การศึกษามีความสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพราะการศึกษาเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่
การพัฒนาคน พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กำหนดไว้ในมาตรา 6 ว่า การศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้คุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข การจัดการศึกษาในประเทศไทยมีหน่วยงานที่จัดการศึกษาอยู่หลายหน่วยงานและหลายระดับ โรงเรียนเป็นหน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่ในการบริหารจัดการศึกษาและให้บริการการศึกษาแก่ประชาชน พัฒนาคนไทยทุกคนให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในสังคมโลก ตามมาตรา 9(2) มาตรา 41 มาตรา 42 ได้กำหนด
ทิศทางการจัดการศึกษาของชาติ ได้มุ่งให้การจัดระบบการบริหารและการจัดการศึกษาของประเทศกระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา มาตรา 22 กำหนดไว้ว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนา ตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญมากที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ และมาตรา 29 กำหนดว่า ให้สถานศึกษาร่วมกับบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน โดยจัดกระบวนการเรียนรู้ภายในชุมชน เพื่อให้ชุมชน มีการจัดการศึกษาอบรม และรู้จักเลือกสรรภูมิปัญญาและวิทยาการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาชุมชนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการ รวมทั้งหาวิธีการสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์พัฒนาระหว่าง ชุมชน (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2542 : 6-22) การบริหารจัดการการศึกษา ผู้บริหาร ครูผู้สอน บุคลากรทางการศึกษาและผู้เกี่ยวข้องจะต้องเข้าใจในอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการเพื่อให้ภารกิจของโรงเรียนบรรลุตามวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษาทุกฝ่าย จะต้องมีส่วนร่วมในการบริหารอย่างจริงจัง โดยมีองค์กรอิสระทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนผู้ปกครองและชุมชนคอยตรวจสอบการปฏิบัติงานของสถานศึกษาซึ่งหมายถึง การตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารและครูผู้สอนนั่นเอง
พฤติกรรมด้านคุณธรรมของผู้บริหารมีความสำคัญต่อการบริหารงานเป็นอย่างมาก การที่ผู้บริหารเป็นผู้มีคุณธรรม จะก่อให้เกิดขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน บุคลากรมีความพึงพอใจและยินดีที่จะปฏิบัติงานด้วยความเต็มใจ เต็มความสามารถ การบริหารจัดการที่ดี ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม มีความโปร่งใส มีความรับผิดชอบ พร้อมรับการตรวจสอบได้เสมอ เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล องค์กรเจริญก้าวหน้าและมีคุณภาพ การบริหารจัดการที่ดี หรือธรรมาภิบาล เป็นหลักการปฏิบัติงานที่ได้ประกาศไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, 2544 : คำนำ) หลักธรรมภิบาลนี้ สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นความพอเพียง พอประมาณ มีเหตุผล ด้วยแนวคิดของหลักธรรมาภิบาลนี้เอง ทำให้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545 – 2549) ได้กำหนดพันธกิจของชาติที่จะพัฒนาร่วมกันทั้งประเทศ โดยมีแนวคิดที่ยึดว่า “คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา” (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2544 : 2) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 – 2554 ) ที่ว่า “มุ่งพัฒนาสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ส่วนวิสัยทัศน์ประเทศไทย ได้กำหนดไว้ดังนี้คือ มุ่งพัฒนาสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน คนไทยมีคุณธรรมนำความรอบรู้ รู้เท่าทันโลก ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สังคมสันติสุข เศรษฐกิจมีคุณภาพ เสถียรภาพ และเป็นธรรม สิ่งแวดล้อมมีคุณภาพและทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน อยู่ภายใต้ระบบบริหารจัดการประเทศที่มีธรรมาภิบาล ดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอยู่ในประชาคมโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรี (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2549 : ร)