว โดยการถวายภัตราหาร แด่พระภิกษุสามเณร หลังจากนั้นจึงรดน้ำขอพรผู้ใหญ่
ฮีตหนึ่งนั้นพอเถิงเดือนห้าได้ พวกไพร่ชาวเมือง
พากันทำเครื่องสรงองค์ พระสัพพัญญูเจ้า
ทุกวัดให้ทำไปอย่าไลห่าง ให้พากับสืบสร้างบุญไว้อย่าไล
ทุกทั่วทีปแผ่นหล้าให้ทำแท้สู่คน จั่งสิสุขยิ่งล้นทำถืกคำสอน
คือฮีตคองควรถือแต่ปางปฐมพุ้น
เดือนที่ ๖ เดือนหก ทำบุญวันวิสาขบูชา มีการเทศน์ทั้งกลางวัน
และกลางคืน มีการเวียนเทียน ในเดือนนี้มีงานบุญสำคัญอีกงานหนึ่งคือ
บุญบั้งไฟ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและขอฝน นอกจากนี้จะมีการบวชนาค
พร้อมกันไปด้วย บางตำราก็ว่าต้องมีพิธีสรงน้ำพระพุทธรูปด้วย
ฮีตหนึ่งนั้น พอเถิงเดือนหกแล้วให้นำเอาน้ำวารีสรงโสด
ฮดพระพุทธรูปเหนือใต้สู่กาย
อย่าได้ละเบี่ยงบ้ายปัดเป่าหายหยุด มันสิสูญเสียศรีต่ำไปเมือหน้า
จงพากันทำแท้แนวคองฮีตเก่า เอาบุญไปเรื่อย ๆไปหน้าอย่าถอย
เดือนที่ ๗ เดือนเจ็ด ทำบุญเทวดาอาฮักษ์หลักเมือง ทำการเซ่นสรวง
หลักเมือง หลักบ้าน ผีพ่อ ผีแม่ ผีบรรพบุรุษ ระลึกถึงบุญคุณ เพื่อความเจริญรุ่งเรือง
ฮีตหนึ่งนั้นพอเดือนเจ็ดแล้วจงพากันบูชาราช ฝูงหมู่เทพเหล่านั้นบูชาแท้สู่กาย
ตลอดไปยอดอ้ายอาฮักษ์มเหสักข์ ทั้งหลักเมืองสู่หนบูชาเจ้า
พากันเอาใจตั้งทำตามฮีตเก่า นิมนต์สังฆเจ้าชำระแท้สวดมนต์
ให้ฝูงคนเมืองนั้นทำกันอย่าได้ห่าง สูตรชำระเมืองอย่าค้างสิเสียเศร้าต่ำศูนย์
ทุกข์สิแหล่นวุ่นมาใส่เต็มเมือง มันสิเคืองคำขัดต่ำลงศูนย์เศร้า
ให้เจ้าทำตามนี้คือเฮาได้บอกกล่าว จึงสิสุขอยู่สร้างสวรรค์ฟ้าเกิ่งกัน
แม่นทุกข์ฮ้อนหมื่นชั้นบ่มีหว่าสิมาพาน ปานกับเมืองสวรรค์สุขเกิ่งกันเทียมได
เดือนที่ ๘ เดือนแปด ทำบุญเข้าพรรษา มีการถวายภัตราหารเช้า เพล
แด่พระภิกษุ บ่ายฟังพระธรรมเทศนา ชาวบ้านทำเทียนมาจุดไว้ในโบสถ์
เป็นพุทธบูชาตลอดฤดูกาลเข้าพรรษา ในเมืองหลวงมีการถวาย
“เทียนจำพรรษา” แก่อารามสำคัญ
ฮีตหนึ่งนั้นพอถึงเดือนแปดได้ล้ำล่วงมาเถิง ฝูงหมู่สังโฆคุณเข้าวัสสาจำจ้อย
ทำตามฮอยของเจ้าพระโคดมทำก่อน บ่ละลอนเลิกม้างทำแท้สู่กาย
แล้วจึงพากันฟ้าวหาของไปทานทอด ทำทานไปอย่าได้คร้านเอาไว้หมู่บุญ
สิเป็นของหนุนเจ้าไปเทิงอากาศ สู่สวรรค์บ่ฮ้อนได้บุญนี้ส่งไป
เผิ่นจึงตรัสบอกไว้ฮีตเก่าคองหลัง ฟังให้ดีมันคักคักอย่าไลเด้อเจ้า
จงให้พากันเข้าทำทานตักบาตร อย่าสุให้ขาดได้ไปแท้สู่คน
โอกาสนี้เผิ่นให้เที่ยวซอกค้นขุดก่นขุมบุญ เอาทุนไปภายหลังเมื่อตายไปแล้ว
ฝูงหมู่วิบากเว้นบ่มีหว่าสิมาพาน เนาว์วิมานแสนสุขทุกข์หายบ่มาใกล้
เ ดือนที่ ๙ เดือนเก้า ทำบุญข้าวประดับดิน โดยนำข้าว อาหารคาวหวาน
หมากพลู บุหรี่ ห่อด้วยใบตองกล้วย นำไปไว้ตามต้นไม้ เพื่ออุทิศให้บรรดาญาติที่ล่วงลับไปแล้ว โดยกำหนดทำในวันแรมสิบสี่ค่ำเดือนเก้า บุญนี้เป็นที่มาของการทำบุญ “แจกข้าว” อุทิศให้แก่ญาติผู้ล่วงลับด้วย
ฮีตหนึ่งนั้นพอถึงเดือนเก้ากลางแห่งวัสสกาล
ฝูงประชาชนชาวเมืองก็เหล่าเตรียมตัวพร้อม
พากันทานยังข้าวประดับดินกินก่อน
ทายกทานให้เจ้าพระสงฆ์พร้อมสู่กาย
ทำจั่งซี้บ่ฮ้ายเถิงขวบปีมา พระราชาในเมืองก็จ่งทำแนวนี้
ฮีตหากมีมาแล้ววางลงให้ถือต่อ จำไว้เด้อพ่อเฒ่าหลานเว้ากล่าวจา
เดือนที่ ๑๐ เดือนสิบ ทำบุญข้าวสาร หรือ ข้าวสาก หรือ ข้าวสารท
(สลากภัตร) ในวันเพ็ญ เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย เช่นเดียวกับบุญ
ข้าวประดับดิน โดยมีเวลาห่างกันสิบห้าวัน โดยผู้ที่จะถวายทานเขียนชื่อ
ของตนเอง จำนวน 2 ใบ ใบหนึ่งใส่ไว้ในภาชนะที่ใส่ของทานไว้ อีกใบหนึ่งใส่ไว้ในบาตร เมื่อพระภิกษุสามเณรรูปใดจับได้สลากของผู้ใด ก็จะเรียกให้เจ้าของสลากนำเอาของถวาย ครั้นพระเณรฉันแล้ว ก็ประชุมกันฟังเทศน์ บรรยายนิทานวัตถุและภาษิตต่าง ๆ ทั้งอานิสงส์สลากภัตรด้วยชั่ววันกับคืนหนึ่งจึงเลิก
ฮีตหนึ่งนั้นพอเถิงเดือนสิบแล้วทายกทอดโอยทาน
เบิกพลีกรรมทำทานต่อมาสองซ้ำ
ข้าวสากนำไปให้สังโฆทานทอด พากันหวังยอดแก้วนิพพานพุ้นที่สูง
ฝูงหมู่ลุงอาว์ป้าคณาเมืองน้อมส่ง ศรัทธาลงทอดไว้ทานให้แผ่ไป
อุทิศให้ฝูงเปรตเปโต พากันโมทนานำสู่คนจนเกลี้ยง
เดือนที่ ๑๑ เดือนสิบเอ็ด ทำบุญออกพรรษา หรือสังฆเจ้าออกวัสสา
ปาวารณา มีการจุดประทีปโคมไฟ ถ้าไม่ใช้โคมแก้วโคมกระดาษ ก็มักขูดเปลือกตูมกา หรือ ลูกฟักทองให้ใสบาง ทำเป็นโคม ใช้น้ำมันมะพร้าวมีใส้จุดลอยไว้ แล้วนำไปแขวนไว้ตามต้นไม้ เต็มวัด เรียกว่า “หมากฮุ่งเฮ็ง” นอกจากนี้บางหมู่บ้านก็ทำรั้วลดเลี้ยวไปเรียกว่าคีรีวงกฎ มีการทำปราสาทผึ้งถวายพระด้วย
ฮีตหนึ่งนั้นเถิงเดือนสิบเอ็ดแล้วก็เป็นแนวทางป่อง
เป็นช่องของพระเจ้าคนเข้าแล้วออกมา
เถิงวัสสามาแล้วสามเดือนกะเลยออก
เฮียกว่าออกพรรษาปวารณากล่าวไว้เฮาได้กล่าวมา
เดือนที่ ๑๒ เดือนสิบสอง มีการทำบุญกฐิน ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือนสิบเอ็ด ไปถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ(วันเพ็ง) เดือนสิบสอง เป็นเวลา ๑ เดือน บุญเดือนสิบสองที่สำคัญชุมชนที่อยู่ริมน้ำก็คือการ “ส่วงเฮือ” (แข่งเรือ)
ฮีตหนึ่งนั้น เดือนสิบสองมาแล้วลมวอยหนาวสั่น
เดือนนี้หนาวสะบั้นคือแท้แต่หลัง
ในเดือนนี้เผิ่นหว่าให้ลงทอดพายเฮือ ซ่วงกันบูชาฝูงนาโคนาคเนาว์ในพื้น
ชื่อว่าอุชุภะนาโคเนาว์ในพื้นแผ่นดิน สิบห้าสกุลบอกไว้บูชาให้ส่งสะการ
จงให้ทำทุกบ้านบูชาท่านนาโค แล้วลงโมทนาทานชื่นชมกันเหล่น
ทุกข์ทั้งหลายหลีกเว้นหนีห่างบ่มีพาน ของสามานย์ทั้งปวงบ่ได้มีมาใกล้
ไผผู้ทำตามนี้เจริญดียอดยิ่ง ทุกสิ่งมีบ่ไฮ้ทั้งเข้าหมู่ของ
กรรมบ่ได้ถึกต้องลำบากในตัว โลดบ่มีมัวหมองอย่างใดพอดี้
มีแต่สุขีล้นครองคนสนุกยิ่ง อดให้หลิงป่องนี้เด้เจ้าอย่าสิไล แท้แล้ว
คำศัพท์ท้ายบท เรื่อง ฮีตสิบสอง
เดือนเจียง หมายถึง เดือนที่ ๑
สังฆเจ้า หมายถึง พระภิกษุสงฆ์
เข็ญ หมายถึง ความทุกข์ยากลำบาก
เดือนยี่ หมายถึง เดือนที่ ๒
โฮม หมายถึง รวม
ปฐมพุ้น หมายถึง ตั้งแต่แรก
ไลถิ่ม หมายถึง ปล่อยทิ้งไป
ดอกบุปผา หมายถึง ดอกไม้
สรง หมายถึง รดน้ำ
พระสัพพัญญูเจ้า หมายถึง พระพุทธเจ้า
เมือหน้า หมายถึง ต่อไปภายหน้า
อาฮักษ์มเหสักข์ หมายถึง ผีบ้านผีเรือน
เกิ่งกัน หมายถึง เท่ากัน
พระโคดม หมายถึง พระพุทธเจ้า
สังโฆ หมายถึง พระสงฆ์
ซ่วงกัน หมายถึง แข่งขันกัน
บ่มีพาน หมายถึง ไม่มาแผ้วพาน
อย่างใดพอดี้ หมายถึง อย่างใดแม้แต่น้อย